Friday, February 9, 2007

วัฒนธรรมมือถือ : ชีวิตที่ขาดเธอไม่ได้

วัฒนธรรมมือถือ : ชีวิตที่ขาดเธอไม่ได้[1]

ไม่อาจมีใครปฏิเสธได้ว่า “ไม่มีมือถือ” (โทรศัพท์) หรือ “ไม่รู้จักมือถือ”
“เห็นเครื่องใหม่ของเราหรือยัง ? รุ่นนี้ออกใหม่ล่าสุด ถ่ายภาพวีดีโอได้ด้วย ฟัง mp3 ได้ด้วย”
“คุณส่ง SMSเป็นหรือเปล่า...ช่วยฉันที”
“มือถือพี่มีกล้องถ่ายรูปหรือเปล่า...”
“เปลี่ยนมือถือบ่อย เพราะบ้าเห่อครับ...ผมสนุกกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ มีรุ่นไหนออกมาก็เปลี่ยนตาม...”
“ชอบเปลี่ยนมือถือ...มีรุ่นไหนออกใหม่ ๆ จะชอบไปดู ...แล้วเปลี่ยนทันที...เครื่องเก่าก็ขายต่อ...”

บทความนี้ต้องการนำเสนอหนทางหนึ่งของการศึกษาวัฒนธรรม (cultural studies) โดยมองว่า โทรศัพท์มือถือ มีผลต่อพัฒนาการของวัฒนธรรมร่วมสมัย (contemporary cultures) ถือว่าเป็นจุดหนึ่งที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนของสังคม ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ , การผลิต , การบริโภค ,การนำเสนออัตลักษณ์ตัวตน , เศรษฐกิจการเมืองและการจัดการระบบระเบียบกฏเกณฑ์ ทั้งนี้รวมถึงความเป็นเจ้าของและการควบคุมการใช้โทรศัพท์มือถือ บริษัทเครือข่ายโทรคมนาคม นโยบายของรัฐในเรื่องการจัดระเบียบการใช้โทรศัพท์มือถือ ความตื่นตระหนกเกี่ยวกับผลพวงที่เกิดจากรังสีสัญญาณโทรศัพท์มือถือ รวมถึงมารยาทหรือจรรยาบรรณในการใช้โทรศัพท์มือถือในสถานที่ต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่เกิดจากการปะทะระหว่างเทคโนโลยี (โทรศัพท์มือถือ) กับมนุษย์ ที่มีผลกระทบซึ่งกันและกัน
ดังเราจะเห็นได้ว่าพฤติกรรมหรือวัฒนธรรมบางอย่างของมนุษย์เปลี่ยนไป เช่นการสื่อสาร การพูดคุย ความบันเทิง รวมถึงพิธีกรรมต่าง ๆ ที่สำคัญ ๆ ถูกสร้างนัยยะใหม่ ไม่เพียงแต่พฤติกรรมของมนุษย์เปลี่ยนแปลงเท่านั้น ตัวโทรศัพท์มือถือเองในฐานะที่เป็นเทคโนโลยีก็ถูกพัฒนาและเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมและทันต่อความต้องการของมนุษย์ในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ข้อความสั้น ๆ เพื่อติดต่อกัน การฟังเพลงโดยไม่ต้องฟังจากวิทยุหรือโทรทัศน์ การพูดคุยกันหรือส่งเสียง รวมถึงรูปภาพต่าง ๆ ดังปรากฏการณ์ของการใช้ SMS (Short Messaging Service), Rington Music ,Personel Album ,Voice Mail เป็นต้น

มือถือกับชีวิตประจำวัน
จากคำสัมภาษณ์ของ กฤษณัณ งามผาติพงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการสายงานการตลาด บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส หรือ เอไอเอส “ประเทศไทยมีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือประมาณ 20 ล้านคน หรือหนึ่งในสามของประชากรประเทศ และกำลังพัฒนาไปในทิศทางเดียวกันอย่างเร่งด่วน เรากำลังทำให้ไทยกลายเป็นชุมชนไร้สาย... เรามีเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นเอง ซึ่งสามารถให้บริการในทุกด้านของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการรับชมโทรทัศน์ช่องต่าง ๆ การจ่ายเงินซื้อสินค้า การส่งผ่านข้อมูลที่จำเป็นในการทำธุรกิจและบริการของโทรศัพท์มือถือรูปแบบใหม่อื่น ๆ อีกมากมาย...”
[2]
โทรศัพท์มือถือเป็นเครื่องมือหรือเทคโนโลยีประเภทหนี่งที่ใช้สำหรับการติดต่อสื่อสาร เป็นการส่งสัญญาณคลื่นและกลายเป็นสารให้กับอีกฝ่ายหนึ่ง โทรศัพท์มือถือไม่เพียงเป็นแค่การรับ (ฟัง) และการส่ง (พูด) เท่านั้น แต่โทรศัพท์มือถือกลายเป็นเทคโนโลยีเครื่องมือเครื่องใช้ที่มีความสำคัญมากกว่าใช้เพื่อการส่ง-รับเสียงโดยตรงเท่านั้น หากแต่มันได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าความเร็ว รูปแบบการใช้งานต่าง ๆ รวมถึงรูปแบบของการบริการผ่านโทรศัพท์มือถือเหล่านั้น ดังจะปรากฏให้เห็นถึงการใช้บริการในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเสียงพูดที่สื่อสารผ่านเครื่องแล้ว เป็นVoice เสียงที่ฝากผ่านศูนย์ ฯ , ข้อความ SMS , email ,web ฯลฯ เป็นสิ่งที่สามารถอยู่ได้ทุกที่ทุกเวลา ในกลุ่มวัยรุ่นมีความนิยมใช้โทรศัพท์มือถือ ทำให้เกิดการใช้เวลาส่วนตัวค่อนข้างมาก หรือเวลาส่วนใหญ่ก็ถูกมองว่าสิ้นเปลืองไปกับการใช้มือถือ ไม่ว่า การพูดคุย การส่ง SMS การเล่นเกมส์ การฟังเพลง เป็นต้น
โทรศัพท์มือถือยังเป็นสัญลักษณ์แทนสถานภาพของผู้คนในสังคม รวมทั้งเป็นเครื่องแสดงรสนิยม แฟชั่นและสไตล์ของแต่ละคน เสมือนกับการสวมใส่เสื้อผ้าหรือการออกแบบเสื้อผ้า รวมถึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการติดต่อสัมพันธ์กันทางสังคม ระหว่างพ่อแม่ลูก ปู่ย่าตายายและหลาน เพื่อนพ้องน้องพี่ รุ่นพี่รุ่นน้อง เจ้านายลูกน้อง สามีภรรยา เป็นต้น หรือเพื่อนแก้เหงาและคลายเครียด โทรศัพท์มือถือกลายเป็นสิ่งที่นอกเหนือหรือเป็นมากกว่าเทคโนโลยี กลายเป็นสินค้าอุตสาหกรรมวัฒนธรรมที่สร้างความหมายทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะสายสัมพันธ์ของผู้คนกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม

“โทรศัพท์รุ่นไหนใช้แล้วสาวมองมากสุดตอนเนี้ยครับ”
[3]
“แม่ไม่ต้องมาก็ได้ แค่โทรมาก็พอ...ยุ่งยากเปล่า ๆ เหนื่อยก็เหนื่อย เดินทางไกลๆ..”
“คุณย่าเป็นยังไงบ้างครับ สบายดีน่ะครับ...ผมคงไปทำบุญงานเดือนสิบไม่ได้...”
“...เหงาจัง...คิดถึงน่ะ...โทรหาโบว์บ้างน่ะ...”
“พ่อค่ะ...พ่อส่งเงินให้หนูหน่อยสิ...อาจารย์สั่งให้ซื้อ text เล่มหนึ่ง ราคา 2,000 บาท ...พ่อส่งมา 3,000 น่ะเผื่อว่าจะไม่พอ...”

โทรศัพท์มือถือกลายเป็นอุปกรณ์ที่สร้างความสะดวกและย่นระยะเวลาและระยะทางของการติดต่อสัมพันธ์ของผู้คนในสังคม แม้กระทั่งมีพูดถึงการใช้มือถือของคนกลุ่มต่าง ๆ เช่น กลุ่มหญิงสาวใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อช่วยให้สบายใจ กลุ่มหญิงสูงวัยใช้โทรศัพท์มือถือไว้ตามรอยสามี และกลุ่มนักศึกษาใช้โทรศัพท์มือถือสำหรับส่งข้อความ รวมทั้งกลุ่มนักเคลื่อนไหวที่ผ่านมาในอดีต (พฤษภาทมิฬ 2535) ก็ใช้โทรศัพท์มือถือตามเพื่อนมาร่วมประท้วงบนถนนราชดำเนิน
นอกจากตัวเครื่องโทรศัพท์มือถือจะเป็นเทคโนโลยีที่สำคัญในการสื่อสารแล้ว แต่สิ่งที่สำคัญที่ซ้อนตัวอยู่ภายในตัวเทคโนโลยีเหล่านี้ คือการสินค้าบริการที่ถูกผลิตขึ้นเพื่อรองรับการใช้เครื่องโทรศัพท์มือถือให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งสินค้าวัฒนธรรมเหล่านี้ถูกผลิตขึ้นเพื่อรับใช้ความสะดวกสบายของการสื่อสารและสร้างสายสัมพันธ์ของผู้คนในสังคม รูปแบบของสินค้าอุตสาหกรรมวัฒนธรรมที่ถูกผลิตขึ้น โดยผ่านระบบการใช้โทรศัพท์มือถือ มีดังนี้
SMS (Short Massagin Service) หรือข้อความสั้น
“SMS” เป็นกิจกรรมหนึ่งบนโทรศัพท์มือถือ ที่กลายเป็นธุรกิจสำคัญและฐานของระบบอุตสาหกรรมวัฒนธรรมที่สำคัญ ที่มีส่วนต่อชีวิตประจำวันของคนเรา ไม่ว่า การทำนายพยากรณ์ดวงชะตา , การหาเพื่อนใหม่ , การหาคู่ การค้นหารูปภาพสวย ๆ การทายปัญหาหรือตอบคำถามเพื่อชิงรางวัล เป็นต้น
“...คุณสามารถส่ง SMS อวยพรปีใหม่ได้สนุกและประหยัดยิ่งขึ้น...”
“ให้ส่งข้อความว่า...แล้วส่ง SMS มาที่.....แค่นี้ ! คุณก็จะได้รับคำทำนายทุกครั้งที่ตำแหน่งโคจรของดวงดาวทำมุมกัน...”
“ร่วมสนุกส่ง SMS แบบโดน ๆ มาประกวดกัน
“...“สดทันที่ที่มีข่าว” รายงานสดผ่าน SMS สู่หน้าจอมือถือ ถึงกว่า 200 ข่าวต่อเดือน...”
“Missed Cal Alert...ถึงปิดเครื่องก็รู้ได้ว่ามีใครโทรเข้า...” “...เคยอยากรู้มั้ย...??? ว่ามีใครโทรหาบ้าง ตอนที่คุณปิดเครื่องเพราะไม่สะดวกรับสาย หรือไม่มีสัญญาณ แถมคนที่โทรเข้ามาก็ไม่ได้ฝากข้อความใน Voice Mail Box แต่วันนี้ไม่ต้องกังวลอีกต่อไป เพราะบริการ Missid Cal Alert อีกหนึ่งบริการดี ๆจะช่วยส่งข้อความถึงมือถือคุณ โดยแจ้งว่ามีใครบ้างโทรหาคุณขณะปิดเครื่อง...”
การให้บริการหรือการส่งข้อความสั้น ๆ จากโทรศัพท์เครื่องหนึ่งไปอีกเครื่องหนึ่งเป็นการย่นระยะเวลาของการติดต่อ และประหยัดค่าใช้จ่าย กิจกรรมเหล่านี้เป็นการสร้างผลผลิตซ้ำอีกชุดหนึ่งในการส่งข้อมูลหรือข้อความไปหาผู้อื่น อีกทั้งธุรกิจบางธุรกิจนำกิจกรรมเหล่านี้มาเป็นรายได้ เช่น รายโทรทัศน์ต่าง ๆ นิยมตรวจสอบความนิยมของผู้ชมโดยการให้ส่ง SMS หรือการประกวดต่าง ๆ นิยมให้ผู้ชมร่วมโหวตหรือแสดงความคิดเห็นเข้ามา ซึ่งเป็นผลประโยชน์มหาศาล แต่ภายใต้กิจกรรมเหล่านี้กลายเป็นนัยยะสำคัญที่สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้บริโภคได้รู้สึกถึงการมีส่วนร่วมในกิจกรรมเหล่านี้
และยังจะพบว่ามีข้อความสั้น ๆ ต่าง ๆ มากมายที่นิยม และสามารถดาวน์โหลดข้อความเหล่านั้นได้ โดยมีค่าใช้จ่ายในการโหลดข้อความเหล่านั้น ซึ่งจะเห็นว่าสิ่งเหล่านี้กลายเป็นสินค้าวัฒนธรรมที่ถูกสร้างขึ้นสำหรับการบริโภค โดยผู้บริโภคสินค้าเหล่านี้ก็จะนำมาใช้เป็นอัตลักษณ์หรือความเป็นตัวตน เช่น
“เจ้าของสวยมาก” “หลับฝันดีนะ รักจ๊ะ” “ถ้ายังไม่ตาย ...โทรกลับด้วย”
“ห้ามคิดถึงใครนอกจากคนส่ง” “ปากบอก...แค่เพื่อน..แต่รู้มั๊ยว่า..รักเธอ”
“1234567...นับเท่าไหร่ก็ไม่หายคิดถึง”
นอกจากนี้ยังมีรูปภาพที่นิยมโหลดกันอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการ์ตูน รูปภาพหนุ่มหล่อสาวสวยแสนเซ็กส์ซี่ ภาพวิวทิวทัศน์ รวมถึงภาพส่วนตัวที่ควรอยู่ในที่ลับ เป็นต้น ภาพเหล่านี้กลายเป็นการนำเสนอความเป็นตัวตนของเจ้าของเครื่อง และภาษาสัญลักษณ์อีกชุดหนึ่งที่ต้องการสื่อถึงผู้รับ ซึ่งล่าสุดมีผู้ปกครองนักเรียกออกมาโวยว่า “ลูกนิยมดาว์นโหลดรูปภาพเซ็กส์ซี่ ทำให้ข้อมูลภาพต่าง ๆ เหล่านี้ถูกแพร่กระจายภายใต้บริบทและความสัมพันธ์ของผู้คนในสังคม

Ringtone หรือเสียงเรียกเข้า
Ringtone เป็นเสียงของโทรศัพท์มือถือ หรือเสียงเรียกเข้า เดิมเสียงเหล่านี้เป็นเพียงสัญญาณหรือเสียงสังเคราะห์ที่มีจังหวะและทำนองเท่านั้น ที่เรียกว่า Monotone ในปัจจุบันเสียงเหล่านี้ได้ถูกพัฒนากลายเป็นเสียงเครื่องดนตรีประเภทต่าง ๆ เรียกว่า Polytone และเสียงจริง ไม่ว่าจะเป็นเสียงพูด เสียงหัวเราะ ร้องไห้ และเสียงร้องเพลง เรียกว่า Truetone แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติความสามารถของการทำงานของโทรศัพท์มือถือแต่ละรุ่นแต่ละยี่ห้อ ซึ่งเสียงเหล่านี้กลายเป็นสินค้าวัฒนธรรมที่กลายเป็นความนิยมของกลุ่มวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ตอนต้น กลายเป็นกระแสของวัฒนธรรมสมัยใหม่ ที่ผู้คนกลุ่มเหล่านี้นิยมโหลดหรือสะสมเสียงต่าง ๆ เหล่านี้ และนิยมใช้บริการผ่านศูนย์บริการต่าง ๆ รวมถึงค่ายเทปใหญ่ ๆ ด้วย
“Ringtone เด็กดอยใจดี กด *81051006 แล้วกดโทรออก...”
“เปลี่ยนเสียงรอสายแบบเดิม ๆ เป็นเสียงดนตรี....เบื่อหรือยัง ? กับเสียงรอสายตู๊ด ๆ แบบเดิม ๆ มาเปลี่ยนเสียงรอสายเป็นเสียงดนตรีสุดฮ๊อต...แค่นี้...คนที่โทรหาคุณก็จะได้ฟังเพลงเพลิน ๆ ระหว่างรอสาย พิเศษ ! รับเพลงระหว่างรอสายฟรี ! ...”
“1-2-3 ถ้าไม่รับเราโกรธแล้วนะ”
“พี่สุดหล่อคร๊าบ...แฟนโทรมา”
“โอ้...พระเจ้าจอร์ชมันยอดมาก”
นอกจากนี้ยังมีเสียงบริการอีกรูปแบบหนึ่งที่เรียกว่า Vocie Mail เป็นเสียงที่ช่วยสร้างความรู้สึกดี ๆ ประทับให้เกิดขึ้นกับผู้รับ แม้ว่าบางครั้งผู้รับไม่สามารถรับสายเข้าได้ ก็จะมีบริการฝากเสียงพูด
“…ส่งเสียงผ่านทุกความรู้สึกของคุณด้วย Vioce2U…จะอยู่ในอารมณ์อินเลิฟ หรืออารมณ์ไหน ๆ ก็บอกความในใจให้ใครคนนั้นรู้ได้เหมือนไปกระซิบข้าง ๆ หู กับบริการ “Voice2U”
“คิดถึงแจนนะครับ...หลับฝันดีนะ”
“ผมขอโทษ...ยกโทษให้ผมนะครับ”
“อยากไปอยู่ใกล้ ๆ จังเลย...”
“ส่งความรู้สึกดี ๆ จากคุณถึงผู้รับได้ทันที...เพราะทุกคำพูดมีค่ากับความรู้สึก อย่าเก็บความรู้สึกดี ๆ เอาไว้เพราะไม่อยากให้เสียงเรียกเข้าไปกวนใจผู้รับ
อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีการกล่าวถึงเสียงต่าง ๆ เหล่านี้ว่าเป็นเสียงที่ขาดสุนทรียะที่พยายามแพร่กระจายไปทั่วทุกมุมเมือง เสียงRingtone ได้แปรสภาพจากเสียงที่เคยอยู่ในพื้นที่ส่วนตัวกลายเป็นเสียงที่ถูกเติมและแสดงบนพื้นที่สาธารณะหรือเรียกว่า “การสร้างพื้นที่เสียงในเมือง”
โทรศัพท์มือถือมีรูปแบบเฉพาะของตนเอง ขึ้นอยู่กับเพศ อายุ ชนชั้น อาชีพ ทำให้เกิดวัฒนธรรมตัวตนขึ้น มือถือเป็นสื่อผ่านการแสดงออกของมนุษย์ ภายใต้ความเป็นสินค้าบริโภคที่เข้ามารับใช้กฎเกณฑ์ทางวัฒนธรรมของมนุษย์อย่างสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน
โทรศัพท์มือถือ นวัตกรรมชิ้นสำคัญของโลกที่อาศัยคำสั่งเพียงปลายนิ้วมือ เป็นตัวกำหนดและสร้างจิตนาการให้กับมนุษย์เรา โทรศัพท์มือถือกลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญของมนุษย์เรา ตราบใดที่เราต้องการย่อโลกย่นเวลา ตราบนั้นโทรศัพท์ก็เป็นเรื่องสำคัญที่นำเราย่นระยะทางและระยะเวลาเพื่อความสัมพันธ์ของคนในสังคม โทรศัพท์กลายเป็นเครื่องมือเทคโนโลยีที่มนุษย์เราต้องอาศัยกลไกของมันผ่านข้ามห้วงพิศวงที่มนุษย์เราเป็นผู้สร้างมันขึ้นมา ด้วยเหตุนี้โทรศัพท์มือถือจึงเป็นเทคโนโลยีที่สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนเราได้ ขณะเดียวกันพฤติกรรมของเราก็สามารถเปลี่ยนแปลงหรือกำหนดทิศทางการพัฒนาของเทคโนโลยีเหล่านี้ได้เช่นกัน

[1] วัฒนธรรมมือถือ หรือ Mobile Phone Culture
[2] ดาหาชาดา “เมื่อชีวิตไร้สาย” National Geographic ฉบับภาษาไทย , ตุลาคม 2547 : น. 31-32
[3] T 3762309 smanu 324 (25 กย. 48 18.57.09) www.pantip.com

1 comment:

  1. Immediately this page could possibly irrefutably often be well-known with all of blogging and site-building consumers, with the rigorous content pieces or reviews. gclub

    ReplyDelete