Tuesday, February 13, 2007

หนทางไหนดี ? รักนี้เพื่อข้าหรือแผ่นดิน ?







หนทางไหนดี ? รักนี้เพื่อข้าหรือแผ่นดิน ?




¯ประเทศชาตินี้ของคุณ ดินแดนนี้ของคุณ กำลังเรียกหาคุณอยู่ นี่คือสายสัมพันธ์ที่มิมีวันขาด
กลิ่นหอมของดินนั้น คุณจะลืมลงได้อย่างไร คุณจะไปที่แห่งใดก็ตาม คุณจะต้องหวนกลับมา
จากหนทางใหม่ ๆ ที่ก้าวไป ....ความสุขทุกอย่างที่ได้โปรยลงมาชโลมตัวคุณ
แต่คุณอยู่ห่างไกลบ้านของคุณ หวนกลับไปเถิดคนคลั่งไคล้
ที่ซึ่งมีใครเห็นคุณเป็นคนของเขา เรียกร้องคุณอยู่...
ช่วงเวลานี้ก็เหมือนกัน ซึ่งหลบซ่อนอยู่ จบไปหนึ่งสมัย จบไปทั้งชีวิต
คุณเป็นคนบอกว่าจะไปหนทางไหนดี...ไปหนทางนำไปสู่ชาตินั้น...¯

เพลงประกอบภาพยนตร์ Swades โดย A.R. Rahman

ถ้าคุณรู้สึกว่ากำลังสับสนกับตัวเองว่าจะเลือกเดินบนเส้นทางไหนดี ระหว่างความก้าวหน้าของชีวิตในหน้าที่การงานแต่ไร้การโอบกอดจากคนที่เรารักกับอีกเส้นทางหนึ่งที่เต็มไปด้วยความอบอุ่นจากอ้อมกอดของคนที่เรารักและคนที่เขารักเรา คุณจะเลือกเส้นทางใด ?
แหละนี่ ! คือ คำถามที่เรามักจะถามตัวเองอยู่เสมอว่า กำลังทำอะไรอยู่ ? จะอยู่ได้อีกนานหรือไม่ ? จะทนอีกสักเท่าไร ? เพราะเมื่อดูภาพยนตร์เรื่อง Swades We, the people หรือ รักข้าเพื่อแผ่นดิน ทำให้กลับมาย้อนตัวเองเหมือนกัน ว่า ชีวิตที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ...เรามีความสุขหรือยัง ? เราเพียงพอหรือไม่ ? ...และที่สำคัญเราเคยทำอะไรให้กับบ้านเกิดเมืองนอนของเราบ้างหรือเปล่า ? เพราะภาพยนตร์เองได้สื่อความหมายบางอย่างให้เรา ได้คิดและตระหนักถึงความจริงในสังคม และความจริงเหล่านั้นเราจะรับรู้และจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ที่ปรากฏขึ้นมาได้อย่างไร โดยมิได้อยู่อย่างนิ่งเฉย และมองว่า ไม่ใช่เรื่องของเรา ภาพยนตร์เรื่อง Swades We, the people หรือ รักข้าเพื่อแผ่นดิน ภาพยนตร์อินเดีย แนวดราม่า เป็นเรื่องราวของ โมฮัน ชายหนุ่มนักวิทยาศาสตร์หัวก้าวหน้าอนาคตไกล และหัวหน้าโครงการสำรวจอวกาศ ของNASA เขาจากบ้านมาอยู่อเมริกานานมาแล้ว วันหนึ่งโมฮันคิดถึงแม่นมจึงกลับไปยังอินเดียอีกครั้ง โดยมีความตั้งใจที่จะรับเธอมาอยู่ด้วย แต่แม่นมของเขาย้ายไปอยู่ที่อื่นแล้ว โมฮ้นตามหาจนพบที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งมีความสงบ เรียบง่าย ทำให้เขานึกถึงช่วงชีวิตวัยเด็ก ที่นีโมฮันได้พบกับกีตา สาวสวย ทั้งสองต่างชอบพอกัน โมฮันต้องการพากีตา และแม่นมของเขากลับอเมริกา แต่กีตาไม่ยอม เธออยากอยู่เพื่อช่วยเหลือพัฒนาหมู่บ้านให้ดีขึ้น สุดท้ายโมฮันก็ต้องตัดสินใจเลือกระหว่างอนาคตที่กำลังรุ่งโรจน์ และบ้านเกิดที่เพียบพร้อมไปด้วยความรักและความอบอุ่น¸
Swades เป็นภาพยนตร์อินเดียที่ทำให้เรารู้สึกถึงความรักที่แท้จริง และอ้อมกอดของคำว่า “บ้านเกิด” ผู้เขียนบทและผู้กำกับเรื่องนี้คือ Ashutosh Gowariker เป็นคนคนเดียวที่เคยถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลอคาเดมี (Academa Award) จากเรื่อง Lagaan และที่สำคัญชารุส ข่าน (Shahrukh Khan) ได้รับรางวัลปี 2005 ผู้แสดงนำยอดเยี่ยม (Best Actor) จาก Global Indian Film Award (GIFA) และจาก Film Caf’e Award และเขาจัดว่าเป็นนักแสดงที่สามารถถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆ ได้ดี อีกทั้งสามารถสื่อถึงอารมณ์และบุคลิกของโมฮันได้เป็นอย่างดี
Swadesจึงเป็นภาพยนตร์หนึ่งในดวงใจของเรา เพราะไม่เพียงแต่เนื้อเรื่องที่กินใจและสะท้อนสภาพสังคมแล้ว นักแสดงเป็นส่วนหนึ่งที่สื่อและสร้างสีสันให้ภาพยนตร์น่าติดตามและเข้าใจการดำเนินเรื่องอย่างดี สามารถถ่ายทอดสำนึกของเราต่อบ้านเกิดเมืองนอน และเชื่อว่าถ้าพวกเราได้ดูภาพยนตร์เรื่องนี้แล้วจะทำให้คิดถึงบ้านของเราอย่างมาก ตัวภาพยนตร์เองก็ทำให้เราต้องตระหนักถึงสิ่งที่เราควรจะต้องทำให้กับบ้านเมืองของเรา ภาพยนตร์ได้นำเสนอความขัดแย้งของคู่ตรงข้ามระหว่างความเจริญทันสมัย และความล้าหลังของ เปรียบเทียบโลก2 โลกที่โมฮันต้องเผชิญและใช้ชีวิตอยู่บนโลกทั้งสอง นั่นคือ โลกแห่งเทคโนโลยีทันสมัยอย่างนาซ่า และโลกที่เต็มไปด้วยสีสันของการพัฒนาของอินเดีย ซึ่งโมฮันเองก็กำลังค้นหา “บ้าน” ซึ่งเขามองว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดของอินเดีย ขณะเดียวกันสิ่งที่เลวร้ายที่สุดของอินเดียก็คือ ความยากจน , ระบบวรรณะที่ยังคงมีอยู่ และการขาดการศึกษา และนั่นทำให้เขาตัดสินเปลี่ยนแปลงชีวิตเพื่อทำอะไรบ้างอย่างเพื่อประเทศชาติของเขาเท่าที่ตนเองจะทำได้
ภาพยนตร์ได้นำเสนอ ประเด็นเกี่ยวกับปัญหาต่าง ๆ ของประเทศอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นความยากจน การแบ่งชนชั้นวรรณะ การกีดกั้นโอกาสทางการศึกษาของกลุ่มวรรณะต่ำ ความแห้งแล้ง แนวความคิดที่ยึดถือขนบธรรมเนียมประเพณีแบบดั้งเดิมที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับกาลเวลาที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ถูกมองผ่านสายตาของโมฮัน ที่มองเห็นและเกิดการเปรียบเทียบถึงรากเหง้าของปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งการดำเนินเรื่องของภาพยนตร์จะมีแง่มุมต่าง ๆ ที่เมื่อเราชมและฟังบทสนทนาแล้ว จะสามารถเข้าใจประเด็นที่ผู้กำกับต้องการนำเสนอเรื่องราวเพื่อพูดคุยกับผู้ชม
อย่างเช่น การถกเถียงกันระหว่างโมฮันกับกีตา
“...เป็นสิ่งที่ฝังลึกอยู่ในวัฒนธรรม ขัดขวางทำให้ความก้าวหน้าของประเทศ...” โมฮัน
“...ถ้าขาดจารีตและวัฒนธรรมแล้ว ชาติจะเหมือนร่างที่ไร้วิญญาณ...”
แสดงถึงความสำคัญของวัฒนธรรมจารีตประเพณีของสังคมทุกสังคมมีคุณค่าและมีความหมายต่อคนในสังคม เพราะถ้าคนในประเทศนั้น ๆ ไม่มีและไม่สามารถรักษาไว้ได้ก็เท่ากับว่าความเป็นตัวตนของเราได้หายสาบสูญไป ซึ่งเป็นนัยยะสำคัญของการกล่าวถึงว่า คุณจะเป็นใครหรือคุณจะอยู่ที่ไหน ที่สำคัญคุณก็คือคนของชาติที่คุณเกิด และชาติที่คุณเกิดจะบอกความเป็นคุณได้ก็ต้องมีวัฒนธรรมจารีตประเพณีที่ยึดถือปฏิบัติกันมา
นอกจากนี้ประเด็นของระบบวรรณะที่เป็นอุปสรรคของการพัฒนาประเทศอินเดีย ทำให้เกิดการกีดกั้นไม่ว่าจะเรื่องการศึกษา , การทำมาหากิน , การเมืองการปกครอง หรือแม้แต่เรื่องของการดูหนังกลางแปลงของคนในหมู่บ้าน ที่ถูกกั้นด้วยผ้า และจากเหตุการณ์ไฟดับ โมฮันได้เชิญชวนให้เด็ก ๆ และชาวบ้านดูดาวบนท้องฟ้า ซึ่งเปรียบเสมือนว่าทุกคนมีโอกาสได้ดูดาวบนท้องฟ้าเหมือนกัน อยู่บนพื้นที่ ๆ เดียวกัน เห็นดวงดาวเหมือนกัน และเมื่อนายไปรษณีย์ดึงผ้ากั้นออก ทุกคนก็อยู่รวมกันและสามารถเห็นดวงดาวรูปต่าง ๆ เหมือนกัน ซึ่งภาพยนตร์ได้แสดงถึงโอกาสของการเรียนรู้ของผู้คนที่เท่าเทียมกัน
และสิ่งที่มิอาจละเลยได้คือ ไฟฟ้า เป็นสัญลักษณ์ของความเจริญ และคิดว่าเป็นเรื่องที่ต้องพึ่งพาจากภายนอกหรือรัฐบาล แต่สิ่งที่โมฮันร่วมทำกับชาวบ้านคือการสร้างฝายเก็บน้ำและผลิตกระแสไฟฟ้า โดยไม่ต้องพึ่งพาภายนอก แต่อาศัยกำลังแรงงานของผู้คนในหมู่บ้าน
นี่คือบางประเด็นเท่านั้นที่เรายกตัวอย่างขึ้นมากล่าวถึงอย่างสั้น ๆ ภาพยนตร์เรื่องนี้มีความยาวถึง 210 นาที เนื้อหาดำเนินไปเรื่อย ๆ แต่มีความน่าสนใจน่าติดตามและไม่จัดว่าเป็นภาพยนตร์ที่มีเสียงเพลงและฉากเต้นเหมือนภาพยนตร์บอลลี่วู้ด (Bollywood) ทั่วไป เพราะมีเพียงแค่ 7 เพลงเท่านั้น แต่ประเด็นของเนื้อหาของเรื่อง การสื่อสารถึงผู้ชมเป็นการเชิญชวนให้ผู้ชมได้ร่วมคิดและพูดคุยกับภาพยนตร์นี้ได้อย่างน่าสนใจ
ฉะนั้นภาพยนตร์เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องหนึ่งที่ต้องการให้ผู้สนใจได้มีโอกาสได้ชม และคิดว่าน่าจะเป็นภาพยนตร์ในดวงใจของคุณอีกสักเรื่องหนึ่ง


Friday, February 9, 2007

ตลาดสดบนถนนเพชรบุรีตัดใหม่


ตลาดสดบนถนนเพชรบุรีตัดใหม่ : บริโภค (เซ็กส์) สด ๆ เรื่องส่วนตัวหรือเรื่องสาธารณะกันแน่ ? [1]

(1)
ช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาเป็นช่วงที่เราได้รับรู้เรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางเพศของหญิงชาย วัยรุ่นค่อนข้างมาก จนคิดอยู่เหมือนกันว่า เมื่อเราเจอใคร ๆ หรือแม้แต่นักศึกษา อาจารย์ในสำนัก ฯ จะต้องเล่าให้ฟัง ทำให้หลายคนไม่เข้าใจอาจจะคิดว่า “อาจารย์คนนี้เซ็กส์ขึ้นสมองหรือเปล่า ?” หรือ “อาจารย์คนนี้ไม่เข้าใจชีวิตวัยรุ่นเลย หัวเก่าจัง...” “อาจารย์เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว ...ไม่เห็นตื่นเต้นเลย” ทำให้เราเองก็ต้องกลับมานั่งคิดเหมือนกัน กับการตัดสินใจเขียนเรื่องนี้ดีหรือไม่ ? เพราะมันน่าเบื่อ หรือมันล่อแหลมต่อศีลธรรม หรือปล่อยมันไปแล้วแต่ใครจะคิด สังคมไม่ใช่ของเราคนเดียวไม่ต้องเอาธุระกับมันก็ได้ หรือว่าก็เราไม่มีลูก...สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็เกิดกับลูกหลานคนอื่น ไม่ใช่ลูกเรานี่หว่า.......
เรื่องมีอยู่ว่า วันหนึ่งในฐานะที่เรามาอยู่หัวเมืองทางปักษ์ใต้หลายเดือน ทำให้เมื่อเข้าไปในเมืองใหญ่ก็ทำให้ตามเหตุการณ์ต่าง ๆ ไม่ค่อยจะทัน จะติดตามได้ก็เฉพาะในโทรทัศน์เท่านั้น ไม่ตื่นเต้นพอ...
ขณะนั่งบนรถ....เมื่อรถเหลียวเข้าถนนเพชรบุรีตัดใหม่....สงสัยว่า “เออะทำไมรถติดจัง ? น่าจะเป็นต้นเดือนด้วยมั้ง” เราเห็นหญิงสาววัยรุ่นหน้าตาน่ารักมาก แต่งตัวน่ารักน่าชัง บางคนหวาน บางคนเปรี้ยว บางคนดูดีสะอาด ใสซื่อบริสุทธิ์ ฯลฯ ... แล้วเราก็ได้ยินเสียงตอบมาว่า “พี่ไปเที่ยวกับหนูไม๊?” “พี่ราคากันเอง” ...ตลอดทางที่นั่งบนรถ แต่ก็ถึงบางอ้อเมื่อนึกถึงรายการถอดรหัส ทาง ITV และรายการหลุมดำ ช่อง 9 ที่เคยนำประเด็นบริเวณถนนเพชรบุรี ฯ มากล่าวถึง และเมื่อตัวเองนั่งรถผ่านก็คิดว่าน่านำมาเป็นประเด็นในการพูดคุยที่ต้องอาศัยข้อคิดหรือการตั้งคำถามที่ต้องการหาคำตอบจากผู้คนหลากหลายกลุ่ม โดยเฉพาะอาจารย์ นักศึกษาช่วยกันมอง ช่วยกันตั้งคำถาม และช่วยกันหาคำตอบทีว่าต่อไปเราจะต้องทำอะไรกันต่อไป.....เราจะต้องเตรียมพร้อมกับปรากฏการณ์นี้หรือไม่ ? อย่างไร ?

(2)
หากกล่าวถึง สภาวะความเป็นมนุษย์และส่วนสาธารณะ Hannah Arendt นักปรัชญาร่วมสมัยคนสำคัญในศตวรรษที่ 20 ที่ผ่านมา ได้เสนอว่า มนุษย์มีพื้นฐานด้านกิจกรรมของอยู่ 3 ลักษณะ คือ งาน(work), การงาน(working) และการกระทำ(action) ซึ่งทั้งหมดล้วนแล้วแต่เกี่ยวพันกันเป็นเงื่อนไขต่อการดำรงอยู่ของมนุษย์ Arendt เรียกกิจกรรมทั้งสามนี้ว่า “Vita Activa”
[2] สภาวะความเป็นมนุษย์นี้มิใช่จำเป็นต้องมาจากเงื่อนไขทั้ง 3 เพียงด้านหนึ่งด้านใด Arendt ได้ขยายความไว้ว่า [3]

“ทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์ได้เข้าไปมีส่วนรวมนั่นมันก็ได้กลับมาเป็นเงื่อนไขต่อการดำรงอยู่ของเขาทันทีเช่นเดียวกัน…สภาวะวิสัยของโลก – วัตถุหรือลักษณะของสิ่งของ – และสภาวะความเป็นมนุษย์นั้นได้เอื้อซึ่งกันและกัน ทั้งนี้เพราะการดำรงอยู่ของมนุษย์เป็นสภาวะที่ถูกสร้างเป็นเงื่อนไขขึ้น และมันก็ไม่สามารถเป็นไปได้หากปราศจากสรรพสิ่งทั้งหลาย(things) พร้อมๆกันนั้นสรรพสิ่งทั้งหลายก็จะกลายเป็นกองปฏิกูลที่เหมือนไม่ได้เป็นโลก(a non-world) หากว่ามันไม่ได้เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับสภาวะของการดำรงอยู่ของมนุษย์” (p.9)

ในเงื่อนไขของความเป็นมนุษย์นี้ไม่สามารถที่จะอธิบายจากคำถามที่ว่า “ เราคืออะไร”( What are we?) หรือ “เราคือใคร ?” ( Who are we ?) ด้วยเหตุผลง่ายๆ ก็คือ ไม่มีเงื่อนไขอันสมบูรณ์ของสภาวะของความเป็นมนุษย์ที่จะใช้อธิบายว่า ‘เราเป็นอะไร’ หรือ ‘เราคืออะไร’ ได้อย่างแน่นอน
[4] หรือเราอาจจะสรุปง่ายๆก็คือไม่มีธรรมชาติที่แท้จริงของความเป็นมนุษย์นั่นเอง กิจกรรมทั้ง 3 ที่ Arendt ได้กล่าวไว้ตั้งแต่ต้นจึงเป็นส่วนที่เกี่ยวโยงกันและก็ต่างเป็น subject (world of men )และ object (man made things)ของสภาวะความเป็นมนุษย์
เมื่อกิจกรรมทั้ง 3 ถูกอธิบายบนบริบทของ “เขตส่วนตัว”(the private ream)และ “เขตสาธารณะ”(the public ream) โดยเฉพาะบริบทหลังนี้เป็นส่วนสำคัญที่ Arendt ใช้อธิบายถึง สังคมสมัยใหม่ที่มีขอบเขตสาธารณะคือ ส่วนที่เป็นสังคม(society) ซึ่งในสังคมดั้งเดิมนั้นไม่มีส่วนนี้อยู่ Arendt เห็นว่า สิ่งหนึ่งของความสำคัญของสังคมสมัยใหม่คือการ แบ่งแยกของ “ขอบเขตส่วนตัว”และ “ขอบเขตสาธารณะ” โดยความหมายของ “สาธารณะ”(public)นั้น เห็นว่ามี 2 ลักษณะแม้ว่าจะมีลักษณะที่ใกล้เคียงกันแต่ก็ไม่ได้เป็นปรากฏการณ์ที่ต้องร่วมอยู่ด้วยกันเสมอไป
ความหมายแรก “สาธารณะ” (the public) หมายถึง ทุกสิ่งทุกอย่างที่ “ปรากฏ”(appearance)ให้เห็นหรือได้ยินโดยทุกๆคนในสังคม และสามารถกระจายไปในวงกว้างได้มากที่สุด โดยที่ทุกคนในสังคมสามารถรู้เรื่องราวและประสบการณ์ของคนอื่นได้ดีพอๆกับที่คนอื่นก็สามารถรู้เรื่องราวของเรา ในอดีตก่อนสังคมสมัยใหม่การที่จะรู้จักกันได้จะเกิดในขอบเขตส่วนตัว และเราก็มักทึกทักว่าสิ่งที่เรารู้หรือแลกเปลี่ยนกันในปริมณฑลนี้ คือ ลักษณะของความจริง(a kind of reality) แต่ใน “สาธารณะ”นั่นจะกลับกัน เพราะแม้ความเป็นส่วนตัวและความเป็นปัจเจกจะลดลง แต่ความสามารถของการสื่อสารระหว่างบุคคลมีมากขึ้น และก็เปิดโอกาสต่อการแสดงความคิดเห็นที่หลากหลายมากขึ้น
[5] ปรากฏการณ์เหล่านี้คือลักษณะของ “public appearance” ที่ Arendt เห็นว่าเป็นสิ่งที่ควรเป็นอย่างทั่วไป(common)ในสังคมสมัยใหม่ [6]
ส่วนความหมายที่ 2 “สาธารณะ” (the public) หมายถึง โลก(world) โดยที่โลกนี้ไม่ได้หมายถึงโลกมนุษย์(earth)หรือธรรมชาติ(nature) หากแต่เป็นโลกในส่วนที่สัมพันธ์กับวัตถุที่มนุษย์สร้างขึ้น(human artifact) ในสิ่งเดียวกันนี้โลกแบบนี้ก็ หมายถึง ความสัมพันธ์ที่ดำเนินไปแล้วทำให้มนุษย์อยู่ร่วมกันได้ในสังคม เช่น ในโลกที่มนุษย์สร้างความสัมพันธ์ในแบบสังคมมวลชน(mass society) โลกแบบนี้หมายถึงโลกที่เรายากที่จะนับจำนวนสมาชิก และเป็นโลกที่ไม่สามารถใช้อำนาจในการรวบผู้คนได้ ดังนั้นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นพร้อม ๆกันในโลกแบบนี้คือ อยู่ร่วมกัน(together), มีความสัมพันธ์กัน(relate) และการแบ่งแยกกัน(separate) [7]
เราจะเห็นว่า “ส่วนสาธารณะ”(public realm)ที่ Arendt กล่าวถึงนั่น เป็นสิ่งสำคัญอันแสดงให้เห็นถึงสภาวะของความเป็นมนุษย์ในสังคมสมัยใหม่ ส่วนสาธารณะเป็นได้ทั้งบริบทของ “งาน”(work), “การทำงาน”(working), “การกระทำ”(action) ซึ่งเป็นโลกที่มนุษย์สร้างขึ้น(human artifact) สิ่งเหล่านี้คือความเป็นจริงที่เกิดขึ้นภายใต้โครงสร้างของสังคมที่มนุษย์แสดงตัวเองเป็นองค์ประธาน(subject)ของการกระทำทั้งหมด ตามแนวคิดของ Arendt สังคมสมัยใหม่นั่นมี “ขอบเขต”(realm)ที่แน่นอนเด่นชัดสามารถแบ่งแยกได้ รวมทั้งมีพัฒนาการของทั้งเขตส่วนตัว, ส่วนสาธารณะ, ส่วนสังคม ที่บ่งบอกถึงยุคสมัยได้
อย่างไรก็ดีนักคิดรุ่นหลังเห็นว่า เราไม่อาจแบ่งทั้งขอบเขต (realm) หรือปริมณฑล (sphere) ที่แน่นอนหรือยุคสมัยได้ สิ่งที่นักวิชาการรุ่นหลังนำมาใช้เป็นตัวแบบของการวิเคราะห์ คือ “พื้นที่”(space) โดยพื้นที่เราควรจะกล่าวถึงคือ การผลิตพื้นที่ (production of space) และ การสร้างภาพตัวแทน (representation) ในความหมายของ “พื้นที่” ซึ่งไม่ได้เป็นสรรพสิ่ง(things)ที่ต้องเป็นจริงเสมอไป หากแต่อาจเป็นเพียงพื้นที่เชิงจินตนาการซึ่งมนุษย์รับรู้ไว้(perceive)เท่านั้น อย่างไรก็ดีสิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ทำให้มนุษย์มี “ปฏิบัติการ”(practice)
[8]ต่างๆกันในสังคม

(3)
ภาพของการ บริโภคเซ็กส์สด ๆ บริเวณริมถนนกำลังถูกตั้งคำถามว่า เป็นเรื่องส่วนตัวหรือเรื่องสาธารณะกันแน่ เพราะแน่นอนเป็นปราฏกการณ์ที่เกิดขึ้นบนพื้นที่สาธารณะ “ถนน” สายหลักของกรุงเทพ ฯ ที่กำลังสะท้อนให้เห็นถึงสังคมการบริโภคที่ มนุษย์เราสามารถซื้อ-ขาย เสพ บริโภคทุกอย่างได้ โดยอ้างความถูกต้องและความชอบธรรมให้กับสิ่งนั้น ๆ ปรากฏการณ์ขึ้นที่เกิดขึ้นบนถนนเพชรบุรีตัดใหม่ เป็นการอ้างความชอบธรรมของคนที่เข้ามาใช้พื้นที่เหล่านี้ แต่ความชอบธรรมที่เป็นข้ออ้างเหล่านี้ขึ้นอยู่กับเป็นของใคร ชุดของใครของมัน ไม่ว่าหญิงชาย คนขายหรือคนซื้อ วัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ เป็นต้น รวมถึงความหมายที่ถูกสร้างขึ้นบนพื้นที่นั้น ได้ผ่านการแสดงออกของผู้คนที่ใช้พื้นที่เหล่านั้นอย่างไร ?
“เซ็กส์” กลายเป็นสินค้าที่ถูกสร้างความหมายขึ้น อีกทั้งกลายเป็นสัญลักษณ์หนึ่งที่ถูกให้คุณค่าโดยสังคม และถูกควบคุมโดยพิธีกรรมที่สังคมกำหนด ในอดีตการกล่าวถึง “เซ็กส์” หรือ “การบริโภคเซ็กส์” เป็นเรื่องที่ปรากฏในปริมณฑลส่วนตัว เป็นเรื่องที่ถูกปกปิด และอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่เข้ามาควบคุมอย่างเคร่งครัด รวมทั้งเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงสภาวะความเป็นมนุษย์ ขณะที่ในปัจจุบัน เรื่อง “เซ็กส์” และ “การบริโภคเซ็กส์” ถึงขยายขอบเขตของพื้นที่และปริมณฑลที่เป็นสาธารณะมากขึ้น โดยมองว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ “ปรากฏ”(appearance)ให้เห็นหรือได้ยินโดยทุกๆคนในสังคม และสามารถกระจายไปในวงกว้างได้มากที่สุด โดยที่ทุกคนในสังคมสามารถรับรู้เรื่องราวและประสบการณ์ของคนอื่นได้ดีพอๆกับที่คนอื่นก็สามารถรู้เรื่องราวของเรา ดังนั้นการบริโภคและซื้อขายเซ็กส์ที่เกิดขึ้นบนถนนเพชรบุรีตัดใหม่ จึงเป็นสิ่งที่คาบเกี่ยวกับเงื่อนไขของการดำรงอยู่ของมนุษย์ในเรื่องของ “งาน” “การงาน” และ “การกระทำ” ของมนุษย์ ที่ถูกผลิตภายใต้พื้นที่สาธารณะ จนในที่สุดกลายเป็นกิจกรรมที่ดูเสมือนเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับนักเที่ยวผู้ชายที่มาให้ซื้อสินค้า และเป็นกิจกรรมของผู้ขาย-เด็กสาวซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ของการทำงาน บนพื้นฐานการแลกเปลี่ยนที่มีระบบทุนนิยมเข้ามาสนับสนุนการซื้อขายและการบริโภคสินค้าเหล่านี้
“สินค้า” ที่ถูกนำเสนอขายบนถนน ฯ กลายเป็นสินค้าทางเพศ โดยมี “ร่ายกาย” เป็นเครื่องมือของการสื่อสารระหว่างโลกของความจริงและความจริงเทียม และโลกของความเป็นส่วนตัวกับโลกของสาธารณะ นั่นก็คือ “ร่างกายของเด็กสาว” และ “แฟชั่นการแต่งกาย” เป็นอาวุธที่พยายามสื่อเชื่อมกับโลกส่วนตัวของพวกเขาเพื่อนำเสนอต่อสาธารณะ และการสนับสนุนชุดความคิดเชิงอุดมคติของผู้ชายที่มีต่อผู้หญิง โดยเฉพาะเด็กสาววัยรุ่นที่ต้องการปรุงแต่งและการนำเสนอแฟชั่นต่าง ๆ มาประดับตกแต่งร่างกายของตนเอง เพื่ออวดอ้างและเสนอว่าสินค้าของตนเองดีที่สุด และน่าสนใจที่สุด เพื่อเป็นการเชิญชวนให้เกิดการซื้อขายสินค้าเหล่านี้ขึ้นมา ในที่สุดปรากฏการณ์เหล่านี้กลายเป็น “พิธีกรรม” ที่สำคัญที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อสนับสนุนสังคมการบริโภคของระบบทุนนิยม ที่มีความชอบธรรมมากขึ้นในสังคม การเป็นผลผลิตของพื้นที่และภาพตัวแทนที่ถูกนำเสนอเพื่อให้ผู้คนในสังคมรับรู้และสร้างจินตนาการต่อไป
บริเวณถนนเพชรบุรีตัดใหม่ จึงกลายเป็นพื้นที่สาธารณะที่มีปฏิบัติการทางสังคม โดยอาศัยช่วงเวลาที่หลุดพ้นจากการทำงานงานบนสภาพความเป็นจริง เป็นพื้นที่ของการซื้อขายหรือตลาดที่ถูกสร้างเป็นตัวแทนที่แสดงถึงความเป็นชายขอบของสังคมเมืองในช่วงเวลาปกติ หรือแม้แต่เด็กสาวที่เป็นเสมือนผู้ขาย และผู้ชายเป็นเสมือนผู้ซื้อต่างก็ทำหน้าที่ของตนเองบนพื้นที่ ที่อาศัยการปฏิบัติการทางสังคมหรือพิธีกรรมที่ปลดเปลื้องตัวตนออกจากโลกของความเป็นจริงบนพื้นที่สาธารณะ

(4)
จากปรากฏการณ์เหล่านี้ กลายเป็นสิ่งที่มักจะถูกตั้งคำถามตามมาเสมอว่า “จะทำอย่างไรต่อไป ?” “จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้แบบไหนดี ?” หรือ บางคนก็หันกลับมาสนับสนุน ชมรมของคุณระเบียบรัตน์ หรือบางคนก็หันกลับมาสนับสนุนวิธีการแบบทาทายัง รวมทั้งหน่วยงานต่าง ๆ ต่างคิดหาหนทาง แต่หนทางเหล่านั้นมักจะเกิดจากคนที่ไม่มีประสบการณ์โดยตรง เกิดจากคนที่คิดว่าไม่ควรจะมีในสังคม เกิดจากคนที่ไม่ยอมรับความจริง เกิดจากคนที่หลอกตัวเองทั้งนั้น ทั้ง ๆ ที่เราควรจะต้องกลับมาหันหน้ายอมรับความจริง และไม่หลอกตัวเองก่อนดีกว่า แล้วจึงหาวิธีการแก้ไขร่วมกันโดยไม่โทษว่าเป็นเพราะคนโน้นคนนี้ หรือเป็นเพราะสิ่งโน้นสิ่งนี้ โดยเฉพาะโทษโลกภายนอกที่ไม่ใช่โลกของสังคมไทย ซึ่งคำกล่าวโทษเหล่านี้ค่อนข้างเชย และไร้สาระสิ้นดี
ดังนั้นเงื่อนไขบนสภาวะการดำรงอยู่ของมนุษย์บนปริมณฑลสาธารณะ มิอาจแยกระหว่างความเป็นส่วนตัวและความเป็นสาธารณะ เพราะทั้งสองพื้นที่หรือปริมณฑลเป็นสิ่งที่อยู่ควบคู่กันและต้องไปด้วยกัน อนึ่งในมิติของผู้ใหญ่ในสังคม หรือผู้มีอำนาจในสังคมไม่ใช่เป็นเพียงการใช้อำนาจที่ครอบคลุมหรือพยายามจะครอบงำสังคมเท่านั้น แต่ควรเข้าใจบริบทความจริงที่เกิดขึ้นในสังคมและยอมรับกับความจริงที่เกิดขึ้น เพื่อจะทำให้เราค้นพบว่า ความจริงเหล่านั้นคืออะไรกันแน่ จะเป็นหนทางหนึ่งที่สามารถนำเราไปสู่การแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกทิศถูกทาง ไม่ต้องงมเข็มในมหาสมุทร เพราะคำตอบที่ได้มิอาจหลุดพ้นจากพื้นที่ที่เป็นส่วนตัวและส่วนสาธารณะที่อยู่ภายในตัวตนของแต่ละคน ซึ่งมันเป็นทั้งส่วนที่เรียกว่า “Subject” และ “Object” ของเราทั้งสิ้น
สุดท้ายยังคงเชื่อคำพูดของกลุ่มเอ็มพาวเวอร์ที่ว่า “เด็กผู้หญิงที่ดี ไปได้เฉพาะสวรรค์เท่านั้น แต่เด็กผู้หญิงเลวสามารถไปได้ทุก ๆ ที่” และคำพูดเหล่านี้หากผู้ที่มีอำนาจมานั่งร่วมคิดกันจะพบว่า การจัดการปัญหาหรือความพยายามแก้ปัญหา ต้องอาศัยผู้ที่อยู่กับปัญหา ไม่ใช่ขอความคิดเห็นจากผู้ที่อยู่เหนือปัญหา และไม่เคยเผชิญกับปัญหา ทั้งนี้ต้องทำความเข้าใจสภาวะความเป็นมนุษย์บนพื้นที่สาธารณะด้วย


Fraser, Nancy.(1999) “Politic, Culture, and the Public Sphere: Toward a Postmodernism Concept”. Social Postmodernism. Nicholso, L. & Steven Seidman.(eds.) Cambridge: Universiti fo Cambridge Press
Gilroy, P.(1993) Black Atlantic.London: Verso
Habermas, J.(1989). The Structural Transformation of Public Sphere. New York :Polity Press
Hanna, Arendt.(1958) The Human Condition. Chicago:University of Chicago Press
Hall, S. (1996) ‘Introduction : Who Need Identity?’ in Questions of Cultural Identity. Stuart Hall & Paul Du Gay eds. London: Sage
(1997)‘Minimal selves’in Studying Culture: An introduction Reader.London: Arnold.
Hill, M. & Warren Montag. (2000). “Introduction”. Masses, Classes and The public Sphere. Hill, M. & Warren Montag(eds.) London:Verso
Jackson Peter (1999). , “Tolerant but Unaccepting : The Myth of a Thai Gay Paradise” in Peter Jackson and Nerida M.Cook.(eds.) Genders & Sexualities in Modern Thailand. Silkworm Books, Chiang Mai, Pp.226-242.
Kellner ,Douglas. “Habermas , The Public Sphere,and Democracy : A Critical Intervention. http://www.gseis.ucla.edu/faculty/kellner.html/accessed14/05/46

[1] ต้องการเสนอภาพนัยยะของการบริโภคสินค้าอีกรูปแบบหนึ่งบนพื้นที่สาธารณะที่ปรากฏขึ้นจริงในสังคมไทย อีกทั้งต้องการตั้งคำถามกับสังคมว่า “ความเป็นส่วนตัวกับความเป็นสาธารณะ” ในความจริงสามารถแบ่งแยกกับได้หรือไม่ ?
[2] Arendt The Human Condition. Chicago:University of Chicago Press 1958:7-8
Arendt อธิบายเพิ่มเติมว่าไม่ได้ใช้คำนี้ตามความหมายเดิม ความแตกต่างที่เขาอ้างถึงคือ ความหมายที่เขาใช้อิงไปทางแนวทางแบบปฏิบัตินิยม(pragmatism) มากกว่าที่จะหาตรรกะอันเป็นเหตุเป็นผลของประสบการณ์ของการกระทำ( ดูเพิ่มเติมในเล่มเดียวกัน, หน้า 17)
[3] Ibid , p.9
[4] Ibid ,11
[5] การเกิดขึ้นของ public sphere ในยุโรปช่วงศตวรรษที่ 16 แสดงให้เห็นถึงการเติบโตของสังคมประชา(civil society)และการเรียกร้องปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยพวกกระฎุมพีดู Jurgen Habermas(1989), The Structural Transformation of Public Sphere
[6] Ibid ,50-51
[7] Ibid,:52-53
[8] แนวคิดเรื่อง “ภาคปฏิบัติ”(practice)ที่จริงก็แย้งกับ “การกระทำ”(action)ที่ Arendt กล่าวไว้ค่อนข้างมาก เพราะในขณะที่ action ยังสนใจในส่วนของแรงงานที่อธิบาย(describe)ภาวะวิสัย แต่ practice กลับสนใจไปที่ภาษาต่างหากที่รับรู้(perceive)ภาวะวิสัยที่มีลักษณะเป็นสัมพัทธ์(ดูข้อถกเถียงเพิ่มเติมใน Len Doyal & Roger Harris “The Practical Foundation of Human Understanding” New Left Review no.139,1983 และ Bourdieu, P,1977, Outline of a Theory of Practice.)

วัฒนธรรมมือถือ : ชีวิตที่ขาดเธอไม่ได้

วัฒนธรรมมือถือ : ชีวิตที่ขาดเธอไม่ได้[1]

ไม่อาจมีใครปฏิเสธได้ว่า “ไม่มีมือถือ” (โทรศัพท์) หรือ “ไม่รู้จักมือถือ”
“เห็นเครื่องใหม่ของเราหรือยัง ? รุ่นนี้ออกใหม่ล่าสุด ถ่ายภาพวีดีโอได้ด้วย ฟัง mp3 ได้ด้วย”
“คุณส่ง SMSเป็นหรือเปล่า...ช่วยฉันที”
“มือถือพี่มีกล้องถ่ายรูปหรือเปล่า...”
“เปลี่ยนมือถือบ่อย เพราะบ้าเห่อครับ...ผมสนุกกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ มีรุ่นไหนออกมาก็เปลี่ยนตาม...”
“ชอบเปลี่ยนมือถือ...มีรุ่นไหนออกใหม่ ๆ จะชอบไปดู ...แล้วเปลี่ยนทันที...เครื่องเก่าก็ขายต่อ...”

บทความนี้ต้องการนำเสนอหนทางหนึ่งของการศึกษาวัฒนธรรม (cultural studies) โดยมองว่า โทรศัพท์มือถือ มีผลต่อพัฒนาการของวัฒนธรรมร่วมสมัย (contemporary cultures) ถือว่าเป็นจุดหนึ่งที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนของสังคม ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ , การผลิต , การบริโภค ,การนำเสนออัตลักษณ์ตัวตน , เศรษฐกิจการเมืองและการจัดการระบบระเบียบกฏเกณฑ์ ทั้งนี้รวมถึงความเป็นเจ้าของและการควบคุมการใช้โทรศัพท์มือถือ บริษัทเครือข่ายโทรคมนาคม นโยบายของรัฐในเรื่องการจัดระเบียบการใช้โทรศัพท์มือถือ ความตื่นตระหนกเกี่ยวกับผลพวงที่เกิดจากรังสีสัญญาณโทรศัพท์มือถือ รวมถึงมารยาทหรือจรรยาบรรณในการใช้โทรศัพท์มือถือในสถานที่ต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่เกิดจากการปะทะระหว่างเทคโนโลยี (โทรศัพท์มือถือ) กับมนุษย์ ที่มีผลกระทบซึ่งกันและกัน
ดังเราจะเห็นได้ว่าพฤติกรรมหรือวัฒนธรรมบางอย่างของมนุษย์เปลี่ยนไป เช่นการสื่อสาร การพูดคุย ความบันเทิง รวมถึงพิธีกรรมต่าง ๆ ที่สำคัญ ๆ ถูกสร้างนัยยะใหม่ ไม่เพียงแต่พฤติกรรมของมนุษย์เปลี่ยนแปลงเท่านั้น ตัวโทรศัพท์มือถือเองในฐานะที่เป็นเทคโนโลยีก็ถูกพัฒนาและเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมและทันต่อความต้องการของมนุษย์ในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ข้อความสั้น ๆ เพื่อติดต่อกัน การฟังเพลงโดยไม่ต้องฟังจากวิทยุหรือโทรทัศน์ การพูดคุยกันหรือส่งเสียง รวมถึงรูปภาพต่าง ๆ ดังปรากฏการณ์ของการใช้ SMS (Short Messaging Service), Rington Music ,Personel Album ,Voice Mail เป็นต้น

มือถือกับชีวิตประจำวัน
จากคำสัมภาษณ์ของ กฤษณัณ งามผาติพงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการสายงานการตลาด บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส หรือ เอไอเอส “ประเทศไทยมีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือประมาณ 20 ล้านคน หรือหนึ่งในสามของประชากรประเทศ และกำลังพัฒนาไปในทิศทางเดียวกันอย่างเร่งด่วน เรากำลังทำให้ไทยกลายเป็นชุมชนไร้สาย... เรามีเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นเอง ซึ่งสามารถให้บริการในทุกด้านของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการรับชมโทรทัศน์ช่องต่าง ๆ การจ่ายเงินซื้อสินค้า การส่งผ่านข้อมูลที่จำเป็นในการทำธุรกิจและบริการของโทรศัพท์มือถือรูปแบบใหม่อื่น ๆ อีกมากมาย...”
[2]
โทรศัพท์มือถือเป็นเครื่องมือหรือเทคโนโลยีประเภทหนี่งที่ใช้สำหรับการติดต่อสื่อสาร เป็นการส่งสัญญาณคลื่นและกลายเป็นสารให้กับอีกฝ่ายหนึ่ง โทรศัพท์มือถือไม่เพียงเป็นแค่การรับ (ฟัง) และการส่ง (พูด) เท่านั้น แต่โทรศัพท์มือถือกลายเป็นเทคโนโลยีเครื่องมือเครื่องใช้ที่มีความสำคัญมากกว่าใช้เพื่อการส่ง-รับเสียงโดยตรงเท่านั้น หากแต่มันได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าความเร็ว รูปแบบการใช้งานต่าง ๆ รวมถึงรูปแบบของการบริการผ่านโทรศัพท์มือถือเหล่านั้น ดังจะปรากฏให้เห็นถึงการใช้บริการในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเสียงพูดที่สื่อสารผ่านเครื่องแล้ว เป็นVoice เสียงที่ฝากผ่านศูนย์ ฯ , ข้อความ SMS , email ,web ฯลฯ เป็นสิ่งที่สามารถอยู่ได้ทุกที่ทุกเวลา ในกลุ่มวัยรุ่นมีความนิยมใช้โทรศัพท์มือถือ ทำให้เกิดการใช้เวลาส่วนตัวค่อนข้างมาก หรือเวลาส่วนใหญ่ก็ถูกมองว่าสิ้นเปลืองไปกับการใช้มือถือ ไม่ว่า การพูดคุย การส่ง SMS การเล่นเกมส์ การฟังเพลง เป็นต้น
โทรศัพท์มือถือยังเป็นสัญลักษณ์แทนสถานภาพของผู้คนในสังคม รวมทั้งเป็นเครื่องแสดงรสนิยม แฟชั่นและสไตล์ของแต่ละคน เสมือนกับการสวมใส่เสื้อผ้าหรือการออกแบบเสื้อผ้า รวมถึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการติดต่อสัมพันธ์กันทางสังคม ระหว่างพ่อแม่ลูก ปู่ย่าตายายและหลาน เพื่อนพ้องน้องพี่ รุ่นพี่รุ่นน้อง เจ้านายลูกน้อง สามีภรรยา เป็นต้น หรือเพื่อนแก้เหงาและคลายเครียด โทรศัพท์มือถือกลายเป็นสิ่งที่นอกเหนือหรือเป็นมากกว่าเทคโนโลยี กลายเป็นสินค้าอุตสาหกรรมวัฒนธรรมที่สร้างความหมายทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะสายสัมพันธ์ของผู้คนกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม

“โทรศัพท์รุ่นไหนใช้แล้วสาวมองมากสุดตอนเนี้ยครับ”
[3]
“แม่ไม่ต้องมาก็ได้ แค่โทรมาก็พอ...ยุ่งยากเปล่า ๆ เหนื่อยก็เหนื่อย เดินทางไกลๆ..”
“คุณย่าเป็นยังไงบ้างครับ สบายดีน่ะครับ...ผมคงไปทำบุญงานเดือนสิบไม่ได้...”
“...เหงาจัง...คิดถึงน่ะ...โทรหาโบว์บ้างน่ะ...”
“พ่อค่ะ...พ่อส่งเงินให้หนูหน่อยสิ...อาจารย์สั่งให้ซื้อ text เล่มหนึ่ง ราคา 2,000 บาท ...พ่อส่งมา 3,000 น่ะเผื่อว่าจะไม่พอ...”

โทรศัพท์มือถือกลายเป็นอุปกรณ์ที่สร้างความสะดวกและย่นระยะเวลาและระยะทางของการติดต่อสัมพันธ์ของผู้คนในสังคม แม้กระทั่งมีพูดถึงการใช้มือถือของคนกลุ่มต่าง ๆ เช่น กลุ่มหญิงสาวใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อช่วยให้สบายใจ กลุ่มหญิงสูงวัยใช้โทรศัพท์มือถือไว้ตามรอยสามี และกลุ่มนักศึกษาใช้โทรศัพท์มือถือสำหรับส่งข้อความ รวมทั้งกลุ่มนักเคลื่อนไหวที่ผ่านมาในอดีต (พฤษภาทมิฬ 2535) ก็ใช้โทรศัพท์มือถือตามเพื่อนมาร่วมประท้วงบนถนนราชดำเนิน
นอกจากตัวเครื่องโทรศัพท์มือถือจะเป็นเทคโนโลยีที่สำคัญในการสื่อสารแล้ว แต่สิ่งที่สำคัญที่ซ้อนตัวอยู่ภายในตัวเทคโนโลยีเหล่านี้ คือการสินค้าบริการที่ถูกผลิตขึ้นเพื่อรองรับการใช้เครื่องโทรศัพท์มือถือให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งสินค้าวัฒนธรรมเหล่านี้ถูกผลิตขึ้นเพื่อรับใช้ความสะดวกสบายของการสื่อสารและสร้างสายสัมพันธ์ของผู้คนในสังคม รูปแบบของสินค้าอุตสาหกรรมวัฒนธรรมที่ถูกผลิตขึ้น โดยผ่านระบบการใช้โทรศัพท์มือถือ มีดังนี้
SMS (Short Massagin Service) หรือข้อความสั้น
“SMS” เป็นกิจกรรมหนึ่งบนโทรศัพท์มือถือ ที่กลายเป็นธุรกิจสำคัญและฐานของระบบอุตสาหกรรมวัฒนธรรมที่สำคัญ ที่มีส่วนต่อชีวิตประจำวันของคนเรา ไม่ว่า การทำนายพยากรณ์ดวงชะตา , การหาเพื่อนใหม่ , การหาคู่ การค้นหารูปภาพสวย ๆ การทายปัญหาหรือตอบคำถามเพื่อชิงรางวัล เป็นต้น
“...คุณสามารถส่ง SMS อวยพรปีใหม่ได้สนุกและประหยัดยิ่งขึ้น...”
“ให้ส่งข้อความว่า...แล้วส่ง SMS มาที่.....แค่นี้ ! คุณก็จะได้รับคำทำนายทุกครั้งที่ตำแหน่งโคจรของดวงดาวทำมุมกัน...”
“ร่วมสนุกส่ง SMS แบบโดน ๆ มาประกวดกัน
“...“สดทันที่ที่มีข่าว” รายงานสดผ่าน SMS สู่หน้าจอมือถือ ถึงกว่า 200 ข่าวต่อเดือน...”
“Missed Cal Alert...ถึงปิดเครื่องก็รู้ได้ว่ามีใครโทรเข้า...” “...เคยอยากรู้มั้ย...??? ว่ามีใครโทรหาบ้าง ตอนที่คุณปิดเครื่องเพราะไม่สะดวกรับสาย หรือไม่มีสัญญาณ แถมคนที่โทรเข้ามาก็ไม่ได้ฝากข้อความใน Voice Mail Box แต่วันนี้ไม่ต้องกังวลอีกต่อไป เพราะบริการ Missid Cal Alert อีกหนึ่งบริการดี ๆจะช่วยส่งข้อความถึงมือถือคุณ โดยแจ้งว่ามีใครบ้างโทรหาคุณขณะปิดเครื่อง...”
การให้บริการหรือการส่งข้อความสั้น ๆ จากโทรศัพท์เครื่องหนึ่งไปอีกเครื่องหนึ่งเป็นการย่นระยะเวลาของการติดต่อ และประหยัดค่าใช้จ่าย กิจกรรมเหล่านี้เป็นการสร้างผลผลิตซ้ำอีกชุดหนึ่งในการส่งข้อมูลหรือข้อความไปหาผู้อื่น อีกทั้งธุรกิจบางธุรกิจนำกิจกรรมเหล่านี้มาเป็นรายได้ เช่น รายโทรทัศน์ต่าง ๆ นิยมตรวจสอบความนิยมของผู้ชมโดยการให้ส่ง SMS หรือการประกวดต่าง ๆ นิยมให้ผู้ชมร่วมโหวตหรือแสดงความคิดเห็นเข้ามา ซึ่งเป็นผลประโยชน์มหาศาล แต่ภายใต้กิจกรรมเหล่านี้กลายเป็นนัยยะสำคัญที่สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้บริโภคได้รู้สึกถึงการมีส่วนร่วมในกิจกรรมเหล่านี้
และยังจะพบว่ามีข้อความสั้น ๆ ต่าง ๆ มากมายที่นิยม และสามารถดาวน์โหลดข้อความเหล่านั้นได้ โดยมีค่าใช้จ่ายในการโหลดข้อความเหล่านั้น ซึ่งจะเห็นว่าสิ่งเหล่านี้กลายเป็นสินค้าวัฒนธรรมที่ถูกสร้างขึ้นสำหรับการบริโภค โดยผู้บริโภคสินค้าเหล่านี้ก็จะนำมาใช้เป็นอัตลักษณ์หรือความเป็นตัวตน เช่น
“เจ้าของสวยมาก” “หลับฝันดีนะ รักจ๊ะ” “ถ้ายังไม่ตาย ...โทรกลับด้วย”
“ห้ามคิดถึงใครนอกจากคนส่ง” “ปากบอก...แค่เพื่อน..แต่รู้มั๊ยว่า..รักเธอ”
“1234567...นับเท่าไหร่ก็ไม่หายคิดถึง”
นอกจากนี้ยังมีรูปภาพที่นิยมโหลดกันอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการ์ตูน รูปภาพหนุ่มหล่อสาวสวยแสนเซ็กส์ซี่ ภาพวิวทิวทัศน์ รวมถึงภาพส่วนตัวที่ควรอยู่ในที่ลับ เป็นต้น ภาพเหล่านี้กลายเป็นการนำเสนอความเป็นตัวตนของเจ้าของเครื่อง และภาษาสัญลักษณ์อีกชุดหนึ่งที่ต้องการสื่อถึงผู้รับ ซึ่งล่าสุดมีผู้ปกครองนักเรียกออกมาโวยว่า “ลูกนิยมดาว์นโหลดรูปภาพเซ็กส์ซี่ ทำให้ข้อมูลภาพต่าง ๆ เหล่านี้ถูกแพร่กระจายภายใต้บริบทและความสัมพันธ์ของผู้คนในสังคม

Ringtone หรือเสียงเรียกเข้า
Ringtone เป็นเสียงของโทรศัพท์มือถือ หรือเสียงเรียกเข้า เดิมเสียงเหล่านี้เป็นเพียงสัญญาณหรือเสียงสังเคราะห์ที่มีจังหวะและทำนองเท่านั้น ที่เรียกว่า Monotone ในปัจจุบันเสียงเหล่านี้ได้ถูกพัฒนากลายเป็นเสียงเครื่องดนตรีประเภทต่าง ๆ เรียกว่า Polytone และเสียงจริง ไม่ว่าจะเป็นเสียงพูด เสียงหัวเราะ ร้องไห้ และเสียงร้องเพลง เรียกว่า Truetone แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติความสามารถของการทำงานของโทรศัพท์มือถือแต่ละรุ่นแต่ละยี่ห้อ ซึ่งเสียงเหล่านี้กลายเป็นสินค้าวัฒนธรรมที่กลายเป็นความนิยมของกลุ่มวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ตอนต้น กลายเป็นกระแสของวัฒนธรรมสมัยใหม่ ที่ผู้คนกลุ่มเหล่านี้นิยมโหลดหรือสะสมเสียงต่าง ๆ เหล่านี้ และนิยมใช้บริการผ่านศูนย์บริการต่าง ๆ รวมถึงค่ายเทปใหญ่ ๆ ด้วย
“Ringtone เด็กดอยใจดี กด *81051006 แล้วกดโทรออก...”
“เปลี่ยนเสียงรอสายแบบเดิม ๆ เป็นเสียงดนตรี....เบื่อหรือยัง ? กับเสียงรอสายตู๊ด ๆ แบบเดิม ๆ มาเปลี่ยนเสียงรอสายเป็นเสียงดนตรีสุดฮ๊อต...แค่นี้...คนที่โทรหาคุณก็จะได้ฟังเพลงเพลิน ๆ ระหว่างรอสาย พิเศษ ! รับเพลงระหว่างรอสายฟรี ! ...”
“1-2-3 ถ้าไม่รับเราโกรธแล้วนะ”
“พี่สุดหล่อคร๊าบ...แฟนโทรมา”
“โอ้...พระเจ้าจอร์ชมันยอดมาก”
นอกจากนี้ยังมีเสียงบริการอีกรูปแบบหนึ่งที่เรียกว่า Vocie Mail เป็นเสียงที่ช่วยสร้างความรู้สึกดี ๆ ประทับให้เกิดขึ้นกับผู้รับ แม้ว่าบางครั้งผู้รับไม่สามารถรับสายเข้าได้ ก็จะมีบริการฝากเสียงพูด
“…ส่งเสียงผ่านทุกความรู้สึกของคุณด้วย Vioce2U…จะอยู่ในอารมณ์อินเลิฟ หรืออารมณ์ไหน ๆ ก็บอกความในใจให้ใครคนนั้นรู้ได้เหมือนไปกระซิบข้าง ๆ หู กับบริการ “Voice2U”
“คิดถึงแจนนะครับ...หลับฝันดีนะ”
“ผมขอโทษ...ยกโทษให้ผมนะครับ”
“อยากไปอยู่ใกล้ ๆ จังเลย...”
“ส่งความรู้สึกดี ๆ จากคุณถึงผู้รับได้ทันที...เพราะทุกคำพูดมีค่ากับความรู้สึก อย่าเก็บความรู้สึกดี ๆ เอาไว้เพราะไม่อยากให้เสียงเรียกเข้าไปกวนใจผู้รับ
อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีการกล่าวถึงเสียงต่าง ๆ เหล่านี้ว่าเป็นเสียงที่ขาดสุนทรียะที่พยายามแพร่กระจายไปทั่วทุกมุมเมือง เสียงRingtone ได้แปรสภาพจากเสียงที่เคยอยู่ในพื้นที่ส่วนตัวกลายเป็นเสียงที่ถูกเติมและแสดงบนพื้นที่สาธารณะหรือเรียกว่า “การสร้างพื้นที่เสียงในเมือง”
โทรศัพท์มือถือมีรูปแบบเฉพาะของตนเอง ขึ้นอยู่กับเพศ อายุ ชนชั้น อาชีพ ทำให้เกิดวัฒนธรรมตัวตนขึ้น มือถือเป็นสื่อผ่านการแสดงออกของมนุษย์ ภายใต้ความเป็นสินค้าบริโภคที่เข้ามารับใช้กฎเกณฑ์ทางวัฒนธรรมของมนุษย์อย่างสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน
โทรศัพท์มือถือ นวัตกรรมชิ้นสำคัญของโลกที่อาศัยคำสั่งเพียงปลายนิ้วมือ เป็นตัวกำหนดและสร้างจิตนาการให้กับมนุษย์เรา โทรศัพท์มือถือกลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญของมนุษย์เรา ตราบใดที่เราต้องการย่อโลกย่นเวลา ตราบนั้นโทรศัพท์ก็เป็นเรื่องสำคัญที่นำเราย่นระยะทางและระยะเวลาเพื่อความสัมพันธ์ของคนในสังคม โทรศัพท์กลายเป็นเครื่องมือเทคโนโลยีที่มนุษย์เราต้องอาศัยกลไกของมันผ่านข้ามห้วงพิศวงที่มนุษย์เราเป็นผู้สร้างมันขึ้นมา ด้วยเหตุนี้โทรศัพท์มือถือจึงเป็นเทคโนโลยีที่สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนเราได้ ขณะเดียวกันพฤติกรรมของเราก็สามารถเปลี่ยนแปลงหรือกำหนดทิศทางการพัฒนาของเทคโนโลยีเหล่านี้ได้เช่นกัน

[1] วัฒนธรรมมือถือ หรือ Mobile Phone Culture
[2] ดาหาชาดา “เมื่อชีวิตไร้สาย” National Geographic ฉบับภาษาไทย , ตุลาคม 2547 : น. 31-32
[3] T 3762309 smanu 324 (25 กย. 48 18.57.09) www.pantip.com