Thursday, January 25, 2007

หน่อกล้าของสังคมท่ามกลางพายุแห่งโลกาภิวัตน์[1]
ท่ามกลางวิกฤตของสังคม พายุแห่งโลกาภิวัตน์ถั่งโถมเข้ามา จนทำให้เราตั้งตัวไม่ติด บางคนหลงติดกับลมบน บางคนพริ้วตัวโอนอ่อนไปกับลม บางคนหายไปกับสายลม บางคนยืนแข็งต้านแรงปะทะของลม จนเหมือนกับโลกเรานี้ไม่มีแกน เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้เราไม่สามารถยืนได้อย่างมั่นคงและตรงได้ โดยเฉพาะหน่อกล้าใหม่ที่เพิ่งแตกหน่อ แตกยอดยิ่งซ้ำร้าย จะถูกดูดกลืนเข้าไปอยู่ในวังวนของพายุลูกนี้หมดหรือไม่ ?
ดูเหมือนว่าเป็นอุปมาอุปไมยที่ต้องการเปรียบให้เห็นว่า “นักศึกษา” เป็นเสมือนหน่อกล้าของสังคมที่เพิ่งแตกหน่อแตกยอดในช่วงเดือน ๖ ที่ต้องมาใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย เพื่อเข้ามาเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ มากมายและที่แตกต่างจากสิ่งที่คุ้นชินมาก่อน การเรียนรู้ของเราอาจไม่ใช่เพียงเป็นการเรียนในห้องเรียนเท่านั้น แต่สิ่งที่เราได้มากกว่านั้นคือ การเรียนนอกห้องเรียน ซึ่งถือว่าเป็นประสบการณ์ที่เกิดจากการสัมผัสโดยตรง ไม่ว่าการเรียนรู้ชีวิตผู้คนต่างถิ่นต่างที่ ต่างสังคม เช่น พี่ ๆเพื่อนนักศึกษาด้วยกัน ชาวบ้าน ชาวชุมชน และอาจารย์ ได้เรียนรู้หนทางการใช้ชีวิตเพื่อความอยู่รอดในสังคม ได้เรียนรู้ปัญหาและวิกฤตของชีวิตและสังคม เป็นต้น ซึ่งการเรียนรู้เหล่านี้เป็นการเรียนรู้ฉบับย่อที่เกิดขึ้นใน “รั้วมหาวิทยาลัย” เพียงแต่ว่าเราอยากจะเรียนรู้กับสิ่งเหล่านี้หรือไม่ ? พร้อมที่จะเรียนรู้หรือไม่ ?
ในชีวิตของหนุ่มสาวเปี่ยมล้นด้วยพลังที่มากมายไม่ว่าพลังบวกหรือพลังลบ เพียงแต่ว่าเราใช้พลังเหล่านั้นในทางสร้างสรรค์หรือไม่ ? เมื่อเรากลับมาดูสภาพในสังคมปัจจุบัน ปรากฏว่า หนุ่มสาวทุกวันนี้เข้าไปติดกับพายุแห่งโลกาภิวัตน์ โดยเฉพาะ “ลัทธิการประกวด” (Contestism) กลายเป็นค่านิยมสำคัญที่ต้องการแข่งขันเพื่อเอาชนะและความมีอำนาจเหนือบุคคลอื่น เราจะพบการประกวดเหล่านี้ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การเต้น การร้องเพลง ความสวย ความสามารถด้านต่าง ๆ ความเซ็กซี่ เป็นต้น ลัทธินี้จึงเน้นให้คนหนุ่มสาวเหล่านั้นมองแต่ตนเอง คิดแต่เรื่องของตนเอง กลายเป็น “ปัจเจกชนนิยม” จนลืมมองหรือเรียนรู้ผู้คน สัตว์และสิ่งของที่อยู่รอบ ๆ ตัวพวกเขา อีกทั้งไม่สามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับคน สัตว์ สิ่งของที่อยู่รอบ ๆ ตัว ๆเองและสังคมที่ตนอยู่ได้
ด้วยวิกฤตแห่งพายุโลกาภิวัตน์นี้เอง ชีวิตหนุ่มสาวในรั้วมหาวิทยาลัยได้รับผลกระทบกระแทกอย่างรุนแรง จนเกิดปัญหาร่วมกันในสังคมคือ “พลังหนุ่มสาวหายไปไหน ?” “นักกิจกรรมหรืออาสาสมัครเพื่อสังคมยังคงมีอยู่หรือไม่ ?” “ทำไมเดี๋ยวนี้ไม่มีใครอยากเป็นนักกิจกรรมเลย ?” หรือ “ทำไมนักกิจกรรมทุกวันนี้ไม่มีคุณภาพเลย ?”
คำถามเหล่านี้กลายเป็นภาพสะท้อนว่า ปัจจุบันการทำงานเพื่อสังคม หรือการทำกิจกรรมเพื่อส่วนร่วมได้เปลี่ยนไป ส่งผลให้คิดว่ากิจกรรมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันไม่ตอบสนองเป้าหมายที่แท้จริง อีกทั้งคนที่เข้ามาทำงาน ณ จุดนี้ทำเพื่อขอไปที หรือทำเพื่อผลประโยชน์ที่ตนควรจะได้รับมากกว่าสังคมส่วนรวมจะได้รับ จากสภาพที่เกิดขึ้นนี้ หากเรามุ่งเน้นที่ตัวคน “พลังหนุ่มสาว” “หน่อกล้าใหม่” ของสังคมกำลังถูกทำลาย โดยเฉพาะ “การมีจิตสำนึกทางสังคม” ซึ่งน่าจะหมายถึง การรู้ว่าตนเองอยู่ตรงไหนในสังคม สิ่งแวดล้อม และเห็นความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับสิ่งต่าง ๆ ในสังคม แม้ว่าการสร้างจิตสำนึกจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เราสามารถปฏิบัติได้โดยเริ่มต้น จากตัวเองก่อนเป็นสำคัญ นั่นคือ การรู้จักตนเอง รู้ว่าตนเองคือใคร ? กำลังทำอะไร? มีหน้าที่รับผิดชอบอะไรอยู่ ? รับรู้และอยู่ในโลกแห่งความจริง มีความรู้สึกร่วมรับผิดชอบในสิ่งที่กำลังปฏิบัติการอยู่ ต้องมีจุดยืนเป็นของตนเอง สามารถคิดสร้างสรรค์ มีฝัน และอย่าให้กรอบมาเป็นเส้นจำกัดจินตนาการของเราได้ และที่สำคัญ คือ “ตัวเอง” แต่อย่าหลงเมาอยู่กับตนเองจนลืมโลกภายนอกที่อยู่รอบ ๆ ตัวเรา ไม่ว่าคน สัตว์ สิ่งของ ครอบครัว ชุมชน และสังคม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ “ตัวเราเอง” ต้องเชื่อมโยงความสัมพันธ์เหล่านี้ให้ได้ โดยไม่ได้มองอย่างแยกส่วน หรือเฉพาะด้าน แต่มองอย่างองค์รวมที่เชื่อมสานต่อด้วยกัน
ทั้งนี้ทั้งนั้นเราเองมักได้รับอิทธิพลวิธีคิดแบบตะวันตก คือการแยกทุกสิ่งทุกอย่างเป็นสองขั้ว หรือแยกทุกอย่างออกเป็นคู่ตรงข้ามตลอดเวลา อย่างเช่น แยกระหว่างคนกับธรรมชาติ การแยกระหว่างความเป็นส่วนตัวและสาธารณะ (Private and Public) ขณะที่โลกตะวันออกวิธีการมองที่แยกเป็นสองขั้วนั้นไม่แบ่งแยกออกจากกัน แต่ยังคงอยู่ร่วมกันเพื่อการสร้างสมดุลย์ให้เกิดขึ้นในระบบ วิธีคิดเหล่านี้แน่นอนเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลและมีความสำคัญค่อนข้างมากที่นักกิจกรรมหรืออาสาสมัครเพื่อสังคมควรจะมองและตระหนักถึงการสร้างระบบคิดและระบบการทำงาน ซึ่งที่ผ่านมามักพบว่า การทำงานของนักกิจกรรมหรืออาสาสมัครต้องเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ นานา เช่น เมื่อมุ่งแต่งานส่วนตัวก็แสดงถึงความเห็นแก่ตัว ถ้ามุ่งแต่งานสาธารณะชีวิตส่วนตัวก็ล้มเหลว บางคนก็สนใจแต่เรียนอย่างเดียว บางคนเรียนบ้าง ทำกิจกรรมบ้าง (กิจกรรมนั่นต้องมีประโยชน์สำหรับฉัน) บางคนไม่เรียนมุ่งแต่ทำกิจกรรมอย่างเดียว เป็นต้น นั่นเพราะเรายังคงแยกแยะระหว่างกิจกรรมที่เป็นส่วนตัว (private) กับกิจกรรมที่เป็นสาธารณะ (public) ท้ายที่สุดแล้วไม่สามารถทำให้เราเกิดการเรียนรู้ที่แท้จริง ขาดความสมดุลย์ในระบบของตัวเองและสังคม ดังนั้นการเรียนรู้ที่แท้จริงจะต้องอยู่ท่ามกลางการปฏิบัติจริง จะช่วยให้เราหน่อกล้าใหม่ได้เปิดมุมมอง มีเครื่องไม้เครื่องมือในการมองสังคม สร้างคน เพิ่มพูนทักษะ ความคิดและเรียนรู้ให้ทำงานกับสังคมได้อย่างเต็มที่ โดยคิดว่ากิจกรรมส่วนตัวและสาธารณะเป็นเรื่องเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการทำกิจกรรมและการเรียน รวมถึงชีวิตส่วนตัวเป็นเรื่องเดียวกัน อาจเรียกว่า “ภารกิจ (กรรม)ในชีวิตประจำวัน” จะทำให้เราไม่รู้สึกว่างานกิจกรรมสาธารณะเป็นส่วนเกินของชีวิต ไม่รู้สึกว่าเป็นภาระของตัวเอง หากว่าเราสนุกกับกิจกรรมสาธารณะที่ทำและดำเนินการเป็นเรื่องของชีวิตประจำวัน เฉกเช่น การกินข้าว การฟังเพลง การพูดคุยกับเพื่อน สิ่งเหล่านี้ก็จะกลายเป็นสมดุลย์ที่เกิดขึ้นกับเรา “หน่อกล้าของสังคม” อย่างมีคุณภาพ แม้หน่อกล้าเหล่านั้นจะถูกปะทะด้วยพายุ ก็ไม่ทำให้หน่อกล้าเหล่านี้กลายเป็น “ซากที่ไร้ชีวิต” แต่เป็นชีวิตที่มีจิตวิญญาณพร้อมที่จะต่อสู้และเผชิญกับพายุที่โหมกระหน่ำทุกวินาที
ดังนั้นหากหน่อกล้าใหม่ที่กำลังแตกยอด ต้องพร้อมที่จะต้องเผชิญกับปัญหาอุปสรรคที่เป็นเสมือนพายุที่โหมกระหน่ำ และเป็นหน่อกล้าที่เต็มเปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณที่มีจิตสำนึกต่อสังคม
[1] สำหรับงานต้อนรับน้องใหม่ ๒๕๔๘ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

เวทีสาธารณะ : พื้นที่แห่งการสร้างตัวตนของหนุ่มสาว

เวทีสาธารณะ : พื้นที่แห่งการสร้างตัวตนของหนุ่มสาว ? [1]
สิริพร สมบูรณ์บูรณะ [2]

มีคำถามว่า “นักศึกษาทำอะไรกันอยู่ ?” “”บทบาทของนักศึกษาคืออะไร ?” “หนุ่มสาวของสังคมที่มีเรี่ยวแรงและทรงพลังหายไปไหน ?”
แต่ทว่า พวกเขาเหล่านั้นมิได้หายไปไหน พวกเขายังคงมีเรี่ยวแรงที่ทรงพลังล้นเหลือ แต่เพียงว่าพลังที่พวกเขามีนั้น พวกเขาต้องต่อสู้กับการถาโถมของกระแสลมโลกาภิวัตน์ ที่ทำให้พวกเขาติดลมบน สนุกกับการโต้ลมหรือล้อเล่นกับลม โดยคิดว่าลมนี้จะสามารถพยุงพวกเขาไว้ได้ หรือไม่ก็พัดพาพวกเขาไปตามหาฝัน โดยไม่คิดว่า ลมนี้จะก่อตัวเป็นพายุที่เต็มไปด้วยห่าฝน ที่จะทำให้พวกเขาเปียกปอนจนตกลงมา หรือลมนั้นจะทำให้พวกเขาลอยล่องหายไปในห้วงอากาศที่อ้างว้าง ด้วยภาวะเหล่านี้เปรียบได้กับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น นั่นคือ
สภาพสังคมปัจจุบัน ปรากฏว่า หนุ่มสาวทุกวันนี้เข้าไปติดกับพายุแห่งโลกาภิวัตน์ โดยเฉพาะ “ลัทธิการประกวด” (Contestism) กลายเป็นค่านิยมสำคัญที่ต้องการแข่งขันเพื่อเอาชนะและความมีอำนาจเหนือบุคคลอื่น การประกวดเหล่านี้มีรูปแบบต่าง ๆ เช่น การเต้น การร้องเพลง ความสวย ความเซ็กซี่ รวมทั้งความสามารถด้านต่าง ๆ เป็นต้น ลัทธินี้จึงเน้นให้คนหนุ่มสาวเหล่านั้นมองแต่ตนเอง คิดแต่เรื่องของตนเอง กลายเป็น “ปัจเจกชนนิยม” จนลืมมองหรือเรียนรู้ผู้คน สัตว์และสิ่งของที่อยู่รอบ ๆ ตัวพวกเขา อีกทั้งไม่สามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับคน สัตว์ สิ่งของที่อยู่รอบ ๆ ตัวเองและสังคมที่ตนอยู่ได้
ที่ผ่านมามีการประกวดและเกมส์แข่งขันมากมายที่ถ่ายทอดทางสื่อโทรทัศน์ ไม่ว่าจะเป็นการประกวดมิสยูนิเวิร์ส หรือมิส/มิสเตอร์ต่าง ๆ นาง/นายแบบ (Top Model) การแข่งขันร้องเพลง The Star การแย่งชิงการใช้ชีวิตภายในบ้าน Big Brother การแข่งขันการเป็น AF ขวัญใจของคนทั้งประเทศ เป็นต้น การประกวดหรือการแข่งขันเหล่านี้กลายเป็นการนำเสนอหรือการแสดงความจริงให้กับสังคมรับรู้ หรือที่เรียกว่า Reality Show เท่ากับเป็นการสะท้อนถึงความพยายามนำเสนอตัวตนหรืออัตลักษณ์ของตนเองในรูปแบบต่าง ๆ โดยผ่านสื่อ ซึ่งถือว่าเป็นวิธีการที่รวดเร็วที่สุดในการประชาสัมพันธ์ตนเองและเป็นทางลัดที่ดีที่สุดของการแสดงตัวต่อสาธารณะ
ไม่เป็นที่แปลกใจมากนักว่า ทำไมการปฏิบัติการเหล่านี้ เรามักจะพบว่า ผู้คนหรือคนรุ่นใหม่นี้มักจะลืมสุภาษิตของไทยที่ว่า “ช้า ๆ ได้พร้าเล่มงาม” นั่นคือเมื่อจะทำอะไรสักอย่างหนึ่งหรือต้องการอะไรสักอย่างหนึ่ง ต้องการสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างสำเร็จรูป ไม่ต้องรู้ที่มาที่ไป หรือรากเหง้าสิ่งเหล่านั้นมากนัก ขอให้สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นและสำเร็จโดยเร็วและเร่งด่วน ไม่ต้องคิดอะไรมากมาย การเรียนรู้ก็ไม่จำเป็นต้องผ่านหรืออาศัยกระบวนการมากนัก ขอเพียงแต่บอกมาสำเร็จเสร็จเลยก็ยิ่งดี !
ฉะนั้นการประกวดหรือการแข่งขันจึงถูกมองว่าเป็นเรื่องที่ง่ายมากที่จะทำให้ตนเองได้รับรางวัล หรือเป็นเรื่องที่ง่ายมากที่ต้องการแสดงตัวต่อสาธารณะได้อย่างรวดเร็ว และถือว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสุดยอดของชัยชนะในชีวิตที่ต้องการ กลายเป็นค่านิยมที่ถือว่าเป็น “จุดสุดยอด” ของหนุ่มสาว หรือนักศึกษา นอกจากการเล่าเรียนที่พ่อแม่คาดหวัง แต่รวมถึงกิจกรรม ที่มุ่งเน้นการนำเสนอภาพพจน์ ของตนเองเป็นหลัก ที่นำไปสู่ความภาคภูมิใจและประสบการณ์ที่มีค่าที่เกิดขึ้นกับตนเองและวงศ์ตระกูล รวมถึงการสร้างวาทกรรมที่อาจเรียกว่า “เสมือนจริง” มากกว่าจะเรียกว่า “เป็นความจริง” เพราะสิ่งเหล่านี้ได้ถูกจัดตั้งปั้นแต่งพร้อมที่จะเสพหรือบริโภคได้ทันที โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการอะไรมากนัก ในที่สุดกลายเป็นความเคยชินกับสิ่งที่พร้อมบริโภคหรือ “สำเร็จรูป”
อย่างไรก็ตามปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ มิได้เป็นการกล่าวโทษหรือหาผู้รับเคราะห์กรรมที่เป็น “นักศึกษาหรือหนุ่มสาว” แต่เพียงอย่างเดียว แต่สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากความรู้ไม่เท่าทันและกระแสสังคมเองเป็นผู้นำพาไป บางครั้งทำให้เกิดการอ่อนล้า หรือไร้เรี่ยวแรงที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้ ต่อต้าน หรือต่อรอง แต่กลายเป็นการจำนนต่อภาวะที่เกิดขึ้น
ดังนั้น “บนพื้นที่ทางสังคม” ที่ถูกสร้างขึ้นสำหรับคนหนุ่มสาวหรือนักศึกษา แม้ว่านับวันจะยิ่งมีมากขึ้น แต่การมีเพิ่มมากขึ้นไม่ได้หมายความว่ามันหลากหลาย แต่มันถูกผลิตซ้ำแล้วซ้ำอีก เหมือน ๆ เดิม ทำให้การเผยร่างหรือการปรากฏของนักศึกษาบนพื้นที่สาธารณะเป็นเพียงพิธีกรรมหนึ่งที่ต้องการแสดงให้เห็นถึงบทบาทที่ตนเองอยากจะเป็น หรือการสวมหัวโขน อันมีจุดยืนที่แสดงความเป็นตัวของตัวเอง เพื่อตัวเอง และโดยตัวเอง ที่ซ้ำไปซ้ำมา จนกระทั่งพิธีกรรมเหล่านี้กลายเป็นพื้นที่ของการสร้างตัวตนของหนุ่มสาว ไม่ว่าพื้นที่แห่งนั้นจะเป็นพื้นที่ส่วนตัวหรือพื้นที่สาธารณะ
อาจกล่าวได้ว่า “พื้นที่สาธารณะ” ในที่นี้หมายถึง “เวทีประกวด” ที่ต้องการประชันขันแข็ง และนำเสนอตัวตน การยอมรับจากผู้คนในสังคม ที่เรียกว่า “แฟนคลับ” หรืออีกนัยยะหนึ่ง เวทีประกวดก็เป็นพื้นที่ที่สามารถทำให้ผู้คนโดยเฉพาะหนุ่มสาว/นักศึกษาเหล่านี้ ในฐานะผู้ไร้อำนาจได้มีโอกาสแสดงตัวตนและกำหนดบทบาททางสังคมของตนเองได้ ทำให้ดูเสมือนว่า เป็นการปลดปล่อยผู้ที่เข้าร่วมจากเดิมที่ถูกผูกมัดทางโครงสร้าง และความไม่เป็นธรรมในสังคม ได้มีโอกาสเข้าร่วมหรือมีส่วนร่วมบนเวทีประกวดด้วย แต่การปลดปล่อยนั้นกลายเป็นการเน้นหรือให้ความสำคัญเรื่อง “สิทธิส่วนบุคคล” ในมิติที่เน้นตัวตนของตนเอง นั่นคือ เรื่องของฉัน สิทธิ์ของฉัน ฉันจะทำ ! ทำไม ฉันไม่แคร์... จนกลายเป็นความพลาดทางความคิดบนหลักเหตุและผลของความหมายที่แท้จริงของ “สิทธิและหน้าที่” ของหนุ่มสาว/นักศึกษาในปัจจุบัน
ซึ่งหากจะกล่าวถึงพื้นที่สาธารณะในฐานะที่เป็น “ปริมณฑลสาธารณะ” [3] หมายถึง ที่ ๆ ที่ทำหน้าที่เปิดกว้างของการถกเถียงด้วยเหตุผล (Rationality) ที่ทำให้พลเมืองสามารถใช้สิทธิในส่วนความเป็นประชาสังคมในการตรวจสอบภาครัฐ โดยมีการยอมรับหลักการของการมีส่วนร่วมในระบบประชาธิปไตย (Democratic Participation) มีเสรีภาพในการพูด (Freedom of Speech) และให้หลักประกันต่อสิทธิทางการเมืองของกลุ่มคนต่าง ๆ” และบนพื้นฐานของความเป็นเหตุผลนี้ นำเราสู่เวทีสาธารณะที่วางรากฐานให้ภาคสังคมก่อตัวเข้มแข็งขึ้น และช่วยฟื้นฟูการมีส่วนร่วม เพื่อต่อรองกับอำนาจเชิงโครงสร้างไม่ว่าจะเป็นรัฐ หรืออำนาจการตลาดที่ต้องการครอบงำผู้คนในสังคม โดยเฉพาะในภาวะปัจจุบันสังคมแบบหลังสมัยใหม่ (Postmodern Society) ที่มุ่งให้ผู้คนมีความเป็นปัจเจกชนสูง มีความสุขกับการบริโภค อยู่รวมกันอย่างเสแสร้าง (Fake) ทำให้ผู้คนหลงลมอยู่กับความไม่จริง หรือเสมือนจริงจนคิดว่า นั่นคือความจริง ก็จะทำให้เกิดความชัดเจนมากขึ้นถึง การสร้างข้อถกเถียงหรือข้อเรียกร้องต่อสาธารณะและการนำเสนอตัวตนต่อสาธารณะบนหลักการของประชาธิปไตย
ขณะเดียวกันก็เป็นที่น่าสังเกตว่า ในทุกยุคทุกสมัยที่มีการเรียกร้อง “จิตสำนึกทางการเมือง” [4] กลุ่มคนที่ถูกตั้งคำถามถึงในช่วงเวลา 20-30 ปีที่ผ่านมาคือกลุ่ม “ปัญญาชน” หรือ “กลุ่มพลังนักศึกษา” ที่เป็นกลุ่มคนจำนวนมาก ก็ยังคงเป็น “ความหวัง” ที่คนรุ่นเก่า ๆ ต่างมองด้วยสายตาที่เต็มไปด้วยความรู้สึก “ผิดหวัง” ความผิดหวังที่กลุ่มปัญญาชนที่มีการศึกษาสูงกลุ่มนี้กลับเป็นกลุ่มทางสังคมที่ขาด “จิตสำนึกทางการเมือง” เป็นกลุ่มคนที่ไม่มีความกระตือรือร้น หรือสนใจกับ “ปัญหาของประเทศ” เพราะในอดีตที่ผ่านมา สังคมไทยได้อาศัย “พลังของนักศึกษา” เป็นกลุ่มคนที่ขับเคลื่อนทางสังคมมาโดยตลอด
นักศึกษาในปัจจุบันต่างให้ความสนใจกับโลก “ส่วนตัว” ที่มีวงอันจำกัด สนใจในกลุ่มของตนเอง สนใจในเรื่องราวของตนเอง และมองสิ่งที่นอกเหนือจากกลุ่มของตนเป็น “เรื่องอื่น” ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ต้องยอมรับว่า “สังคม” เกิดการ “เปลี่ยนแปลง” จากสังคมที่มีความเข้มแข็ง เต็มไปด้วยศีลธรรมอันดีงามได้กลายเป็นสังคมแห่ง “วัตถุนิยม” และกลายเป็นสังคม “บันเทิงนิยม” ข่าวสารที่ผ่านสื่อต่างๆ ให้กลุ่มปัญญาชนได้รับรู้ จึงเป็นเรื่องราวที่เน้นความสนุกสนานที่ไม่มีสาระเป็นหลัก ข่าวที่เกี่ยวข้องกับ “การเมือง” เป็นเพียงหัวข้อสุดท้ายที่กลุ่มวัยรุ่นจะพูดถึง
เมื่อสังคมไทยขาดพลังนักศึกษาที่ควรจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบ สังคมไทยจึงเข้าสู่สภาวะการขาดซึ่ง “จิตสำนึกทางการเมือง” อย่างสมบูรณ์แบบ ด้วยเหตุที่ “ชนชั้นกลาง” มีพลังที่อ่อนแรงลงเรื่อยๆในการเรียกร้อง “ความชอบธรรม” และความถูกต้องทางการเมือง ประกอบกับ “พลังของนักศึกษา” ระดับปัญญาชนที่มี “ค่าเป็นศูนย์” สังคมไทยจึงเข้าสู่ยุคของการเมืองไทยที่ “ขาดการตรวจสอบ[5]
ดังนั้นเราหนุ่มสาวเหล่านักศึกษาทั้งหลายอาจต้องกลับมานั่งไตร่ตรองถึงภาระอันหนักอึ้งที่สังคมคาดหวังหรือมอบหมายให้เรา และสิ่งที่สังคมมอบหมายให้นั้นมีคุณค่ามากน้อยเพียงใด ? และพวกเราจะต้องกลับมานั่งคิดอีกว่า แล้วจะทำอย่างไรต่อไป เพื่อให้สังคมเกิดความเข้มแข็ง และสร้าง “ปริมณฑลสาธารณะ” ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย โดยเฉพาะการเปิดกว้างทางความคิดและการถกเถียงด้วยเหตุผล บนพื้นฐานของสิทธิในความเป็นประชาสังคม ที่คนหนุ่มสาวควรได้ทำหน้าที่ในการตรวจสอบรัฐและเอกชนที่มุ่งหวังจะเอาเปรียบคนในสังคมเดียวกัน
[1] เอกสารสำหรับโครงการ สัมมนาสภานิสิต-นักศึกษาระดับอุดมศึกษาทั่วประเทศ ครั้งที่ 13 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ วันที่ 10 – 13 พฤศจิกายน 2549 ณ ท่าศาลา นครศรีธรรมราช
[2] อาจารย์ประจำสำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นครศรีธรรมราช
[3] Kellner ,2003 : p.5
[4] กาลัญ วรพิยุต มติชน ฉบับวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549

จากฟรอยด์...ถึง...ชินจัง

จากฟรอยด์ … ถึง … ชินจัง : การ์ตูน เด็ก เซ็กส์ และศีลธรรม[1]

สิริพร สมบูรณ์บูรณะ[2]

(1)
การ์ตูนเป็นสิ่งที่ถูกให้ความสำคัญว่าเป็นเครื่องบันเทิงใจ สนุกสนาน ตลกขบขัน เป็นเรื่องที่ไร้สาระ เป็นเรื่องของจินตนาการ (fantasy) ของมนุษย์ที่หาสาระและความจิรงไม่ได้ แต่ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมในสังคมนั้น ๆ ซึ่งบางครั้งการ์ตูนได้กลายเป็นทางออก (social outlet) ของความขัดแย้งและกฎเกณฑ์ทางสังคม อย่างเช่น ความขัดแย้งภายในครอบครัว ทางออกสำหรับความกดดันของเด็กและวัยรุ่น หรืออาจกล่าวได้ว่า ช่วยลดความตึงเครียดลงได้ นอกจากนี้ส่วนของเนื้อเรื่องของการ์ตูนเองก็มีส่วนสัมพันธ์กับความจริง (reality) ความรู้ แง่คิด และคุณธรรม ในสังคมนั้น ๆ อย่างลึกซึ้ง เช่น การแสดงความสัมพันธ์ของครอบครัว ความเป็นเพื่อน การทำงานของหญิง-ชาย วัฒนธรรมของผู้คนแต่ละกลุ่มแต่ละวัย เป็นต้น
สังคมไทยพบว่า การ์ตูนญี่ปุ่น[3] เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในกลุ่มเด็กและวัยรุ่น ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ หรือภาพยนตร์โทรทัศน์ จนกลายเป็นที่เกรงกลัวของผู้ใหญ่ เกิดการวิพากวิจารณ์ต่าง ๆ นานา
แต่ใช่ว่าสิ่งที่เด็กและวัยรุ่นรับจากการ์ตูนญี่ปุ่นจะติดลบเสมอไป เพราะการ์ตูนอาจจะสอดแทรกค่านิยม บรรทัดฐานบางประการให้แก่เด็ก โดยที่เด็กรับไว้อย่างไม่รู้ตัวก็ได้ เช่น “ความดีย่อมชนะความชั่วเสมอ” “ความซื่อสัตย์” “ความกตัญญูกตเวที” “ความจงรักภักดี” “ความขยันหมั่นเพียร” “ความมานะพยายาม” เป็นต้น อีกทั้งเป็นการสนับสนุนจินตนาการของเด็ก เพราะเด็กทุกคนมีจินตนาการ หากมีการส่งเสริมอย่างถูกวิธีจินตนาการนั้นก็จะเจิรญงอกงามไปในทางที่เป็นประโยชน์แก่เด็กและสังคม เด็กจะเกิดความมั่นใจและมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
บทความนี้ผู้เขียนนำเสนอการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่อง “เครยอน ชินจัง” [4](Crayon Shin-chan) ทั้งนี้เนื่องจากในช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา (2539) พบว่า การ์ตูนชินจังเป็นที่นิยมอย่างมากในกลุ่มเด็กและวัยรุ่นไทย และพบว่าหนังสือการ์ตูนเรื่องนี้ถูกตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์หลาย ๆ สำนักพิมพ์ อีกทั้งมีการฉายเป็นภาพยนตร์ทางโทรทัศน์ จนกระทั่งมีการวิพากษ์วิจารณ์ผ่านสื่อถึงความไม่เหมาะสมของภาพยนตร์การ์ตูนเรื่องนี้เพราะเป็นการนำเสนอความก้าวร้าว ความทะลึ่งของด็ก และเรื่องเพศ ทำให้มีความพยายามห้ามเผยแพร่ทางโทรทัศน์ จนทำให้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงเวลาออกอากาศ
ดังนั้นภายใต้บริบทของการกล่าวถึงตัวการ์ตูนที่มีอิทธิพลต่อกลุ่มคนในสังคม ผู้เขียนจึงสนใจที่จะค้นหาความเป็นตัวแทนของความจริงโดยผ่านภาพตัวการ์ตูน และที่สำคัญการวิเคราะห์บุคลิกและพฤติกรรมของชินจังผ่านแว่นตาของฟรอยด์ [5] ซึ่งผู้เขียนคิดว่าเป็นมุมมองหนึ่งที่มักจะถูกละทิ้งเสมอกับการยอมรับภาพความเป็นจริงกับพฤติกรรมที่เกิดขึ้นกับเด็กชายวัย 3-5 ขวบ ทั่ว ๆ ไป [6]

(2)
“เครยอน ชินจัง” เป็นการ์ตูนญี่ปุ่น วาดโดย Yoshto Usui ในปี ค.ศ. 1992 พิมพ์ขึ้นครั้งแรกเป็นหนังสือรายสัปดาห์ โดยสำนักพิมพ์ Futabasha Publishers Ltd. และเป็นภาพยนตร์โทรทัศน์ฉายเป็นตอน ๆ ละครึ่งชั่วโมง ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากจนมีการสะสมหนังสือขึ้นโดยกลุ่ม Japanese manga fan เมื่อครั้งนำเสนอทางโทรทัศน์ญี่ปุ่นช่วงแรก มักจะถูกถามว่า ทำไมดูประหลาด ๆ ? ทำไมถึงนิยมกันมากมาย ? เพราะดูแล้วรูปแบบการวาดก็ง่าย ๆ ใช้สีวาดธรรมดา แต่บางคนก็บอกว่าเมื่อดูไปแล้วรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่สนุก แปลก ๆ น่าสนใจดี เพราะผู้วาดได้นำเสนอนัยยะความจริงผ่านอาร์ตเวอร์ค (artwork) ใช้วิธีการวาดรูปแบบ mumbo jumbo และแสดงความตลกขบขันได้อย่างชัดเจน รู้จักเล่นสำนวนในการพูดคุยของตัวละคร และที่สำคัญนำเสนอเรื่องง่าย ๆ คือ เรื่องครอบครัว “family show” นำเสนอได้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะพฤติกรรมของเด็กชายวัย 5 ขวบ ภายใต้จิตไร้สำนึกและจิตใกล้สำนึกในส่วนของแรงขับทางเพศ ในมุมมองแบบฟรอยด์เดียนส์ (Freudians) นอกจากบุคลิกลักษณะของชินจังเองถูกนำเสนอในฐานะตัวแทนบทบาทเชิงลบของเด็ก ไม่ว่าจะเป็นการกระทำ การพูดจาที่ไม่เหมาะสมของวัยเด็กทั่วไป และได้กลายเป็นสิ่งที่เด็กได้นำไปเลียนแบบ [7]
แต่ความนิยมการ์ตูนเครยอน ชินจัง (Crayon Shin-Chan Manga) มิได้มีเฉพาะในประเทศญี่ปุ่น ปรากฎว่าได้แพร่หลายอย่างมากในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย (ไกลถึงอเมริกาก็มี) จากการค้นคว้าข้อมูลในเวปไซด์พบว่า โฮมเพจ (homepage) ของการ์ตูนชินจัง [8] แนะนำหนังสือชินจัง รูปภาพชินจัง รู้จักตัวละคร (ครอบครัว พ่อแม่ ญาติพี่น้อง เพื่อนร่วมชั้นเรียน คุณครูที่โรงเรียน และบุคคลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับชินจัง) และได้มีรายชื่อของผู้ที่แสดงความคิดเห็นและชื่อชอบชินจังเข้ามามากมาย ในหัวข้อ “Guest book Shin-chan homepage” พบว่า ผู้ที่แสดงความคิดเห็นเป็นเด็กและวัยรุ่น เช่น

Melvin Tan เด็กชายอายุ 10 ขวบ จากสิงคโปร์ (2/14/1998) “He is very … very cute. He has a very unique face.”
เด็กชายอายุ 9 ขวบ จากอินโดนีเซีย (2/13/1998) “I like Crayon Shin-chan, because crayon is very cute, I love Crayon”

สำหรับในประเทศไทย ได้มีการตีพิมพ์โดยหลายสำนักพิมพ์ เช่น จัมโบ้ MAG Group และทีเอ็นจี พับลิชชิ่ง และได้มีการยืนยันว่าเป็นของแท้ โดยการใช้ข้อความว่า “ฉบับลิขสิทธิ์” และแม้ว่าจะไม่มีผู้สำรวจความนิยมเรื่องชินจัง แต่สังเกตได้จากความนิยมในการอ่านหนังสือ ซึ่งมีการตีพิมพ์เฉพาะสำนักพิมพ์ ทีเอ็นจี พับลิชชิ่ง จำกัด [9] การชมโทรทัศน์ (ทีวีช่อง 3) และการนำเสนอผ่านสินค้าประเภทต่าง ๆ (ตุ๊กตา นม ขนม สติ๊กเกอร์ กล่อง กระป๋องออมสิน ยางลบ ดินสอ จิ๊กซอว์ ฯลฯ) เพื่อสนองตอบการบริโภคของกลุ่มเด็กและวัยรุ่น และเมื่อมีการพูดคุยกับกลุ่มเด็กและวัยรุ่นที่ชอบการ์ตูนชินจัง มักจะบอกว่า “สนุกดี” “น่ารัก” หรือถ้าถามว่า “ทะลึ่งหรือไม่” ก็จะตอบว่า “ธรรมดา … ไม่เท่าไร” และในกลุ่มที่นิยมอ่านการ์ตูนชินจังนี้ ปรากฎว่าเป็นกลุ่มนักเรียนมัธยม (ต้น-ปลาย) และนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยมากกว่าเด็กเล็ก หรือเด็กระดับประถม
ขณะที่กลุ่มผู้ใหญ่ โดยเฉพาะผู้ปกครองไม่ชอบพฤติกรรมของชินจัง และมักจะห้ามลูกหลานไม่ให้ดูหรืออ่านการ์ตูนเรื่องนี้ (แต่ไม่ห้ามถ้าจะซื้อสินค้าที่มีรูปชินจัง) จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ต่าง ๆ นานา เพราะมองว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่ดีสำหรับเด็ก ทะลึ่ง ไม่เหมาะสมกับเด็ก (เพราะนำเสนออวัยวะเพศ) จึงเกรงว่าเด็กอาจจะเกิดการเลียนแบบพฤติกรรมเหล่านี้ ซึ่งในสายตาของผู้ใหญ่หรือสังคมถือว่าเป็นสิ่งที่ผิด

ภาพวาดชินจัง Crayon Shin-chan
การ์ตูน “เครยอน ชินจัง” [10] เป็นเรื่องราวของเด็กชายวัย 5 ขวบ ซึ่งมีชีวิตแบบเด็กธรรมดาในยุคปัจจุบัน ที่อยู่ในครอบครัวเดี่ยว (มีพ่อ แม่ และลูก) พ่อเป็นนักธุรกิจ [11]หรือพนักงานกินเงินเดือนที่ต้องทำงานหนักเพื่อสร้างฐานะ จึงไม่มีเวลาอยู่กับลูกมากนัก ส่วนแม่เป็นแม่บ้าน [12]ที่ต้องดูแลทำงานบ้าน และเลี้ยงลูกดังนั้นสิ่งที่แม่บ้านยุคนี้ต้องการคลายความเครียดก็คือ การช็อปปิ้งตามห้างสรรพสินค้า การพูดคุยโทรศัพท์ ส่วนชินจังเองก็ต้องตื่นแต่เช้าเพื่อไปโรงเรียน มีการแข่งขันกับเพื่อน เล่น รวมทั้งชอบดูโทรทัศน์
การเสนอการ์ตูนของนักวาดนี้ มีความจงใจที่จะแสดงให้เห็นสภาพของครอบครัวในสังคมเมืองโดยใช้เด็กเป็นตัวนำเสนอหรือตัวเอกของเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นท่ามกลางความสับสนต่าง ๆ นานา และที่สำคัญพยายามให้เห็นถึงความมีเสรีภาพของสังคมสมัยใหม่ที่เกิดขึ้นกับเด็ก สิ่งที่ใช้เป็นการอธิบายพฤติกรรมและบุคลิกของเด็กก็คือ ความซุกซน ความอยากรู้อยากเห็น ความฉลาด ความคิดในการฝันและจินตนาการ รวมทั้งความน่ารัก เป็นสื่อสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ภาพของการ์ตูนมีสีสันมากขึ้น ดังนั้นในการดำเนินเรื่องจึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นปกติธรรมดาในชีวิตประจำวันของผู้คนทั่วไป ไม่มีสิ่งวิเศษมหัศจรรย์มาเป็นเครื่องมือในการช่วยแก้ปัญหา แต่การแก้ปัญหาเกิดขึ้นโดยความคิดของมนุษย์ทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ ซึ่งก็คือความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคม บางครั้งการกระทำเหล่านี้อาจทำให้ผู้คนรับไม่ได้ และถูกมองว่าเกินความเป็นจิรง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ของเรื่อง ผู้วาดเองพยายามนำแนวความคิดแบบฟรอยด์เดียนส์มาใช้ในการอธิบายพฤติกรรมและบุคลิกภาพของมนุษย์ทุกเพศทุกวัย และมองว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่เด็กในยุคโลกาภิวัฒน์มีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น โดยผ่านบรรดาพ่อแม่เองก็ต้องใช้เหตุผลในการปกครองมากกว่าในอดีต และปฏิบัติต่อเขาเท่ากับเป็นมนุษย์ที่เท่าเที่ยมกันคนหนึ่ง ไม่ใช่คนในปกครองพ่อแม่ดังเช่นที่เคยเป็นมา ความสัมพันธ์จึงจะเป็นไปได้ด้วยดี [13]
การ์ตูนเรื่องนี้ เป็นเรื่องราวอันขบขันเกี่ยวกับพฤติกรรมการแสดงออกของเด็กอายุ 5 ขวบ ในยุคโลกาภิวัฒน์ ซึ่งพยายามที่จะแสดงออกถึงความรู้สึกนึกคิดของตนเองอย่างตรงไปตรงมา

(3)

เมื่อเราอ่านหรือชมการ์ตูนเครยอนชินจัง เราจะเห็นภาพตัวแทนของเด็กในรูปของ ชินจัง ในลักษณะ ต่าง ๆ ไม่ว่าเป็นพฤติกรรม ความคิด การพูด การใช้ภาษา รวมทั้งสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่ถูกนำเสนอขึ้นอย่างมีความหมาย โดยเฉพาะการพูดถึงเรื่องเซ็กส์หรือเพศของเด็กที่ไม่สามารถพูดคุยได้อย่างตรงไปตรงมา แต่ต้องใช้สัญญะแทนการสื่อความหมาย ซึ่งสังคมโดยทั่วไปมักจะลงโทษหรือประนามผู้ที่พูดหรือแสดงออกอย่างเปิดเผย
การนำเสนอเรื่อง “เซ็กส์” ในการ์ตูนชินจังนี้ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นกับทุกคน ทุกเพศ และทุกวัยกับการแสดงความคิดเรื่อง “เซ็กส์” ในที่นี้มิได้หมายถึงหรือจำกัด “พฤติกรรมทางเซ็กส์หรือการร่วมรักระหว่างชายและหญิง (heterosexuality)” เพราะในความคิดของฟรอยด์ เซ็กส์มีความหมายที่กว้างกว่าการร่วมรักระหว่างชายและหญิง แต่ครอบคลุมไปถึงสัญชาตญาณและพฤติกรรมของเด็กทารก วัยรุ่น และผู้ใหญ่ อีกทั้งความพึงพอใจทางเซ็กส์ก็มีหลายรูปแบบ ดังนั้นจุดมุ่งหมายทางเซ็กส์จึงหมายถึง พฤติกรรมหรือการกระทำที่มีลักษณะแตกต่างกันไป เช่น การสัมผัส กอดจูบ การอวด การมองดู จนกระทั่งการสมสู่ ซึ่งถือว่าเป็นพฤติกรรมที่เป็นธรรมชาติพื้นฐานของมนุษย์และเป็นส่วนหนึ่งของเซ็กส์
บทความนี้เราต้องการวิเคราะห์ชินจังในฐานะภาพแทนของเด็กในวัย 3-5 ขวบ โดยการมองผ่านแว่นตาของฟรอยด์ ซึ่งถือว่าเป็นธรรมชาติของเด็กในช่วงวัยนี้ที่ต้องมีพัฒนาการของพฤติกรรมที่จะไปสู่การปรับเปลี่ยนบุคลิกภาพของตนไปตามกาลเวลา ขณะที่เด็กวัยเดียวกับชินจังยังคงอยู่ในภาวะของความเป็นธรรมชาติที่กำลังจะถูกสังคมขัดเกลา สภาวะของชินจังก็เป็นธรรมชาติของการแสดงพฤติกรรมที่สร้างความสุขให้กับตนเอง โดยการให้ความสำคัญกับอวัยวะเพศของตน ขณะที่สังคมและวัฒนธรรมตีตราและประนามว่าเป็นสิ่งวิปริต (perversion) โดยเฉพาะพฤติกรรมของเด็กที่ชอบอวดอวัยวะเพศ การแอบมองหรือการชอบดูอวัยวะเพศของผู้อื่น โดยเฉพาะของแม่ เป็นสิ่งที่ผิด เป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
ดังจะเห็นได้จากพฤติกรรมต่าง ๆ ของชินจัง ความพึงพอใจในการถ่ายปัสสาวะ ความฝัน ความอยากรู้อยากเห็นเรื่องเพศ อยากเห็นอวัยวะเพศของผู้อื่น (พ่อแม่ คุณครู หรือหญิงสาว เป็นต้น) การอวดและเล่นอวัยวะเพศของตน [14] รวมทั้งการเล่นและอวดทวารหนัก (ก้น) [15] ซึ่งชินจังหรือเด็กวัยนี้ในมุมมองของฟรอยด์คิดว่าเป็นสิ่งที่ทำให้ตนมีความสุข และคิดว่าผู้อื่นก็จะสนุกสนานด้วย
ส่วนความสัมพันธ์ของชินจังกับพ่อและแม่ พบว่าความสัมพันธ์ของชินจังหรือเด็กในวัยนี้จะสนิทสนมกับแม่มากกว่าพ่อ ดังตอนที่เปิดเรื่องมีชื่อตอนว่า “แม่กะฉันเป็นเพื่อนกันนะ” มีทั้งสิ้น 46 ตอน เป็นตอนสั้น ๆ ที่ทำให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างแม่และชินจังในแง่มุมต่าง ๆ ที่สำคัญมีความใกล้ชิดและมีบทบาทต่อชินจังมากกว่าพ่อ เช่น การอาบน้ำด้วยกัน การนำกางเกงในและยกทรงมาเล่น หรือใส่แทนหมวก หรือการเรียกแม่ว่า “มิซาเอะ” เหมือนพ่อ ซึ่งหากพิจารณาปมเอดิปุสของชินจังจะเห็นว่า แม่เป็นเป้าหมายแห่งความรัก ความผูกพัน และความใกล้ชิด ทั้งนี้เนื่องจากความผูกพัน การเลี้ยงดูครั้งแรกในชีวิตของชินจังที่อยู่กับแม่มากกว่าพ่อ เด็กในวัยนี้จะเห็นว่าแม่ยังเป็นศูนย์กลางแห่งโลกของตน รู้จักเชื่อฟัง อยากให้แม่รักตนเพียงคนเดียว จึงต้องประจบ ประแจง และชอบเล่าให้แม่ฟังว่าตนไปทำอะไรมาบ้าง ความสัมพันธภาพกับพ่อก็ราบรื่น ทั้งเด็กหญิงและเด็กชายมองเห็นว่าพ่อในฐานะคนสำคัญ ชอบไปเที่ยวกับพ่อ ถ้าพ่อทำโทษได้ผลกว่าแม่ทำ แสดงความรักเคารพบูชาพ่อ ซึ่งฟรอยด์เองก็ได้อธิบายไว้ว่า เด็ก ๆ ไม่ว่าชายหรือหญิงจะมีลักษณะความเป็น 2 เพศอยู่ในคนเดียวกัน ดังนั้นพฤติกรรมของชินจังมีลักษณะความเป็นชายที่ก่อให้เกิดความผูกพันต่อแม่ และความเป็นหญิงที่ผูกพันต่อพ่อเช่นเดียวกัน ซึ่งปมเอดิปุสของชินจังที่แสดงต่อแม่คือการแสดงการเป็นเจ้าของแม่ [16] และพยายามเลียนแบบพฤติกรรมบางอย่างจากพ่อ เช่น การพูด การเรียกแม่ การออกคำสั่ง ซึ่งเป็นพฤติกรรมของพ่อที่ชินจังนำมาแสดงกับแม่ของตน อีกทั้งความพยายามแสดงตนเป็นวีรบุรุษที่สามารถปกป้องแม่และคนที่อ่อนแอได้ (แม้ว่าจะแสดงไม่ดีและทำให้เกิดความวุ่นวาย แต่ก็อยากจะทำ) จากพฤติกรรมต่าง ๆ ที่แสดงออกมานั้น เจ้าตัวเองไม่รู้ตัวหรือรู้สึกผิด อาจกล่าวได้ว่าเป็นธรรมชาติของเด็กในช่วงนี้ เพราะสิ่งที่แสดงออกมานั้นเกิดจากสิ่งที่ฟรอยด์เรียกว่า “จิตไร้สำนึก” (unconscious mind) โดยที่พฤติกรรมหรือการแสดงให้บุคคลอื่นประจักษ์นั้นออกมาในรูปของสัญลักษณ์ และเป็นการแสวงหาความสุขความพึงพอใจให้แก่ตนเองเสมอ และด้วยความเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่พยายามตักตวงความสุขความพึงพอใจทางสัญชาตญาณให้มากที่สุด จึงเป็นเหตุของพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจาก “จิตไร้สำนึก” ถือว่าเป็นกระบวนการทางจิตใจของเด็กที่เกิดขึ้นโดยที่ “ไม่รู้ตัว” นอกจากนี้ยังรวมไปถึง “ความฝัน” (dreams) ที่ต้องมีการแปลความฝัน (Interpretation of Dreams) เป็นกุญแจสำคัญที่ไขความลับอันยิ่งใหญ่ของจิตไร้สำนึกที่แฝงเร้นอยู่ในตัวของคน เป็นความหมายที่สะท้อนให้เห็นประสบการณ์ต่าง ๆ เช่น ความฝันของชินจังที่มักจะก่อให้เกิดการปัสสาวะรดที่นอน หรือความฝันของฮิโรชิ (พ่อของชินจัง) มักจะฝันถึงผู้หญิงสวย ๆ (ไม่ใช่แม่ของชินจัง) แต่ความฝันก็กลายเป็นฝันร้าย (nightmares) (ฝันร้ายของเขาเกิดจากการก่อกวนของชินจัง ทำให้ต้องตื่นทันที)
ขณะเดียวกันพฤติกรรมของชินจังบางอย่างที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจากการนึกรู้หรือจำได้ แต่จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อถูกกระตุ้น หรือการสะสมประสบการณ์ที่เลือนลาง สภาวะเหล่านี้เกิดขึ้นระหว่างจิตไร้สำนึกกับจิตสำนึกที่ ฟรอยด์เรียกว่า “จิตใกล้สำนึก” (preconscioun/subconscious mind) เช่น การนำจานไว้บริเวณสนามหน้าบ้านขณะที่หิมะตกเพื่อทำน้ำแข็งใส การปั้นตุ๊กตาหิมะ และพ่อให้ไปหาอุปกรณ์ทำตาและจมูกตุ๊กตาหิมะ สิ่งที่ชินจังหามาได้คือ “เต้าหู้ สมุดธนาคาร และถุงยางอนามัย” หรืออาการปวดท้องอุจจาระทุกเช้าก่อนไปโรงเรียน ซึ่งจะเป็นทุกครั้งที่ได้ยินเสียงแตรรถโรงเรียนหน้าบ้าน ทำให้ไม่สามารถไปพร้อมเพื่อน ๆ ได้ ซึ่งอาการนี้มักจะเกิดจากอาการเครียดและเกร็งของเด็กเมื่อถูกระตุ้นอย่างไม่รู้ตัว ก็จะเกิดพฤติกรรมที่ต่อต้าน สิ่งนี้ก็คือ “จิตใกล้สำนึก” ของชินจัง หรือเด็ก
ส่วนพฤติกรรมที่ชินจังหรือเด็กแสดงออกอย่างเจตนา มีจุดมุ่งหมายและรู้ตัวตลอดเวลา หรือที่เรียกว่า “จิตสำนึก” (conscious mind) ได้แก่ การแสดงความเป็นเด็กผู้ชาย (เด็กผู้หญิง) การเล่นแบบเด็กผู้ชาย (ผู้หญิง) ความเป็นเด็กนักเรียน การเป็นลูก รวมทั้งความเป็นเพื่อน ซึ่งเราจะเห็นภาพของชินจังได้อย่างชัดเจนโดยไม่ต้องผ่านการตีความสัญญลักษณ์ต่าง ๆ ทั้งนี้เราถือว่าพฤติกรรมระดับนี้ได้ถูกกลั่นกรองความต้องการหรือสัญชาตญาณระดับหนึ่งแล้ว หรืออาจกล่าวได้ว่า ได้ผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่สังคมได้พยายามทำความเข้าใจและอบรมสั่งสอน (Socialization)
การอบรมสั่งสอนหรือการขัดเกลาพฤติกรรมโดยสังคม (Socialization) เป็นความพยายามที่จะทำให้เด็กได้สำนึกถึงเรื่องของศีลธรรม (morality) ความถูกต้องที่สังคมกำหนดจนกลายเป็นบรรทัดฐานของสังคม (norm) ตามทัศนะของฟรอยด์ เด็กในวัยนี้ (3-5 ขวบ) หรือชินจัง เป็นระยะที่เด็กเริ่มเรียนรู้และได้รับการอบรมให้รู้จักบทบาทของตนเอง ถูกสอนให้ประพฤติตนเป็น “เด็กชาย” หรือ “เด็กหญิง” ที่ดีตามที่วัฒนธรรมได้กำหนดเอาไว้ ดังนั้นกระบวนการเรียนรู้ของเด็กในช่วงนี้แบ่งได้ 2 ส่วนคือ
(1) เด็กเริ่มเรียนรู้ความแตกต่างระหว่างชายและหญิง
(2) เด็กเริ่มเรียนรู้พฤติกรรมที่ถูกตีความโดยสังคม (พ่อแม่) ว่า “ดี” หรือ “เลว” แบบอย่างที่เด็กเรียนรู้ในเรื่องนี้คือ ตัวอย่างที่เด็กได้เห็นจากพฤติกรรมของพ่อแม่ของตน
ในการพัฒนาการทางศีลธรรม นั่นก็คือการที่เราเกี่ยวข้องกับบุคคลอื่นได้อย่างหมดจดงดงาม เด็กในวัยก่อนเข้าโรงเรียนจะได้รับการอบรมและจากประสบการณ์ของตัวเด็กเองจะเป็นผู้สอนว่า ประพฤติเช่นไรที่บุคคลอื่นจะยอมรับหรือไม่ยอมรับ ตนแสดงพฤติกรรมแบบใดบ้างจึงจะถูกลงโทษ ดังนั้นความประพฤติที่ดำเนินตามหลักจริยธรรมจะมีความหมายมากไปกว่าการประพฤติตนให้เหมาะสม เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกลงโทษ เด็กหรือพฤติกรรมอย่างชินจังจึงมีลักษณะการยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง (Ego centricity) เกิดพฤติกรรมที่แสดงถึงการรับรู้ทางสังคม (Social awareness) เช่น ความเห็นอกเห็นใจ การมีสติ (สามารถควบคุมสถานการณ์บางอย่างและแก้ปัญหาได้) ความโอบอ้อมอารี การมีน้ำใจช่วยเหลือเพื่อน ฯลฯ
แต่สิ่งที่ศีลธรรม (Morality) เลี่ยงไม่ได้ก็คือ การมีผลกระทบต่อผู้คนในสังคม โดยเฉพาะเรื่องเซ็กส์ ศีลธรรมจะเป็นตัวสอนให้มนุษย์เก็บกดสัญชาตญาณทางเซ็กส์เอาไว้ และมองว่าเซ็กส์มีหน้าที่เพียงเพื่อการแพร่ขยายเผ่าพันธุ์เท่านั้น นอกจากนี้ศีลธรรมยังได้เก็บกดเซ็กส์ให้อยู่ในวงจำกัดในหญิงชายที่เป็นคู่สมรสเท่านั้น [17] อีกทั้งคนเรามีซูเปอร์อีโก้ (Superego) เป็นตัวควบคุมความคิดและการกระทำของมนุษย์แยกแยะดีชั่ว ถูกผิด ยึดมั่นในความเชื่อและกฎศีลธรรม ความรู้สึกผิดเป็นความกังวลที่เกิดจากความหวาดกลัว หรือการตักเตือนของซูเปอร์ฮีโก้ ความรู้สึกผิดเกิดขึ้นจากความปรารถนาที่จะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งแต่ก่อนที่เราจะทำสิ่งนั้น เราถูกมโนธรรมห้ามไม่ให้กระทำ ความรู้สึกผิดอาจเกิดขึ้นหลังจากที่ได้กระทำสิ่งนั้นไปแล้ว และถูกซูเปอร์อีโก้ตำหนิ ความรู้สึกผิดหรือความวิตกกังวลนี้เป็นผลมาจากการที่บุคคลลงโทษตนเอง ใช้ความรุนแรงต่อตนเอง ใครก็ตามที่ใช้ความรุนแรงโดยไม่ถูกตำหนิซูเปอร์อีโก้จะไม่รู้สึกผิด แต่เขาก็ย่อมมิใช่มนุษย์ตามมาตรฐานของสังคมทั่วไป
ดังจะเห็นได้จากความรู้สึกผิดของชินจังในเรื่องการปัสสาวะใส่ที่นอน แต่ไม่รู้สึกผิดที่จะนำที่นอนเปื้อนปัสสาวะไปแอบ หรือโกหกว่าน้ำหกใส่ หรือพฤติกรรมการจับ ลูบคลำ หรืออวดอวัยวะเพศของตนเป็นไปอย่างธรรมชาติ และเป็นความพึงพอใจทางเซ็กส์ (Sexual pleasure) ที่เปรียบได้กับการสำเร็จความใคร่ (Masturbation) ซึ่งผู้ใหญ่ (พ่อ แม่ คุณครูของชินจัง ฯลฯ) รวมทั้งผู้ใหญ่ในสังคมมักเห็นว่าเป็นเรื่องที่ผิดศีลธรรม ขณะที่ชินจังหรือเด็กทำไปตามความต้องการของธรรมชาติ ผู้ใหญ่จึงพยายามควบคุมและอบรมว่าการกระทำเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผิด ต้องมีการถูกลงโทษ ดังนั้นเมื่อเด็กถูกพ่อแม่สั่งไม่ให้ลูบคลำ เล่น หรืออวดอวัยวะเพศ เด็กมักทำตามคำพูดของพ่อแม่ในขณะที่ความปรารถนานั้นยังคงอยู่ และในเวลาต่อมาเด็กก็จะได้เริ่มเรียนรู้ที่จะพัฒนาความรู้สึกชิงชัง รังเกียจต่อ “ความคิด” ที่จะลูบคลำ เล่น หรืออวดอวัยวะเพศ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งต้องห้าม (Taboo)
ภาพที่ถูกเสนอในการ์ตูนเครยอนนี้ ชินจังก็คือผู้ที่ละเมิดข้อห้าม (Taboo) ที่ถูกสังคมตีตราและไม่คบหาสมาคมด้วย สมาชิกในสังคมจะรู้สึกกระอักกระอวนใจต่อผู้ที่ละเมิดข้อห้ามหรือกฎระเบียบของสังคมซึ่ง ฟรอยด์เองมองว่า การที่พ่อแม่ ครอบครัว และสังคมสอนให้มนุษย์เก็บกดอารมณ์ตั้งแต่แรกเกิด สิ่งนี้จะทำให้ศักยภาพแห่งการพัฒนาสติปัญญาหยุดชะงักและเสียหาย เพราะมนุษย์ได้รับการเรียนรู้ ตั้งแต่เด็กให้ใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล และสิ่งนี้ติดตัวเขาไปจนเติบใหญ่
ชินจังจึงถูกกล่าวว่าเป็นเด็กที่มีความฉลาด มีอิสระและเสรีภาพในการคิดจินตนาการ และกระทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ไปตามพัฒนาการของเด็ก และนี่เองที่ชินจังจึงเป็นเสมือนภาพของเสรีภาพของเด็กในการคิดจินตนาการอย่างไร้กรอบหรือขอบเขตที่ถูกกำหนดโดยสังคม อีกทั้งสะท้อนถึงความพยายาม “แปลง” สัญชาตญาณทางเซ็กส์ไปเป็นกิจกรรมแบบอื่น เพื่อให้สังคมยอมรับและมีคุณประโยชน์ต่อสังคม
แม้ว่าทุกตอนของการ์ตูนเรื่องนี้จะแสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมของชินจังในการแสดงพฤติกรรมทางเพศออกมาอย่างชัดเจน ทั้งการแสดงอย่างเปิดเผย การโชว์อวัยวะเพศ [18] การโชว์ทวารหนัก [19] การใช้ภาษา หรือคำพูดที่ล่อแหลม และส่อในทางเพศ การดูและวิพากษ์วิจารณ์ อวัยวะเพศของบุคคลอื่น ทั้งที่เป็นคนเพศเดียวกันและคนต่างเพศอย่างจงใจ มากกว่าการเกิดขึ้นโดยบังเอิญ และการแสดงพฤติกรรมอย่างไม่เปิดเผย เป็นเพียงความนึกคิดภายในและแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์มากกว่าจะสื่อความหมายอย่างตรงไปตรงมา เช่น ความฝัน จึงทำให้เราเห็นว่าการพัฒนาการของเด็กในช่วงนี้เป็นช่วงที่ฟรอยด์เห็นว่า เป็นช่วงหนึ่งที่ ทำให้เกิดการพัฒนาบุคลิกภาพเมื่อเติบใหญ่ ทั้งนี้ฟรอยด์เห็นว่า ถ้าเด็กในช่วงนี้ถูกควบคุมอย่างสูง ไม่สามารถตอบสนองความต้องการที่ตนปรารถนาได้ จึงทำให้เกิดการเก็บกด อาจนำไปสู่ปัญหาการพัฒนาทางจิตในอนาคต ซึ่งปัญหาเหล่านี้ก็เกิดจากการควบคุมของสังคมนั่นเอง ดังนั้นการที่ผู้วาดใช้ชินจัง ตัวการ์ตูนเป็นสื่อที่พยายามจะบอกว่า สังคมที่ได้วางกรอบของศีลธรรมไว้ ควรจะเข้าใจพฤติกรรมของเด็กในช่วงนี้ที่ต้องการมีพัฒนาการอย่างมีอิสระเสรี และมีจินตนาการที่พร้อมจะสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ในโลกของเขาและเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ที่แวดล้อมตัวเขา







หนังสืออ้างอิง

กวี บ้านไท และ สุชาติ สวัสดิ์ศรี. “วัฒนธรรม “การ์ตูน” ในญี่ปุ่น.” โลกหนังสือ 6,7 (เมษายน
2526) : 18-33.
กวี บ้านไท และ สุชาติ สวัสดิ์ศรี. “สัมภาษณ์ ฟูชิโกะ ฟูชิโอะ.” โลกหนังสือ 6,7 (เมษายน 2526) :
34-38.
ก้อนกรวด บนดินแดง. “ศึกษาทางวัฒนธรรมการ์ตูนไทยหายไปไหน.” โลกหนังสือ 6,7 (เมษายน
2526) : 45-51.
“ครึ่งศตวรรษของศิลปะและข้อมูลในแนวมังกะ.” ญี่ปุ่น ภาพข่าวปัจจุบัน 18,1 (2538) : 18-22.
ทัศนา สลัดยะนันท์. “โดราเอมอน เหตุใดแมวญี่ปุ่นจึงครองใจเด็กไทย.” โลกหนังสือ 6,7
(เมษายน 2526): 39-44.
นวลละออ สุภาผล. ทฤษฎีบุคลิกภาพ. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร,
2527.
ปราโมทย์ เชาวศิลป์. คู่มือทฤษฎีจิตวิเคราะห์. กรุงเทพฯ : สหประชาพาณิชย์, 2526.
ยศ สันตสมบัติ. ฟรอยด์และพัฒนาการของจิตวิเคราะห์ จากฝันสู่ทฤษฎีสังคม. กรุงเทพฯ :
สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2532.
อรทัย ศรีสันติสุข. “การ์ตูนญี่ปุ่นกับเด็กไทย.” นิตยสารตะวัน (พฤษภาคม-กรกฎาคม 2527) :
15-25.

Brenkmen,J. Straight Male Modern. New York: Routledge, 1993.
Kinko, Ito. “Images of Women in Weekly Male Comic Magazines in Japan.”
Journal of Popular Culture 274 (1994): 81-95.
Natsume, Fusanosuke. “Look Back in Manga.” Look Japan 42,491 (February 1997):
20-21.
Yoshito, Usui. เครยอนชินจัง Vol. 1-12. แปลโดย สุนีย์ ตั้งตน. กรุงเทพฯ: เนชั่นมัลติมีเดีย กรุ๊ป,
2540.
[1] บทความได้รับการตีพิมพ์ในจุลสารญี่ปุ่นศึกษา ฉบับที่ 2

[2] อาจารย์สำนักวิชาศิลปศาสตร์
[3] สำหรับการ์ตูนในประเทศญี่ปุ่น จัดได้ว่าเป็นธุรกิจที่สำคัญและเป็นวัฒนธรรมนำออก (Cultural Exports) ของประเทศด้วย การ์ตูนญี่ปุ่น หรือที่เรียกว่า “มังกะ” (manga) เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของวัฒนธรรมญี่ปุ่น เพราะไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน เวลาใดก็มักจะเห็นผู้คนทั้งเด็ก-ผู้ใหญ่ หรือ หญิง-ชาย จะอ่านการ์ตูน ทั้งนี้เพราะการ์ตูนญี่ปุ่นถูกตีพิมพ์ออกมามากมายและหลากหลายรูปแบบ รวมทั้งภาพการ์ตูนก็มักจะปรากฎอยู่ตามบริเวณต่าง ๆ เช่น ภาพยนตร์โทรทัศน์ เกมส์ หรือแม้แต่บนบัตร ATM ของธนาคาร จนกลายเป็นอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรม และญี่ปุ่นก็ถูกขนานนามว่าเป็น “The world capital for manga” การ์ตูนญี่ปุ่น (Japanese manga) มีความแตกต่างจากการ์ตูนตะวันตก ทั้งนี้เนื่องจากการ์ตูนญี่ปุ่นมีการตีพิมพ์เป็นนิตยสารที่มีความคุณภาพต่ำ (pulp magazines) ราคาถูก (ใช้กระดาษคุณภาพต่ำ และใช้สีเพียงสีเดียว (ขาว-ดำ)) และที่สำคัญนักเขียนและนักวาดการ์ตูนญี่ปุ่นมีจำนวนมาก ทำให้มีการนำเสนอแนวเรื่อง (Theme) ใหม่ ๆ ตัวละครแปลก ๆ (ทั้งมาจากในอดีต ปัจจุบัน หรือจินตนาการในอนาคต) การอ่านการ์ตูนของคนญี่ปุ่นกลายเป็นวัฒนธรรมการอ่านที่นับวันก็ยิ่งจะเพิ่มจำนวนสูงขึ้น ในปี 2539 พบว่ามีจำนวนพิมพ์ถึง 2,250 ล้านเล่ม ยอดพิมพ์ในปี 2536 เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.7 จากปี 2535 ในปี 2538 เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 10 อาจกล่าวได้ว่า หนังสือการ์ตูนญี่ปุ่น (มังกะ) (Manga) หนังสือที่มีลักษณะพิเศษเป็นเอกลักษณ์โดยให้ความเย้ายวนใจทั้งเด็กและผู้ใหญ่

[4] การ์ตูนบูดเบี้ยว (Gag Manga) มีลักษณะบูดเบี้ยวเกินจริง ดูแล้วตลก
[5] Sigmund Freud อธิบายการพัฒนาแรงผลักดันของจิตใจที่เกี่ยวกับเพศ ในหนังสือ เรื่อง “Three Essays on Sexuality” (1915) แบ่งเป็น 5 ขั้นตอน คือ ระยะแรก ขั้นความสุขทางปาก (Oral Stage) ระยะที่สอง ขั้นความสุขทางอวัยวะขับถ่าย หรือทวารหนัก (Anal Stage) ระยะที่สาม ขั้นความสุขทางอวัยวะเพศ (Phallic Stage) ระยะที่สี่ขั้นก่อนวัยรุ่น (Latency Stage) และระยะสุดท้ายขั้นความสุขจากการมีเพศสัมพันธ์ (Genital Stage)
[6] ช่วงพัฒนาการของขั้นแสวงหาความสุขของอวัยวะเพศปฐมภูมิ (Phallic Stage) มีความอยากรู้อยากเห็นเรื่องเพศ พร้อม ๆ กับมีความรู้สึกอยากเห็นอวัยวะเพศของผู้อื่น และอยากโชว์อวัยวะเพศของตนด้วย หรือเรียกว่า “ปมเอดิปุส” (Oedipus Complex) ที่มีความรู้สึกต่อพ่อแม่
[7] ข้อมูลจาก http://www.tcp.com/~jly/crayon

[8] http://www.Ran.net.org/shinchan/index.html
[9] เล่มที่ 1 ถึง 3 ครั้ง (8 เมษายน 2539, 4 ตุลาคม 2539 และ 1 พฤศจิกายน 2539) หรือ เล่มที่ 9 พิมพ์ 2 ครั้ง (24 มกราคม 2540, 10 พฤษภาคม 2540) ทั้งในรูปฉบับปกติ (เล่มเล็กพ็อกเก็ตบุ๊ค ขาว-ดำ) ในราคา 30-35 บาท เล่มเล็ก (พ็อกเก็ตบุ๊คสี) ราคา 40 บาท ไปจนถึงเล่มใหญ่สี หรือเรียกว่า ฉบับพิเศษ ราคา 70 บาท
[10] ชินจัง (Shin-Chin) หรือชิโนสุเกะ โนฮาร่า อยู่กับพ่อแม่และน้องสาวจัดเป็นครอบครัวเดี่ยวในสังคมเมือง เรียนหนังสือที่โรงเรียนบูม รูปร่างเล็ก คิ้วหนา ผมเกรียน ซุกซน ช่างซักถาม ชอบผู้หญิงสาวสวย ชอบโชว์และจับอวัยวะเพศของตนเอง ชอบดูอวัยวะเพศของผู้อื่น ชอบเลียนคำพูดของพ่อ ชอบเล่นมนุษย์หุ่นยนต์ (Action Kamen) เป็นวีรบุรุษที่ชินจังอยากเป็น เป็นเด็กตื่นสายและไปโรงเรียนสายเสมอ เพราะเวลารถโรงเรียนมารับมักจะปวดท้องอุจจาระ แต่มีข้อดี คือ มีน้ำใจกับเพื่อน ๆ
[11] พ่อของชินจัง ชื่อ ฮิโรชิ โนฮาร่า เป็นผู้จัดการบริษัทเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง ทำให้มีเวลาให้กับลูกค่อนข้างน้อย ชอบทีมเบสบอลไจแอนน์ ชอบสาวสวย ๆ นิสัยค่อนข้างเจ้าชู้ และมักจะเก็บมาฝัน และความฝันมักจะพังทลายทุกครั้งเมื่อชินจังเข้ามาก่อกวนขณะนอน ดังนั้นสิ่งที่หวาดผวาคือ ลูกชายตนเอง
[12] แม่ของชินจัง ชื่อ มิซาเอะ โนฮาร่า อายุ 29 ปี จบการศึกษาระดับมัธยมปลาย แต่ก็ต้องการให้ลูกของตนได้รับการศึกษาที่สูง ๆ มีตำแหน่งหน้าที่การงานที่ดีในอนาคต เป็นผู้หญิงที่ชอบนอนกลางวัน มีนิสัยประหยัด (ค่อนข้างขี้เหนียวมากกว่า โดยเฉพาะกับสามีและลูก) ขี้โมโห โดยเฉพาะเวลาโมโหชินจัง มักจะทุบหัวจนหัวโนปูด แต่ก็สนิทกับชินจังมาก ชอบทีมเบสบอลไทเกอร์ ชอบใส่ชุดชั้นในบาง ๆ เซ็กส์ซี่ (แต่ชินจังมักจะว่าแม่ของตนเสมอว่าหน้าอกเล็ก ซึ่งเธอไม่ชอบเพราะเป็นปมด้อย) ชอบกินมันเผา สิ่งที่เกลียดคือ แมลงสาบ (โดยเฉพาะเวลามันบิน)
[13] เครยอน ชินจัง เล่ม 1, 2539
[14] การเปรียบองคชาตของตนเป็น “ช้างน้อย” ของผู้ใหญ่เป็น “ช้างแมมมอธ”
[15] เปรียบเหมือนกับ “จานบินของมนุษย์ต่างดาว” หรือถ้าใช้ดอกไม้ไฟเสียบที่ก้นก็จะกลายเป็น “หิ่งห้อย”
[16] พฤติกรรมที่มีต่อแม่นี้ หรือการพูดถึงปมเอดิปุส มิได้เกิดขึ้นกับชินจังเท่านั้น แม้แต่คาซามะคุง เพื่อนของชินจังก็มีความรู้สึกต่อแม่อยากดูดนมแม่ ทำให้นอนฝันและละเมอดูดแก้มของชินจัง ซึ่งโดยปกติคาซามะคุงจะเก็บความรู้สึกไม่แสดงพฤติกรรมเหมือน ชินจังอย่างเปิดเผย
[17] จากการนำเสนอชีวิตส่วนหนึ่งของนางโนฮาระ มิซาเอะ (แม่ของชินจัง) เป็นผู้หญิงที่ได้รับการศึกษาน้อยกว่าพ่อของชินจัง ต้องแบกรับภาระในการดูแลครอบครัว (งานบ้านและลูก) ในแง่มุมของฟรอยด์มองว่า เป็นการเก็บกดความต้องการของตนเองไว้ และต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของสังคม เพราะผู้หญิงมีช่องทางที่จะแปลงความปรารถนาทางเซ็กส์ไปเป็นกิจกรรมประเภทอื่น ๆ ได้น้อยกว่าผู้ชาย ผู้หญิงมีโอกาสที่จะได้ออกนอกบ้านกว่าและมีทางเลือกน้อยกว่าผู้ชาย ซึ่งหากมองจากมาตรฐานของสังคมแล้ว ผู้ชายเป็นผู้ที่ประพฤติตนไร้ศีลธรรม ขณะที่ผู้หญิงยึดมั่นในจารีตประเพณีและความประพฤติดีงาม แต่เป็นนิวโรติกส์ นั่นคือ การยึดติดกับกรอบประเพณีและศีลธรรมมากเกินไป ขณะเดียวกันเป็นผู้มีสัญชาตญาณทางเซ็กส์ที่รุนแรง ไม่สามารถแปลงเป็นกิจกรรมอื่นได้ ดังจะเห็นได้จากพฤติกรรมของมิซาเอะ เช่น การโมโหและตีหัวชินจังจนโนเป็นลูกหินบนหัว (คล้ายอวัยวะเพศชาย) การตีก้นลูกจนเป็นรอยมือ การใส่ชุดชั้นในบางและเล็ก การแก้ผ้าอาบน้ำกับลูก (ชินจัง) การชอบใส่ชุดว่ายน้ำตัวจิ๋ว และปลดตะขอชั้นในนอนอาบแดดชายทะเล เป็นต้น ส่วนฮิโรชิ (พ่อของชินจัง) มักแสดงพฤติกรรมที่ไร้ศีลธรรมหรือผิดกรอบประเพณี เช่น การนอนฝันถึงผู้หญิงสวย การนอกใจภรรยาของตนเองโดยการชื่นชม หรือมองหญิงสาวคนอื่น รวมทั้งการเข้าไปคุยกับหญิงสาวที่ใส่ชุดว่ายน้ำ (เมื่อไปเที่ยวทะเล) เป็นต้น

[18] การวาดรูปช้าง มีงวงยาว ๆ หรือการเลียนแบบอวัยวะเพศหญิง (เอาไอ้ตรงนั้นอันน้อย ๆ หลบในขาหนีบ) หรือการนำออกมาโชว์ในที่สาธารณะ (เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงเรียน ชายหาด และทุก ๆ ที่ ทุก ๆ สถานการณ์ รวมทั้งทุก ๆ เวลา)

[19] การทำโคมไฟมาเสียบที่ก้น เป็นตัวหิ่งห้อย, การโก้งโค้งก้น และบอกเพื่อน ๆ ว่า นี่คือจานบินอวกาศ หรือเมื่อไปร้านขายไฟฟ้าที่มีการทดลองถ่ายกล้องวีดีโอ ชินจังก็ได้โชว์ทวารหนัก โดยให้พ่อเป็นผู้ถ่าย เป็นต้น