Thursday, July 27, 2017

ชีวิตประจำวันกับหลักการอยู่ร่วมกันในสังคม (Daily Life and Social Co-Existence)

 เอกสารประกอบการสอน
รายวิชา ชีวิตประจำวันกับหลักการอยู่ร่วมกันในสังคม
(Daily Life and Social Co-Existence)
SOC-110

ผู้ประสานรายวิชาและผู้สอน
อาจารย์ สิริพร สมบูรณ์บูรณะ
สาขาวิชาศึกษาทั่วไป สำนักวิชาศิลปศาสตร์
มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

 
                                                             
ตอนที่ 1          การเข้าใจตัวเองและการมองตัวเอง                                              
ตอนที่ 2          การอยู่ร่วมในสังคมและเข้าใจผู้อื่น                                                
ตอนที่ 3          อคติทางวัฒนธรรมและอคติทางสังคม                                             
ตอนที่ 4          ความหลากหลายทางวัฒนธรรม                                                   
                              บรรณานุกรม                                                                                                                                                                      
ตอนที่ 1
การเข้าใจตัวเองและมองตัวเอง
          คนในยุคปัจจุบันสนใจตนเอง อยากเป็นคนที่โดดเด่นในสังคม ซึ่งมีความคิดที่อยู่เบื้องหลังที่ถูกนำมาวิเคราะห์ โดยการมองผ่านการวิเคราะห์ตนเองหรือพฤติกรรมของตนเองหรือตัวตน อันจำเป็นต้องผ่านมุมมองที่ทั้งนักจิตวิทยาและนักสังคมวิทยาหาความหมายของความเป็นตัวตน จึงได้มีการแบ่งการมองเพื่อเข้าใจตัวเองเป็น 2 กลุ่มความคิดคือ กลุ่มความคิดทางจิตวิทยาและกลุ่มความคิดทางสังคมวิทยา
กลุ่มความคิดทางจิตวิทยา (School of Psychology)
          ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 หลังจากที่วิลเฮล์ม แมกซ์ วู้นท์ ( Wilhelm Max Wundt) วางรากฐานการทดลองจิตวิทยาสมัยใหม่แล้ว วิชาจิตวิทยาเริ่มได้รับความสนใจอย่างแพร่หลายในวงการต่างๆ เช่น แพทย์การศึกษา การปกครอง เป็นต้น การค้นคว้าทางจิตวิทยาเจริญขึ้นอย่างรวดเร็วมีผู้สนใจมาก แนวคิดจึงกว้างขวาง มีการค้นคว้าทดลองในวิชาจิตวิทยากันอย่างกว้างขวาง ซึ่งก่อให้เกิดความคิดเห็นแนวทัศนะหลายแนว หลายสำนักต่าง ๆ กัน ต่างคนต่างมุ่งศึกษาค้นคว้าตามแนวที่ตนสนใจนำมาสร้างเป็นแนวคิด เป็นกฎเกณฑ์ เป็นความเชื่อ เป็นทฤษฎีขึ้นมา พวกนักจิตวิทยาที่มีแนวความคิดคล้ายๆ กันได้รวบรวมหลักการ ความคิดเห็นขึ้นเป็นกลุ่มๆ หรือสำนักหรือแนวทัศนะ (School of thought) จิตวิทยาจึงมีแนวคิดเป็นกลุ่มต่างๆ เพื่อให้ง่ายแก่การศึกษา กลุ่มต่างๆ ทางจิตวิทยา ที่มีแนวคิดและมีอิทธิพลต่อวงการศึกษาที่สำคัญควรนำมาศึกษาในที่นี้มี 6 กลุ่ม ด้วยกันดังนี้คือ แนวคิดกลุ่มโครงสร้างของจิต(Structuralism) กลุ่มหน้าที่ของจิต (Functionalism) กลุ่มพฤติกรรมนิยม กลุ่มจิตวิเคราะห์ กลุ่มจิตวิทยาเกสตอล และแนวคิดกลุ่มมนุษยนิยมดังจะอธิบายเรียงตามลำดับต่อไปนี้ (สุชา จันทน์หอม 2536: 5)
1)      แนวคิดของกลุ่มโครงสร้างของจิต (Structuralism)
          กลุ่มโครงสร้างของจิต เกิดขึ้นในประเทศเยอรมัน เมื่อ ค.ศ.1879 มีรากฐานของแนวความคิดพื้นฐานเบื้องต้นจากแนวความคิดของนักปรัชญา คนสำคัญๆ หลายท่าน เช่น แนวความคิดของพลาโต (Plato) อธิบายว่า มนุษย์แตกต่างไปจากสัตว์ตรงที่มนุษย์ประกอบด้วยจิต (mind) ทำหน้าที่ในการสร้างแนวความคิด (Idea) แนวความคิดของอริสโตเติล (Aristotle) อธิบายเกี่ยวกับเรื่องชีวิตจิตใจ (Mental Life)
         แนวความคิดของเดสคาร์ทีส (Descartes) อธิบายเรื่องความสัมพันธ์ของร่างกาย (Body) กับ จิต (Mind) ว่ามนุษย์ประกอบขึ้นด้วย ร่างกายและจิต ทั้งสองส่วนนี้จะทำงานเกี่ยวข้องกันโดย จิตทำหน้าที่สร้างภาพพจน์จากการทำงานของร่างกายและการทำงานของร่างกาย จึงเป็นการทำงานตามความคิดที่เกิดขึ้นในจิตนั่นเอง จากแนวความคิดนี้ทำให้เกิด ลัทธิสัมพันธ์นิยม (Associationism) ขึ้น ซึ่งต่อมาได้พัฒนากลายเป็นกลุ่มจิตวิทยา โครงสร้างนิยมหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า แนวคิดการตรวจสอบตนเอง” (Introspectionism) เนื่องจากนักจิตวิทยากลุ่มนี้มักใช้วิธีการตรวจสอบตนเอง (Introspection) ตำราบางเล่มใช้คำว่า วิธีการพินิจภายใน (อ้างแล้ว: น. 6)
        สำหรับในที่นี้จะใช้คำว่า การตรวจสอบตนเอง ซึ่งการตรวจสอบตนเองเป็นเครื่องมือในการศึกษาค้นคว้าเพื่อเข้าใจพฤติกรรมต่างๆ ที่ผิดปกติ และด้วยเหตุนี้เองกลุ่มโครงสร้างของจิตนี้จึงถูกโจมตีมาก และดูไม่น่าเชื่อถือเพราะเมื่อบุคคลมีปัญหา บุคคลจะมานั่งตรวจสอบตนเองหรือสำรวจตนเองว่าตนมีข้อบกพร่องอย่างไร อะไรเป็นสาเหตุให้เกิดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ หรืออะไรที่เป็นปัญหาอยู่ขณะนี้คงเป็นไปได้อยาก มีหลายคนที่ใช้วิธีการนี้และปัญหาที่พบคือบุคคลอาจจะเข้าข้างตนเองจึงทำให้ไม่เห็นปัญหาที่แท้จริง วิธีนี้ต้องให้บุคคลสามารถตรวจสอบตนเองโดยไม่เข้าข้างตนเอง ไม่ยึดติดกับตนเองมากนัก ไม่เข้าข้างตนเอง ไม่อคติเพราะรักตนเอง ซึ่งจะทำให้มองปัญหาต่างๆไม่ชัดเจน
        ในศตวรรษที่ 19 นักจิตวิทยาได้สร้างห้องทดลองทางจิตวิทยาขึ้นและเริ่มศึกษาจิตวิทยาในเชิงวิทยาศาสตร์ วิลเฮล์ม แมกซ์ วู้นท์ (Wilhelm Max Wundt: 1832-1920) ผู้สร้างห้องปฏิบัติการหรือห้องทดลองทางจิตวิทยา (Psychological Laboratory) เป็นแห่งแรก และต่อมาเขาได้ฉายาว่าเป็น บิดาแห่งจิตวิทยาการทดลอง
        ต่อมานักจิตวิทยาชื่อ กัสแตฟ เฟชเนอร์ ( Gustav Fechner ) ได้สนใจศึกษาวิธีการทางจิตวิทยาอย่างเป็นระบบ และได้เป็นผู้กำหนดระเบียบและวิธีการทดลองทางจิตวิทยา (Experimental method) นำมาใช้กับงานทางจิตวิทยา เขาได้นำเอาความรู้ความเข้าใจวิชาฟิสิกส์มาใช้ในการทดลองค้นคว้ากับวิชาจิตวิทยา ซึ่งเรียกว่าวิชานี้ว่า ไซโคฟิสิกส์(Psychophysics) อย่างไรก็ตาม จิตวิทยากลุ่มนี้ก็ยังไม่ได้เป็นที่ยอมรับว่าเป็นวิทยาศาสตร์อย่างสมบูรณ์นัก เพียงแต่ยอมรับกันว่า กลุ่มนี้เป็นกลุ่มแรกที่มีแนวคิดจิตวิทยาเป็นวิทยาศาสตร์ และยังถือว่าเป็นกลุ่มจิตวิทยาที่อาศัยแนวความคิดและระเบียบวิธีการศึกษาตามแบบปรัชญา(Philosophical-Psychology) เพราะแนวความคิดส่วนใหญ่ของกลุ่มโครงสร้างทางจิตหรือ โครงสร้างนิยม ได้อาศัยระเบียบวิธีการตรวจสอบตนเองหรือการสำรวจตนเองหรือการพินิจใน(Introspection method) หรือใช้ระเบียบวิธีการแบบอัตนัย (Subjective method ) ค่อนข้างมาก
          ความเชื่อเบื้องต้น
        ความเชื่อที่สำคัญเบื้องต้นที่เป็นมูลเหตุให้นักจิตวิทยากลุ่มโครงสร้างนิยม มีความสนใจมุ่งศึกษาเรื่องจิตธาตุ คือ เชื่อว่ามนุษย์ประกอบด้วยสองส่วนคือ ร่างกาย (body) และจิตใจ (mind) ซึ่งทั้งร่างกายและจิตใจต่างก็เป็นอิสระแก่กัน ต่างก็ทำงานสัมพันธ์กัน
        ดังนั้นพฤติกรรม(Behavior) ของบุคคลจึงเกิดจากการกระทำของร่างกาย ซึ่งการกระทำของร่างกายนั้นย่อมเกิดจากการควบคุมและสั่งการของจิตใจนั่นเอง แนวความคิดนี้เกิดจากเรื่องจิตธาตุนั่นเอง แต่เนื่องจากจิตวิทยากลุ่ม โครงสร้างนิยม ได้พยายามแยกองค์ประกอบของจิตหรือจิตธาตุออกมาพิจารณาเป็นส่วนย่อยๆ บางครั้ง นักจิตวิทยาทั่วๆ ไป จึงเรียกกลุ่มนี้อีกอย่างว่า จิตวิทยาที่ว่าด้วยองค์ประกอบของจิต ( Faculty Psychology )
        กลุ่มโครงสร้างของจิตเชื่อว่า  โครงสร้างของจิตประกอบด้วย จิตธาตุ (Mental Elements)
ซึ่งจิตธาตุประกอบด้วยธาตุ 3 ชนิด คือ
          1. การรับสัมผัส (Sensation)
          2. ความรู้สึก (Feeling)  
          3. จินตนาการหรือมโนภาพ (Image)
        เมื่อจิตธาตุทั้ง 3 ชนิดนี้มาสัมพันธ์กันภายใต้สถานการณ์แวดล้อมที่เหมาะสมก็จะก่อให้เกิดรูปจิตผสมขึ้นและจิตผสมนี้เองทำให้บุคคลเกิด ความคิด (Thinking) อารมณ์ (Emotion) ความจำ (Memory) การหาเหตุผลหรือสาเหตุ (Reasoning) และอื่นๆ เป็นต้น โดยเป็นแบบเดียวกันกับทางเคมีที่โฮโดรเจนเมื่อรวมตัวกับออกซิเจนภายใต้สัดส่วนที่เหมาะสมและความกดดันที่พอดีก็จะได้เป็นน้ำนั่นเอง
          สรุปได้ว่าแนวคิดจิตวิทยากลุ่มโครงสร้างของจิต(Structuralism) มีความเชื่อในเรื่ององค์ประกอบของบุคคลซึ่งนักจิตวิทยายอมรับว่าบุคคลประกอบด้วยร่างกายและจิตใจ โดยจิตใจยังแบ่งย่อยๆ ได้ เช่น ส่วนที่เกี่ยวกับการคิด ส่วนที่เกี่ยวกับความจำ ส่วนที่เกี่ยวกับความรักสวยรักงาม เป็นต้น และการยอมรับเอาระเบียบวิธีการที่ว่าด้วย การแยกจิตออกฝึกเป็นส่วน ๆ (Method of Mental of Formal Discipline) สามารถนำมาใช้ในการจัดการศึกษา
          ดังนั้นถ้าต้องการให้ส่วนไหนมีความสามารถ มีทักษะทางใดก็ต้องมุ่งฝึกส่วนนั้นมากเป็นพิเศษบุคคลก็จะมีความชำนาญด้านนั้นๆ ตามที่ต้องการ อย่างในปัจจุบันมีการฝึกคณิตคิดเร็วใช้ชื่อเรียกต่างกันเช่น จินตคณิต เป็นต้น
2)      แนวคิดกลุ่มหน้าที่ของจิต (Functionalism)
        กลุ่มหน้าที่ของจิตเกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อ ค.ศ. 1900 ผู้ให้กำเนิดหรือผู้นำกลุ่มหน้าที่ของจิตคือ จอห์น ดิวอี้ (John Dewey. 1859 – 1952) ซึ่งดำรงตำแหน่งคณบดีคณะวิชาการศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยชิกคาโก วิลเลี่ยม เจมส์ (William James. 1842 – 1910) ศาสตราจารย์จิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และวิลเลี่ยม เจมส์ ได้เขียนตำราจิตวิทยาเล่มแรกของโลกชื่อ Principles of Psychology นอกจากนี้ยังมีนักจิตวิทยาคนสำคัญอื่นๆ อีก เช่น วูดเวอร์ธ (Woodworth) และเจมส์ แองเกลล์ (James Angell) นักจิตวิทยากลุ่มนี้มีความเห็นว่า การทำความเข้าใจถึงการปรับตัวของสิ่งมีชีวิตนั้นๆ ได้ ควรต้องศึกษาถึงหน้าที่ของจิตต่อการปรับตัวภายใต้จิตสำนึกมากกว่าและกลุ่มหน้าที่นิยม สนใจเรื่องพฤติกรรมมาก เรื่องที่เขาเน้นหนักจริงๆ ได้แก่ กระบวนการเรียนรู้ของมนุษย์
        นักจิตวิทยากลุ่มนี้มีแนวคิดมุ่งหนักไปในด้านหน้าที่ของจิตที่เรียกว่า หน้าที่ของจิตจึงสำคัญกว่าจะศึกษาองค์ประกอบโครงสร้างของจิต แต่สนใจว่าจิตทำหน้าที่อะไร ทำอย่างไรจึงจะศึกษาทั้งกระบวนการทางจิตและสถานะของจิตพร้อมกับอากัปกิริยาที่แสดงออกให้ปรากฏทางกาย
        กล่าวคือในการศึกษาพฤติกรรมนั้นจะสนใจศึกษาทั้งอากัปกิริยาที่แสดงออกภายนอกและความรู้สึกภายใน กระบวนการปรับตัวของร่างกายให้เหมาะกับสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังเชื่อว่าสัญชาติญาณทำให้จิตมีหน้าที่ควบคุมการกระทำกิจกรรมต่างๆ ของร่างกาย คำว่า จิตตามความคิดของกลุ่มหน้าที่นิยม นั่นก็คือกระบวนการกระทำกิจกรรมของร่างกายในอันที่จะปรับตัวให้เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อมนั้นเอง ผู้ที่จะมีความสุขในสังคมได้ก็จะต้องรู้จักปรับตัวให้เข้ากับสังคมได้เป็นอย่างดี และบุคคลจึงควรตระหนักถึงหลักสำคัญเรื่องการปรับตัวของร่างกายให้เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อม (อ้างแล้ว: หน้า 7)
          สรุปแนวความคิดของกลุ่มหน้าที่นิยมได้ว่ามี 2 ประการคือ
          1. การกระทำทั้งหมด ( The total activities ) หรือการแสดงออกของคนเราเป็นการแสดงออกเพื่อปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม ดังนั้นในการศึกษาจิตใจคน ก็ต้องศึกษาการแสดงออกของเขาในสถานการณ์นั้นๆ
          2. การกระทำหรือการแสดงออกทั้งหมดขึ้นอยู่หรือเกี่ยวข้องกับประสบการณ์ของแต่ละคน (The experience individual) เสมอ พฤติกรรมของคนจึงแตกต่างกัน
          นักจิตวิทยากลุ่มนี้จึงมุ่งศึกษาวิธีการเรียนรู้ การจูงใจ การแก้ปัญหา ตลอดจนความจำของคนเพื่อให้สามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ และการปรับตัวให้เข้ากับสังคม การอบรมเลี้ยงดู (Socialization)
3)      แนวคิดกลุ่มพฤติกรรมนิยม (Behaviorism)
          กลุ่มพฤติกรรมนิยมมีผู้นำของกลุ่มคือ จอห์น บี วัตสัน (John B. Watson, 1878 – 1958) เป็นผู้ที่มีความคิดค้านกับแนวคิดของกลุ่มโครงสร้างของจิตที่ศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ด้วยวิธีการย้อนไปตรวจสอบตนเอง (introspection) เพราะเขาเห็นว่าวิธีการตรวจสอบตนเองค่อนข้างเกิดอคติได้ง่ายและยังไม่เป็นวิธีทางวิทยาศาสตร์ เพราะผลที่เกิดมักมีแนวโน้มที่เกิดจากเจตคติส่วนบุคคลไปในทางใดทางหนึ่งแล้วแต่ความรู้สึกของผู้ศึกษาเอง จอห์น บี วัตสัน เห็นว่าควรใช้วิธีการที่ศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ที่เห็นได้และเขาเป็นผู้เสนอให้มีการศึกษา พฤติกรรมของมนุษย์ในด้านที่สังเกตและมองเห็นได้
          การศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ในแนวใหม่ของวัตสันจึงได้จัดเป็นวิธีการศึกษาในลักษณะที่เป็นวิทยาศาสตร์สมัยใหม่กล่าวโดยสรุป แนวคิดของกลุ่มพฤติกรรมนิยมเน้นว่า พฤติกรรมทุกอย่างต้องมีเหตุและสาเหตุนั้นอาจมาจากสิ่งเร้าในรูปใดก็ได้ที่มากระทบกับอินทรีย์หรือร่างกาย จึงทำให้อินทรีย์แสดงพฤติกรรมตอบสนอง กลุ่มพฤติกรรมนิยมจึงใช้วิธีการศึกษาพฤติกรรมด้วยวิธีการทดลอง และการสังเกตอย่างมีระบบ และสรุปว่าการวางเงื่อนไข (Conditioning) เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดพฤติกรรมและสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมได้ พฤติกรรมส่วนใหญ่ของมนุษย์เกิดได้จากการเรียนรู้มากกว่าเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ จากศึกษาพฤติกรรมการเรียนรู้ของสัตว์ที่ถูกทดลองสามารถช่วยให้เราเกิดความเข้าใจและเรียนรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมของบุคคลได้
          กลุ่มแนวคิดนี้ใช้วิธีการศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ด้วยวิธีการทดลองประกอบกับวิธีการสังเกตอย่างมีระบบแบบแผน นักจิตวิทยาในกลุ่มพฤติกรรมนิยมนี้ศึกษาเฉพาะพฤติกรรมที่สังเกตเห็นได้ ดังนั้นกลุ่มนี้ จะไม่ยอมรับวิธีการศึกษาแบบสังเกตตนเองโดยกล่าวหาว่า การสังเกตตนเองไม่เป็นวิทยาศาสตร์ไม่น่าเชื่อถือ แต่กลุ่มนี้มุ่งศึกษาเฉพาะพฤติกรรมที่สังเกตเห็นได้ โดยเชื่อว่าเขาจะทราบถึงเรื่อราวของจิตก็โดยการศึกษาจากพฤติกรรมที่แสดงออกเท่านั้น
          นักจิตวิทยาในกลุ่มพฤติกรรมนิยมได้อธิบายแนวคิดกลุ่มพฤติกรรมนิยมไว้ 3 ประการ คือ
          1. การวางเงื่อนไข (Conditioning) เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมดังการทดลองของ Pavlov และ Skinner เชื่อว่าสามารถใช้วิธีฝึกฝนอบรมที่เหมาะเพื่อฝึกเด็กให้มี พฤติกรรมตามที่เราปรารถนาได้ โดยใช้วิธีการวางเงื่อนไขกับเด็ก เพื่อให้เกิดพฤติกรรมอันเป็นผลจากการเรียนรู้มากกว่าสัญชาติญาณ หรือคุณสมบัติอื่น ๆ ที่ติดตัวมาแต่กำเนิด
          2. พฤติกรรมของคนที่ปรากฏขึ้นส่วนมาก เกิดจากการเรียนรู้มากกว่าจะเป็นไปเองตามธรรมชาติ ดังการทดลองของ Watson โดยอินทรีย์ถูกวางเงื่อนไขให้แสดงปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่มากระตุ้น การตอบสนองนี้อาจเกิดจากกลไกของสรีระ คือต่อมต่างๆ ประสาท กล้ามเนื้อ และพฤติกรรมอันสลับซับซ้อนของอินทรีย์นั้น เป็นผลรวมของปฏิกิริยาตอบสนองย่อย ๆ ที่เชื่อมโยงกันในรูปต่าง ๆ ด้วยเหตุนี้จึงมีคนเรียกจิตวิทยาเชิงเร้าและการตอบสนอง
          3. การเรียนรู้ของคนกับสัตว์ไม่ต่างกันมาก การทดลองกับสัตว์เป็นการง่ายกว่าที่จะทดลองกับคนสามารถเรียนรู้เรื่องของคนโดยการศึกษาจากสัตว์ได้เป็นอันมาก เราสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมของคนได้จากการศึกษา พฤติกรรมของสัตว์ นักจิตวิทยากลุ่มนี้คือ เอดเวิด ธอร์นไดด์ ( Edward Thorndike ) และ คลาร์ก แอล ฮุลล์ ( Clark L. Hull ) จึงได้ตั้งทฤษฎีเกี่ยวกับพฤติกรรมการเรียนรู้ของมนุษย์ขึ้นโดยอาศัยจากการทดลองกับสัตว์
          สรุปแนวคิดของกลุ่มพฤติกรรมนิยมคือ การแสดงปฏิกิริยาสะท้อน (Reflex) ย่อมต้องอาศัยสิ่งเร้า (Stimulus) ทำหน้าที่กระตุ้นให้สิ่งมีชีวิตแสดงปฏิกิริยาสะท้อนออกมา อินทรีย์ (Organism) อันมีประสาทสัมผัส (Receptor หรือ Sensory neurons) ทำหน้าที่รับการเร้าจากสิ่งเร้าแล้วรายงานไปยังประสาทส่วนกลาง ประสาทที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหว (Effectors หรือ Motor neurons) ทำหน้าที่บงการหรือก่อให้เกิดการแสดงปฏิกิริยาตอบสนองสิ่งเร้า และการวางเงื่อนไขสามารถนำมาใช้ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์ สัตว์ต่างๆ ได้หลายชนิด สุนัข ช้าง เสือหรือแม้แต่ สัตว์ที่เราหลายคนมักคิดว่าไม่เชื่องก็นำมาฝึกได้
4)      แนวคิดกลุ่มจิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis)
          กลุ่มจิตวิเคราะห์มีผู้นำแนวคิดคนสำคัญคือ ซิกมันต์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud ) เป็นจิตแพทย์ชาวเวียนนา ได้ศึกษาวิเคราะห์จิตของมนุษย์และอธิบายว่า พลังงานจิตทำหน้าที่ควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์มี 3 ลักษณะ
          1. จิตสำนึก ( Conscious Mind ) หมายถึง ภาวะจิตที่รู้ตัวอยู่ตลอดเวลา
          2. จิตกึ่งสำนึก ( Sub consciousus Mind ) หมายถึง ภาวะจิตที่ระลึกได้
          3. จิตไร้สำนึก (Unconscious Mind) หมายถึง ไม่อยู่ในภาวะที่รู้ตัว
          ฟรอยด์อธิบายว่าโครงสร้างทางจิตประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญ
          1. อิด (Id) หมายถึง ตัณหา หรือความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ เป็นสิ่งที่ยังไม่ได้ ขัดเกลา ซึ่งทำให้มนุษย์ทำทุกอย่างเพื่อความพึงพอใจของตน หรือทำงานตามหลักของความพอใจ (Law of Pleasure) โดยไม่คำนึงถึงสิ่งใด เปรียบเสมือนสันดานดิบของมนุษย์ ซึ่งแบ่งออกเป็นสัญชาติญาณแห่งการมีชีวิต (Life Instinct) เช่น ความต้องการอาหาร ความต้องการทางเพศ ความต้องการหลีกหนีจากอันตรายกับสัญชาติแห่งการตาย (Death Instinct) เช่น ความต้องการที่รุนแรง ความก้าวร้าว หรือการทำอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น เป็นต้น
          2. อีโก้ (Ego) หมายถึง ส่วนที่ควบคุมพฤติกรรมที่เกิดจากความต้องการของ id โดยอาศัยกฎเกณฑ์ทางสังคม และหลักแห่งความจริง (Reality Principle) มาช่วยในการตัดสินใจไม่ใช่แสดงออกตามความพอใจของตนเพียงอย่างเดียว แต่ต้องคิดแสดงออกอย่างมีเหตุมีผลด้วย
          3. ซุปเปอร์อีโก (Super Ego) หมายถึง มโนธรรมหรือจิตส่วนที่ได้รับการพัมนาจากประสบการณ์ การอบรมสั่งสอนหรือกระบวนการสังคมประกิต โดยอาศัยหลักการศิลธรรมจรรยา ขนบธรรมเนียมประเพณี และค่านิยมต่าง ๆ ในสังคมนั้น Super Ego จะเป็นตัวบังคับและควบคุมความคิดให้แสดงออก ในลักษณะที่เป็นสมาชิกที่ดีของสังคม
          โครงสร้างจิต 3 ระบบนี้ มีความสัมพันธ์กัน ถ้าทำงานสัมพันธ์กันดี การแสดงออกหรือบุคลิกภาพก็เหมาะสมกับตน แต่ถ้าโครงสร้างทั้ง 3 ระบบ ทำหน้าที่ขัดแย้งกันบุคคลก็จะมีพฤติกรรมหรือบุคลิกภาพที่ไม่ราบรื่นผิดปกติหรือไม่เหมาะสม แนวความคิดกลุ่มนี้เชื่อในเรื่องจิตไร้สำนึก (Unconscious Mind) ซึ่งอยู่ระหว่างจิตสำนึกที่รู้ตัว มีสติสัมปชัญญะ กับจิตไร้สติสัมปชัญญะ หรือที่เรียกว่า จิตไร้สำนึกนี้จะรวบรวมความคิด ความต้องการ และประสบการณ์ที่ผู้เป็นเจ้าของจิตไม่ต้องการ หรือไม่ปรารถนาจะจดจำจึงเก็บกดความรู้สึกต่าง ๆ เหล่านี้ไว้ให้อยู่ในจิตส่วนนี้ หากความคิด ความต้องการ หรือความรู้สึกต่างๆ ที่บุคคลเก็บกดไว้ยังมีพลังอยู่ ถ้าเกิดมีสิ่งใดมากระตุ้นขึ้น พลังที่ถูกเก็บไว้จะแสดงอิทธิพลทำให้บุคคลเกิดพฤติกรรมบางอย่างที่ไม่รู้สึกตัว ประสบการณ์ชีวิตในวัยเด็ก โดยเฉพาะช่วงแรกเกิดถึง 5 ขวบ ที่เกี่ยวกับการอบรมเลี้ยงดูที่เด็กได้รับจะฝังแน่นอยู่ในจิตไร้สำนึกและอาจจะแสดงเมื่อถูกกระตุ้นโดยเฉพาะในวัยผู้ใหญ่ นอกจากนี้ฟรอยด์ก็ได้กล่าวถึงพัฒนาการของมนุษย์ไว้อีกด้วย
          การพัฒนาการบุคลิกภาพแบ่งเป็น 5 ขั้น ดังนี้
          1. ขั้นปาก (Oral Stage) แรกเกิด 1 2 ขวบ หมายถึง ความสุข และความพอใจของเด็กจะอยู่ที่ได้รับการตอบสนองทางปาก เช่น การดูดนม การสัมผัสด้วยปากหาเด็กได้รับการตอนสนองเต็มที่ เด็กก็จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีบุคลิกภาพเหมาะสมหากตรงกันข้ามเด็กจะเกิดความชะงัก ถดถอยหรือการยึดติด (Fixation)และมาแสดงพฤติกรรมในช่วงนี้อีกในวัยผู้ใหญ่ เช่น ชอบนินทาว่าร้าย สูบบุหรี่ กินจุบกินจิบ เป็นต้น
          2. ขั้นทวารหนัก (Anal Stage) อายุ 2 3 ขวบ หมายถึงความพอใจอยู่ที่การขับถ่ายเมื่อมีวุฒิภาวะ ฉะนั้น การฝึกฝน ฝึกหัด การขับถ่ายอย่างค่อยเป็นค่อยไปด้วยวิธีผ่อนปรนและประนีประนอม และให้เรียนรู้การขับถ่ายเป็นเวลา จะทำให้เด็กไม่เกิดความเครียด และสามารถพัฒนาบุคลิกภาพที่เหมาะสมได้ ตรงกันข้ามหากเด็กได้รับการลงโทษ และฝึกหัดด้วยวิธีรุนแรงจะทำให้เด็กเกิดความรู้สึกไม่พอใจ และเก็บความรู้สึกที่ไม่ดีไว้ที่จิตไร้สำนึก และจะมีผลต่อบุคลิกภาพในเวลาต่อมา กล่าวคือเป็นคนขี้เหนียว เจ้าระเบียบ ชอบทำร้ายให้ผู้อื่นเจ็บปวด ชอบย้ำคิดย้ำทำ เป็นต้น
          3. ขั้นอวัยวะเพศ (Phallic Stage) อายุ 3 5 ขวบ หมายถึงความสนใจของเด็กจะเปลี่ยนมาสนใจเกี่ยวกับอวัยวะเพศ มักถามว่าตนเกิดมาจากทางไหน ฯลฯ ในขั้นนี้เด็กจะรักพ่อแม่ที่เป็นเพศ ตรงข้ามกับตน และลักษณะเช่นนี้ ทำให้เด็กเลี่ยนแบบบทบาททางเพศจากพ่อหรือแม่ที่เป็น ตัวแบบ หากพ่อแม่ปฏิบัติตามบทบาทที่ดี เหมาะสมเป็นตัวแบบที่ดี เด็กก็จะเลียนแบบและพัฒนา บทบาททางเพศของตนได้อย่างดี แต่ถ้าเกิดการติดตรึง (Fixation) ในขั้นนี้ เมื่อโตขึ้นอาจมีพฤติกรรมต่าง ๆ เช่น รักร่วมเพศ (Homosexuality) กามตายด้าน (Impotence) ชาเย็นทางเพศ (Frigidity) เป็นต้น
          4. ขั้นแฝง (Latency Stage) อายุ 6 12 ขวบ หมายถึงเป็นระยะก่อนที่เด็กจะเปลี่ยนแปลงเข้าสู่วัยรุ่น จะมีความสนใจในเพื่อนเพศเดี่ยวกัน
          5. ขั้นวัยรุ่น (Genital Stage) อายุ 13 18 ขวบ หมายถึงเด็กหญิงจะเริ่มมีความสนใจเด็กชายและเด็กชายก็เริ่มมีความสนใจเด็กหญิง ในช่วงนี้จะเป็นระยะที่จะมีความสัมพันธ์ระหว่างเพศอย่างแท้จริง
นักจิตวิทยากลุ่มนี้เชื่อว่าพฤติกรรมทั้งหลายมีสาเหตุเกิดจากพลังผลักดันทางเพศ ความคิดคิดเช่นนี้ได้รับการต่อต้านอย่างมากในระยะแรก ๆ แต่ต่อมาหลักการทางจิตวิเคราะห์ก็ได้รับการยอมรับในการนำไปใช้ในวงงานของจิตแพทย์ หรือการบำบัดรักษาอาการที่ผิดปกติทางอารมณ์และจิตใจ กลุ่มนี้ใช้วิธีการศึกษาด้วยระบบความในใจอย่างเสรี (Free Association)
5)      แนวคิด กลุ่มจิตวิทยาเกสตอล (Gestalt Psychology)
          กลุ่มจิตวิทยาเกสตอล แนวความคิดกลุ่มนี้ เกิดในประเทศเยอรมันนีราวปี ค.ศ. 1912 คำว่า Gestalt เป็นภาษาของเยอรมัน แปลว่า โครงรูปแห่งการรวมหน่วย ผู้นำของกลุ่มนี้ คือ แมกซ์ เวิทโฮเมอร์ ( Max Wertheimer 1880 – 1943 ) และมีผู้ร่วมงานคือ เคิท คอฟก้า ( Kurt Koffka 1886 – 1941 ) วูล์ฟแกงเคอเลอร์ ( Wolfkang Kohler ) แนวความคิดที่สำคัญคือ การพิจารณา พฤติกรรมหรือประสบการณ์ของคนเป็นส่วนรวมซึ่งส่วนรวมนั้นมีค่ามากกว่าผลบวกของส่วนย่อย ๆ ต่าง ๆ มารวมกัน เช่น คนนั้นมีค่ามากกว่าผลบวกของส่วนย่อยต่าง ๆ เช่น แขน ขา ลำตัว สมอง เป็นต้น
        แนวคิดของกลุ่มนี้เชื่อว่า ในด้านการรับรู้ของบุคคลนั้นบุคคลจะลักษณะในรูปของการรับรู้ในส่วนรวม (The whole) เช่น สนามหญ้าเรามองเห็นเป็นสนาม เพราะเราไม่มองต้นหญ้าแต่ละต้นที่มาอยู่รวมกัน แต่เรามองพื้นที่และรูปร่างทั้งหมด (อ้างแล้ว: หน้า 9)
        คำว่าเกสตอล (Gestalt) มาจากภาษาเยอรมัน ซึ่งหมายถึงส่วนร่วมทั้งหมดกลุ่มนี้มีแนวคิดว่า การเรียนรู้เกิดได้จากการจัดสิ่งเร้าต่าง ๆ มารวมกัน เริ่มต้นด้วยการรับรู้โดยส่วนรวมก่อน แล้วจึงจะสามารถแยกวิเคราะห์เรื่องราวเรียนรู้ส่วนย่อยที่ละส่วนต่อไป (Field Theory) และยังคงใช้หลักการเดียวกัน นั่นก็คือ การเรียนรู้ของบุคคลจะเป็นไปได้ด้วยดีและสร้างสรรค์ถ้าเขาได้มีโอกาสเห็นภาพรวมทั้งหมดของสิ่งที่จะเรียนเสียก่อนเมื่อเกิดภาพรวมทั้งหมดแล้ว ก็เป็นการง่ายที่บุคคลนั้นจะเรียนสิ่งที่ละเอียดปลีกย่อยต่อไป
          หลักสำคัญของการเรียนรู้ของแนวคิดจิตเกสตอล ประกอบด้วย การรับรู้และการหยั่งเห็น ดังอธิบายคือ
          1. การรับรู้ ( Perception ) หมายถึง การแปลความหมายหรือการตีความจากสิ่งเร้าที่สัมผัส การรับรู้นี้มีองค์ประกอบที่สำคัญ คือ
          1.1 ภาพ ( Figure ) หมายถึง ส่วนสำคัญที่ต้องการเน้นให้เกิดการรับรู้
          1.2 พื้น ( Ground ) หมายถึง ส่วนประกอบที่ทำให้ภาพชัดเจนขึ้น
          2. การหยั่งรู้ (Insight) หมายถึง การเรียนรู้หรือแก้ปัญหาได้โดยการตระหนักรู้ด้วยตนเองอย่างทันทีทันใด สามารถมองเห็นแนวทางในการแก้ปัญหาได้ตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการซึ่งความสามารถในการหยั่งรู้ของบุคคลขึ้นอยู่ประสบการณ์ที่เคยมีมาก่อนซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับปัญหาที่ต้องขบคิด ต่อมาในระยะหลังแนวคิดจิตวิทยาเกสตอล จัดเป็นแนวคิดที่มีอิทธิพลต่อจิตวิทยาหลายสาขา เช่น จิตวิทยาการบำบัด จะใช้แนวคิดของจิตวิทยาเกสตอลเป็นอย่างมาก วิธีการที่ใช้คือ คือ การสังเกตแบบปรากฏการณ์ หรือเรียกว่า Phenomenology เป็นการพิจารณาจากสิ่งที่เป็นธรรมชาติที่ปรากฏให้เราเห็น อย่างไรก็ดีแนวคิดจิตวิทยาเกสตอลสนใจเรื่อง การศึกษาพฤติกรรมมนุษย์จะศึกษามนุษย์ทั้งหมดที่เป็นตัวเขา
          6) แนวคิดกลุ่มมนุษยนิยม (Humanism)
          กลุ่มมนุษยนิยมมีผู้นำที่สำคัญในกลุ่มคือ คาร์ล อาร์ โรเจอร์ส (Carl R. Rogers) และ อับบราฮัม เอ็ช มาสโลว์           (Abraham H. Maslow) ความเชื่อเบื้องต้น ของนักจิตวิทยากลุ่มมนุษยนิยม (Humanism) คือ
          1. เชื่อว่ามนุษย์เป็นสัตว์โลกประเภทหนึ่งที่มีจิตใจ มีความต้องการความรัก มีความต้องการความอบอุ่น มีความเข้าใจ มีความสามารถเฉพาะตัว มีขีดจำกัด ไม่สามารถจะเสกสรรปั้นแต่งให้เป็นอะไรก็ได้ตามใจชอบและมนุษย์มีความดีงามติดตัวมาแต่กำเนิด ซึ่งกลุ่มนี้มีแนวคิดแตกต่างจากกลุ่มพฤติกรรมนิยมที่เห็นว่าเราสามารถกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์ด้วยกันได้
          2. เชื่อว่ามนุษย์เราทุกคนต่างก็พยายามจะรู้จักและเข้าใจตนเองอย่างแท้จริง ( Self actualization ) และยอมรับในสมรรถวิสัยของตนเอง แนวความคิดจากกลุ่มนี้ เป็นที่ยอมรับและใช้เป็นหลักในบริการแนะแนว (Guidance service ) และยังนำหลักการไปปรับใช้ในด้านการเรียนการสอน การพัฒนาหลักสูตรเน้นให้นักเรียนรู้จักเสาะแสวงหาความรู้ตนเองให้มีอิสระ เสรี ในเรื่องการพูด คิด ทำ สามารถจะสนองความต้องการและความสนใจ ในการสอนก็ตระหนักถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล กิจกรรมทุกอย่างถือว่าเด็กเป็นศูนย์กลาง ครูเป็นเพียงผู้ให้บริการและประสานงานแนวคิดของกลุ่มมนุษย์นิยมเป็นปัจจัยสำคัญกำหนดบทบาท ท่าที บุคลิกภาพของครูให้วางตัวเป็นตนเองกับเด็กมีสัมพันธภาพที่ดีต่อเด็ก
          3. มีความเชื่อว่า ในเมื่อมนุษย์เราทุกคนต่างก็เข้าใจผู้อื่น และยอมรับตนเองอยู่แล้วต่างคนก็มุ่งสร้างย่อมเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ให้แก่ตนเอง
          4. เนื่องจากมนุษย์เราแต่ละคนต่างพยายามปรับปรุงตนเอง ให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ฉะนั้นควรจะให้คนมีสิทธิ์อิสระที่จะเลือกกระทำ เลือกประสบการณ์ของตนเอง กำหนดความต้องการของ ตนเอง ตัดสินใจใด ๆ ด้วยตนเอง
          5. มีความเห็นว่า วิธีการค้นคว้าเสาะแสวงหาความรู้หรือข้อเท็จจริงต่าง ๆ เป็นสิ่งจำเป็นและมีความสำคัญนำความรู้และข้อเท็จจริง เพราะโลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ตัวของความรู้หรือตัวข้อเท็จจริงเองที่ตายตัว ฉะนั้นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่ออนาคตของผู้เรียนมากที่สุดก็คือกรรมวิธีในการเสาะแสวงหาความรู้
กลุ่มความคิดทางสังคมวิทยา School of Sociology
1)      ปัจเจกสภาพในสังคมวิทยา (Individualism in Sociology)
        แนวคิดต่างๆ ที่แพร่หลายและได้รับอิทธิพลปัจเจกนิยม (Individualism) อยู่ในปลายศตวรรษที่ 19 ไม่ว่าจะเป็นเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ หรือปรัชญาการเมือง เสรีนิยมมักจะวิเคราะห์พฤติกรรมของปัจเจกบุคคล ทำให้ดูเหมือนว่าปัจเจกบุคคลมีมาก่อนและสามารถแยกออกได้จากสังคม ขณะที่ผู้บุกเบิกสาขาสังคมวิทยาอย่าง August Comte และ Emile Durkheim ซึ่งอยู่ภายใต้ร่มเงาของปรัชญาปฏิฐานนิยม (Positivism) ที่เน้นความสำคัญต่อสังคม และต่างปฏิเสธแนวคิดที่เห็นว่าปัจเจกบุคคลเป็นอิสระ ดังนั้น พฤติกรรมของมนุษย์จึงถูกศึกษาในฐานะเป็นปรากฏการณ์ของสังคม (Social Phenomenal)
        ทางด้าน Karl Marx ต้นตอของแนวคิดที่ทรงอิทธิพลอีกสายหนึ่งในสังคมวิทยา คือ ทฤษฎีความขัดแย้ง (Conflict Theory) และแนวทางการศึกษาตามกระแสวิพากษ์ (Critical Stream) เป็นอีกผู้หนึ่งที่ให้ความสำคัญกับการกำหนดโครงสร้าง (Structure) มากกว่าปัจเจก หรือผู้กระทำการ (Agency) เขาเชื่อว่าแนวคิดเรื่องชนชั้น (Class) จะเป็นตัวเชื่อมโยงปัจเจกเข้ากับโครงสร้าง และเป็นสิ่งกำหนดอัตลักษณ์ (Identity) ของปัจเจก รวมถึงความคิดที่ว่ามนุษย์จะกลายเป็นผู้กระทำการที่มีความหมายเพียงพอเมื่อเขาตระหนักถึงอัตลักษณ์ทางชนชั้นของตนเอง (Class Consciousness)
        ขณะที่คู่ตรงข้ามของ Marx อย่าง Max Weber กลับให้ความสำคัญต่อปัจเจกบุคคล โดยเขาเชื่อว่าสังคมวิทยาเป็นศาสตร์ที่ศึกษาพฤติกรรมมนุษย์จากมุมมองและความเข้าใจของผู้กระทำ อย่างไรก็ตาม หน่วยการวิเคราะห์ในผลงานต่างๆ ของ Weber กลับเป็นระดับกลุ่ม (Collective) เสมอ หาได้ใช้ปัจเจกบุคคลเป็นหลักแต่อย่างใด (อภิญญา เฟื่องฟูสกุล 2546)
        จะเห็นได้ว่าเหล่านักคิดข้างต้นไม่ว่าจะเป็น August Comte ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาของสังคมวิทยา Emile Durkheim, Karl Marx และ Max Weber สามเสาหลักของสังคมวิทยา ต่างให้ความสำคัญของปัจเจกสภาพนระดับที่ต่ำ แต่กลับเน้นไปที่โครงสร้างหรือกลุ่มทางสังคม แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีนักสังคมวิทยาที่สนใจต่อปัจเจกสภาพเลย ข้อยกเว้นแรก คือ Georg Simmel ที่เห็นว่าสังคมไม่ได้เป็นอิสระจากปัจเจกบุคคล เขาเห็นว่าการรวมกลุ่มเกิดขึ้นในปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (Personal Interaction) แต่การรวมกลุ่มนั้นมักเป็นผลให้คนนำออกมาซึ่งคุณสมบัติที่มีคุณภาพต่ำ ส่วนสิ่งที่ดีจะถูกสงวนรักษาไว้เพื่อให้เป็นคุณสมบัติเฉพาะตน นอกจากนี้ในข้อยกเว้นประการต่อมาได้แก่นักคิดในสายตระกูลปฏิสัมพันธ์เชิงสัญลักษณ์ (Symbolic Interaction Theory) และแนวคิดหลังสมัยใหม่ (Postmodern)
2)      ตัวตน : ปัจเจกสภาพในปฏิสัมพันธ์เชิงสัญลักษณ์ (Self in Symbolic Interaction Theory)
        นักคิดสายทฤษฎีปฏิสัมพันธ์เชิงสัญลักษณ์ (Symbolic Interaction Theory) แม้ว่าจะให้น้ำหนักเป็นอันมากต่อปัจเจกบุคคลในฐานะประธาน (Subject) หรือผู้กระทำการ (Agency) แต่ก็เห็นว่าอัตลักษณ์ คือ สิ่งที่เกิดขึ้นในกระบวนการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม (Social Interaction Process) (ลิวอิส เอ.โคเซอร์ 2535)
        Charles Cooley เชื่อว่าสังคมและปัจเจกบุคคลเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ สังคมเกิดจากการผสมผสานของตัวตนเชิงจิต (Mental Selves) ของหลายๆ คนที่มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน ความรู้สึกเกี่ยวกับตัวเราเองพัฒนาขึ้นจากปฏิกิริยาของเราต่อความคิดเห็นของผู้อื่นเกี่ยวกับตัวเรา
          Cooley เรียกตัวตนที่เกิดจากกระบวนการนี้ว่า ตัวตนในกระจกเงา (the Looking Glass Self) ซึ่งประกอบด้วยภาพลักษณ์ของเราที่เรามีต่อตนเอง และจินตนาการเกี่ยวกับความคิดของผู้อื่นต่อภาพลักษณ์นั้น รวมถึงปฏิกิริยาและความรู้สึกของเราที่มีต่อจินตนาการดังกล่าว ทั้งหมดนี้หลอมรวมกันก่อเป็นความรูสึกที่มีต่อตนเอง เช่น ความภาคภูมิใจ ความรู้สึกต่ำต้อยด้อยค่า และจากการให้ความสำคัญต่อปฏิสัมพันธ์นี้เองทำให้กลุ่มทางสังคมเป็นประเด็นที่สำคัญของการศึกษา
        George Herbert Mead ได้ทำการศึกษาพัฒนาการที่ความรู้สึกเกี่ยวกับตัวตน ที่ค่อยๆ ก่อร่างสร้างตนจากกระบวนการปฏิสัมพันธ์ โดยเขาชี้ให้เห็นว่ากลไกสำคัญต่อการสร้างตัวตน คือ การเรียนรู้ที่จะสวมบทบาท (Role Taking) ของผู้อื่น และหัวใจสำคัญของการเรียนรู้นี้ คือ ภาษา ซึ่งเป็นช่องทางการถ่ายทอดระบบสัญลักษณ์และกฎเกณฑ์ร่วมของสังคม ซึ่งเมื่อมองถึงจุดนี้อาจดูราวกับว่าสังคมได้แสดงบทบาทครบงำและสร้างตัวตนของปัจเจกบุคคล (อ้างแล้ว เล่มเดียวกัน)
          ดังนั้น Mead ได้พยายามรักษาอิสรภาพของปัจเจก ด้วยการเสนอแนวคิดว่าตัวตนนี้มีสองด้านที่ปะทะสังสรรค์กันอยู่ตลอดเวลา ด้านหนึ่ง คือ “me” ซึ่งเป็นตัวตนที่เกิดจากความเห็นและปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น และ “I” ซึ่งเป็นตัวตนตามลักษณะเฉพาะของเราเอง โดยทั้ง me และ I ต่างก็สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมภายนอกตัวเราทั้งคู่ เพียงแต่ me เป็นผลจากการประเมินและซึมซับจากทรรศนะของผู้อื่น ส่วน I เป็นคำตอบและความพยายามที่จะประสาน me ที่หลากหลายเข้าด้วยกัน และถือเป็นศักยภาพของความคิดสร้างสรรค์ (อ้างแล้ว เล่มเดียวกัน)
        ขณะที่ Erving Goffman ก็ได้จำแนกแยกแยะความแตกต่างระหว่างอัตลักษณ์ส่วนบุคคลกับอัตลักษณ์ทางสังคม โดยเขาได้นิยามความคิดหรือความรู้สึกที่ปัจเจกมีต่อตนเองว่า Ego Identity ส่วนภาพของปัจเจกในสายตาของคนอื่นในฐานะที่เป็นบุคคลที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เขาเรียกว่า Personal Identity (อู่ทอง ประศาสน์วินิจฉัย 2549)
        จะเห็นได้ว่า ปัจเจกสภาพในทฤษฎีปฏิสัมพันธ์เชิงสัญลักษณ์มิได้เป็นภาพที่ทีความต่อเนื่องเป็นอันหนึ่งอันเดียว บางส่วนแยกจากกันเด็ดขาด แต่ก็มีไม่น้อยที่มีการซ้อนทับกันของบทบาท ทั้งนี้เนื่องจากตัวตนของคนเรานั้น ประกอบด้วย
        Fภาพลักษณ์ของเราที่เรามีต่อตนเอง [นั่นคือ “I” หรือ Ego Identity]
        Fและจินตนาการเกี่ยวกับความคิดของผู้อื่นต่อภาพลักษณ์นั้น [นั่นคือ “me” หรือ Personal Identity]
        กล่าวโดยสรุปได้ว่า ตัวตน (Self) ในทฤษฎีปฏิสัมพันธ์เชิงสัญลักษณ์ เป็นเงาสะท้อนปัจเจกสภาพที่มีขนาดเล็ก หรืออยู่เบื้องหลังสภาพของปัจเจกบุคคลที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้าในฐานะอัตลักษณ์ที่ปรากฏตัว และแสดงตน ต่อสาธารณะของปัจเจกบุคคล
3)      อัตลักษณ์ : ปัจเจกสภาพในแนวคิดหลังสมัยใหม่ (Identity in Postmodern)
          ในปัจจุบันการมองภาพของสังคมด้วยกรอบแนวคิดทฤษฎีกระแสหลัก ได้ถูกท้าทายด้วยกลุ่มความคิดที่ทรงพลัง แปลกใหม่ ก้าวหน้า และท้าทายมหาอรรถาธิบาย (Grand Narrative) ต่างๆ ที่ครอบงำสังคมของบรรดาทฤษฎีดังกล่าว แนวคิดที่ว่านี้ คือ แนวคิดหลังสมัยใหม่ (Postmodern)ซึ่งเราอาจสรุปลักษณะเด่นของแนวคิดนี้ ได้ดังนี้
          1. การตั้งข้อสงสัยกับเหตุผลในฐานะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เข้าถึงความเป็นจริง
          2. การเปลี่ยนแปลงฐานะและความสัมพันธ์ระหว่างผู้ศึกษากับผู้ถูกศึกษา นั่นคือ ญาณวิทยา (Epistemology) ที่ว่าด้วยการเข้าถึงความจริง
          3. การเปลี่ยนแปลงฐานะของทฤษฎีที่ถูกมองว่าเป็นสิ่งครอบงำปัญญาของมนุษย์ และสมควรที่จะปฏิเสธมันเสีย
          จากลักษณะเด่นดังกล่าวของแนวคิดหลังทันสมัย สร้างผลกระทบต่อการมองปัจเจกสภาพ ในฐานะของอัตลักษณ์ (Identity) เป็นอย่างมาก เนื่องจากการวิจารณ์แนวคิดสารัตถะนิยม (Essentialism) ที่พยายามแสวงหาคำตอบสุดท้ายให้แก่คำถามต่างๆ โดยเสนอคุณสมบัติบางอย่างที่เป็นพื้นฐานของธรรมชาติและพฤติกรรมมนุษย์ และยืนอยู่บนหลักของเหตุผล ย่อมทำให้เกิดการไร้ซึ่งสารัตถะอันเป็นสากลของปัจเจกภาพ ดังนั้น แทนที่ปัจเจกภาพจะเป็นที่มาของความหมายและประสบการณ์ ที่มีความสมบูรณ์ในตัวเอง แนวคิดนี้กลับเห็นว่าแนวคิดปัจเจกภาพดังกล่าว เป็นเพียงผลกระทบ (Effect) ของชุดวาทกรรมต่างๆ บทบาทของตัวตนแบบต่างๆ ที่วาทกรรมหยิบยื่นให้เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ ดังนั้น สิ่งที่เป็นตัวตนของเราจึงมีอยู่ในเฉพาะสถานการณ์เท่านั้น
          จากที่กล่าวมาในข้างต้น อาจกล่าวได้ว่าแนวคิดหลังทันสมัยเชื่อว่า ความเป็นปัจเจกถูกเน้นในฐานะที่เป็นกระบวนการทางสังคมของการสร้างอัตลักษณ์ มากกว่าที่จะเป็นแก่นแกนของคุณสมบัติบางอย่างที่มีลักษณะตายตัว ความเป็นตัวตนมีลักษณะคล้ายเหรียญที่มีสองด้านซ้อนทับกันอยู่ วาทกรรมจะสร้างภาพตัวแทน (Representative) ของตัวเรา เช่น การเป็นหญิง/ชาย ความเป็นไทย/เทศ ฯลฯ อัตลักษณ์เหล่านี้จะหล่อหลอมและยัดเยียดตำแหน่งแห่งที่ทางสังคม และการันตีประสบการณ์ความเป็นตัวเราในแง่มุมต่างๆ ให้ ทั้งนี้ คุณสมบัติที่สำคัญที่สุดของความเป็นตัวเราในกระบวนการนี้ คือ การโยกย้ายตำแหน่งแห่งที่ (Dislocation) นั่นคือการไม่อาจถูกตรึงติดกับคุณสมบัติบางอย่างที่ตายตัวหยุดนิ่ง ซึ่งหมายถึงกระบวนการที่ปัจเจกต่อรอง ตั้งคำถาม หรือปฏิเสธตำแหน่งทางสังคมที่ถูกยัดเยียดมาให้ และแน่นอนว่าอัตลักษณ์กับปัจเจกภาพในแนวคิดหลังสมัยใหม่นี้ไม่สามารถที่จะซ้อนทับกันได้อย่างสนิท
4)      ตัวตนกับอัตลักษณ์ : ภาพต่างทางแนวคิด (Differentiation of Self & Identity)
          จะเห็นได้ว่าปัจเจกสภาพในแนวคิดทั้งสองแนว คือ ทฤษฎีปฏิสัมพันธ์เชิงสัญลักษณ์ (Symbolic Interaction Theory) และแนวคิดหลังสมัยใหม่ (Postmodern) มีความแตกต่างกันในประเด็นของแนวคิดที่แตกต่างกันอยู่พอสมควร โดยเฉพาะประเด็นความต้องการองค์ประธาน (Subject) ของทฤษฎีปฏิสัมพันธ์เชิงสัญลักษณ์ ขณะที่แนวคิดหลังสมัยใหม่กลับหันหลังให้องค์ประธาน และความเชื่อที่ว่าปัจเจกภาพจะที่เป็นที่มาของความหมายและประสบการณ์ และมีความสมบูรณ์ในตัวเอง ล้วนเป็นเพียงภาพลวงตาที่เกิดจากผลกระทบของชุดวาทกรรมต่างๆ เท่านั้นเอง
         นอกจากนี้ ในทฤษฎีปฏิสัมพันธ์เชิงสัญลักษณ์ เชื่อว่าตัวตน (Self) ที่มีทั้งแบบที่เกิดจากความเห็นและปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น และแบบที่เป็นตัวตนจริงแท้ของเรา ถือเป็นเงาสะท้อนปัจเจกสภาพที่มีขนาดเล็ก ที่อยู่เบื้องหลังสภาพของปัจเจกบุคคลที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้าในฐานะอัตลักษณ์ที่ปรากฏตัวและแสดงตนต่อสาธารณะของปัจเจกบุคคล ส่วนแนวคิดหลังสมัยใหม่ เชื่อว่าอัตลักษณ์ มีความไหลเลื่อนมากกว่าที่จะเป็นผลผลิตสำเร็จรูปจากวาทกรรม และไม่สามารถซ้อนทับกับปัจเจกภาพได้อย่างสนิทแน่น
สรุป
          คนเราทุกช่วงวัยของมนุษย์ต้องการมีตัวตน และแสวงหาตัวตน ในช่วงวัยรุ่นตัวตนอาจเป็นเรื่องความมั่นใจ กล้าแสดงออก ในวัยผู้ใหญ่ตัวตนอาจเป็นเรื่องการงานที่มั่นคง ในวัยผู้สูงอายุตัวตนอาจจะเปลี่ยนไป หมายถึงเรื่องชื่อเสียงที่สร้างผลงานไว้ในอดีต กระบวนการสร้างตัวตนในแต่ละยุคอาจจะเหมือน ๆ กัน ต้องการค้นหาตัวตนของตนเองให้เป็นที่ยอมรับของกลุ่มเพื่อน แต่การชอบแบบใดนั้นขึ้นอยู่กับยุคสมัย บริบทของสังคมที่ตนเองอยู่ แต่เมื่อมาวันหนึ่งเราไม่มีตัวตนอาจไม่มีความหมาย หรือมีคุณค่า ที่เรามีต่อคนอื่น อย่างไรก็ตามทุกตัวตนล้วนแล้วแต่เป็น “การแสดง” ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเทศะ (Time and Space) ที่ตัวตนของเราไปยึดครอง
       ขณะเดียวกันในชีวิตประจำวันของคนเรา มีกระบวนการที่คล้องคลึงกับการจัดเวทีการแสดงที่ซ่อนอยูในปฏิสัมพันธ์ทุกรูปแบบ เราตัดสินคนจากเครื่องแต่งกาย มีคนหลายคนที่เข้ามากำกับชีวิตของเรา เรามักแสดงบทบาทที่เหมาะสมกับสถานภาพ เราไม่มีสิทธิเลือกบทบาทได้ตามใจตนเอง แต่ต้องเล่นไปตามบทที่สังคมกำหนด และต้องคอยเฝ้าระมัดระวังไม่ให้คนที่เราต้องการให้เป็นผู้ชมนั้นได้ลอดเข้ามาเห็น “หลังฉาก” ของเราซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดกับสิ่งที่เราอยากเสนอหรือแสดง ตัวอย่างเช่น การสอนหน้าห้องของอาจารย์และการแสดงของนักศึกษาที่เป็นผู้ฟังที่ดี ตั้งอกตั้งใจฟัง แต่ความแตกต่างที่อยู่เบื้องหลังของแต่ละคนนั้นมันช่างซับซ้อนและแตกต่างกัน ยากที่จะควบคุมได้ในชีวิตจริงของแต่ละคน


  




ตอนที่ 2
การอยู่ร่วมในสังคมและเข้าใจผู้อื่น
การเมืองของความสัมพันธ์และการจัดการความสัมพันธ์
ž        การเมืองในระดับพื้นฐาน คือ กระบวนการต่อสู้แย่งชิงอำนาจในการตัดสินใจเพื่อควบคุมระบบการผลิต การแบ่งปันทรัพยากร และผลประโยชน์อื่น ๆ ที่มีในสังคม การเมืองเป็นกระบวนการต่อสู้เพื่อนิยามความหมายของ อำนาจ รูปแบบและความชอบธรรมในการได้มาซึ่งอำนาจตัดสินใจ การกำหนดและปรับเปลี่ยน กติกา ของสังคม การควบคุมให้สมาชิกของสังคมกระทำการตามกติกาเพื่อความมีระเบียบและความสงบเรียบร้อย และการใช้บทลงโทษเมื่อเกิดการละเมิดกติกาของสังคม
ž        1) การเมืองของความสัมพันธ์
ž        มนุษย์เป็นสัตว์สังคมมีชีวิตอยู่ร่วมกัน มีกิจกรรมต่างๆร่วมกัน มีการพึ่งพาอาศัยกันอยู่ตลอดเวลา การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันของสมาชิกในสังคมจะดำเนินไปได้ด้วยดีและมีความสัมพันธ์ ก็ต่อเมื่อสังคมมีแกนกลางให้สมาชิกได้ยึดถือปฏิบัติกันและการอยู่ร่วมกันในสังคม มนุษย์จำเป็นต้องมีความสัมพันธ์ต่อกัน   
ž        กลุ่มและรูปแบบความสัมพันธ์ทางสังคม
ž        ในทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ให้ความหมาย กลุ่มทางสังคม คือ คนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป มีความสัมพันธ์ในทางร่วมมือหรือพึ่งพาอาศัยกัน ความสัมพันธ์มีติดต่อกันไปจนเป็นความผูกพันและผู้ที่สัมพันธ์กันเกิดความสำนึกว่าเป็นสมาชิกร่วมกันในกลุ่มเดียวกันแยกออกได้จากกลุ่มอื่นๆ
ž        กลุ่มปฐมภูมิและกลุ่มทุติยภูมิ (Primary and Secondary Group) การแบ่งกลุ่มภายนอกและกลุ่มภายใน  เป็นการแบ่งโดยมองจากกลุ่มหรือบุคคลผู้กระทำที่มีความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นในกลุ่มและนอก  และแสดงถึงความห่างทางสังคม  การแบ่งกลุ่มในอีกลักษณะหนึ่ง  คือการแบ่งโดยพิจารณาแบบชนิดของความสัมพันธ์ (Type of Relationship)  ซึ่งจะทำให้เข้าใจพื้นฐานของกลุ่มและโครงสร้างของสังคมโดยทั่วไป
ž        - กลุ่มปฐมภูมิ  กลุ่มที่มีลักษณะของสัมพันธภาพระหว่างสมาชิกเป็นไปอย่างแนบแน่น และไม่มีลักษณะเป็นทางการ  มีความเป็นกันเอง      เป็นกลุ่มที่สมาชิกมีความสัมพันธ์ติดต่อกันเป็นเวลายาวนาน   มีความผูกพันอย่างลึกซึ้ง   อาจกล่าวได้ว่าเป็นความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดแบบเผชิญหน้า “face to face” และมีความรู้สึกเป็นพวกเรา (in group) 
ž        - กลุ่มทุติยภูมิ   กลุ่มที่มีลักษณะสัมพันธภาพระหว่างสมาชิกเป็นแบบทางการ  ไม่ยึดความผูกพันส่วนตัว  มุ่งประโยชน์บางอย่างมากกว่าความพอใจที่ได้รับจากความสัมพันธ์  และเกี่ยวพันกันเฉพาะด้านของชีวิต ซึ่งเป็นไปตามบทบาทที่เป็นอยู่ในช่วงนั้น  ไม่ผูกพันถึงเรื่องส่วนตัวหรือส่วนบุคลิกภาพอื่นๆ ของสมาชิก
ž        กลุ่มสัมพันธ์แบบแนวนอนและแนวตั้ง
ž        -  กลุ่มสัมพันธ์แบบแนวนอน เป็นความสัมพันธ์ที่เท่าเทียมกัน หรืออาจอยู่ในระดับเดียวกัน มีสถานภาพเดียวกัน เช่น ตำแหน่งหน้าที่การงานเดียวกัน
ž        -  กลุ่มสัมพันธ์แบบแนวตั้ง หรือช่วงชั้นทางสังคม (Social Stratification)  สืบเนื่องมาจากสังคมทุกสังคมมีความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมกันของสมาชิกสังคม เช่น ฐานะ การศึกษา ภูมิปัญญา อาชีพ  เกียรติ อิทธิพล อำนาจ และอื่นๆ
ž        2) ความสัมพันธ์แบบเครือข่ายทางสังคม (Social network)
ž        แนวคิดเครือข่ายทางสังคมนี้ สามารถแสดงถึงคุณลักษณะของเส้นโยงด้วยสมมติฐานว่า  คุณลักษณะของสายสัมพันธ์เหล่านั้นมีความสัมพันธ์อยู่กับพฤติกรรมของบุคคลทั้งหลายที่เส้นโยงเหล่านั้นโยงใยไปถึง  และการอธิบายคุณลักษณะของความสัมพันธ์เหล่านั้นอาจจะนำไปสู่ความเข้าใจพฤติกรรมทางสังคมของบุคคลในเส้นโยงทั้งหลายได้
ž        เครือข่ายทั้งหมดจึงเปรียบเสมือนระบบความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลระบบใหญ่และบางส่วนของเครือข่ายเป็นเพียงระบบความสัมพันธ์ขนาดย่อยที่อยู่ภายในระบบใหญ่ๆ นั้น ส่วนการโยงถึงบุคคลอื่นของแต่ละบุคคล โดยแยกแยะสายสัมพันธ์ของบุคคลในเครือข่ายทางสังคมออกเป็น 2 ส่วน
ž        1. ส่วนแรก  เป็นสายสัมพันธ์ของบุคคลเองที่มีต่อผู้อื่น สายสัมพันธ์ระดับนี้เรียกว่า Star
ž        2. ส่วนที่สอง  เป็นสายสัมพันธ์ระหว่างแต่ละคนที่เป็นสมาชิกอยู่ในส่วนแรกที่มีต่อกัน  อันทำให้ทุกคนมีการโยงใยไปถึงกันและกัน เรียกว่า โซฯ อาจพิจารณาได้ว่า  เครือข่ายทางสังคมของบุคคลหนึ่งๆ  ประกอบด้วย โซน (Zone) สำคัญๆ อย่างน้อย 3 โซน คือ
ž        โซนที่หนึ่ง ประกอบด้วย บุคคลที่ใกล้ชิดมากที่สุด เรียกว่า Intimate network
ž        โซนที่สอง ประกอบด้วยบุคคลต่างๆ  ที่บุคคลผู้เป็นศูนย์กลางของเครือข่าย (ego)  รู้จักคุ้นเคยน้อยกว่ากลุ่มแรกและสามารถคาดหวังจากบุคคลเหล่านั้นได้น้อยกว่าบุคคลในโซนแรก  เรียกว่า Effective  network
ž        โซนที่สาม ประกอบด้วยที่บุคคลที่เป็นศูนย์กลางของเครือข่ายไม่รู้จักโดยตรง แต่สามารถติดต่อสัมพันธ์โดยผ่านบุคคลที่ตนมีสายสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว (Extended  network)
ž        คุณลักษณะด้านความเกี่ยวพันนี้นำไปสู่การพิจารณาถึงคุณลักษณะอื่นๆ ที่สำคัญของสายสัมพันธ์ในเครือข่ายสังคม  ซึ่งแสดงถึงลักษณะการเกี่ยวข้องสัมพันธ์ของบุคคล (interpersonal  relationship) ได้แก่  เนื้อหาของสายสัมพันธ์ (content), ทิศทางของสายสัมพันธ์ (directedness)  และระดับความผูกพันและภาระหน้าที่ที่มีต่อกัน
ž        คุณลักษณะเหล่านี้ถูกนำมาเป็นปัจจัยในการศึกษาปรากฏการณ์ทางสังคมต่างๆ  เช่น  พฤติกรรมการแข่งขัน  การประนีประนอม ความขัดแย้ง ความสัมพันธ์เชิงซ้อนเป็นต้น
ž        Michell (1996) คุณลักษณะในสายสัมพันธ์ของเครือข่ายทางสังคม  สามารถพิจารณาได้โดย  แบ่งเป็น  2  ประเภทใหญ่ๆ คือ
ž        1. ลักษณะทางรูปลักษณ์ (Morphological characteristic)  พิจารณาหลักเกณฑ์เกี่ยวกับลักษณะของสายสัมพันธ์  ได้แก่ การโยงถึง (Anchorage)  หมายถึง ขอบเขตที่สายสัมพันธ์ของบุคคลหนึ่งๆ ไปยังบุคคลอื่นๆ ในเครือข่ายทางสังคมทั้งหมดของเขาเท่าที่ความสามารถของผู้ศึกษาจะระบุได้ การเข้าถึง (Reachability)  หมายถึง  ลักษณะที่สายสัมพันธ์ระหว่างบุคคลสามารถโยงใยเข้าถึงกัน เช่น สายสัมพันธ์ที่เข้าถึงกันโดยตรง (directed link)  หรือต้องโยงใยผ่านบุคคลอื่นหลายลำดับขั้น (number of step) ความหนาแน่น (Density)  หมายถึง  ลักษณะที่สมาชิกในเครือข่ายทางสังคมมีสายสัมพันธ์ที่เข้าถึงกันเองโดยทั่วถึงกันหรือไม่  หากสามารถเข้าถึงกันโดยทั่วถึงเป็นส่วนใหญ่จึงจัดว่ามีระดับความหนาแน่นสูง ขอบเขตของแนวร่วม (Range) หมายถึง  จำนวนสมาชิกในเครือข่ายสังคม
ž        2. ลักษณะทางการกระทำต่อกัน (Interactional characteristic) ได้แก่ เนื้อหา หรือเหตุของสายสัมพันธ์ (Content) หมายถึง จุดประสงค์หรือสาเหตุที่ทำให้บุคคลต้องมีการติดต่อสัมพันธ์กัน เช่น พันธะผูกพันในความเป็นเครือญาติ ความเป็นเพื่อนร่วมงาน ฯลฯ
ทิศทางของอิทธิพลที่มีต่อกันในสายสัมพันธ์ (directedness)หมายถึง ลักษณะการถ่ายทอดข่าวสาร  ความคิด  คำบังคับบัญชา ฯลฯ ระหว่างบุคคล ซึ่งอาจมีทั้งการถ่ายทอดอย่างเท่าเทียมกันทั้ง  2ฝ่าย  หรืออาจเป็นการถ่ายทอดที่ไม่เท่าเทียมกัน
ž        ระยะเวลาของสายสัมพันธ์ (Duration) ซึ่งมีทั้งแบบชั่วคราวหรือเฉพาะกรณี (specific purpose) เช่น กรณีกลุ่มจัดตั้ง และแบบที่มีสายสัมพันธ์คงที่กว่า เช่น เครือญาติ
ž        ความเข้มข้นของสายสัมพันธ์  (Intensity) หมายถึง ระดับความผูกพันและยึดเหนี่ยวภาระหน้าที่ซึ่งมีต่อกัน
ž        ความถี่ของการติดต่อ (Frequency of contact)
ž        อาจสรุปได้ว่า แนวคิดเครือข่ายสังคม เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยวิเคราะห์ให้เห็นภาพความสัมพันธ์ของคนในสังคม
ž        3) ความสัมพันธ์การแลกเปลี่ยนทางสังคม
ž        การใช้ทฤษฎีการแลกเปลี่ยนทางสังคมมักถูกนำมาใช้ควบคู่กับ แนวคิดเครือข่ายทางสังคม ทั้งนี้เนื่องจากการอธิบายความสัมพันธ์ของผู้คนในเครือข่ายนั้น  มักจะอยู่บนพื้นฐานของการแลกเปลี่ยน
ž        Peter M.Blu (1964) นักมานุษยวิทยาและนักทฤษฎีการแลกเปลี่ยนคนสำคัญ เสนอว่า การแลกเปลี่ยนเป็นกระบวนการทางสังคมที่เป็นรากฐานสำคัญของการดำเนินชีวิตของสังคม (Social Life) เป็นสาระสำคัญของกระบวนการทางสังคมตั้งแต่ลักษณะเรียบง่ายจนถึงซับซ้อน
ž        โดยมองว่า ความสัมพันธ์ทางสังคมเป็นเรื่องของการแลกเปลี่ยน บุคคลจึงมีทั้งประโยชน์ที่ได้รับ(reward) และสิ่งที่เสียไป (cost) ทั้งนี้ประโยชน์ที่บุคคลได้รับในความสัมพันธ์นั้น อาจหมายถึงสิ่งที่สูญเสียไปของอีกฝ่าย ดังนั้นบุคคลจะต้องมีการตอบแบ่งปันและตอบแทนต่อกัน
ž        ความดึงดูดทางสังคม (Social attraction) หรือการเกิดความรู้สึกที่ดีต่อบุคคลอื่น ผู้ใดผู้หนึ่งเป็นแรงที่ก่อให้บุคคลเกิดการคบหาสมาคม  (association) กัน โดยบุคคลจะถูกดึงดูดจากใครสักคน  ก็เมื่อเขารับรู้ได้ว่าการคบหาสมาคมกับบุคคลนั้นจะนำมาซึ่งประโยชน์ (reward) ที่เขาพึงพอใจประการใดประการหนึ่ง  ดังนั้นบุคคลจึงต้องทำให้อีกฝ่ายเกิดความดึงดูดใจแก่ตนเองเช่นกัน
ž        โดยการสร้างความประทับใจ (impression - making) แก่อีกฝ่ายว่าตนเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติอันจะนำมาซึ่งประโยชน์แก่เขา เมื่อมีการคบหาสมาคมกัน เมื่อสร้างความสัมพันธ์ต่อกัน การแลกเปลี่ยนประโยชน์ที่ต่างฝ่ายต้องการจะเกิดขึ้นโดยการลงทุน (investment) ของแต่ละฝ่ายตามประโยชน์ซึ่งคาดหวังจากกันที่สามารถให้กันได้อันทำให้เกิดการคบหาสมาคมและมีความสัมพันธ์ทางสังคมกันขึ้น
ž        การคบหาสมาคม  บุคคลอาจได้รับประโยชน์ที่มีการแลกเปลี่ยนกัน 2 ประเภท คือ
ž        1. Extrinsic reward เป็นประโยชน์ที่ปรากฎออกมาให้เห็นภายนอกชัดเจน ตั้งแต่ในรูปทรัพย์สิ่งของ (goods) จนถึงการบริการ(service) เช่น การให้คำแนะนำ  ความช่วยเหลือ การเชื้อเชิญ การยินยอมปฏิบัติตามความปรารถนาของอีกฝ่าย
ž        2. Intrinsic reward เป็นผลประโยชน์ที่เป็นความรู้สึกในจิตใจของบุคคลอันเกิดขึ้นในการที่ได้มีการกระทำระหว่างกันนั้นๆ เองได้แก่  ความพึงพอใจ ความอบอุ่นใจ ความภาคภูมิใจ เป็นต้น
ž        นอกจากนี้ Blau ได้แยกการแลกเปลี่ยนออกเป็น 2 ลักษณะ คือ การแลกเปลี่ยนเชิงสังคม (Social exchange) และการแลกเปลี่ยนเชิงเศรษฐกิจ (Economic exchange)
ž        ข้อแตกต่างของการแลกเปลี่ยนทั้ง 2 ลักษณะนี้  คือ การระบุค่าและการกำหนดเงื่อนไขการตอบแทน  กล่าวคือ  การแลกเปลี่ยนเชิงสังคมนั้นประโยชน์ที่แลกเปลี่ยนกันจะไม่มีการระบุค่าของสื่อที่แลกเปลี่ยนอย่างชัดเจนและตายตัว แต่มีพันธะตอบแทนในรูปของพันธะผูกพันทางสังคม (Social obligation) ซึ่งมีลักษณะไม่กำหนดค่าและเงื่อนไขอย่างตายตัว (Unspecified obligation) หากคาดหวังการตอบแทนอย่างไม่จำกัดรูปแบบและระยะเวลาในการตอบแทน เพราะการแลกเปลี่ยนทางสังคมมีแนวโน้มทำให้เกิดความรู้สึกถึงพันธะผูกพันส่วนบุคคล บุญคุณ และความไว้วางใจกัน ซึ่งทำให้ไม่มีการบังคับโดยตรงให้ตอบแทนหรือเจรจากันเกี่ยวกับเงื่อนไขการตอบแทน
ž        ส่วนการแลกเปลี่ยนเชิงเศรษฐกิจมีการระบุค่าของประโยชน์ที่แลกเปลี่ยนอย่างชัดเจน เพื่อตอบแทนพันธะตอบแทนจึงอยู่ในรูปของพันธะผูกพันทางสัญญา  นอกจากนี้มักมีการกำหนดและเจรจาเกี่ยวกับเงื่อนไขการตอบแทนอีกด้วย
ž        ความสัมพันธ์ทางสังคมจะมีนัยของการแลกเปลี่ยนตอบแทนกันและกัน (reciprocal exchange)  Blau เชื่อว่า การตอบแทนกันนั้นอาจมีการแลกเปลี่ยนที่ไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งมีผลให้บุคคลที่ให้ประโยชน์อย่างมีค่า  หรือคืนประโยชน์ที่สำคัญให้อีกฝ่ายได้มากกว่า จะได้รับหรือสามารถอ้างการมีสถานะที่เหนือกว่าอีกฝ่ายได้ 
ž        ความเหนือกว่านี้ย่อมหมายถึง อำนาจที่จะทำให้อีกฝ่ายยินยอมกระทำตามความประสงค์ของบุคคลนั้นๆ ซึ่งหากบุคคลที่ยอมอยู่ใต้อำนาจได้รับประโยชน์อันพึงพอใจแล้ว จึงนับว่าเป็นการแลกเปลี่ยนอย่างไม่เท่าเทียมที่บุคคลเห็นดีด้วย
ปฏิสัมพันธ์ทางสังคม (Social Interaction)
        พฤติกรรมทางสังคม หมายถึง พฤติกรรมของบุคคลที่แสดงต่อกันในสังคม โดยพฤติกรรมของบุคคลหนึ่งสามารถส่งผลต่อความคิด ความรู้สึก รวมถึงพฤติกรรมของอีกบุคคลหนึ่งได้ เมื่อบุคคลนั้น ๆ เกิดการปฏิสัมพันธ์กันทั้งโดยตรงและโดยอ้อม นั่นคือ พฤติกรรมทางสังคมเป็นการศึกษาถึงอิทธิพลของบุคคลและสังคมที่มีผลกระทบต่อพฤติกรรมระหว่างบุคคลในสังคมเดียวกัน ดังนั้นพฤติกรรมทางสังคมจึงมีความหมายที่ครอบคลุมพฤติกรรมทุกด้านที่มนุษย์แสดงออกต่อสังคม
1)      ปัจจัยที่ทำให้มนุษย์ อยู่รวมกันในสังคม
          มนุษย์นั้นไม่สามารถอยู่ตามลำพังได้ตลอดชีวิต เนื่องจากมนุษย์มีความต้องการในหลาย ๆ ด้าน และความต้องการดังกล่าวนั้นก็จะมีอยู่และพร้อมที่จะตอบสนองก็แต่ในสังคมเท่านั้น สำหรับความต้องการที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มนุษย์อยู่รวมกันเป็นสังคม ได้แก่
          1. ความต้องการทางกายภาพ เป็นความต้องการพื้นฐานตามธรรมชาติของมนุษย์อยู่แล้ว เช่น ความหิว ความกระหาย ความต้องการทางเพศ เป็นต้น ความต้องการเหล่านี้สมาชิกในสังคมจะให้การตอบสนองกันและกันเป็นประจำ
          2. ความต้องการทางจิตใจ ความต้องการทางกายภาพนั้นมนุษย์สามารถตอบสนองได้เองโดยไม่ต้องพึงพาสมาชิกในสังคม เช่น เมื่อหิวก็สามารถเดินไปหาอาหารทานตามลำพังได้ แต่ความต้องการทางจิตใจนั้นเป็นความต้องการที่แสวงหาตลอดเวลา และต้องอยู่ในสังคมเท่านั้นจึงจะตอบสนองความต้องการนี้ได้ เช่น ต้องการความรัก ความอบอุ่น ความนับถือ และความเอาใจใส่ เป็นต้น
          3. ความต้องการที่จะสร้างปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการเจริญเติบโตทางวัฒนธรรมในสังคมมนุษย์ ด้วยเหตุที่ความต้องการสร้างปฏิสัมพันธ์ทางสังคมจะเป็นไปได้ ก็ต่อเมื่อมนุษย์เกิดการสร้างสรรค์ภาษาเพื่อใช้ในการสื่อสารไม่ว่าจะเป็นการพูด การเขียน เพื่อการถ่ายทอดไปสู่ชนรุ่นหลัง

          การรับรู้ทางสังคมที่มีต่อพฤติกรรมทางสังคม
          การปฏิสัมพันธ์ของบุคคลนั้นจะมีการรับรู้ถึงพฤติกรรมและความรู้สึกนึกคิดของบุคคลหรือกลุ่มคนในสถานการณ์ต่าง ๆ เสมอ การรับรู้ดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยการตีความหมาย และผลจากการตีความนี้ก็จะมีอิทธิพลต่อการแสดงพฤติกรรมตอบสนองของแก่บุคคลแต่ละคนในสังคมด้วย ซึ่งการรับรู้ทางสังคมจำแนกได้ดังนี้
          uการรับรู้ระหว่างบุคคล (Person Perception)
          การรับรู้ระหว่างบุคคล หมายถึง กระบวนการในการทำความเข้าใจบุคคลเมื่อเกิดการปฏิสัมพันธ์ในรูปแบบต่าง ๆ โดยในครั้งแรกของการรับรู้นั้นจะเป็นไปในลักษณะกว้าง ๆ (Schemas) เช่น การแต่งกาย การพูดจา รสนิยม กิริยาท่าทางที่เด่น ๆ เป็นต้น เมื่อเกิดการรับรู้แล้วจึงมีการตัดสินว่าคน ๆ นี้เป็นคนอย่างไร แล้วทำ การจัดเก็บไว้ในระบบความทรงจำ ซึ่งจะมีผลต่อการแสดงพฤติกรรมต่อบุคคลนั้นในครั้งต่อไปโดยอาจจะเป็นทางด้านบวกหรือลบก็ได้ ทั้งนี้ ลักษณะกว้าง ๆ ที่บุคคลเกิดการรับรู้นั้นอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าหากมีการปฏิสัมพันธ์ที่บ่อยครั้งขึ้น ความชัดเจนของเหตุการณ์ใหม่ ๆ จะเข้าไปแทรกและเข้าไปแทนที่ลักษณะกว้าง ๆ เดิมที่เก็บไว้ครั้งแรก ซึ่งบ่อยครั้งมีความเป็นไปได้ว่าการรับรู้ในครั้งแรกที่เป็นลักษณะกว้างนั้นผิดพลาดไปจากความเป็นจริงอยู่มาก
          ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการรับรู้บุคคลอื่นนั้นมีข้อควรพิจารณา ดังนี้
          - หากมีระดับความสัมพันธ์ระหว่างผู้ถูกรับรู้และผู้รับรู้ยาวนานมากเท่าใด การรับรู้ของบุคคลก็จะถูกต้องมากขึ้นเท่านั้น
          - ประสบการณ์ในการพบปะผู้คนนั้น มีส่วนเกี่ยวข้องกับความสามารถในการวิเคราะห์ผู้อื่นที่แตกต่างกันออกไป
          - ถ้าบุคคลเป็นคนที่น่าสนใจและน่ารับรู้ ย่อมทำให้การจัดเก็บข้อมูลของบุคคลนั้นมีมากกว่าบุคคลที่ไม่น่าสนใจ
          - หากบุคคลใดมีสถานภาพที่สังคมยอมรับมากเท่าใดก็จะมีแนวโน้มของการเกิดการรับรู้ไปในทิศทางที่มาดขึ้นตามไปด้วย
          - การเปิดเผยตัวเองของบุคคลที่จะรับรู้ จะทำให้การรับรู้มีความชัดเจนและถูกต้องมากกว่าบุคคลที่พยายามปิดบังตนเองเอาไว้
          - ความประทับใจครั้งแรก (First Impression) จะมีผลต่อการรับรู้ทั้งทางด้านบวกและลบได้อย่างมาก โดยหากเกิดความประทับใจครั้งแรกเป็นไปในทางบวก บุคคลก็จะมีการรับรู้ต่อภาพที่เห็นและมีแนวโน้มเอนเอียงเข้าข้าง ถึงแม้ว่าในภายหลังบุคคลนั้นจะแสดงพฤติกรรมทางด้านไม่ดีออกมาก็ตาม
บุคคลจะเกิดการรับรู้การกระทำของบุคคลหนึ่งที่เป็นสมาชิกของกลุ่ม ๆ หนึ่ง ว่าบุคคลนั้นน่าจะมีคุณสมบัติและการกระทำที่คล้ายคลึงกับกลุ่มที่เป็นสมาชิกอยู่ รวมถึงจะมีพฤติกรรมเช่นนั้นไปด้วย ซึ่งเรียกการรับรู้เช่นนี้ว่า การเหมารวม (
Stereotype) เช่น ผู้ชายจะเหมารวมว่าผู้หญิงทุกคนเจ้าอารมณ์ ขี้บ่น ใจน้อย ขับรถแย่ จุกจิก ส่วนผู้หญิงก็จะเหมารวมว่าผู้ชายทุกคนจะเป็นคนเจ้าชู้ ไม่รับผิดชอบ เที่ยวกลางคืน เป็นต้น
          vทัศนคติ (Attitude)
          ทัศนคติ หมายถึง ความคิดความเข้าใจที่บุคคลมีต่อบุคคล กลุ่มบุคคล วัตถุสิ่งของ หรือเหตุการณ์หนึ่ง ๆ ที่ได้รับรู้จนก่อให้เกิดความรู้สึก และมีแนวโน้มว่าบุคคลจะแสดงพฤติกรรมตามความคิด ความเข้าใจ และความรู้สึกที่มีอยู่ เช่น การที่ประชาชนเดินขบวนประท้วงการก่อสร้างเขื่อน ย่อมเกิดจากทัศนคติที่ไม่ดีต่อการสร้างเขื่อน เป็นต้น
          ทัศนคติประกอบไปด้วยองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการ ได้
          - ด้านความคิดและความเข้าใจ (Cognitive Component) หมายถึง ความรู้และความเชื่อที่บุคคลมีต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ได้รับรู้ ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของทัศนคติว่าจะเป็นไปในทิศทางใด เช่น เชื่อว่าเดินทางโดยเครื่องบินจะปลอดภัยกว่าเดินทางโดยรถยนต์ เป็นต้น
          - ด้านความรู้สึก (
Affective Component) หมายถึง สภาวะทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากมีความคิดและความเข้าใจในสิ่งที่รับรู้นั้นว่าเป็นเช่นใด
          - ด้านพฤติกรรม (Behavior Component) หมายถึงแนวโน้มที่บุคคลจะแสดงพฤติกรรมสนองตอบสิ่งใดสิ่งหนึ่ง โดยจะเป็นไปในทิศทางใดนั้นขึ้นอยู่กับความคิด ความเข้าใจ และความรู้สึกที่บุคคลมีต่อสิ่งนั้น เช่น หากคิดว่าธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีความสำคัญต่อมนุษย์ ก็จะรู้สึกดื่มด่ำกับธรรม - ชาติและสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้มีพฤติกรรมในการปกป้องรักษา และอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
          นักจิตวิทยายังได้ทำการทดลองจนสามารถค้นพบลักษณะที่สำคัญของทัศนคติ ดังนี้
          1. ทัศนคติเกิดขึ้นจากการเรียนรู้ (Learning) หรือประสบการณ์ (Experience)          
          2. ทัศนคติเป็นตัวกำหนดรูปแบบของพฤติกรรมของบุคคลที่มีต่อบุคคลหรือสถานการณ์นั้น ๆ
          3. ทัศนคติเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ เนื่องจากเกิดขึ้นโดยการเรียนรู้และประสบการณ์ ดังนั้นหากบุคคลมีความรู้เกี่ยวกับสิ่งใดเพิ่มขึ้นหรือได้รับประสบการณ์ใหม่ ๆ ก็ย่อมสามารถเปลี่ยนแปลงทัศนคติเดิมได้แต่อาจต้องใช้ระยะเวลาที่ยาวนานพอสมควรในการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ
          4. ทัศนคติสามารถถ่ายทอดได้ โดยมักเกิดจากการเลียนแบบหรือเอาอย่างจากบุคคลใกล้ชิดหรือบุคคลที่ศรัทธานับถือ
          ทัศนคติเกิดจากการเรียนรู้ ซึ่งมีกระบวนการค่อนข้างซับซ้อน ดังนั้น จึงส่งผลให้ปัจจัยที่เกิดทัศนคตินั้นมีทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม ดังนี้
1.       วัฒนธรรม (Culture) จะเป็นตัวกำหนดแบบแผนเพื่อใช้ในการดำเนินชีวิตของคนในแต่ละสังคม ดังนั้น คนที่อยู่ในสังคมเดียวกันจึงมักแสดงพฤติกรรมออกมาในแนวทางเดียวกัน เช่น คนไทยมักจะให้ความเคารพผู้ใหญ่ ดังนั้น พฤติกรรมที่เด็กแสดงต่อผู้ใหญ่จึงแสดงออกด้วยความเคารพนบนอบ เป็นต้น
2.       ครอบครัว (Family) เป็นสถาบันทางสังคมที่มีอิทธิพลต่อบุคคลอย่างมาก ดังนั้น หากสิ่งใดที่ได้รับการปลูกฝังทัศนคติมาจากครอบครัวแล้ว จึงยากที่จะเกิดความเปลี่ยนแปลง
3.       ประสบการณ์ (Experience) มีส่วนสำคัญต่อการเกิดทัศนคติของบุคคลไปในทางบวกหรือลบ รวมทั้งสามารถเปลี่ยนแปลงทัศนคติเดิมที่เคยมีได้อีกด้วย
4.       อิทธิพลของกลุ่มทางสังคม (Social Group) กลุ่มทางสังคม ซึ่งได้แก่ เพื่อนสนิท เพื่อนร่วมงาน ซึ่งกลุ่มทางสังคมเหล่านี้จะมีอิทธิพลต่อการเกิดทัศนคติไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งได้ง่าย โดยเฉพาะในเด็กวัยรุ่น
5.       สื่อมวลชน (Mass Communication) สื่อมวลชนไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ ภาพยนตร์ หรืออินเตอร์เน็ต มีบทบาทสำคัญในการชักจูงให้บุคคลเกิดทัศนคติต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปในทิศทางใดก็ได้ ด้วยเหตุที่สื่อมวลชนจะทำการป้อนข่าวสารรวมทั้งแสดงความคิดเห็นต่อบุคคลและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมตลอดเวลา หากขาดวิจารณญาณที่ดีพออาจถูกโน้มน้าวความคิดได้ง่าย แม้จะกล่าวว่าทัศนคติสามารถเปลี่ยนแปลงได้ก็ตาม แต่ทัศนคติบางอย่างนั้นก็จะต้องอาศัยเวลา เนื่องจากการเกิดทัศนคตินั้นจะต้องมีการสั่งสมมาพอสมควร
วิธีการเปลี่ยนแปลงทัศนคติต่อพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ต่อสังคมนั้น สามารถจำแนกได้ ดังนี้
- การชักจูง (Persuasion) ชักชวน หรือเกลี้ยกล่อม การเปลี่ยนแปลงทัศนคติอาจเกิดขึ้นได้โดยการอธิบาย ให้เหตุผล และชี้แนะ ยิ่งถ้าบุคคลนั้นได้รับความไว้วางใจ หรือได้รับความศรัทธาเชื่อถือ อีกทั้งถ้าสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระทั้งสองฝ่าย จะทำให้ความสำเร็จของการเปลี่ยนแปลงทัศนคตินั้นมีมากขึ้น
- การเปลี่ยนกลุ่ม (Group Change) อิทธิพลจากความคิดของกลุ่มนั้นทำให้เกิดทัศนคติได้ง่าย หากต้องการเปลี่ยนแปลงทัศนคติไปในรูปแบบทิศทางใดนั้น จึงอาจทำได้โดยการเปลี่ยนแปลงกลุ่มที่มีรูปแบบทัศนคติไปในทิศทางนั้น
- ล้างสมอง (Brain Washing) เป็นการลบล้างความเชื่อเก่า ๆ โดยแทนที่ด้วยความเชื่อใหม่ด้วยวิธีการต่าง ๆ ซึ่งเป็นการให้ข้อมูลด้านดีกับสิ่งที่ต้องการ และในขณะเดียวกันก็ให้ข้อมูลทางลบกับสิ่งที่มีทัศนคติอยู่เดิมก่อนหน้า
- การโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) เป็นการชักชวนให้หันมาสนใจหรือเปลี่ยนทัศนคติตามที่ต้องการ โดยทั่วไปนิยมใช้สื่อมวลชน เนื่องจากสามารถเข้าถึงได้กว้างขวางและกำหนดความถี่เพื่อย้ำได้ตามที่ต้องการ - การให้ประสบการณ์ (Experience) การให้ประสบการณ์โดยตรงนั้นเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ดีในการสร้างทัศนคติใหม่ให้เกิดกับบุคคล เช่น ต้องการให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการสูบบุหรี่ ก็ให้ไปเห็นบุคคลที่ป่วยเป็นโรคต่าง ๆ จากการสูบบุหรี่ เป็นต้น
wการสร้างสิ่งดึงดูดใจระหว่างบุคคล (Interpersonal Attraction)
        การอยู่ร่วมกันของบุคคลในสังคมอย่างมีความสุขนั้น จำเป็นที่จะต้องสร้างไมตรีจิตให้เกิดขึ้นระหว่างกัน นักจิตวิทยาสังคมจึงได้ค้นพบปัจจัยที่ช่วยการดึงดูดให้บุคคลมีความต้องการที่จะสร้างสัมพันธ์อันดีต่อกันหลายประการ ดังนี้
        1. คุณลักษณะของบุคคล (Personal Trait) หมายถึง ลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคลที่สามารถสร้างแรงดึงดูดใจให้บุคคลอื่นตวามความต้องการที่จะสร้างสัมพันธ์ด้วย ได้แก่
          - คุณลักษณะทางร่างกาย เป็นคุณลักษณะที่ดึงดูดใจเป็นอันดับแรก ด้วยเหตุที่ว่ารูปร่างหน้าตาดีย่อมเป็นที่สะดุดตา อีกทั้งยังสร้างความพึงพอใจให้แก่ผู้พบเห็นอีกด้วย แต่ทั้งนี้จะใช้รูปร่างหน้าตาอย่างเดียวในการตัดสินใจก็อาจเกิดความผิดพลาดได้ง่ายเช่นกัน
          - การใช้ภาษาและท่วงทีวาจา การพูดที่อ่อนหวาน ไพเราะ ใช้ภาษาได้ถุกต้องถือว่าเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งในการดึงดูดใจให้บุคคลอยากจะเข้าใกล้และสร้างสัมพันธ์ด้วย
          - ความสามารถในตัวบุคคล หากบุคคลที่มีความสามารถพิเศษในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเหนือกว่าบุคคลธรรมดาทั่วไป ก็ย่อมได้รับความสนใจจากบุคคลรอบข้างได้ง่าย และอยากทำความรู้จักคบหาด้วย
2. ความใกล้ชิด (Proximity) ปัจจัยที่ทำให้บุคคลเกิดความพึงพอใจได้นั้นคือการใกล้ชิดกัน ไม่ว่าจะโดยเหตุบังเอิญหรือโดยหน้าที่การงานก็ตาม ซึ่งความใกล้ชิดจะไม่มีผลต่อความสัมพันธ์เลยหากบุคคลนั้น ๆ เคยมีปัญหาต่อกันมาก่อน โดยทั่วไปแล้วในการพบกันครั้งแรกของบุคคลมักจะมีปฏิกิริยากลาง ๆ ค่อนไปทางพึงพอใจมากกว่า        
3. ความคุ้นเคย (Familiarity) เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากเมื่อบุคคลเกิดความใกล้ชิดแล้ว ความคุ้นเคยจะเป็นสภาวะของความแนบแน่นในการเกิดความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลไปในลักษณะที่ต่อเนื่อง บุคคลที่เกิดความคุ้นเคยแล้วมักจะแสดงตัวตนและอารมณ์อย่างเปิดเผยเป็นอิสระ และมักไม่คำนึงถึงระเบียบกฎเกณฑ์ระหว่างกันมากนัก
4. ความคล้ายคลึง (Similarity) โดยธรรมชาติของมนุษย์นั้นมักจะชอบบุคคลที่มีลักษณะใกล้เคียงหรือคล้ายคลึงกับตนในทางใดทางหนึ่ง ดังนั้น หากบุคคลที่มีทัศนคติคล้ายคลึงกันมากเท่าใด ก็จะเกิดความดึงดูดใจมากขึ้นเท่านั้นด้วย
5. ความแตกต่างที่ลงตัว (Complementary) ในบางกรณีความแตกต่างก็สามารถมีส่วนดึงดดูดใจให้บุคคลเกิดความพึงพอใจได้เหมือนกัน เช่น คนช่างพูดมักจะชอบเลือกคบคนที่ชอบฟังมากกว่าพูด หรือคนที่ชอบเป็นผู้นำมักจะเลือกคบกันคนที่ชอบเป็นผู้ตาม เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม ความต่างของบุคคลนั้นก็ยังมีระดับการสร้างแรงดึงดูดไม่เท่ากับความคล้ายคลึงกันของบุคคล
6. ความพึงพอใจจากสิ่งที่ได้รับ (Rewardingness) บุคคลที่สร้างความพึงพอใจแก่บุคคลอื่นได้มากเท่าไร ย่อมสร้างแรงดึงดูดใจให้บุคคลต้องการมีสัมพันธภาพมากขึ้นเท่านั้น ทั้งนี้เนื่องจากบุคคลที่ได้รับความพึงพอใจจะมีความรู้สึกว่า ตนเองเป็นผู้ที่มีคุณค่าและความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้ให้
อิทธิพลของสังคมที่มีต่อพฤติกรรมทางสังคมของบุคคล
        ลักษณะพฤติกรรมทางสังคมที่เกิดขึ้นนั้น ถ้าหากพิจารณาให้ดีแล้วจะพบว่าสังคมที่บุคคลเป็นสมาชิกนั้นมีส่วนในการสร้างอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดและพฤติกรรมของสมาชิกในสังคมแต่ละคนด้วย ซึ่งอิทธิพลของสังคมที่มีผลต่อการแสดงพฤติกรรมทางสังคมของบุคคลที่สำคัญ ๆ ในที่นี้ ได้แก่
        1. การคล้อยตาม (Conformity)
การคล้อยตามเป็นแนวโน้มที่บุคคลจะทำตามบุคลอื่น เกิดขึ้นในกรณีที่บุคคลไม่สามารถตัดสินใจในการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งลงไปได้ ปัจจัยที่ก่อให้เกิดการคล้อยตาม ได้แก่ ความคลุมเครือของสถานการณ์ ความเชื่อมั่นในตนเอง
          2. การเชื่อฟังผู้มีอำนาจ (
Obedience to Authority)
          3. ความร่วมมือ (Co-Operation)
          4. การแข่งขัน (Competition)
          5. ความก้าวร้าว (Aggression)
          6. พฤติกรรมการช่วยเหลือ (Helping Behavior or Prosocial Behavior)
2)      การมองตนเอง: ความรู้คุณค่าในตัวเอง (Self Esteem)
คนที่มี self-esteem จะต้องมีความสมดุลของความต้องการผลสำเร็จ หรืออำนาจ และความรู้จักคุณค่า ความมีเกียรติ และความซื่อสัตย์ ซึ่งอาจจะหมายถึง จิตใต้สำนึก และพฤติกรรมนั่นเอง จิตใต้สำนึกของคนที่มี self-esteem จะต้องรู้จักบาป บุญคุณโทษ รู้สิ่งใดดี สิ่งใดไม่ดี ความสื่อสัตย์ ความมีเกียรติ ส่วนพฤติกรรมของ self-esteem มีความสามารถที่จะคิดแก้ปัญหา เชื่อมั่นในความคิด และความสามารถ ของตัวเอง สามารถเลือกวิธีการตัดสินใจที่ถูกต้อง หากสูญเสียความสมดุลก็จะทำให้เกิดปัญหา เช่น หากจิตใต้สำนึกไม่แข็งแรง หรือสมบูรณ์พอ ก็จะทำให้คนเกิด พฤติกรรมเชื่อมั่นตัวเอง มากเกินไป หยิ่งยโส ดูถูกคนอื่น หากแต่มีแต่จิตใต้สำนึกที่ดี แต่ไม่มีความมุ่งมั่น ที่จะ ประสบผลสำเร็จชีวิต ก็อาจจะไม่ถึงเป้าหมาย ดังนั้นบุคคลที่ชอบพูดถึงแต่ตัวเอง อวดดี ดูถูกคนอื่น คนพาล ชอบเอาเปรียบคนอื่น คนที่กล่าวโทษคนอื่นไม่ถือว่า มี self-esteem
Self-esteem ประกอบด้วย ความตระหนักถึงคุณค่าตนเอง (Self-respect) และ ความเชื่อมั่นในความสามารถตนเอง (Self-efficacy) จนกลายเป็น ภาพแห่งตน (Self-image)
ความตระหนักถึงคุณค่าตนเอง (Self-respect) ความเชื่อว่า ตนเองมีคุณค่า มีความหมาย มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมผู้อื่น มีสิทธิ มีโอกาสที่จะสำเร็จ ได้รับสิ่งที่มุ่งหวัง มีสุขได้ เช่นเดียวกับผู้อื่น ชีวิตมีค่า สมควรได้รับการดูแลปกป้องให้ดี การได้รับการยอมรับจากคนอื่น
ความเชื่อมั่นในความสามารถตนเอง (Self-efficacy) ความเชื่อว่า ตนเองสามารถ คิด เข้าใจ เรียนรู้ ตัดสินใจในการแก้ปัญหา การเผชิญหน้ากับความท้าทาย หรืออุปสรรคต่างๆ ในชีวิตได้ ไว้วางใจตนเอง ว่ามีความสามารถ มีพลัง มีประสิทธิภาพ และพึ่งพาตนเองได้


ตารางที่ 1 ภาพแห่งตน (Self-image)
ภาพที่เรามองตนเอง (Self-image)
ภาพแรก ในอุดมคติ ที่ฝันอยากจะเป็น
ภาพสอง เป็นภาพแห่งความจริง
ความแตกต่างระหว่างความฝันกับความจริง(Gap)
ใกล้เคียง ข้าเก่ง นับถือตัวเองสูง
แตกต่าง ข้าแย่ ภาคภูมิใจต่ำ ไร้ค่า นับถือตนเองต่ำ
เรามองตนเองเป็นใครอย่างไร และคิดหรือเชื่อหรือมีทัศนคติเกี่ยวกับตนเองอย่างไร เราก็ทำเป็นประจำ บ่อยๆ จนเราเป็นภาพอย่างนั้น
ภาพของเราเป็นอย่างไร
ทางกาย ทางวาจา และทางใจ ที่แสดงออกมา
จุดแข็งจุดอ่อน(S&W) ความเป็นไปได้และข้อจำกัด(O&T) ของตนเอง
ภาพบวก หรือภาพลบ กับตนเอง

ตารางที่ 2 การสร้างภาพแห่งตน
ปฏิกิริยาที่ผู้อื่นมีต่อเรา แล้วเราก็สร้าง ภาพตนเองขึ้นมา
ภาพของเราเป็นอย่างไร
-หากดี ...ภูมิใจ เชื่อถือตนเอง
-หากไม่ดี ...ดูตนเองไร้ค่า
ถูกชมว่าดีอยู่เรื่อยๆ --> ภาพแห่งตน ดี น่ารัก ฉลาด
ถูกด่าบ่อยๆ-->ภาพแห่งตน ไม่ดี ไม่น่ารัก โง่ ไม่เข้าท่า
ภาพจะถูกสะสมทุกๆวัน--> สะสมข้อมูลตนเองและโลกรอบตัวลงในดวงจิตของตนเอง-->
กลายเป็นทัศนคติและความเชื่อตนเอง-->
คนที่มี self-esteem มักจะประกอบด้วยสิ่งต่อไปนี้
1.       มองโลกในแง่ดีเสมอ มองวิกฤตให้เป็นโอกาส เมื่อมีมืดต้องมีสว่าง มีร้ายต้องมีดี ขาวคู่กับดำ
2.       ประเมินตัวเราให้มีคุณค่าอยู่เสมอ
3.       เชื่อมั่นในความสามารถตัวเอง
4.       มองว่าตัวเราเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและเราสามารถเปลี่ยนแปลงตามที่เราต้องการ
ผู้ที่ไม่รู้คุณค่าตัวเองไม่มีความมั่นใจจะไม่มีความหวัง ไม่มีพลังในการต่อสู้ในที่สุดจะเป็นคนที่ซึมเศร้า
3)      การมองผู้อื่นในสังคม การปฏิสัมพันธ์
นักมานุษยวิทยา เรย์ เบิร์ดวิสเทลส์ ได้ศึกษาการสื่อสารปราศจากคำพูด เขาคาดว่าคนทั่วไปพูดกันวันละ 10 หรือ11 นาที และประโยคโดยเฉลี่ยใช้เวลาประมาณ 2.5 วินาที และเขายังคาดว่ามีสีหน้าแบบต่าง ๆ ประมาณ 250,000 แบบที่เราทำได้และรับรู้ได้เมื่อเห็นคนอื่นทำ ดังนั้นเราจึงค้นพบว่า การสนทนาแบบเผชิญหน้าประกอบด้วยส่วนที่เป็นคำพูดไม่ถึงร้อยละ 35 ของการสื่อสาร และอีกกว่าร้อยละ 65 เกิดขึ้นโดยปราศจากคำพูด 
อย่างไรก็ตามแม้จะสวนทางกับความเชื่อตามหลักการ แต่เมื่อเราพบใครสักคนเป็นครั้งแรก เราจะประเมินอย่างรวดเร็วถึงความเป็นมิตร อำนาจ และความเป็นไปได้ในฐานะคู่รัก อีกทั้งดวงตาของพวกเขาก็ไม่ใช่สิ่งแรกที่เรามอง ดังนั้นจึงเห็นว่า เราใช้คำพูดเพื่อสื่อสารข้อมูลเป็นหลัก และใช้ภาษากายเพื่อประเมินความรู้สึกที่มีต่อกัน ในบางกรณีเรายังใช้ภาษากายแทนคำพูดด้วยซ้ำ
ภาษากายเป็นปฏิกิริยาภายนอกที่แสดงสภาวะอารมณ์ของบุคคลท่าทางหรือการเคลื่อนไหวแต่ละอย่างอาจเป็นกุญแจล้ำค่าที่เปิดให้เรารับรู้ถึงอารมณ์ของคนผู้หนึ่งได้ ดังนั้นกุญแจในการอ่านภาษากายก็คือ การทำความเข้าใจสภาวะอารมณ์ของคนขณะที่ฟังพวกเขาพูด และตั้งข้อสังเกตต่อสภาพแวดล้อมรอบตัวพวกเขา จะช่วยให้เราสามารถแยกแยะภาพจริงจากภาพลวง และความจริงจากจินตนาการได้ (Pease, A 2007)
4)      บุคลิกภาพที่ไม่พึงประสงค์
        ในการอยู่ร่วมกันของคนเรา ความขัดแย้งมากมายหลายประการอาจเริ่มต้นจาก บุคลิกภาพไม่พึงประสงค์ ในตัวคนเราทุกคนต่างก็มีด้านที่น่ารักและไม่น่ารัก น่าคบและไม่น่าคบ น่าอยู่ใกล้และน่าหนีให้ไกล น่าประทับใจและน่ารังเกียจ การอยู่กับคนอื่น เรามีหน้าที่ ลดความน่ารังเกียจ และเพิ่มความน่าคบ เพิ่มแรงดึงดูดมากกว่าเพิ่มความกดดัน เพื่อให้คนตั้งแต่สองคนขึ้นไปได้สานประโยชน์และสานสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน นำไปสู่การร่วมแรงร่วมใจสร้างสรรค์สิ่งที่ดีๆ ให้เกิดขึ้นได้อีกมากมายหลายประการ แต่หากเริ่มต้นด้วยความขัดแย้งกันเสียแล้ว ก็ไม่นำไปสู่อะไรที่สร้างสรรค์เลย นอกจากความขัดแย้งที่มากยิ่งขึ้น แฮรี สแต็ค ซัลลิแวน นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ได้อธิบายบุคลิกภาพที่ไม่พึงประสงค์ พร้อมทั้งระบุสาเหตุที่ก่อให้เกิดลักษณะของบุคลิกภาพที่เป็นปัญหาไว้ 5 ประเภทคือ
        1.ประเภทหมกมุ่นอยู่กับตนเอง บุคคลประเภทนี้มักจะท้อแท้ ผิดหวังง่าย มีความเจ็บแค้นในใจ และคิดว่าตนถูกเข้าใจผิดเสมอ สำหรับสาเหตุแห่งบุคลิกภาพประเภทหมกมุ่นอยู่กับตนเองนี้ เป็นเพราะว่าบุคคลประเภทนี้ ผิดหวังในสัมพันธภาพระหว่างตนเองกับบุคคลอื่นมาตั้งแต่เยาว์วัยและถูกกระทำซ้ำซ้อนมาจนฝังใจจำ
          2.ประเภทไม่สุงสิงกับใคร บุคคลประเภทนี้มักจะมีความรู้สึกว่าทำบุญกับใครไม่ขึ้น มักจะน้อยใจ สาเหตุแห่งบุคลิกภาพประเภทนี้ อาจจะเป็นเพราะไม่ได้รับความรักหรือไม่มีใครรักในวัยเด็ก ผลจึงสืบเนื่องมาจนถึงวัยอื่นๆ ต่อๆ มา
3.ประเภทต้องพึ่งพาคนอื่น บุคคลประเภทนี้มักจะไม่มีความคิดเป็นของตนเอง คอยปฏิบัติตามคำแนะนำของคนอื่น ต้องยึดหรือพึ่งพาคนอื่นเป็นหลัก สาเหตุแห่งบุคลิกภาพประเภทนี้ อาจเป็นผลจากการเลี้ยงดูของบิดามารดาที่แสดงอำนาจเหนือเด็กตลอดเวลา โดยเฉพาะในช่วงวัยเด็กและวัยเยาว์
          4.ประเภทไม่เป็นมิตรกับใคร บุคคลประเภทนี้ไม่ประสงค์จะคบหาสมาคมกับใคร อารมณ์มักจะขุ่นมัว หงุดหงิด สาเหตุแห่งบุคลิกภาพประเภทนี้ มักจะเป็นเพราะบิดามารดาเคี่ยวเข็ญและเอาใจใส่ดูแลบุตรธิดา เพื่อหวังจะให้ได้ดีมากเกินไป อีกทั้งบิดามารดามักจะไม่พอใจ และไม่สนใจเกี่ยวกับผลการกระทำหรือผลงานใดๆ ของบุตรธิดาของตน
5.ประเภทชอบคัดค้าน บุคคลประเภทนี้ มักจะเถียง ชอบคัดค้าน สาเหตุแห่งบุคลิกภาพประเภทนี้ เป็นเพราะชอบเรียกร้องความสนใจเมื่อครั้งยังอยู่ในวัยเด็ก และเมื่อเจริญเติบโตขึ้น ก็ยังคงใช้วิธีการเดิมและมักจะใช้วิธีคัดค้าน เมื่อรู้สึกว่าความสุข ความปลอดภัยของตนนั้นกำลังถูกคุกคาม
สรุป
          การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น การอยู่ร่วมกันในสังคม รวมถึงการร่วมมือกันทำงาน เหล่านี้ถือว่าเป็นการแสดงในชีวิตประจำวันที่ทุกคนในสังคมในกลุ่มหรือในทีมต่างต้องกำหนดภาพลักษณ์ของตัวเองนำเสนอร่วมกัน ดังนั้นลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างผู้ร่วมทีมกันนั้นจำเป็นต้อง พึ่งพาอาศัยกัน และคุ้นเคยซึ่งกันและกัน ซึ่งจำเป็นต้องมีการรับรู้ความหมายของพฤติกรรมและความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน อย่างไรก็ตามความสัมพันธ์ของคนเรานี้ ให้ความสำคัญกับการแสดงออกทางสีหน้า และภาษากาย ซึ่งไม่ว่าวัฒนธรรมใด ๆ ในโลกนี้ การสื่อสารความสัมพันธ์สามารถสังเกตได้จากสัญญาณการสื่อสารขั้นพื้นฐาน






ตอนที่ 3
อคติทางวัฒนธรรมและอคติทางสังคม
ความคิด ความเชื่อของคนกลุ่มต่าง ๆ และมายาคติในสังคม
          ในสังคมทั่วไป คนเรามักจะถูกกระบวนการอบรมสั่งสอนทางสังคมและวัฒนธรรมให้เราต้องประพฤติปฏิบัติตามที่สังคมวัฒนธรรมนั้น ๆ กำหนดไว้ มีการสั่งสมความคิด ความเชื่อและทัศนคติต่าง ๆ ที่ถ่ายทอดต่อ ๆ กันมาจากรุ่นต่อรุ่น จากเพื่อนสู่เพื่อน เป็นต้น ดังนั้นจึงทำให้เกิดความคิด ความเชื่อหรือทัศคติบางอย่างในแง่ลบกลายเป็น “ความอคติ” ที่เกิดขึ้นส่งผลในแง่งบและปัญหาต่าง ๆ ตามมา รวมถึงการสร้างความเป็นอื่นให้เกิดขึ้นในสังคม ดังที่เห็นได้จากประวัติศาสตร์ สถานการณ์โลก หรือแม้แต่สังคมไทยที่ปัญหาความขัดแย้งต่าง ๆ อันมีสาเหตุมาจาก “ความอคติ”ของผู้คนแต่ละกลุ่ม ต่างกลุ่ม ต่างเชื้อชาติ ต่างศาสนา ต่างภาษา ต่างเพศ เป็นต้น
          ความหมายของ “อคติ”
          อคติ เป็นแนวโน้มหรือความโน้มเอียงอย่างหนึ่งที่จะประพฤติปฏิบัติ ซึ่งอาจมีต่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือหลาย ๆ กลุ่มในสังคมใดๆ ก็ได้ เพราะอคติระหวางกลุ่มนั้นเป็นเรื่องสากล สามารถพบได้ทุกหนทุกแห่งที่กลุ่มเหล่านั้นมีการติดต่อสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน
          Berelson and Steiner (2010) ได้ให้ความหมายว่า อคติ หมายถึงทัศนคติรุนแรงที่มีต่อกลุ่มชาติพันธุ์ใดกลุ่มหนึ่ง หรือทัศนคติรุนแรงที่มีต่อสมาชิกคนหนึ่งคนใดในกลุ่มนั้น ๆ และเป็นทัศนคติอย่างรุนแรงที่มีอยู่ล่วงหน้าโดยไม่มีมูลมาจากข้อเท็จจริงที่มีอยู่ หรือโดยที่ไม่รู้จัก ไม่เข้าใจจริง ๆ อยู่ด้วยเลย
          Secord and Backman (1974) ให้คำจำกัดความ “อคติ” ไว้ว่า หากคำนึงถึงความหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มที่มีต่อกัน อคติคือ ทัศนคติอย่างหนึ่งที่โน้มน้าวนำล่วงหน้าให้บุคคลคิด หรือรับรู้ หรือรู้สึก หรือกระทำไปในลักษณะน่าพึงพอใจ หรือไม่น่าพึงพอใจต่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือต่อสมาชิกกลุ่มนั้น ๆ เป็นรายบุคคลไป และคนที่มีอคตินั้น ๆ โดยปกติจะประพฤติปฏิบัติคล้อยตามทัศนคตินี้หรือไม่ ทั้งนี้ขึ้นกับองค์ประกอบหลาย ๆ ประการ ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ หรืออื่น ๆ โดยไม่จำเป็นต้องแสดงออกตรงตามทัศนคติที่มีอยู่ล่วงหน้าเสมอไป
               การเกิดอคติ
          เราจะเข้าใจผู้อื่นแต่ก็มักจะมีอคติเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งจะทำให้พฤติกรรมที่แสดงออกมานั้นเบี่ยงเบนไปจากสิ่งที่ควรจะเป็น อคติมีอยู่ 4 ลักษณะ คือ
          1 อคติในที่ที่ดี หรือทางบวก คือ การมองคนอื่นในทางดีเพียงด้านเดียว แม้บางครั้งเขาจะทำผิดหรือมีข้อเสียบ้างเราก็จะมองข้ามไม่ใส่ใจและพร้อมที่จะให้อภัย
          2 อคติในทางไม่ดี หรือทางลบ คือ การมองเห็นแต่ความบกพร่องของคนอื่น โดยจะมองหำแต่จุดบกพร่องและแสดงความไม่พอใจ บุคคลที่มีอคติเช่นนี้จะเป็นคนที่มองโลกในแง่ร้าย เข้ากับบุคคลอื่นได้ยาก
          3 อคติที่เกิดจากความผิดพลาดในการใช้เหตุผล เป็นอคติที่บุคคลพยายามยกหาเหตุผลมายืนยันความคิดเห็นของตัวเอง เพื่อให้ความเชื่อมั่นว่า แนวคิดของตนนั้นถูกต้อง
          4 อคติที่เกิดจากข้อสรุปที่ผิดพลาด เป็นอคติที่เกิดจากประสบการณ์ โดยบุคคลทั่วไปจะนำเอาประสบการณ์ที่เคยได้รับ มาเป็นข้อสรุปว่า สิ่งนั้นจะต้องไม่ดี หรือเป็นอย่างที่เคยเป็นมา
        ไม่ว่าจะเป็นนัย คำพูด น้ำเสียง หรือสีหน้าท่าทาง การที่เราไม่สนใจข้อมูลที่มาจากอีกฝ่ายหนึ่งเลย
อุดมการณ์กับการปิดกั้นความแตกต่างสังคม มายาคติและการรู้เท่าทันมายาคติต่าง ๆ ในสังคม
          อย่างไรก็ตาม “อคติ” เป็นเรื่องของเนื้อหาที่เกิดจากการรับรู้ การคิดและอารมณ์ของแต่ละบุคคลที่มีแนวโน้มในใจมาอยู่แล้วล่วงหน้า ตลอดจนประสบการณ์ของแต่ละคนอีกด้วย  นอกจากนี้ในชีวิตประจำวันของคนเรามักจะรับรู้และจัดแบ่งประเภทความเป็นพวกพ้อง กลุ่มคน แล้วมีวิธีการตัดสินว่า มีคุณลักษณะหรือคุณสมบัติอย่างไร สิ่งที่มีประจำตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่ง โดยอาศัยพื้นฐานการสรุปเช่นกัน อยู่ในระดับใด ชนชั้นใด ประเทศใด เชื้อชาติใด วัยใด เป็นต้น ดังนั้นจึงมักจะถูกคาดคิด หรือคาดหวังว่า กลุ่มคนที่อยู่กลุ่มเดียวกันจะมีความเหมือนหรือคล้ายคลึงกัน มีข้อสรุปที่ชัดเจนโดยไม่ได้นำปัจจัยอื่น ๆ มาพิจารณาประกอบที่จะชี้ให้เห็นความแตกต่าง เช่น คนญี่ปุ่น ฉลาด มีระเบียบวินัย อ่อนหวาน ขยัน คนจีน เจ้าเล่ห์ ขี้โกง หัวโบราณ เคร่งประเพณี รักญาติและผูกพันกับตระกูล เป็นต้น ซึ่งกลายเป็นสิ่งที่ถูกสร้างและให้ความหมาย
          มายาคติ (Mythology) กับการสร้างความหมาย
          เป็นคำที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ ค.ศ.1603 ซึ่งเป็นคำผสมระหว่าง myth + logos. ความหมายรวมๆของคำนี้ หมายถึง คติความเชื่อหรือทัศนคติที่เป็นมายาหรือไม่จริงนั่นเอง เป็นเพียงภาพลวงที่สร้างขึ้น แล้วทำให้มันดูน่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับ Roland Barthes ปัญญาชนคนสำคัญชาวฝรั่งเศสสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ได้นำคำนี้มาตั้งเป็นชื่อหนังสือเล่มหนึ่งของเขาคือ Mythologies (1972) ในหนังสือเล่มดังกล่าวเป็นการรวมบทความของเขาที่เคยเขียนและได้รับการตีพิมพ์ในที่ต่างๆจำนวน 54 เรื่อง เนื้อหาของบทความในหนังสือเป็นเรื่องซึ่งเกี่ยวพันกับการวิจารณ์การเมือง วัฒนธรรมร่วมสมัย และสังคมในช่วงทศวรรษที่ 1950s แต่อย่างไรก็ตามจนกระทั่งทุกวันนี้ บรรดานักวิชาการทางด้านสังคมวิทยา มานุษยวิทยา และวัฒนธรรม ต่างก็ยังอ้างอิงผลงานชิ้นนี้ของเขากันอยู่
         สิ่งสำคัญในหนังสือเรื่อง Mythologies ของ Barthes เขาเสนอให้มองสังคมวัฒนธรรมแวดล้อมด้วยสายตาที่ตั้งคำถาม หลายต่อหลายครั้ง Barthes อ้างว่า เขาต้องการท้าทายความไร้เดียงสาและ"ความเป็นธรรมชาติ"ของข้อมูลและปฏิบัติการทางวัฒนธรรมที่ปรากฏตัวอยู่ในเวลานั้น และการใช้สายตาในลักษณะตั้งคำถาม เขาเสนอให้เรามองให้ลึกลงไปกว่าภาพที่ปรากฏอยู่บนผิวหน้า Barthes ได้ใช้คำสำคัญอยู่สองคำในการปฏิบัติการดังกล่าว คำแรกคือ denotation (ความหมายตรง) ส่วนอีกคำหนึ่งคือ connotation (ความหมายแฝง) คำแรกเป็นความหมายที่ตรงไปตรงมาเข้ากันได้ดีกับภาพที่ปรากฏต่อสายตาหรือการมองของเรา ส่วนคำหลังเขาเสนอให้เราใช้ความไตร่ตรองเป็นเครื่องมือเพื่อขุดลึกลงไปใต้ผิวหน้าของภาพที่เราสัมผัส (ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร 2545)
         กรณีตัวอย่าง การถือค้อนของนักการเมือง
           ถ้าเราเห็น"ค้อน"(hammer) ความหมายตรงไปตรงมา(denotation) หมายถึง เครื่องมือชนิดหนึ่งซึ่งใช้สำหรับการตอกตะปู หรือใช้ทุบ, แต่ในความหมายแฝงนั้น "ค้อน"หมายถึง ความรุนแรง การลงแรงอย่างเต็มที่โดยไม่ผ่อนปรน สำหรับค้อน ถ้าอยู่ในมือของช่างไม้ ก็เป็นเครื่องมืออันหนึ่งซึ่งใช้สำหรับกิจกรรมในงานสร้าง แต่ถ้าอยู่ในมือของนักการเมืองผูกเน็กไท ใส่สูท ดังที่เราได้เห็นบนหน้าจอทีวีก่อนการเลือกตั้งที่ผ่านมา หมายถึงการเป็นตัวแทนของประชาชนในการคิดเข้าไปแก้ปัญหาอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ทุบทุกอย่างที่ขวางหน้าโดยไม่เกรงกลัวใคร ทีนี้ลองมาเปลี่ยนภาพค้อนสักเล็กน้อย สมมุติว่านักการเมืองคนเดียวกัน ถือค้อนไม้ที่ใช้บนบัลลังก์ศาล ความหมายจะเปลี่ยนแปลงไปทันที เพราะย่อมหมายความว่า การเป็นผู้แทนของปวงชนของเขานั้น จะเข้าไปแก้ปัญหาบ้านเมืองด้วยวิธีการหลักของกระบวนการยุติธรรม แต่อย่างไรก็ดี สาร(message)ที่ส่งออกมายังแฝงความมีอำนาจอยู่ดี
        สิ่งที่เราพบเห็นในงานโฆษณาทุกวันนี้ ส่วนใหญ่จะนำเสนอเรื่องราวต่างๆที่แฝงมายาคติบางอย่างเอาไว้ เช่น สำนึกทางชนชั้น เรื่องของเชื้อชาติ เด็กและคนแก่ การกดขี่ทางเพศ และความบกพร่อง ที่ยกมากล่าวนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของชนชั้น เชื้อชาติ อายุ เพศ และความบกพร่อง ล้วนเป็นคำในความหมายกว้างที่แฝงอคติเอาไว้ และเมื่อมีการนำเสนอผ่านงานโฆษณาหรืองานสร้างวัฒนธรรมทางสายตา ผู้ผลิตจะนำเสนอมายาคติเหล่านี้ออกมา
        การตรวจสอบมายาคติที่มีอยู่ในสังคม
          ทฤษฎี CRASH คำนี้หมายถึงการปะทะกันอย่างรุนแรง แต่อันที่จริงมันคือ"อักษรย่อ"ที่มารวมตัวกัน โดย
        C หมายถึง class (ชนชั้น)
        R หมายถึง race (เชื้อชาติ)
        A หมายถึง age (อายุ)
        S หมายถึง sex (เพศ)
        H หมายถึง handicap (ความบกพร่องหรือด้อยโอกาส)
                                อคติต่อความยากจน
        องค์กรต่อสู้ความยากจน (Oxfam) เปิดเผยว่า ช่วงปี2012รายได้ของคนที่รวยที่สุด ๑๐๐ คนในโลกนี้ รวมกันแล้วคือ 240 ล้านล้านดอลลาร์ ในขณะที่คนยากจนที่สุดในโลกมีรายได้น้อยกว่า 1.25 ดอลลาร์ต่อวัน... - นั่นหมายถึงว่า รายได้ของคนรวยที่สุด 100 คน เพียงพอสำหรับเอาชนะปัญหาความยากจนถึง 4 ครั้ง ล่าสุด ทางองค์กรฯ ได้ออกเอกสารชื่อว่า "ราคาของความเหลื่อมล้ำ: ทำไมความรวยแบบสุดโต่งถึงเป็นโทษกับพวกเราทั้งหมด" โดยยืนยันว่า สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำรุนแรงอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งนำไปสู่ความไร้ประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ เป็นเหตุกร่อนเซาะทางการเมือง ทำให้สังคมแตกแยก ทำลายสิ่งแวดล้อม สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องทางจริยธรรม และที่จริงแล้ว ความเหลื่อมล้ำเป็นสิ่งที่สามารถหลีกเลี่ยงและจัดการได้ นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้ประชาคมโลกตระหนักต่อปัญหาความเหลื่อมล้ำนี้ และย้ำว่า ไม่เพียงแต่คนจนที่ได้รับประโยชน์จากการลดความเหลื่อมล้ำ หากยังรวมถึงคนรวยที่สุดอีกด้วย (Oxfam,The cost of inequality: how wealth and income extremes hurt us all, 18/01/2013)
        กรณีโฆษณา ธนาคารกรุงไทย ชุด ผู้ใหญ่ลี
              
        สะท้อนถึงทัศนคติบางอย่างซึ่งแฝงอคติของชนชั้นกลางเอาไว้ กล่าวคือ ชนชั้นกลางผู้มีการศึกษาทั้งหลาย ไม่มีความเชื่อถือในภูมิปัญญาของชาวบ้าน และไม่เคยรู้เลยว่า ชาวบ้านมีวิถีชีวิตและดำรงอยู่กันอย่างไร ในขณะที่นักวิชาการหลายคนได้ลงไปศึกษาถึงรากเหง้าและภูมิปัญญาท้องถิ่นซึ่งมีในชนบท พวกเขาเหล่านั้นต่างเรียนรู้และศึกษาการอยู่ร่วมกันกับวิถีธรรมชาติ ซึ่งต่างออกไปจากวิถีชุมชนเมืองของชนชั้นกลาง นอกจากนี้ชนชั้นกลางยังมองชาวบ้านและคนแก่ๆทั้งหลาย เป็นผู้ด้อยสติปัญญา ไม่อาจที่จะทำอะไรให้เกิดผลผลิตอันงอกเงยและมูลค่าเพิ่มในเชิงเศรษฐกิจได้ คนเหล่านี้ล้วนแต่เป็นตัวตลก เป็นตัวกาก ตัวตีนกำแพงของฐานล่างระบบเศรษฐกิจ ซึ่งพยายามจะไต่ข้ามกำแพงสู่ระบบทุนนิยม ด้วยบันไดที่หยิบยื่นลงมาโดยความเมตตาของรัฐบาลทุน
        มุมมองดังกล่าวนี้ อาจมีผู้ท้วงติงว่าเป็นการมองผ่านกรอบที่เป็นภาพลบจนเกินไป อันที่จริงโฆษณาเรื่องผู้ใหญ่ลีผลิตไม้จิ้มฟัน เป็นเจตนาที่ดี ที่ต้องการเตือนให้ชาวบ้านระมัดระวังกับเงินก้อนใหญ่(กองทุนหมู่บ้าน หมู่บ้านละล้าน)เท่านั้น ว่าให้จัดการเงินก้อนโตนี้ให้ดีๆ ถ้าเป็นเช่นนั้น คำถามคือว่า"ทำไมชาวบ้านต้องถูกเตือน?"
        สำนึกของการจะตักเตือนใครต่อใครนั้น ผู้เตือนย่อมตระหนักว่าตนอยู่ในสถานภาพบางอย่างที่คิดว่าสูงกว่าหรือเหนือกว่าเสมอมิใช่หรือ? และที่ว่าเป็นเจตนาที่ดีนั้น ในหลักทฤษฎีเกี่ยวกับการวิจารณ์ มีคำสำคัญอยู่คำหนึ่งคือคำว่า intentional fallacy ซึ่งแปลว่า "ความผิดพลาดของเจตนา" วลีนี้หมายความว่า แม้ว่าผู้ส่งสารพยายามกระทำบางสิ่งบางอย่างด้วยเจตนาที่ดีก็ตาม แต่ด้วยความพลั้งเผลอ การมีอคติ หรือการทัศนคติที่ตายตัวบางอย่างแฝงเร้นอยู่ในสำนึก เจตนาที่ดีนั้น อาจสะท้อนมายาคติบางอย่างของชนชั้นตนออกมาได้ ในลักษณะที่ผิดพลาดโดยไม่ทันสำนึก
        อคติต่อวัยรุ่น
        จากงานศึกษาทั่ว ๆ ไป มักจะให้ข้อสรุปเกี่ยวกับ “วัยรุ่น” ว่าเป็นวัยย่างก้าวหรือเป็นวัยระหว่างรอยต่อระหว่างความเป็นเด็กและความเป็นผู้ใหญ่ ฉะนั้นเรื่องของคุณวุฒิ หรือการตัดสินใจ ตลอดจนการควบคุมอารมณ์จึงออกมาในลักษณะของการทำตามใจ  ทำตามอารมณ์  หรือทำตามเพื่อน โดยขาดการไตร่ตรองและการยั้งคิดเป็นส่วนใหญ่ ดังจะเห็นได้จากปัญหาต่างๆ ของวัยรุ่นในสังคมยุคปัจจุบัน  เช่น การยกพวกตีกัน การแสดงความก้าวร้าว การเสพยาเสพติด การแข่งรถมอเตอร์ไซค์ยามวิกาลตามท้องถนน และการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรซึ่งนับว่าเป็นปัญหาที่สำคัญมาก ไม่แพ้กับปัญหายาเสพติด จึงควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ปัญหาดังกล่าวส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เป็นผลมาจากการขาดความไตร่ตรอง ขาดความยั้งคิด  อาจเป็นเพราะเนื่องจากขาดการดูแลเอาใจใส่ และขาดการอบรมจากครอบครัว เมื่อเวลาวัยรุ่นมีปัญหาจึงเลือกที่จะปรึกษาเพื่อนเป็นส่วนใหญ่ การปรึกษาปัญหากับเพื่อนนั้นอาจจะเป็นผลดีหากเพื่อนมีระดับคุณวุฒิและวัยวุฒิสูงพอก็อาจให้คำปรึกษาที่เป็นประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาได้ แต่ในทางกลับกันการแก้ไขปัญหาของวัยรุ่นอาจจะเป็นผลร้ายหากไปเชื่อคำแนะนำที่ผิดๆจากเพื่อน ปัญหาของวัยรุ่นเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร  เพราะเห็นว่าเป็นปัญหาที่สังคมไทยกำลังเผชิญและต้องรับมือกับผลกระทบมากมาย จึงเป็นปัญหาที่ควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ปัญหาพฤติกรรมทางเพศของวัยรุ่นอาจจะมีเหตุผลมาจากยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นโลกของยุคโลกาภิวัตน์ มีเทคโนโลยีที่ก้าวไกล แต่ในขณะเดียวกันคนในสังคมกลับไม่ยกระดับของตนเองให้สูงเหมือนกับเทคโนโลยีทำให้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในทางที่ผิดๆ โดยไม่คำนึงถึงคุณธรรมและจริยธรรม แต่กลับนำมาสร้างผลประโยชน์ให้กับตนเอง เช่น การทำสื่อลามกอนาจาร  การเผยแพร่รูปลามกต่างๆ  เป็นต้น การกระทำดังกล่าวเป็นการเปิดช่องทางให้เด็กและเยาวชนรับข้อมูลที่ผิดและไม่เกิดประโยชน์ ทำให้มองว่าการแสดงออกทางเพศและการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรเป็นเรื่องปกติ
        จะเห็นได้ว่า การกล่าวถึง “วัยรุ่น” มักจะเป็นมุมมองหรือทัศนคติเชิงลบหรือ อคติ จึงส่งผลต่อข้อสรุปถึงปัญหาที่เกิดขึ้นมักมีสาเหตุมาจากกลุ่มวัยรุ่นทั้งสิ้น ซึ่งอาจสรุปได้ว่า ความอคติต่อวัยรุ่น มีอย่างน้อย 5 ประการ ดังนี้
        1. การลดทอนปัญหาวัยรุ่นเป็นเพียงระดับปัจเจก(individualization)
        2. การไม่เปิดกว้างต่ออัตลักษณ์ที่หลากหลายของวัยรุ่น
3. การไม่เข้าใจจิตวิทยาพัฒนาการของวัยรุ่น
4. การปิดกั้นการมีส่วนร่วมของวัยรุ่น
5. การขาดความละเอียดอ่อนต่อความสัมพันธ์เชิงอำนาจในหมู่วัยรุ่น
6.การละเลยที่จะสร้างสรรค์ยุทธวิธี/การจัดการความรู้และการจัดการความขัดแย้งในรูปแบบใหม่ๆ
        วัยรุ่นต้องสร้างการยอมรับให้เกิดขึ้นกับกลุ่มคนอย่างน้อยสองกลุ่ม คือ กลุ่มเพื่อนวัยรุ่น และกลุ่มผู้ใหญ่ในชุมชน ซึ่งมีวิธีคิดที่ต่างกันมหาศาล และโดยทั่วไป วัยรุ่นที่เลือกจะอิงกับกลุ่มผู้ใหญ่ในชุมชน ก็จะถูกมองว่าเป็นคนดี แต่วัยรุ่นที่เลือกจะอิงกับกลุ่มเพื่อนวัยรุ่น เลือกที่จะสร้างสรรค์วัฒนธรรมกลุ่มย่อย (subculture) ของพวกเขาเอง เช่น การสักลวดลายแฟชั่นตามเนื้อตัว การย้อมผมสีจัดๆ การดัดแปลงสภาพรถจักรยานยนต์ การใช้ภาษาแสลงและศัพท์ที่รู้กันเฉพาะในกลุ่ม จะกลายเป็นผู้ร้ายในชุมชนตามจารีตประเพณี และผู้ใหญ่ รวมถึงสถาบันทางสังคมที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมสูง เช่น โรงเรียน วัด เป็นต้น
        การแก้ปัญหา โดยการขีดเส้นแบ่งระหว่าง เด็กดี และ เด็กเลว โดยไม่วิเคราะห์เชื่อมโยงกับมิติทางสังคมวัฒนธรรม ความคาดหวังทางสังคม และประวัติศาสตร์ชุมชนที่รายรอบและหล่อหลอมพวกเขามา จึงไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาในเชิงโครงสร้างแต่อย่างใด และอาจจะเป็นการผลิตซ้ำความรุนแรงของอำนาจในรูปแบบอื่นๆก็เป็นได้ เช่น อำนาจรัฐ อำนาจจารีตประเพณีที่มีต่อวัยรุ่น รวมไปถึงอำนาจของระบบทุนนิยมที่มีต่อวัยรุ่น เหล่านี้เป็นอำนาจที่น่ากลัว เพราะเรามองไม่เห็น และไม่ตระหนักรู้ว่ามันมีอยู่ แถมยังล่อหลอกให้เรามองปัญหาและตัดสินวัยรุ่นอย่างผิวเผินโดยง่าย ผู้อาวุโส ผู้ใหญ่ รัฐบาล หรือแม้กระทั่งตัวเราเอง จึงมักจะถูกสังคมสร้างว่าเป็นฝ่ายถูกเสมอ และติดกับดักของการมอง ปัญหาวัยรุ่น เป็นเรื่องของปัจเจก
        วัยรุ่นกับแก๊งส์ “แก๊งส์” (Gangs) หมายถึง กลุ่มวัยรุ่นชายที่อาศัยอยู่ในเมืองมาจากชนชั้นล่างและต่อต้านสังคม หรือเป็นอาชญากร แต่แก๊งส์มักถูกมองว่า เป็นกลุ่มที่ใช้ความรุนแรง และทำตัวมีปัญหา ซึ่งจะถูกจับตามองจากผู้ปกครอบบ้านเมืองและสื่อมวลชน โดยเฉพาะเกี่ยวข้องกับยาเสพติด อาวุธปืน และการฆาตกรรม สาเหตุของการรวมตัวของ “แก๊งส์เช่น บ้านแตก ครอบครัวขาดความอบอุ่น หนีออกจากโรงเรียน ชุมชนไม่ยอมรับ กิจกรรมของแก๊งส์จะบ่งบอกถึงความกล้าหาญและความสามารถเฉพาะตัว  แม้ว่าสังคมจะมองว่า บ้าบิ่นหรือ ไร้สติ การต่อสู้ระหว่างแก๊งส์จะเกิดขึ้นเมื่อมีการลบหลู่หรือล่วงละเมิดดินแดน สมาชิกของแก๊งส์ ก็จะมีสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายของแก๊งส์ อาจเป็นรอยสัก บริเวณร่างกาย เป็นต้น
        อคติทางเพศ
ชลิตาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ (2550) กล่าวว่า ลักษณะหลักของสถานการณ์ว่าด้วยเรื่องเพศในสังคมไทย คือ ความตื่นตระหนกเรื่องเพศ ไม่ว่าจะเป็นการกล่าวว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องไร้ระเบียบ เรื่องเพศหลุดจากการควบคุม มีเสรีภาพมากเกินไป ไร้ศีลธรรมทางเพศ และสิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่หายนะทางสังคม ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาในสังคมไทยกว่า ๓๐ ปีแล้ว การเถียงอย่างกว้างขวางในเรื่องเพศจึงเกิดขึ้น เพราะถึงแม้ว่าจะมีความคิดเรื่องเพศกระแสหลักในสังคมอยู่ แต่คนในสังคมก็ไม่ได้เห็นพ้องกัน มีความคิดของหลายกระแส ที่ไม่ยอมให้เพศวิถีกระแสหลักกุมความเชื่อของคนอยู่ได้ “เรื่องเพศ” จึงเป็นเรื่องที่ไม่นิ่งและมีความเลื่อนไหลอยู่ตลอด เรื่องเพศจึงเป็นสิ่งที่ถูกกกำหนด ถูกจำกัดภายใต้กรอบความคิดความเชื่อบางประการ เพราะในที่สุดแล้วผู้คนมักพูดถึง เพศ ในแง่ที่จะก่อให้เกิดปัญหาสังคมแต่กลับไม่ได้พูดถึงเหตุผลด้านความพึงพอใจส่วนบุคคล
แม้แต่ “ความเป็นหญิง” ก็ถูกนิยามโดยเอาความต้องการของผู้ชายเป็นตัวตั้ง เช่น”ผู้หญิง” ถูกนิยามว่าเป็นวัตถุ/ทาสเพศ หรือเป็นเพศแม่ที่ดูแลเลี้ยงดูลูกหรือการที่ผู้หญิงมีที่ทางอยู่เพียงแค่ในครัวเรือน เป็นต้นภายใต้สังคมที่ถูกยึดด้วยอุดมการณ์ปิตาธิปไตย (พ่อเป็นใหญ่) คุณค่าของผู้หญิงจึงถูกกำหนดโดยมาตรฐานของผู้ชาย ผู้หญิงจึงถูกทำให้เป็นเพียงวัตถุทางเพศที่สนองความต้องการทางเพศของผู้ชาย ซึ่งแสดงผ่านความสวยงามแบบที่เป็นอุดมคติ ไม่ว่าจะเป็นความผอม ความขาว ฯลฯ นอกจากนี้ผู้หญิงยังถูกบังคับให้ต้องเป็นแม่ กล่าวคือนอกจากการตั้งครรภ์แล้วต้องถูกบังคับให้ต้องเป็นผู้เลี้ยงดูลูก ทั้งที่กระบวยการนี้เป็นสิ่งสร้างทางสังคมผ่านกลไกทางการเมืองต่าง ๆ ไม่ใช่เรื่องตามธรรมชาติ
ดังนั้น อคติทางเพศของกลุ่มสารัตถนิยมทางเพศ ที่อ้างถึงความจริงแท้ทางเพศเชื่อมโยงความคิดเรื่องเพศ ที่นำไปสู่อคติ 5 ประเด็น ดังนี้
        1) เรื่องเพศเป็นเรื่องทางลบ (Sex Negativity)
2) ความผิดพลาดเนื่องมาจากมาตรฐานที่วางไว้ผิดๆ (Fallacy of Misplaced Scale)
3) ลำดับขั้นของคุณค่าของการกระทำทางเพศ
4) ทฤษฎีโดมิโน (Domino Theory) ของภัยทางเพศ และ
5) การขาดแนวความคิดที่ความหลากหลาย และความเห็นอกเห็นใจต่อความแตกต่างทางเพศ
        ในส่วนของตัวบทกฎหมาย มีกฎหมายเป็นจำนวนมากที่แสดงถึงอคติทางเพศที่แฝงอยู่ในกฎหมาย เช่น ความผิดฐานข่มขืนตามประมวลกฎหมายอาญานั้น จะเป็นความผิดต่อเมื่อได้กระทำต่อหญิงอื่นซึ่งมิใช่ภรรยาของตน หากได้กระทำต่อหญิงซึ่งเป็นภรรยาของตนก็ไม่ถือว่าเป็นความผิดฐานข่มขืน
        เนื้อหาของกฎหมายในลักษณะเช่นนี้ทำให้เห็นได้ว่า การจะมีเพศสัมพันธ์ของสามีต่อภรรยานั้น ไม่จำเป็นต้องได้รับความยินยอมหรือความสมัครใจจากหญิงแต่อย่างใด เพราะถึงจะกระทำไปโดยหญิงมิได้ยินยอมก็ไม่เป็นความผิดตามกฎหมายอาญา โดยในประเด็นนี้ ทางองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิสตรีก็ได้เรียกร้องให้มีการทำความเข้าใจที่ถูกต้อง ระหว่างการเป็นหุ้นส่วนชีวิตกับการมีเพศสัมพันธ์ว่าเป็นเรื่องที่ต้องแยกจากกัน การตกลงเป็นสามีภรรยาไม่ได้มีความหมายว่าหญิงต้องยินยอมให้มีเพศสัมพันธ์ตามความต้องการของชายถ่ายเดียว บางช่วงเวลาเช่นในกรณีที่หญิงมีความเครียดหรือเหน็ดเหนื่อยจากการทำงาน หญิงก็ต้องมีสิทธิที่จะปฏิเสธ และกฎหมายก็ควรให้การรับรองคุ้มครองให้
        สำหรับกลไกของกระบวนการยุติธรรม จะพบว่าขั้นตอนหรือกลไกในกระบวนการยุติธรรมไม่เอื้อหรือส่งเสริมให้หญิงสามารถปกป้องสิทธิของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในกรณีที่เกิดข้อพิพาทระหว่างสามีภรรยา ก็มีระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนดให้พนักงานตำรวจทำการไกล่เกลี่ยคู่กรณี ทำให้แม้ว่าฝ่ายหญิงที่ต้องการดำเนินคดีกับฝ่ายชายซึ่งทำร้ายตน มักไม่ได้รับการตอบสนอง หรือในกรณีของคดีล่วงละเมิดทางเพศ ขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมที่ยาวนานและล่าช้ารวมถึงความไม่เข้าใจต่อความรู้สึกของผู้หญิงที่ถูกกระทำในขั้นตอนสอบสวน การพิจารณาคดี ล้วนแล้วแต่เป็นผลให้มีผู้หญิงจำนวนน้อยมากที่เป็นเหยื่อยินยอมพาตนเข้าไปสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อให้เกิดการลงแก่ผู้กระทำความผิด
        นอกจากตัวบทกฎหมายและกลไกของกระบวนการยุติธรรมแล้ว การตีความหรือบังคับใช้กฎหมายก็นับเป็นปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่มีผลกระทบต่อผู้หญิง ซึ่งคดี ดร. นิด้านี้ก็นับเป็นตัวที่ชัดเจนอันหนึ่งท่ามกลางการใช้กฎหมายที่แฝงไปด้วยอคติทางเพศอย่างไพศาล ตัวอย่างเช่นในการลงโทษของศาลในคดีข่มขืน หากได้ลองพิจารณาถึงคำพิพากษาเป็นจำนวนมากจะพบว่าศาลจะมีคำตัดสินลงโทษต่อผู้ถูกกล่าวหาเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงหลายประการเกิดขึ้น เช่น ผู้หญิงต้องมีบาดแผลจากการต่อสู้ป้องกันตน สถานที่นั้นต้องเป็นที่เปลี่ยว หากไม่ปรากฏข้อเท็จจริงเหล่านี้ก็มักจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ถูกกล่าวหา ทำให้มีผู้หญิงเป็นจำนวนมากซึ่งเผชิญกับการล่วงละเมิดทางเพศที่ถูกกีดกันออกไปจากมาตรฐานการข่มขืนที่ถูกยึดในกระบวนการยุติธรรม เช่น บางกรณีผู้หญิงถูกข่มขู่จนกลัวจึงไม่ได้ต่อสู้ หรือเหตุการณ์เกิดขึ้นในที่ที่ใกล้เคียงกับร้านข้าวต้ม เป็นต้น
        กรณีเหล่านี้ล้วนถูกวินิจฉัยว่าไม่ได้เป็นการกระทำที่เรียกว่าข่มขืน หากถือว่าเป็นการสมยอมของฝ่ายหญิง อันจัดได้ว่าเป็นการมองถึงการข่มขืนจากสายตาของชายที่เห็นว่า ความสำคัญของหญิงนั้นขึ้นอยู่กับเยื่อพรมจรรย์บางๆ ดังนั้นหากเป็นหญิงที่ดีแล้วจึงต้องปกป้องสิ่งดังกล่าวอย่างเต็มที่แม้อาจต้องภัยจนถึงชีวิตก็ตาม
        อคติต่อวัยชรา
        ในสังคมโลกปริมาณตัวเลขของผู้สูงอายุเพิ่มสูงขึ้นอันเป็นผลจากการแพทย์ที่เจริญก้าวหน้า ตลอดจนการเกิดที่ลดลงทำให้มีการ          คาดการณ์ในหมู่นักประชากรศาสตร์ว่าในอีก 25 ปีข้างหน้านั้น ประชากรผู้สูงอายุจะทวีขึ้นจากจำนวน 606 ล้านคน ในปี ค.ศ. 2000 สู่ 1,200 ล้านคน ในปี ค.ศ. 2025 และ 2,000 ล้านคน ในปี ค.ศ. 2050 (Kalache,Barreto and Keller 2005) สำหรับในสังคมไทย จากอัตราผู้สูงอายุในปี พ.ศ. 2543 ร้อยละ 10 คาดการณ์ว่านับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 ในอีก 20 ปีข้างหน้า อัตราผู้สูงอายุจะเพิ่มเป็นร้อยละ 40 ในปี พ.ศ. 2570 (บรรลุ ศิริพานิช 2550: 4) สัดส่วนนี้สร้างความวิตกกังวลต่อนักประชากรศาสตร์อย่างมาก ดังเช่นที่ เกื้อ ควรหาเวช (2550) ชี้ว่า ควรจะให้ความสนใจแก่ผู้สูงอายุ ณ บัดนี้ มิฉะนั้นจะเกิดปัญหาต่อผู้สูงอายุมากขึ้นในอนาคต ผู้สูงอายุในทัศนะขององค์ความรู้ด้านการแพทย์คือ ร่างกายที่เสื่อมถอย และที่น่าประหลาดใจคือ การมองร่างกายในฐานะความเสื่อมถอยค่อย ๆ เริ่มขยับลดลงจากอายุ 60 ปีลงไปเรื่อย ๆ จนอาจทำให้เกิดอคติวัยชรา (ageism) และความกลัวแก่
        ช่องทางที่สร้างอคติแห่งวัยแก่ผู้สูงอายุ แต่ในปัจจุบันภาพดังกล่าวเริ่มแปรเปลี่ยนตามสภาพสังคมด้วยสอดคล้องกับงานของ Featherstone and Hepworth (1993 และ 2005) ซึ่งศึกษาภาพของผู้สูงอายุในสื่อต่าง ๆ เช่น ภาพวาด ภาพถ่าย และสื่อมวลชน ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า ภาพของคนชราจะมีความแตกต่างกันสามยุค คือ ยุคแรก ภาพคนชราในอดีต (traditional image) จะปรากฏภาพคนชราสองแบบคือ ภาพคนชราที่มีความหมายของความเชี่ยวชาญ และในอีกด้านหนึ่ง คือ ภาพของคนชราที่อ่อนแอและเสื่อมโทรม ส่วนในยุคที่สอง ภาพคนชราในปัจจุบัน (modern image) คือ ภาพคนชราในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเป็นต้นมา คนชราจะมีความหมายที่เพิ่มมากขึ้น นับตั้งแต่ภาพลบเช่นในยุคแรก ภาพคนชราที่แตกต่างหลากหลายตามเพศ ชนชั้น เชื้อชาติ ภาพคนชราที่กลัวแก่และหันมาบริโภคสินค้าต่อต้านความชรา และภาพสุดท้ายคือ ภาพคนชราที่มีไฟอยู่หรือที่เข้มแข็งและมีคุณภาพ (active aging) และในยุคที่สาม ภาพคนชราในอนาคต (future image) จะเป็นภาพคนชราที่สัมพันธ์กับมิติการแพทย์ที่มีอายุยืนยาว ตลอดจนภาพคนชราในมิติที่บวกมากขึ้นทั้งในด้านการบริโภคและการต่อสู้อคติในแง่ลบ
        งานของ Westerhof and Tulle (2007) ก็เสนอว่า ผู้สูงอายุก็พยายามท้าทายและต่อรองวาทกรรมอัตลักษณ์ที่ถูกกำหนดด้วยแนวทางต่าง ๆ อาทิ (1) การลดอายุ ด้วยการคงความเข้มแข็งของร่างกาย เช่น การบริหารร่างกาย การย้อมผม การทำศัลยกรรม การหลบซ่อนความชราภายใต้หน้ากากความหนุ่มสาว (2) การมองคนอื่นที่ต่ำกว่า เช่น คนพิการ เป็นต้น และ (3) การสร้างความหมายของความชราในรูปแบบใหม่ที่ยังคงทรงคุณค่า เช่น การใช้คำว่า พลังสีเทา (grey power)
     แนวทางการท้าทายอัตลักษณ์นี้ใกล้เคียงกับข้อเสนอของ Hazan (1994) คือ (1) การแยกตัวจากสังคมที่วาดภาพเชิงลบ (2) การกบฏ แม้ว่าอาจดูเหมือนการดื้อดึงแต่ก็เป็นอีกหนทางหนึ่งที่สามารถต่อสู้ความหมายเชิงลบที่ผู้อื่นสร้างขึ้น (3) การสร้างความหมายใหม่ให้กับความชรา เช่น ผมหงอกคือ เส้นไหมสีเงิน ตลอดจนการเคลื่อนตัวสู่การต่อสู้ในระดับนโยบายเพื่อผู้สูงอายุ (4) การเกษียณก่อนกำหนดและเริ่มต้นชีวิตใหม่ (5) การเปิดโลกด้วยการท่องเที่ยว และ (6) การตาย ซึ่งอาจเป็นการหลุดพ้นจากความชราที่ธรรมชาติกำหนดสู่การลิขิตชีวิตตนเอง
        อคติต่อชาติพันธุ์/เชื้อชาติ
        ความพยายามของมนุษย์ที่จะแยกแยะความแตกต่างทางวัฒนธรรมมีมานานแล้ว ในระยะแรกๆนั้น มักจะแยกแยะกันตามลักษณะรูปธรรมของวัฒนธรรมที่มองเห็นได้ชัดเจน เช่น ความแตกต่างของภาษาพูดบ้าง เครื่องแต่งกายบ้าง และวิธีการดำรงชีวิตบ้าง แต่หลังจากลัทธิล่าอาณานิคมได้ขยายตัวออกไปทั่วโลก ชาวยุโรปตะวันตกได้เริ่มใช้ อคติทางชาติพันธุ์ (Ethnocentrism) มาเป็นพื้นฐานในการแยกแยะความแตกต่างทางวัฒนธรรมมากขึ้น ด้วยการจัดแบ่งประชากรในโลกออกเป็น เชื้อชาติตามสีผิว (Race) ซึ่งแฝงนัยของลำดับชั้นของความยิ่งใหญ่ไว้ด้วย เพราะมักจะจัดให้ชาวผิวขาวของตนเองนั้นเป็นเชื้อชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ส่วนชาวสีผิวอื่นๆก็จะลดลำดับความสำคัญรองๆลงมา แต่ชาวผิวสีดำจะถูกจัดให้อยู่ในลำดับต่ำที่สุดในระยะต่อๆมา การจัดลำดับเช่นนี้ก็ถูกทำให้เป็นจริงเป็นจังมากขึ้นเรื่อยๆ จนยึดถือกันเสมือนว่าเป็นจริงตามธรรมชาติ โดยไม่มีการตั้งคำถามใดๆทั้งตัวเหยื่อเองและผู้ได้รับประโยชน์จากการจัด ลำดับเช่นนี้ ในที่สุดก็ก่อให้เกิดลัทธินิยมเชื้อชาติตามสีผิวอย่างบ้าคลั่งหรือ ลัทธิเหยียดสีผิว (Racism) ซึ่งเป็นสาเหตุของโศกนาฏกรรมในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เกิดขึ้นมาจนนับ ครั้งไม่ถ้วนในประวัติศาสตร์
        ในกรณีของสังคมไทย การเมืองในลักษณะเช่นนี้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ช่วงแรกของกระบวนการสร้างรัฐ ประชาชาติ เมื่อผู้นำทางการเมืองและการปกครองในกรุงเทพฯ ที่เป็นศูนย์กลางของอำนาจ เริ่มสร้างภาพของ ความเป็นคนอื่น (The Otherness)ให้กับกลุ่มชนต่างๆในชาติ ด้วยการมองว่า กลุ่มชนที่อยู่ห่างออกไปจากศูนย์กลางเป็นคนบ้านนอก และถ้าอยู่ห่างออกไปอีก ก็ถึงกับเรียกว่าเป็นคนป่า ทั้งๆที่พวกเขาต่างก็อยู่ร่วมในรัฐประชาชาติเดียวกัน นัยที่เกิดขึ้นจากการสร้างภาพดังกล่าว ได้กลายเป็น วาทกรรม (Discourse) หรือการนิยามความหมายเชิงอำนาจ ที่ผลักดันให้กลุ่มชนที่อยู่ห่างไกลจากศูนย์กลางของอำนาจ ต้องตกอยู่ในสภาวะไร้อำนาจ ที่ผลักดันให้กลุ่มชนที่อยู่ห่างไกลจากศูนย์กลางของอำนาจ ต้องตกอยู่ในสภาวะไร้อำนาจ หรือที่เรียกว่า สภาวะชายขอบของสังคม (Marginality) ซึ่งเท่ากับเป็นกระบวนการกีดกันให้กลุ่มชนที่อยู่ห่างไกลเหล่านั้น ต้องสูญเสียสิทธิต่างๆที่พึงมีพึงได้จากการพัฒนาต่างๆในรัฐชาติ ในทางสังคมวิทยาจะเรียกกระบวนการเช่นนี้ว่า กระบวนการสร้างสภาวะความเป็นชายขอบ (Marginalization) ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับกลุ่มชนที่อยู่ห่างไกลจากอำนาจ ทั้งในแง่ของระยะทางและความสัมพันธ์ ดังจะพบว่าในปัจจุบัน แม้จะอยู่ในกรุงเทพฯ แต่คนในชุมชนแออัดก็ต้องตกอยู่ในสภาวะเป็นคนชายขอบ เพราะอยู่ห่างไกลจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจ สำหรับกลุ่มชนที่อยู่ห่างไกลจากอำนาจในแง่ระยะทางด้วยแล้ว ก็จะยิ่งไร้อำนาจมากขึ้น เช่นในกรณีของชาวเขาในภาคเหนือ
        ยิ่งกว่านั้น ความเป็นคนชายขอบของชาวเขามักจะถูกตอกย้ำอย่างต่อเนื่องตลอดมาเป็นระยะเวลา นาน ภายใต้การเมืองของความสัมพันธ์ทางชาติพันธุ์ ดังปรากฏให้เห็นได้จากวาทกรรม ที่สร้างภาพให้ชาวเขาเป็นต้นตอของภัยต่างๆ ทั้งในแง่ของความมั่นคง ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของผู้ก่อการร้าย ผู้อพยพ และพวกผู้ปลูกฝิ่น และในแง่ของผลกระทบต่อธรรมชาติ ในฐานะที่ทำไร่เลื่อนลอยและตัดไม้ทำลายป่า แม้ว่าภาพเหล่านี้จะเป็นเพียงความรู้สึก ที่ไม่สามารถยืนยันได้ในทางวิชาการ ซึ่งพยายามอธิบายถึงเงื่อนไขที่ซับซ้อนและการมองปัญหาอย่างแยกแยะ แต่อคติทางชาติพันธุ์ที่สะสมมานาน ทำให้มองภาพของชาวเขาอย่างตายตัว ในฐานะเป็นคนอื่นและเป็นภัยฝังลึกอยู่ในสังคมไทยผลที่ตามมาก็คือ ชาวเขามักจะถูกกีดกันต่างๆ นานา ทั้งในแง่ของสิทธิในความเป็นพลเมือง สิทธิในการตั้งถิ่นฐาน และสิทธิในการจัดการทรัพยากร จนขยายตัวเป็นปัญหาของความขัดแย้งอย่างรุนแรงในปัจจุบัน เมื่อชาวเขาต้องถูกคุกคามและถูกกดดันให้ย้ายตั้งถิ่นฐานออกจากป่า เพราะรัฐไม่รับรองสิทธิของชาวเขาในการตั้งถิ่นฐานอยู่ในป่า ทั้งๆที่พวกเขาอยู่อาศัยมาก่อนขณะเดียวกันก็มีความพยายามที่จะหาประโยชน์จากวัฒนธรรมของชาวเขา เช่น กระบวนการทำให้ชาติพันธุ์เป็นสินค้า ซึ่งหมายถึงการใช้วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์เป็นสินค้า สำหรับการหารายได้จากการท่องเที่ยวในรูปต่างๆไม่ว่าจะเป็นเครื่องแต่งกาย หัตถกรรม และวิถีชีวิต ในกระบวนการดังกล่าวจะมีการสร้างภาพของชาวเขาให้เป็นเสมือนชุมชนดั้งเดิม ที่น่าทึ่ง เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาสัมผัสความแปลกที่แท้จริง จึงเท่ากับยิ่งตอกย้ำภาพของชาวเขาที่หยุดนิ่งตายตัวมากขึ้น
        รัฐในการที่จะจำแนกบุคคลในเชิงปัจเจก รวมทั้งอคติต่อกลุ่มชาติพันธ์ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความมั่นคง ยาเสพติด การทำลายทรัพยากรธรรมชาติ กฎเกณฑ์ในการกำหนดถึงการได้สัญชาติจึงมีความยุ่งยากกว่าบุคคลธรรมดาทั่วไป โดยต้องไม่มีการเข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่รัฐเห็นว่าเป็นภัยต่อแผ่นดินทั้งที่สำหรับคนธรรมดาไม่ได้มีเงื่อนไขดังกล่าวแต่อย่างใด เป็นผลให้มีชาวเขากว่า 5 แสนคน ยังคงไม่ได้รับสิทธิของความเป็นพลเมืองไทยตราบจนทุกวันนี้
        การไร้ซึ่งความเป็นพลเมืองไทยในปัจจุบันมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนกลุ่มนี้มาก เพราะจะถูกจำกัดสิทธิอย่างกว้างขวาง เช่น ห้ามเดินทางออกนอกพื้นที่ที่ขึ้นทะเบียนซึ่งทำให้ไม่สามารถทำงานใดๆ ได้หากออกนอกพื้นที่ ไม่มีสิทธิในทางการเมือง ไม่สามารถครอบครองที่ดินได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และมีสถานะเป็นเพียงพลเมืองชั้นสองชั้นสามของสังคมไทย
        อคติต่อความบกพร่อง/ความด้อย
          สภาพของสังคมปัจจุบันก้าวสู่ความเป็นสมัยใหม่และทุนนิยมส่งผลให้การทำงานและประสิทธิภาพในการทำงาน กลายมาเป็นสิ่งที่สังคมหลายแห่งล้วนให้คุณค่า เนื่องมาความเชื่อที่ว่าหากคนทำงานมีประสิทธิภาพก็จะนำมาสู่ผลของงานหรือผลผลิตที่ดีและคุ้มค่ากับทุนและเวลาที่เสียไป โลกสมัยใหม่จึงเป็นโลกที่เสรีและสะดวกสบายสำหรับคนไม่พิการ แต่สำหรับคนพิการแล้ว โลกสมัยใหม่และทุนนิยมกลับยิ่งไปเพิ่มให้เกิดกระบวนการลดทอนความเป็นมนุษย์ (Dehumanization) ผ่านกลไกการผลิตแบบสมัยใหม่ เทคโนโลยีและความรู้สมัยใหม่ อีกทั้งเป็นเรื่องยากปฏิเสธว่า การทำงานที่มีประสิทธิภาพนั้นเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกับสภาพของร่างกายที่ สมบูรณ์” “ปกติและมีอวัยวะที่ครบถ้วน ซึ่งหากมองในแง่นี้แล้วบรรดาคนพิการทั้งหลายดูจะถูกกีดกันให้พ้นจากขอบเขตของ การทำงานที่มีประสิทธิภาพคนพิการจึงเป็นผู้ที่ ไม่ปกติตามกรอบคิดของโลกทุนนิยมสมัยใหม่ที่ต้องถูกกีดกันออกจากพื้นที่ ปกติของคนทั่วไป และเป็น ปัญหาของสังคมแบบหนึ่งที่รัฐต้องยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือหรือสงเคราะห์ผ่านการจัด พื้นที่พิเศษต่างๆ ซึ่งการถูกมองว่า เป็นคนไม่ปกติตามมาตรฐานทางร่างกายแล้ว คนพิการยังถูกมองว่ามีชีวิตที่ไม่เหมือนกับคนปกติอีกด้วย          
          ในกรณีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีการอ้างถึงความสามารถหรือความด้อยประสิทธิภาพของคนพิการในการปฏิบัติหน้าที่ของการเป็นผู้พิพากษา แต่กลับอ้างอิงไปถึงการปฏิบัติหน้าที่บางอย่างเช่น การเดินเผชิญสืบซึ่งในความเป็นจริงแล้วนานๆครั้งจึงจะปรากฏขึ้น นอกจากนี้การอ้างอิงถึงบุคลิกลักษณะที่ดีพอของการเป็นผู้พิพากษาด้วยการตัดสิทธิคนพิการก็ชวนให้ตั้งข้อสงสัยว่า บุคลิกลักษณะที่ดีของการเป็นผู้พิพากษา ควรมีความหมายเพียงรูปร่างหน้าตาภายนอกเท่านั้นใช่หรือไม่ โดยที่ไม่ได้สนใจถึงความประพฤติปฏิบัติทั้งในวิถีชีวิต และการดำรงตนอย่างสมถะเลยหรือ
        อคติต่อคนโรคจิต
        แม้โรคทางจิตสามารถรักษาให้หายได้ แต่คนภายนอกก็ยังมีอคติ มองผู้ป่วยในแง่ไม่ดีว่า เป็นคนบ้า คนไม่เต็มบาท คนไม่ครบ คนไม่สมประกอบ คนน่ากลัว จิตไม่ปกติ และเกรงว่าจะมาทำร้าย นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกระทรวงสาธารณสุข บอกว่า การมีอคติในผู้มีปัญหาสุขภาพจิต และโรคทางจิตเวช ยังมีอยู่มาก เห็นได้จากการนำเสนอผู้มีปัญหาทางจิตผ่านทางสื่อสารมวลชนต่าง ๆ การล้อเลียน การแบ่งแยกมีปัญหาในการจ้างงาน การกลับไปใช้ชีวิตเดิมในครอบครัวและสังคม ยังมีปัญหาในการยอมรับอยู่มาก คงเป็นเพราะประชาชนยังมีความรู้ ความเข้าใจเรื่องการเจ็บป่วยทางจิตน้อยมาก เช่น ข่าวผู้เจ็บป่วยทางจิตไม่ได้รับกลับเข้าหมู่บ้าน ต้องอดอยาก หาอาหารไม่ได้ จนกระทั่งต้องขโมยกินเศษเนื้อศพมนุษย์
        จากสภาพปัญหาในปัจจุบันที่มีความไม่เข้าใจปัญหาสุขภาพจิต และโรคทางจิตเวช ทำให้ภาพของผู้ป่วย ครอบครัว ญาติ ตลอดจนสถาบัน โรงพยาบาล หรือ บุคลากรด้านสุขภาพจิตที่ทำงานในภาพการบำบัดรักษาได้รับผลกระทบทางลบ ถูกกีดกัน แบ่งแยก ทำให้รู้สึกน่ารังเกียจในสายตาของสื่อสารมวลชน ที่นำเสนอภาพเหล่านี้ต่อสาธารณะ ซ้ำแล้วซ้ำอีก ก่อให้เกิดผลเสียหายในภาพรวมของเศรษฐกิจและสังคมเป็นอย่างยิ่ง จากการศึกษาของมูลนิธิสุขภาพจิต ของประเทศอังกฤษ พบว่า สาเหตุของอคติและการ ถูกแบ่งแยกรังเกียจ ที่พบได้มากที่สุด คือ คนใกล้ ชิด ได้แก่ ครอบครัว เพื่อนฝูง คนที่ทำงาน และที่ มีนัยสำคัญที่สุด คือ บุคลากรทางการแพทย์ที่รักษาพวกเขา
วัฒนธรรมความรุนแรง
        ความรุนแรงอาจแบ่งได้เป็น 2 อย่างคือความรุนแรงที่แฝงเร้นหรือแบบไม่ลงมือและความรุนแรงทางกายภาพหรือแบบลงมือ คานธีผู้เผยแพร่ความไม่รุนแรงที่เด่นที่สุดในศตวรรษที่ 20 ชี้ว่า มีความรุนแรงที่แฝงเร้นหรือความรุนแรงแบบไม่ลงมือ (Passive Violence) ซึ่งนักวิชาการบางคนเรียกว่าความรุนแรงเชิงโครงสร้าง (Structural Violence)
        ความรุนแรงที่แฝงเร้นหรือแบบไม่ลงมือตามข้อเสนอของคานธีนั้นมีอยู่ 7 ประการด้วยกัน ได้แก่ 1) ความมั่งคั่งโดยไม่ทำงาน 2) ความเพลิดเพลินโดยขาดความสำนึกผิดชอบ 3) ความรู้ที่ขาดหลักความประพฤติ 4) การพาณิชย์ที่ขาดศีลธรรม 5) วิทยาศาสตร์ที่ปราศจากความเป็นมนุษย์ 6) การสักการะที่ปราศจากการเสียสละ และ 7) การเมืองที่ปราศจากหลักการ เช่นการเล่นเกมแห่งอำนาจ การละเลยหลักการปกครองตนเองของประชาชน
        นักวิชาการบางคนเสนอความรุนแรงเชิงโครงสร้าง 7 อย่างว่าได้แก่ 1) ลัทธิถือเพศ 2) ลัทธิเชื้อชาติ 3) ลัทธิจักรวรรดินิยม 4) ลัทธิทหาร 5) ลัทธิวัตถุนิยม 6) ลัทธิคัมภีร์ และ 7) ลัทธิอวดตัว
        ความรุนแรงแบบแฝงเร้นหรือแบบไม่ลงมือนี้เป็นพื้นฐานและสนับสนุนความรุนแรงทางกายภาพหรือแบบลงไม้ลงมือ ทำให้ปัญหาความรุนแรงทางกายภาพแก้ไขได้ยาก
        ในด้านความรุนแรงทางกายภาพหรือแบบลงไม้ลงมือนั้น อาจแบ่งได้เป็น
                  1) ความรุนแรงในครอบครัว
                  2) ความรุนแรงในชุมชน
                  3) ความรุนแรงจากองค์การอาชญากรรม
                  4) ความรุนแรงจากองค์การธุรกิจเอกชน
                  5) ความรุนแรงจากรัฐ
                  6) สงครามและอาวุธสงคราม
        การขจัดอคติและเปิดใจรับฟังผู้อื่น
        1.) อคติที่ถูกจุดขึ้นมาและคงรูปอยู่เช่นนั้น โดยแรงของความขัดแย้งทางจิตใจ แก้ปัญหาโดย วิธีการเกี่ยวข้องกับจิตใจ
                  * จิตบำบัด (Psycho Therapy)
                  * การฝึกให้ทำความเข้าใจตัวเองให้กระจ่าง
                  * หาสิ่งชดเชยอื่น ๆ มาช่วยลดความตึงเครียด
                  * พยายามลดลักษณะความขัดแย้งต่าง ๆ ภายในสิ่งแวดล้อม
        2.) การลดอคติโดยใช้วิธีการทางสังคมวัฒนธรรม
                  * การจัดหาข้อมูลให้ เช่น การโฆษณาชวนเชื่อ การศึกษา เป็นต้น
                  * การเปลี่ยนแปลงแบบแผนปฏิกิริยาโต้ตอบที่กลุ่มต่างๆ มีต่อกัน
                  * การขจัดความเชื่อที่ไม่เหมือนกัน ไม่สอดคล้องกัน โดยการหาเป้าหมายร่วมกัน
                                การสมานฉันท์อย่างสันติวิธี
        1.ตระหนักว่าเราอยู่ร่วมในสิ่งแวดล้อมเดียวกัน เราอยู่ภายใต้หลังคาเดียวกัน
        2.แลกเปลี่ยนสิ่งของ สิ่งจำเป็นอย่างเท่าเทียมกัน
        3.เคารพกฎเกณฑ์ในการอยู่ร่วมกัน
        4.การใช้วาจาแห่งความรักความเมตตา
        5.การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่มีต่อกันและกัน
        6.การยอมรับความคิดเห็นผู้อื่น การไม่บังคับข่มขู่ให้ผู้อื่นคิดตามเรา และมีการตัดสินใจร่วมกัน
        การส่งเสริมสันติวิธี
        คือวิธีการจัดการกับความขัดแย้งวิธีหนึ่ง การใช้สันติวิธีมีเหตุผลสำคัญตรงที่ว่า เป็นวิธีการที่น่าจะมีการสูญเสียน้อยที่สุด ทั้งระยะสั้นระยะยาว ทั้งรูปธรรมและนามธรรม ผิดกับการใช้ความรุนแรง ซึ่งทุกฝ่ายอ้างว่าเป็นวิธีการสุดท้าย ซึ่งบางกรณีสามารถบรรลุผลในระยะสั้นเป็นรูปธรรมชัดเจนแต่หากความขัดแย้งดำรงอยู่เพียงแต่ถูกกดไว้ โอกาสที่จะเกิดความรุนแรงในระยะยาวย่อมมีอยู่ ส่วนในทางนามธรรม เช่น ความเข้าใจอันดีความสามัคคีปรองดอง นั้นย่อมเกิดขึ้นได้ยากด้วยวิถีความรุนแรง บางคนมองสันติวิธีในลักษณะปฏิสัมพันธ์เชิงอำนาจ เช่น การใช้ปฏิบัติการไร้ความรุนแรงเพื่อให้รัฐหรือผู้มีอำนาจเปลี่ยนแปลงนโยบายหรือพฤติกรรมบางคนใช้สันติวิธี เพราะความเชื่อว่าจะให้ผลที่ยั่งยืนและเป็นไปตามหลักจริยธรรม หรือ ศาสนธรรม บางคนใช้สันติวิธีตามหลักการบริหารเพื่อลดความขัดแย้ง ไปใส่รูปแบบอื่นที่จะจัดการได้ดีกว่า โดยไม่ใช้ความรุนแรง
        ลักษณะสำคัญของสันติวิธี คือ ไม่ใช่วิธีที่เฉื่อยชาหรือยอมจำนน หากเป็นวิธีที่ขันแข็งและต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ ไม่ใช่ยุทธวิธีที่เลือกใช้ในบางโอกาส หากเป็นยุทธศาสตร์ที่ปฏิบัติได้อย่าสม่ำเสมอ เป็นสัจธรรมที่น่าเชื่อถือไม่ใช่วิธีที่ดีในเชิงกระบวนการเท่านั้น หากเป็นวิธีที่หวังผลที่กลมกลืนกับวิธีการด้วย         กระบวนการส่งเสริมสันติวิธีในขั้นต้นเราควร เรามีความจำเป็นที่จะสร้างองค์กร ความรู้กับความขัดแย้งและสันติวิธี ความขัดแย้งระดับบุคคลเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาค้นคว้า โดยเฉพาะในทางจิตวิทยาและ ระบบความเชื่อศรัทธา ความขัดแย้งระดับองค์กร ต้องการความรู้ในด้านวิทยากรบริหารจัดการ ความขัดแย้งระดับประเทศ ย่อมต้องการความรู้ทางด้านสังคมวิทยาการเมืองการเมืองและ กฎหมาย ระหว่างประเทศเป็นต้น เราจึงจำเป็นต้องศึกษาเรื่องสันติวิธี อย่างจริงจัง เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่ส่งผลอันคุ้มค่า นั้นคือความสงบสุขของบุคคลและสังคม และในการศึกษาเช่นนี้จะอาศัยตำราหรือทฤษฎีต่างประเทศได้เพียงบางส่วนเท่านั้น เพราะสันติวิธีเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับบริบทของแต่ละสังคมด้วย
สรุป
          “ความอคติ” เป็นเรื่องที่ถูกสร้างขึ้นมาให้มีทัศนคติ ความคิด ความเชื่อให้เกิดความแบ่งแยกหรือแปลกแยก รวมถึงสร้างความเป็นอื่นให้เกิดขึ้นระหว่างกลุ่มคน หรือบุคคล การเกิดอคติอาจนำไปสู่ความขัดแย้งถึงขั้นรุนแรงได้อีก การเกิดอคติจึงเกิดกับประเด็นที่สำคัญ ๆ ดังนี้ ชนชั้น ชาติพันธุ์ ความบกพร่อง/พิการ เพศ วัย เป็นต้น ดังนั้นจะเห็นว่า “คนที่มีอคติ” จะมีลักษณะบุคลิกภาพอย่างใดอย่างหนึ่งหรือมากกว่าหนึ่งองค์ประกอบดังนี้
(1)    มีความคับข้องใจสูง และชอบก้าวร้าวชดเชยกับสิ่งที่ไม่ใช่ต้นเหตุของอารมณ์ก้าวร้าวนั้น ๆ
(2)    มีบุคลิกภาพแบบคนโรคประสาท ตื่นเต้นง่าย กังวลง่าย คิดมาก
(3)    เป็นคนหัวเก่า ไม่ชอบนอกรีตนอกรอย เคร่งครัดธรรมเนียมประเพณีนิยม และเคร่งครัดระเบียบแบบแผนกฎเกณฑ์
(4)    เป็นคนที่ชอบวางอำนาจ ชอบใช้วิธีบังคับหรือเป็นแบบเผด็จการ ถือตนเองเป็นใหญ่
(5)    มีนิสัยชอบป้ายโทษ หรือป้ายแรงกระตุ้นที่เป็นที่ไม่พึงปรารถนา อันเป็นของตนไปยังคนอื่น และเป็นคนชอบเก็บกดความต้องการทางเพศเอาไว้
(6)    เป็นคนที่ไม่ยืดหยุ่นและไม่อดทนต่อความกำกวมคลุมเครือ
(7)    เป็นคนที่มีอารมณ์ไม่มั่นคง
(8)    เป็นประเภทชอบเยาะเย้ยคนอื่น
(9)    เป็นคนเจ้าอุดมคติ รุ่มรวยปรัชญาชีวิต
          ซึ่งข้อสังเกตเหล่านี้จำเป็นต้องทำความเข้าใจและอาศัยเครื่องมือสื่อความหมายหรือข้อมูลโดยตรง ตัวต่อตัว รวมถึงการใช้วิธีการทางอ้อมที่เผยแพร่สู่สาธารณชน เพื่อช่วยคลี่คลายอคติ
          การลดอคติอาจทำได้ดังนี้
1)      อคติที่ถูกจุดขึ้นมรและคงรูปอยู่เช่นนั้น โดยแรงของความขัดแย้งทางจิตใจ อาจแก้ไขได้ โดยวิธีการที่เกี่ยวข้องกับจิตใจ
-          จิตบำบัด (Psycho Therapy)
-          การฝึกให้ทำความเข้าใจตนเองให้กระจ่าง
-          หาสิ่งชดเชยอื่น ๆ มาช่วยลดความตึงเครียด
-          วิธีการเลี้ยงดูอบรมลูก
-          พยายามลดลักษณะความขัดแย้งต่าง ๆ ภายใต้สิ่งแวดล้อม
2)      การลดอคติโดยใช้วิธีการทางสังคมวัฒนธรรม
-          การจัดหาข้อมูลให้ เช่น การโฆษณาชวนเชื่อ การศึกษา
-          เปลี่ยนแปลงแบบแผน ปฏิกิริยาโต้ตอบที่กลุ่มต่าง ๆมีต่อกัน
-          การขจัดความเชื่อที่ไม่เหมือนกัน ไม่สอดคล้องกัน







 ตอนที่ 4
ความหลากหลายทางวัฒนธรรม (Multiculturalism)
สังคมพหุนิยม (Pluralism)
          พหุนิยม = สังคมที่มีวัฒนธรรมหลากหลาย ซึ่งเกิดจากผลของพหุสังคมหรือสังคมที่มีวัฒนธรรมหลากหลาย แต่ขาดความคิดที่ยอมรับและเคารพในความแตกต่าง ก็คือ คนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างสับสน เป็นปฏิปักษ์ ไม่ไว้วางใจ ต้องการแบ่งแยก หรือปิดกั้น ล้อมรั้ว และวางขอบเขตวัฒนธรรมตนเองออกจากวัฒนธรรมอื่น เป็นลักษณะที่ต่อต้านความเป็นพหุนิยม เช่น ความขัดแย้งระหว่างเผ่าในแอฟริกา สงครามล้างเผ่าพันธุ์ ฯลฯ แนวคิดเกี่ยวกับสังคมพหุนิยมและพหุวัฒนธรรม เกิดขึ้นจากการลุกขึ้นเรียกร้องสิทธิของกลุ่มวัฒนธรรมที่มีลักษณะเป็นชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ ในสังคมใหญ่ ร่วมไปกับการปลูกฝังความคิดในการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลายทางวัฒนธรรมให้แก่คนในสังคม ซึ่งต้องพัฒนาค่านิยม ความเชื่อและทัศนคติที่จำเป็นโดยผ่านกระบวนการศึกษาในรูปแบบต่าง ๆ
         ในบรรดาประเทศด้อยพัฒนาและประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งส่วนใหญ่ยังมีการปกครองในลักษณะอำนาจนิยม การปลูกฝังความคิดเรื่องสังคมเชิงเดี่ยวค่อนข้างหยั่งรากลึกและทำให้เกิดนโยบายและมาตรการที่กดดันต่อกลุ่มวัฒนธรรมย่อย ๆ ในประเทศเหล่านั้น อันเป็นที่มาของการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อกลุ่มชนส่วนน้อยในหลายลักษณะ ดังนั้น เพื่อให้สังคมบรรลุถึงความเป็นประชาธิปไตยที่จรรโลง สิทธิ เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ ให้เกิดขึ้นทุกส่วนในสังคม จึงจำเป็นต้องพัฒนาทั้งนโยบาย ข้อกฎหมาย มาตรการและแผนการดำเนินงานต่าง ๆ ให้เกิดการยอมรับและคุ้มครองสิทธิของความหลากหลายทางวัฒนธรรม เพื่อใช้เป็นพลังที่สร้างสรรค์ของการพัฒนาทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศต่อไป
          พหุนิยมทางวัฒนธรรม
        พหุนิยมทางวัฒนธรรมเป็นพหุนิยมระดับความเชื่อของคนในสังคม สังคมที่เป็นพหุนิยมจะต้องรองรับและสนับสนุนวัฒนธรรมที่ซับซ้อนหลากหลาย จึงเป็นสังคมเปิด ขณะเดียวกันก็เป็นสังคมที่มีระเบียบ และเคารพวัฒนธรรมที่แตกต่างซึ่งดำรงอยู่ในสังคมนั้น วัฒนธรรมที่หลากหลาย เป็นการสร้างสังคมพหุนิยม นั่นหมายความถึง สังคมไม่มีวัฒนธรรมใดเด่นหรือเป็นใหญ่กว่าวัฒนธรรมอื่น สังคมนั้นจะต้องมีวัฒนธรรมที่หลากหลาย ปะปน ผสมผสาน และงอกงาม ซึ่งทุกฝ่ายสามารถเรียนรู้และมีส่วนร่วมได้อย่างเต็มที่ ถึงแม้ว่าเป็นได้แต่เพียงในอุดมคติเท่านั้น
ความหลากหลายทางวัฒนธรรม
        ความหลากหลายทางวัฒนธรรมเป็นผลพวงของการย้ายถิ่นของผู้คนต่างวัฒนธรรม จากดินแดนหนึ่งไปสู่อีกดินแดนหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากวัฒนธรรมที่ถูกมองจากเจ้าอาณานิคมว่า ต่ำต้อยกว่าไปสู่อีกวัฒนธรรมหนึ่ง ทั้ง ๆ ที่การย้ายถิ่นก็เป็นพื้นฐานสำคัญของมนุษยชาติมานานนับปีๆ
        วัฒนธรรมที่ถูกมองว่าต่ำต้อยกว่า เมื่อเข้ามาดำรงอยู่และเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมเจ้าอาณานิคมในแผ่นดินแม่ ก็มักจะถูกมองว่าเป็นภัยอันตรายจากต่างชาติที่บ่อนทำลายวัฒนธรรมดั้งเดิม
        กรอบความคิดเรื่อง ความหลากหลายทางวัฒนธรรมกลายเป็นกรอบคิดทางการเมืองแบบใหม่ของโลกในทศวรรษ 1960 และนำไปสู่ข้อถกเถียงต่าง ๆ มากมาย อาทิ ภายใต้กลไกของรัฐประชาชาติ ความหลากหลายทางวัฒนธรรมก็มักจะนำไปสู่สภาวะที่ไร้เอกภาพของรัฐประชาชาติ
        โดยผู้คนต่างวัฒนธรรมต่างก็จะต้องยอมรับให้เกียรติและเคารพอีกฝ่ายหนึ่ง ว่ามีศักดิ์ศรีและมีความเท่าเทียมกัน ความเท่าเทียมกันเป็นสิ่งสำคัญมาก หากไม่ยอมรับความเท่าเทียมก็ทำให้กิจกรรมและการกระทำต่างๆ ของแต่ละคนสามารถนำไปสู่การกีดกันและการเลือกปฏิบัติได้ ความสัมพันธ์ระหว่างคนที่อพยพเข้ามาใหม่และสมาชิกที่เข้ามาอยู่ก่อน ก็จะต้องให้เกียรติว่า มนุษย์แต่ละคนต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมดั้งเดิมของพวกเขาก่อนที่พวกเขาจะอพยพเข้ามา การเมืองของความหลากหลายทางวัฒนธรรม จึงเป็นการเมืองเรื่องการรักษาและเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ ตลอดจนการยอมรับสภาวะที่แปลกปลอมของคนอื่นๆ แต่การจะให้ผู้คนจำนวนหนึ่งยอมรับของแปลกปลอมก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ
        ความหลากหลายทางวัฒนธรรมจึงมัก จะถูกตอกตรึงด้วยกรอบคิดเรื่องสิทธิ และมีส่วนร่วมในทางการเมือง พวกเขาเหล่านั้นก็ยังคงดำรง สถานะของชนกลุ่มน้อยหรือ สิทธิของชนกลุ่มน้อย วัฒนธรรมของชนต่างหมู่ต่างเหล่า มีความหลากหลายต่างกันไปด้วยเหตุนานาประการที่สำคัญๆ มีดังต่อไปนี้
        1. ภูมิอากาศ ภูมิอากาศที่แตกต่างกันมีอิทธิพลต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์ เช่น วัฒนธรรมของชาวเอสกิโมมีมูลเหตุมาจากความยากแค้นในการหาอาหาร มีเวลาที่ดวงอาทิตย์อยู่เหนือขอบฟ้าเพียง 6 เดือนในปีหนึ่งๆ ทุกคนในครอบครัวต้องหาอาหารเพื่อความอยู่รอดของตน จึงปรากฏว่า สมาชิกในครอบครัวไม่ค่อยมีโอกาสได้อยู่ร่วมกัน วัฒนธรรมของชนชาติในเขตมรสุม ซึ่งมีอาหารอุดมสมบูรณ์ การออกหาอาหารมักเป็นภาระของสมาชิกคนใดคนหนึ่งของครอบครัวเท่านั้น
        2. ที่ตั้ง มนุษย์อาศัยอยู่ตามที่ตั้งต่างๆกันไป อาจเป็นบนภูเขาหรือในที่ราบลุ่มประเพณีต่างๆ จะเกิดขึ้นเพื่อให้ชีวิตของหมู่ชนปรับเข้ากับที่ตั้งนั้นได้ เช่น กลุ่มชนที่อยู่ในเขตร้อนมีประเพณีสงกรานต์ กลุ่มชนที่อยู่ในเขตหนาวมีประเพณีการเล่นรอบกองไฟ ชนที่อยู่ริมน้ำมีประเพณีแข่งเรือ
        3. ความอุดมสมบูรณ์หรือความแร้นแค้น มนุษย์จะมีลักษณะนิสัยค่านิยม ตลอดจนแบบแผนในการดำเนินชีวิตแตกต่างกันไป ตามสภาพความอุดมสมบูรณ์ หรือความแร้นแค้น เช่น ชนที่อยู่ในที่อุดมสมบูรณ์มักจะมีความอารีเผื่อแผ่ ความสบายทำให้ไม่คิดวางแผนไปถึงกาลข้างหน้า มีชีวิตอย่างง่ายๆ ไม่วิตกกังวล กลุ่มชนที่แร้นแค้นก็จะหวงแหหนสมบัติทุกอย่างที่หามาได้ด้วยความยากลำบาก และอาจมีอุปนิสัยไปในทางยักยอกฉ้อฉล ค่านิยมของคนในวัฒนธรรมหนึ่งๆ เกิดจากเหตุธรรมชาติอยู่มิใช่น้อย
        4. กลุ่มชนแวดล้อม กลุ่มชนแวดล้อมมีผลกระทบต่อวัฒนธรรมของกลุ่มชนที่อยู่ใกล้เคียง เช่น กลุ่มชนที่บังเอิญไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในระหว่างชนกลุ่มน้อย ซึ่งมักรบกวนกลุ่มชนที่อยู่ใกล้ๆ ก็ต้องปราบให้ราบคาบจึงจะอยู่เป็นสุขได้ ทำให้เกิดค่านิยมไปในทางที่จะแสดงอำนาจ
        5. นักปราชญ์หรือประมุขของกลุ่มชน เหตุประการสุดท้ายที่จะกล่าวถึงนี้ไม่มีผู้ใดแน่ใจว่า เป็นเหตุบังเอิญหรือเป็นเพราะสถาบันและค่านิยมในวัฒนธรรมนั้นเองเป็นต้นเหตุ ทำให้ปราชญ์จำนวนมากมีความคิดเผยแพร่ความรู้ และบางหมู่ก็เกิดประมุขที่ดี เมื่อเกิดวิกฤตการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้น ก็สามารถป้องกันศัตรูและสร้างสรรค์ความเจริญให้แก่ใหม่ของตน
        ปฏิญญาสากลว่าด้วยความหลากหลายขององค์การยูเนสโก เมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ.2501 ได้นำไปสู่การประกาศปฏิญญาว่าด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยเสนอให้ทุกประเทศมีการยอมรับและดำเนินการในสองสิ่ง คือ ขอให้มีการประกันการเคารพในเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมพร้อมด้วยการมีส่วนร่วมของทุกคนในสังคมภายใต้กรอบแห่งประชาธิปไตย และการมีส่วนร่วมในการสร้างบรรยากาศแห่งความสร้างสรรค์และทำให้วัฒนธรรมเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาสังคมนั้นๆ จากข้อนี้ได้ขยายผลให้ทุกชาติทั่วโลกได้คำนึงถึงปัจจัยด้านความหลากหลายทางวัฒนธรรมเป็นหลักในการพัฒนาประเทศ
         
ความหลากหลายทางวัฒนธรรมเป็นเครื่องมือทางการเมือง
        มุ่งหวังให้เกิดการยอมรับความแตกต่างทางวัฒนธรรม โดยที่กลไกของรัฐประชาชาติไม่สามารถดูดกลืนคนต่างชาติต่างภาษาภายในดินแดนแห่งรัฐประชาชาตินั้น ๆ ให้ผสมกลมกลืนเข้าเป็นเนื้อเดียวกันหมดได้ การยอมรับทำให้เกิดการดำรงชีวิตร่วมกันอย่างสันติสุข กรอบคิดแบบ จิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis) การส่งเสริมความแตกต่างทางการเมืองก็ยิ่งทำให้เกิดความขัดแย้งทางสังคมขึ้นเสียมากกว่า
        ความหลากหลายทางวัฒนธรรมในฐานะกลไกทางการเมืองของรัฐประชาชาติมักจะตกอยู่ในความหวาดกลัวและความวิตกกังวลต่อ ความเป็นอนิจจังของวัฒนธรรม ทำให้วัฒนธรรมต้องเชื่อมต่อเข้ากับการเมืองของรัฐประชาชาติ เช่น การปกป้องพิทักษ์วัฒนธรรมภายใต้กลไกของรัฐประชาชาติที่เน้นวัฒนธรรมเดี่ยว จำเป็นต้องได้รับการพิทักษ์และปกป้อง ก็ทำให้วัฒนธรรมอื่น ๆ ต้องสลายและสูญสิ้นไปโดยปริยาย ความกลัวและความหวาดวิตกต่อการสูญสลายทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย แสดงความกลัวว่าจะสูญเสีย ลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรมเช่น วัฒนธรรมประจำชาติ วัฒนธรรมชนเผ่า เป็นต้น
        การสูญพันธุ์ ที่เกิดขึ้นจากการขยายตัวของวัฒนธรรมต่างชาติ ถือว่าเป็นของแปลกปลอมนั้น ก็พร้อมที่จะอ้างและสร้างความชอบธรรมในการขยายตัวด้วย หลักความเป็นสากล รวมถึง “ระบบการศึกษา” เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่นักวิชาการบางคนมองว่า เป็นการทำลายวัฒนธรรมทีมีมาแต่เดิมด้วยการขาดความเข้าใจ ดังเช่น การออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอนที่ทำให้เด็กและเยาวชน เข้าใจว่า วัฒนธรรมท้องถิ่นเป็นสิ่งแปลกแยก ไม่ใช่วัฒนธรรม “ไทย” ตัวอย่าง กรณีการแสดงโนราห์ ซึ่งเดิมจะรำเพียง 1-2 คน และมีท่าทางร่ายรำที่แตกต่างกัน แต่ระบบการศึกษาทำให้รูปแบบการรำโนราห์กลายเป็นท่ารำมาตรฐาน จัดการแสดงแบบมหกรรมรำหลาย ๆ คน โดยทุกคนร่ายรำด้วยท่าเดียวกัน อันเป็นการทำลายความงดงามของศิลปะการแสดงแบบมหกรรมรำหลาย ๆ คน โดยทุกคนร่ายรำด้วยท่าเดียวกัน อันเป็นการทำลายความงดงามของศิลปะการแสดงโนราห์แบบดั้งเดิม เป็นต้น
ความหลากหลายทางศาสนาและความเชื่อ
          ศาสนาและความเชื่อเป็นประสบการณ์เร้นลับที่มนุษย์นำมาเชื่อมโยงความสัมพันธ์กันทางสังคม จึงเกิดพิธีกรรมประกอบขึ้นมาเพื่อแสดงถึงความเคารพ ความกลัวในอำนาจความศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น ซึ่งศาสนาจึงเป็นการบวงสรวงบูชาหรือการสร้างสัมพันธภาพอันดีระหว่างมนุษย์กับอำนาจศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ด้วยเหตุนี้มนุษย์ในแต่ละท้องถิ่นจึงมีความเชื่อที่แตกต่างหลากหลาย รวมถึงกิจกรรมและวิถีชีวิตประจำวันที่แตกต่างกันไป ดังนั้นศาสนาจึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้คนเราได้ปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เป็นกลไกในการสร้างเอกลักษณ์ เป็นพลังในการต่อสู้กับความอยุติธรรมและการเบียดเบียนจากภายนอก การเกิดขบวนการศาสนาใหม่ ๆ ในสังคมวัฒนธรรมต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งเป็นกลไกของมนุษย์ทั้งสิ้นเพื่อความอยู่รอดของกลุ่มตน
          ในการศึกษารูปแบบการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสังคมต่าง ๆ ทั่วโลก Wallace (1966) (อ้างในยศ สันตสมบัติ 2537) ได้เสนอว่า มนุษย์ทั่วโลกมีวิธีการติดต่อกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประมาณ 12 วิธีคือ (1) การสวดมนต์ (2) การร้องเพลง เต้นรำหรือการใช้ดนตรีขับกล่อมเพื่อสร้างความโปรดปรานแก่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ (3) การใช้ยาหลอนประสาทหรือการทรมานตนเองเพื่อให้ “เข้าถึง” ดวงวิญญาณหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ (4) การเทศน์ ศาสนาบางศาสนามีความเชื่อว่า เมื่อนักบวชทำการเทศน์เพื่ออบรมสั่งสอนศาสนิกชน พระผู้เป็นเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะมาสถิตอยู่กับนักบวช การฟังเทศน์จึงเป็นการฟังพระวาจาของพระเจ้าโดยผ่านนักบวช (5) การถือศีลหรือการปฏิบัติตามกฎข้อบังคับของศาสนาอย่างเคร่งครัดเพื่อให้ผู้ถือศีลมีจิตใจบริสุทธ์และเป็นที่โปรดปรานของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ (6) การใช้เวทมนตร์คาถาอาคม (7) การใช้เครื่องรางของขลัง (8) การกินเลี้ยงเฉลิมฉลอง เช่น การทำพิธีบูชามิซซาในศาสนาคริสต์เพื่อระลึกถึงอาหารค่ำมื้อสุดท้ายของพระเยซูและเหล่าสาวก (9) การทำบูชายัญเซ่นสังเวยอาหารหรือสัตว์เลี้ยง (10) การรวมกลุ่มเพื่อประกอบพิธีกรรมร่วมกัน (11) การเข้าทรงเพื่อติดต่อกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์โดยตรง และ (12) การใช้สัญลักษณ์บางอย่าง เช่น การนำเอาพระพุทธรูป เหรียญ หรือสายปะคำ มาคล้องคอเพื่อให้เกิดความมั่นใจและความรู้สึกใกล้ชิดกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น
          นอกจากนี้ยังมีการเกลี้ยกล่อม โน้มน้าวและล่อลวงอำนาจศักดิ์สิทธิ์ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การบนบาน การใช้ไสยศาสตร์ การใช้เวทมนตร์ และการประกอบพิธีกรรม เพื่อนำเอาอำนาจศักดิ์สิทธิ์มาเป็นเครื่องต่อรองหรือควบคุมธรรมชาติ หรือเพื่อความเป็นสิริมงคลแด่กิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ เช่น พิธีอัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย การบวงสรวงเทพยดาฟ้าดิน การไหว้ครู เป็นต้น
          ดังนั้นเพื่อสร้างความมั่นคงทางจิตใจให้กับกลุ่มของตน อาจนำไปสู่ขบวนการทางศาสนา เพื่อเป็นความพยายามในการฟื้นพลังให้กับสังคมวัฒนธรรม อันเชื่อมโยงกับอดีตกับปัจจุบันด้วยรูปแบบของพิธีกรรมและความเชื่อใหม่ซึ่งประยุกต์มาจากพื้นฐานของความเชื่อเดิม ในขณะที่การเชื่อมโยงการเปลี่ยนแปลงของพิธีกรรมความเชื่อกับกระแสโลกาภิวัตน์ ก็พยายามต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ระบบทุนนิยมและการถูกทำให้ลดทอนความเป็นมนุษย์ ด้วยเหตุนี้จึงต้องนำความเชื่อ ศาสนาและพิธีกรรมมาใช้ในการสร้างตัวตนใหม่ในสังคมและวัฒนธรรมของตนเอง เช่น การสักและพิธีการไหว้ครู การแก้บนทรงเจ้า การบูชาองค์จตุคามรามเทพ รวมทั้งการเกิดนิกายย่อย ๆ ในศาสนาต่าง ๆ เช่น พุทธ คริสต์ และอิสลาม เป็นต้น
กระแสโลกาภิวัตน์ (Globalization)
          วัฒนา สุกัณศีล (2548: 15) ได้สรุปคำว่า “โลกาภิวัตน์” เป็นปรากฏการณ์ที่แสดงถึงความเชื่อมโยง ความใกล้ชิดและการเคลื่อนย้ายของสิ่งต่าง ๆ ในโลกมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนย้ายไหลเวียนของทุน ผู้คน สินค้า ข้อมูลข่าวสาร ภาพและเรื่องราวต่าง ๆ ข้ามพรมแดนประเทศต่าง ๆ ไปได้ราวกับไม่มีสิ่งใดกั้นขวางไว้อยู่เลย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงและการปรับเปลี่ยนชีวิตวัฒนธรรมและสังคมของผู้คนในแต่ละที่แต่ละแห่งที่มาบรรจบพบกันในพื้นที่ที่วัฒนธรรมโลกไหลเลื่อนเคลื่อนไหวพัฒนาการและความก้าวหน้าของระบบการผลิตการตลาดและการสื่อสารคมนาคมที่มีเครือข่ายเชื่อมต่อกันหมดแทบทุกที่ในโลก ตลอดจนส่งผลกระทบและปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ต้องทำความเข้าใจและหาทางแก้ไขกันในระดับโลก ซึ่งในเหตุการณ์และเรื่องราวต่างๆ เหล่านี้ช่วยให้เราเข้าใจโลกยุคโลกาภิวัตน์มากขึ้น ในฐานะที่เป็นโลกที่เต็มไปด้วยการไหลเลื่อนเคลื่อนไหวและโลกที่มีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกันอย่างซับซ้อน ผู้คนต่างฐานะ ต่างถิ่นต่างที่จะมีประสบการณ์และผลกระทบจากโลกาภิวัตน์นี้แตกต่างกันไป เพราะขณะที่บางคนที่เงินใช้จ่ายและทรัพยากรที่จะเดินทางไปที่ไหนก็ได้บนโลกนี้ แต่บางคนไม่สามารถทำได้แม้แต่ค่าเดินทางและใช้โทรศัพท์ติดต่อใครได้เลย
          ขณะที่โลกดูจะเต็มไปด้วยการไหลเลื่อนเคลื่อนไหวและความเชื่อมโยงที่ซับซ้อน แต่ก็มีผู้คนในสถานที่ต่าง ๆ ไม่น้อยที่ได้สัมผัสรับรู้ปรากฏการณ์ดังกล่าวเพียงน้อยนิด หรือไม่มีโอกาสเลย ขณะเดียวกันก็เกิดสภาวะ “การย่นย่อเวลาและพื้นที่” จนทำให้ระยะเวลาและระยะทางไม่ได้เป็นปัญหาอุปสรรคในการดำเนินกิจกรรมในชีวิตประจำวันของมนุษย์อีกต่อไปแล้ว ดังเช่น การทำธุรกรรมกับธนาคาร การสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์ การลงทะเบียนเรียน การค้นคว้าข้อมูลข่าวสารจากอินเตอร์เน็ต การทราบข่าวสารภัยพิบัติต่าง ๆ จากมุมต่าง ๆ ของประเทศและโลก เป็นต้น ซึ่ง Harvey (1989) ได้อธิบายว่า ปรากฏการณ์นี้ทำให้ผู้คนมีชีวิตมีจังหวะเวลาดำเนินไปเร็วขึ้น เวลาที่ใช้ในการกระทำ/กิจกรรมต่าง ๆ ลดลง และระยะทางระหว่างสถานที่ต่างๆ สั้นลง ดังนั้นอัตราการย่นย่อเวลาและพื้นที่ทั้งในชีวิตด้านเศรษฐกิจและสังคมที่เข้มข้นและรวดเร็วมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อ “สถานที่หรือสภาพแวดล้อมในถิ่นนั้น ๆ” หมดบทบาทหรือความสำคัญในชีวิตประจำวันลง นั่นหมายถึง สายสัมพันธ์และความเชื่อมโยงทางสังคมได้ยืดขยายข้ามเวลาและพื้นที่ไปแล้วจริง ๆ ชีวิตผู้คนในสถานที่ต่าง ๆ รอบโลกขึ้ต่อสถานการณ์และเหตุการณ์ใกล้ตัวน้อยลงและเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ข้ามทางไกลและสิ่งที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่มากขึ้น
          โลกาภิวัตน์  อันเป็นกระแสหลักของการเปลี่ยนแปลงในโลกปัจจุบันนั้นประกอบด้วยมิติ 2 ด้าน  มิติด้านกว้าง (แผ่กว้างออก) กับมิติด้านลึก (การลงลึกขึ้น)  กล่าวคือ
1)      มโนทัศน์โลกาภิวัตน์ให้นิยามถึงกระบวนการอันเป็นสากล  หรือชุดหนึ่งที่มีกระบวนการหลายกระบวนการที่ก่อให้เกิดการเชื่อมโยงและการเกี่ยวพันกันหลายซับหลายซ้อน  ซึ่งมักจะข้ามพรหมแดนประเทศและสังคมทั้งมวลที่ประกอบกันเป็นระบบโลกสมัยใหม่
2)      มโนภาพโลกาภิวัตน์ก็ยังกินความหมายถึงว่าในโลกทุกวันนี้การปฏิสัมพันธ์การเกี่ยวข้องและเชื่อมโยง  ตลอดจนการพึ่งพาอาศัยกันระหว่างประเทศและสังคมทั้งมวลในระบบโลกสมัยใหม่นี้มีความเข้มข้นเพิ่มขึ้นในระดับต่างๆ ด้วย  
โรแลนด์  โรเบอร์ตสัน (1991)  นักสังคมวทยาวัฒนธรรมชาวอเมริกันคนสำคัญได้ชี้ถึงมิติแห่งความเชื่อมโยงของความเป็นมนุษย์  ไม่ว่าจะอยู่แห่งใด  เขาเขียนว่า  กระแสโลกาภิวัตน์นี้ส่งผลให้สภาวะของมนุษย์ในโลกมีผลต่อกันและกันมากขึ้นทุกที แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับลักษณะเฉพาะตัวและขึ้นอยู่กับกาละเทศะนั้นๆ ด้วย   ตามความหมายนี้ กระแสโลกาภิวัตน์จึงมีผลต่อสภาวะความเป็นมนุษย์ในเอเชียแปซิฟิกเช่นเดียวกัน
          วิภาษวิธีแห่งโลกาภิวัตน์
กระแสโลกาภิวัตน์เป็นกระบวนการที่ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยที่ขัดแย้งกันในตัวกระบวนการเองด้วย (สุริชัย หวันแก้ว 2547)
1.                   กระบวนการเป็นสากลกับกระบวนการเฉพาะถิ่นและเฉพาะตัว (Universalization VS Particularization) ทำให้เกิดประเด็นปัญหาว่าสากลภาพ (universality) นี้เป็นเพียงเอกพจน์หรือเป็นเพียงรูปแบบเดียว  หรือว่าเป็นทวิพจน์  หรือพหูพจน์  ที่มีหลายรูปแบบกันแน่
2.                   การเป็นเนื้อเดียวกันกับการจำแนกความแตกต่าง(Homogenization VS Differentiation) กระบวนการโลกาภิวัตน์นั้นในด้านหนึ่งทำให้เป็นเนื้อเดียวกัน  แต่อีกด้านหนึ่งก็เกิดความรู้สึกและแรงเหวี่ยงในการแตกต่างจากกันไปด้วย  อีกนัยหนึ่งโลกาภิวัตน์บีบบังคับให้เกิดความเหมือนกันในรูปแบบภายนอกของชีวิตสังคมมากขึ้น
3.                   การบูรณาการกับการแตกแยก (Integration VS Fragmentation) ขณะที่กระบวนการโลกาภิวัตน์สร้างให้เกิดการรวมหน่วยในรูปแบบใหม่ๆของชุมชนและองค์กรในระดับภูมิภาค   ระดับโลก  ตลอดจนในรูปแบบของชุมชนข้ามชาตินั้นได้เกิด บุคคล และองค์กรข้ามพรมแดนอันเป็นอาณาเขตของรัฐอยู่อย่างที่เคยยึดถือเป็นปกติวิสัย  เช่น  บรรษัทข้ามชาติ  องค์การพัฒนาเอกชน ขบวนการทางสังคมต่างๆ
4.                   การรวมศูนย์อำนาจกับการกระจายศูนย์อำนาจ (Centralization VS  Decentralization) โลกาภิวัตน์ช่วยเอื้อให้มีการรวมศูนย์อำนาจขึ้นในหลายด้านโดยเฉพาะด้านอำนาจ  ความรู้  ข้อมูลข่าวสาร  ทรัพย์สิน  รวมถึงอำนาจการตัดสินใจ  พร้อมๆ กันนั้นโลกาภิวัตน์เอื้อให้มีพลวัตที่กระจายศูนย์ของอำนาจมากขึ้น  เช่น  ชนชาติต่างๆ  ชุมชนต่างๆ  และปัจเจกบุคคลต่างก็มีความคิดริเริ่มที่จะเป็นตัวของตัวเองและตัดสินใจในอนาคตของตนเอง
5.                  การโละมาเรียงกันกับการผสมผเสกัน (Juxtaposition VS Syncretization) โลกาภิวัตน์ทำให้วัฒนธรรมทางวัตถุ อารยธรรมต่างๆ วิถีชีวิตและการปฏิบัติในสังคมซึ่งมีที่ไปที่มาต่างสังคมต่างวัฒนธรรมกันมากสามารถปรากฏตัวร่วมกันได้ ปรากฏการณ์จึงเสมือนถูกโละมาเรียงกัน ประเด็นที่สำคัญที่เป็นเงื่อนไขใหม่ก็คือ  การเกิดมีเนื้อที่ร่วมกันทางสังคมและวัฒนธรรมระหว่างกลุ่ม ผลลัพธ์ก็อาจจะเกิดการผสมผเสในด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านความคิด คุณค่า ความรู้และสถาบันมากขึ้น
          โลกาภิวัตน์ : กระแสเอเชียแปซิฟิคกับสังคมไทย
1. กระแสโลกาภิวัตน์นั้นมีเนื้อหาสาระสำคัญตรงที่มันส่งผลต่อการจัดปรับมิติด้านกาละเทศะในชีวิตสังคม  เทคโนโลยีช่วยทำให้โลกใบใหญ่ของเราเสมือนหนึ่งว่าได้ หดตัวลง สลายขีดจำกัดของการปฏิสัมพันธ์ในสังคม ทั้งในแง่ของระยะทางและเวลาลงไปมาก
2. ลักษณะของกระบวนการนี้ที่เป็นปฏิสัมพันธ์หรือวิภาษวิธีมิใช่จะเป็นแบบเส้นตรงและเป็นแนวเดียวไปตลอดแต่อย่างใด  ทั้งนี้เพราะว่า กระแสโลกาภิวัตน์นั้นมีกระบวนการย่อยอันเป็นตัวกระตุ้นต่อแนวโน้มที่มักจะขัดกัน หรือแย้งกันไปตลอดกระบวนการย่อยอันเป็นตัวกระตุ้นต่อแนวโน้มที่มักจะขัดกันหรือแย้งกันไปตลอดกระบวนการอยู่ดังได้อภิปรายมาแล้ว
3. จะต้องมองให้เห็นความสำคัญข้อที่ว่า กระบวนการโลกาภิวัตน์  (globalization) กระบวนการบูรณาการของภูมิภาค (regionalization) กระบวนการตื่นตัวของท้องถิ่น (localization) ทั้งสามกระบวนการนี้ดำรงอยู่ควบคู่กัน มิฉะนั้นแล้วหากมองเห็นแต่กระบวนการโลกาภิวัตน์ดังความเข้าใจแต่เพียงในระนาบเดียว  กระแสภูมิภาคและท้องถิ่นจักถูกปัดให้พ้นสายตาไป
          กระแสโลกาภิวัตน์เป็นตัวกระตุ้นและสร้างสรรค์ให้การเมืองระหว่างประเทศนั้นมีเนื้อหาใหม่และมีประเด็นเชื่อมโยงกันมากขึ้น  คติเรื่องอำนาจอธิปไตยและระบอบประชาธิปไตยที่เคยยึดมั่นเป็นหลักการสากลมากว่าร้อยปีเศษที่ผ่านมานั้นเสมือนหนึ่งว่ากำลังถูกงัดให้พลิกออกจากรากฐานเดิมที่จำกัดวงแต่ชุมชนประเทศชาติและรัฐประชาชาติที่ผูกพันกับนิยามแห่งอาณาเขตทางภูมิศาสตร์เท่านั้น  ในทำนองเดียวกันนี้  แม้แต่หลักความชอบธรรม (legitimacy) ของรัฐบาลก็ถูกขยายฐานออกไปเชื่อมโยงกับประชาสังคมโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น
ตารางที่ 4 โลกาภิวัตน์: โครงสร้างและกระบวนการระหว่างโลกอิงรัฐและโลกพหุศูนย์แห่งสังคมการเมือง
ประเด็นเปรียบเทียบ
โลกอิงรัฐเป็นแกนกลาง
(state-centric world)
โลกพหุศูนย์
( multi-centric world)
1. จำนวนของตัวผู้กระทำการ
มีน้อยกว่า  200
มากมายเป็นแสน
2. ทางแพร่งของตัวผู้กระทำการ
ความมั่นคง
ความเป็นอิสระ
3. เป้าหมายหลักของผู้กระทำการ
การพิทักษ์บูรณภาพแห่งดินแดนและความมั่นคงทางกายภาพ
ส่วนแบ่งในตลาดโลกเพิ่มขึ้น
4. เครื่องมือสุดท้ายในการแก้ไขปัญหา
กองทัพ
ยกเลิกความร่วมมือและเลิกยอมตามโดยไม่ตั้งคำถาม
5. ลำดับก่อนหลังของบรรทัดฐาน
กระบวนการ (โดยเฉพาะในการรักษาอธิปไตยและการปกครองโดยกฎหมาย)
ผลลัพธ์  โดยเฉพาะผลที่เกิดแก่การขยายสิทธิ ความยุติธรรม
6. วิถีทางในการร่วมมือ
พันธมิตรที่เป็นทางการ
โภคทรัพย์
10. แบบแผนปฎิสัมพันธ์ระหว่างตัวผู้กระทำการ
เสมอภาคกัน (Symmetrical)
ค่อนข้างจะเท่าเทียมกันโดยเฉพาะในการเป็นผู้ริเริ่มไม่เสมอภาคกัน
11. ภาวะผู้นำ
มหาอำนาจ
ตัวกระทำที่มีความแปลกใหม่หรือที่มีทรัพยากรมาก /กว้างขวาง
12. การสร้างสถาบัน
สถาปนามาแล้วอย่างดี
ผลุบโผล่ - ผุดขึ้นเอง
13. ช่องทางการเปลี่ยนแปลง
มีค่อนข้างแคบและต่ำ
มีค่อนข้างกว้างและสูง
14. การควบคุมผลลัพธ์
จุดควบคุมรวมศูนย์
จุดควบคุมอยู่กระจัดกระจาย
15. ฐานของโครงสร้างการตัดสินใจ
อำนาจบังคับทางการและยึดกฎระเบียบ
อำนาจหลายประการ
ภาวะผู้นำมีประสิทธิภาพ

ผลกระทบจากโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจต่อเอเชียแปซิฟิค
ประการที่ 1 การขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีกลไกตลาดเป็นตัวขับเคลื่อน  มิติเศรษฐกิจและการค้าพานิชย์เป็นตัวนำส่งผลกระทบที่เป็นความไม่แน่นอนติดตามมา การที่ระบบเศรษฐกิจเป็นไปตามกลไกตลาดแต่อย่างเดียว แต่ขาดกลไกทางสังคมในการกำกับ  ส่งผลให้เกิดการใช้ทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรมและก่อให้เกิดปัญหาสภาพแวดล้อมมากขึ้น ความขัดแย้งด้านทรัพยากรและด้านสิ่งแวดล้อมรวมทั้งมลภาวะ ตลอดจนความเสี่ยงด้านต่างๆ
ประการที่ 2  ช่องว่างระหว่างกลุ่มทางสังคม อันได้แก่ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมระหว่างกลุ่มชน การขยายตัวของช่องว่างนั้นมีมากขึ้น ทั้งระหว่างภูมิภาคและระหว่างกลุ่มสังคม โดยเฉพาะเด็ก สตรี และชนกลุ่มน้อย การพัฒนาที่มีกลไกตลาดเป็นตัวนำย่อมผลักดันให้กระบวนการทำให้คนบางกลุ่มเหล่านี้เป็นคนชายขอบ (marginalization)  ไปมากขึ้นๆ อย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก
ประการที่ 3  โครงสร้างและกระบวนการพัฒนาเช่นนี้ทำให้เกิดการผลักดันให้เกิดการอพยพเคลื่อนย้ายสินค้าและแรงงาน ทั้งระหว่างชุมชนท้องถิ่นภายในประเทศเอง และระหว่างประเทศ ทั้งที่เป็นแรงงานที่มีเอกสารถูกต้องตามกฎหมายและเป็นแรงงานนอกระบบ หรือที่เรียกว่าแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย  (“illegal” or undocumented  workers) ควบคู่ไปนี้จึงมีองค์กรทางธุรกิจนอกรูปแบบต่างเกิดเป็นช่องทางใหม่ๆ ทางเศรษฐกิจธุรกรรมไปในด้านกิจการรูปแบบนอกกฎหมาย
ประการที่ 4  ปัญหาความยุติธรรมทางสังคมและสิทธิมนุษยชน ประเด็นปัญหาสิทธิมนุษยชน  โดยเฉพาะของคนกลุ่มต่างๆ ที่กลายเป็นคนชายขอบ (marginalized groups)
          อุดมการณ์ที่ผลักดันขับเคลื่อนนโยบายภายใต้โลกาภิวัตน์: จากเบื้องบน จากเบื้องล่างและทางเลือก
1) แนวทางชนชั้นนำทางวัฒนธรรม (cultural  elitism) ยึดถือว่าวัฒนธรรมจะต้องเป็นสิ่งที่ดีงามที่สุด  พวกเขาเชื่อว่ามีกลุ่มบุคคลจำนวนน้อยในสังคมที่รู้มาตรฐานสิ่งดี สิ่งชั่ว สามารถแยกแยะความสวยงาม อัปลักษณ์ในสังคมได้ และกลุ่มบุคคลที่ว่านั้นอยู่ในแวดวงราชการระดับสูงและผู้นำทางการเมือง
2) แนวทางประชานิยมทางวัฒนธรรม (cultural populism)เป็นแนวทางที่ต่อต้านกระแสวัฒนธรรมมาตรฐานชั้นนำ แนวทาง ประชานิยมทางวัฒนธรรมเรียกร้องให้หันมาสนใจศึกษาวัฒนธรรมของสามัญชน          วัฒนธรรมชาวบ้านและภูมิปัญญาชาวบ้าน
ภายใต้สิ่งท้าทายโลกาภิวัตน์ทางวัฒนธรรมเช่นนี้ จึงย่อมเป็นที่ชัดเจนมากขึ้นว่าเรามีความจำเป็นที่จะต้องปรับฐานคิดเสียใหม่ และเพียรพยายามกำหนดยุทธศาสตร์ทางวัฒนธรรมต่อโลกาภิวัตน์ให้ได้  4 ประการ ดังนี้
ประการแรก ยุทธศาสตร์ขยายส่วนร่วมในการสร้างสรรค์วัฒนธรรมที่เห็นภาพทั้งจุลภาคและมหภาคอย่างเป็นกระบวน
ประการที่สอง  ในการนี้คงต้องเอื้อให้มีช่องทางและเวทีแลกเปลี่ยนการมองจากจุลภาค (กลุ่มสังคมหรือชุมชนท้องถิ่นต่างๆ) ให้เห็นภาพมหภาค (โลกและนานาชาติรวมทั้งระบบนิเวศของโลก)
ประการที่สาม เน้นยุทธศาสตร์ที่หลากหลายการมองปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรมในบริบทโลกาภิวัตน์ที่สามารถพิจารณาทั้งแนวตั้ง - แนวนอน (ระหว่างประเทศ -รัฐบาล - ท้องถิ่น)และแนวไขว้อย่างหลากหลายทิศทาง  (เช่น ผู้เสียหายในชุมชนท้องถิ่นสามารถส่งคำอุทธรณ์ร้องทุกข์สู่สหประชาชาติโดยตรง) ยุทธศาสตร์ตามแนวทางทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นพลวัติที่มุ่งส่งเสริมกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันบนพื้นฐานของชีวิตจริงให้เข้มแข็งมากขึ้นด้วย
ประการที่สี่  ส่งเสริมการศึกษาในเชิงเปรียบเทียบและส่งเสริมทัศนะเชิงเปรียบเทียบในบริบทโลกาภิวัตน์ให้มากขึ้น (global and comparative perspective) เท่าที่ผ่านมา  การศึกษาวัฒนธรรมและความเป็นไทยมักจะมีแนวโน้มที่มองโดดๆ หรือในกรณีเปรียบเทียบซึ่งมีไม่มากนักที่มองโดยเอาการพัฒนาแบบไล่กวดด้วยภาพใหญ่ของการขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นหลัก  แต่ในปัจจุบันจำเป็นต้องมีการพิจารณาในบริบทโลกาภิวัตน์ที่อนาคตมีทิศทางไม่แน่นอนประกอบด้วย
เงื่อนไขอันเป็นโอกาสในกระแสโลกาภิวัตน์ทางวัฒนธรรมในปัจจุบัน
1) การตื่นรู้ของประชาชนมีมากขึ้น ทั้งนี้ส่วนหนึ่งคงเพราะปัญหาความทุกข์ยากในสังคมเพิ่มขึ้น  แต่อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญกว่าน่าจะได้แก่  ข้อมูลข่าวสารในโลกปัจจุบันไปทั่วถึงกันได้หมด
2) การปฏิรูปราชการเพื่อให้ระบบราชการมีความโปร่งใส  สามารถตรวจสอบได้ รวมทั้งการให้องค์กรเอกชน และประชาชนมีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น  และโดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการจัดตั้งกระทรวงใหม่ที่ให้ความสำคัญแก่วัฒนธรรมและความมั่นคงของชีวิตมนุษย์
3) กระแสประชาธิปไตยที่ส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น รวมทั้งกระแสปฏิรูปการเมือง  ทำให้รัฐบาลและวงการต่างๆ มีความตั้งใจและมีนโยบายประชาธิปไตย  แม้จะขาดขั้นตอนที่เป็นรูปธรรมและขาดจินตภาพระยะยาวก็ตาม
4) ภาคเอกชน ภาคองค์กรสาธารณประโยชน์และองค์กรพัฒนาเอกชนต่างก็มีความตื่นตัวในมิติวัฒนธรรมของปัญหาการพัฒนามากขึ้น
5) สื่อมวลชนมีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะ หนังสือพิมพ์  วิทยุ และโทรทัศน์    โดยเฉพาะที่ริเริ่มที่ฝ่ายต่างๆ นอกเหนือจากภาครัฐ  เช่น วารสาร  ศิลปวัฒนธรรม นิตยสาร สารคดี ฯลฯ
6) ผู้คนสนใจศาสนากันมากขึ้น  อย่างไรก็ดีอาจจะมีผู้ตั้งข้อสังเกตบางประการในด้านความใจกว้าง     (ระหว่างพุทธกับอิสลามฯลฯ)  ในด้านขีดจำกัดที่เน้นพิธีกรรมและรูปแบบภายนอกมากกว่าพุทธิปัญญา  และฉันทะในการลงมือปฏิบัติตลอดจนความเข้าใจที่จำกัดในแง่การมองปัญหาแต่เพียงในระดับปัจเจกบุคคล  ไม่มองไปไกลถึงระดับกลุ่มและระดับสถาบันของสังคม
7) มีความตื่นตัวถึงความสำคัญและคุณค่าของการวิพากษ์วิจารณ์วัฒนธรรมกันกว้างขวางทั้งในระดับท้องถิ่นและในส่วนกลางมากขึ้น
8) มีความสนใจมิติใหม่ๆ   ในการศึกษาวิจัยวัฒนธรรมมากขึ้น  ทั้งในแง่เนื้อหาสาระ ในแง่แนวคิด รวมทั้งวิธีการศึกษาใหม่ๆ
ขบวนการเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมของกลุ่มคนต่าง ๆ ในโลก
ขบวนการเคลื่อนไหวของการเมืองภาคประชาชนนับว่ามีบทบาทสำคัญต่อการผลักดันการเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่สร้างความหวังให้กับทั้งชนชั้นกลางในเมือง  พ่อค้า นักธุรกิจและ ชาวชนบทชาวไร่ชาวนาว่า กติกาการเมืองใหม่ที่มีเนื้อหาที่สนับสนุนให้เกิดประชาธิปไตยในทุกๆระดับมากขึ้น รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังคงกำหนดให้มีสถาบันการปกครองที่เป็นอิสระซึ่งจะทำหน้าที่ในการตรวจสอบและควบคุมอำนาจในทางการเมืองมากขึ้น องค์กรอิสระเหล่านี้ที่ทยอยเกิดขึ้นมาก็มี ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ฯลฯ อาจกล่าวได้ว่าองค์กรใหม่ทางการปกครองเหล่านี้ คือสถาบันปฏิรูปที่เป็นส่วนหนึ่งของปริมณฑลสาธารณะที่เป็นทางการของระบอบประชาธิปไตยโดยรัฐสภาของไทยก็ได้  
ขบวนการเคลื่อนไหวนี้เน้นที่ความหลากหลายของขบวนการเคลื่อนไหว ความเห็นต่อเรื่องการมี ปริมณฑลสาธารณะ อันหลากหลายดูเหมือนเป็นสิ่งที่ไม่ได้ถูกยอมรับในขบวนการเคลื่อนไหวเหล่านี้เท่าไร    แม้พวกเขาได้ปฏิเสธถึงการมีระบบรัฐสภาหรือการเมืองในรูปแบบโครงสร้างเดิมๆ แต่สิ่งที่พวกเขาต้องการก็คือการเคลื่อนไหวในเรื่องต่างๆเหล่านี้เป็นการกดดันอันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแก้ไขด้วยระบบกฎหมายได้  เช่น การให้สิทธิพลเมืองแก่กลุ่มชาติพันธุ์ การให้สวัสดิการสังคมแก่คนชายขอบ หรือการที่ยอมรับในเรื่องของคนรักเพศเดียวกัน เป็นต้น ดังนั้นเราจะเห็นว่าขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของไทยยังคมมุ่งไปสู่การปฏิรูปผ่าน ปริมณฑลสาธารณะที่เป็นทางการ”( official public sphere)  เป็นสำคัญ
การศึกษาขบวนการเคลื่อนไหว (Social Movement) จึงมักอธิบายถึงการเคลื่อนไหวทางสังคมด้วยนิยามตัวขบวนการเคลื่อนไหวด้วยอุดมการณ์ใด อุดมการณ์หนึ่ง ตามกรอบอธิบายเชิงทฤษฎีทางสังคมที่ให้ความสนใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง แต่ในปัจจุบันด้วยกรอบที่ว่านี้ไม่อาจจะอธิบายปรากฏการณ์สังคมได้อีกต่อไปแล้ว ทั้งนี้ขบวนการเคลื่อนไหวอาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับอุดมการณ์หรือจิตสำนึกทางชนชั้นใดชนชั้นหนึ่งเสมอไป 
ดังนั้น การผลักดันให้นักกิจกรรมทางสังคม นักเคลื่อนไหว นักพัฒนาเอกชน และกลุ่มปัญญาชน กลับไปสนใจและทบทวนการเคลื่อนไหวในเชิงวิชาการมากขึ้น นับว่าเป็นการดี ถ้าหากได้หลบพักทบทวนและใคร่ครวญหาแนวทาง แนวคิดและยุทธศาสตร์ สู่รูปแบบการเคลื่อนไหวใหม่ๆ ต่อไป ที่จริงแม้จะเป็นการเคลื่อนไหวกลุ่มเล็กๆ ก็ตาม แต่หากลักษณะของการเคลื่อนไหวดังกล่าว มีปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง และยังขยายตัวมากขึ้นไปอีก รวมทั้งยังมีการปรับ การพัฒนารูปแบบการเคลื่อนไหว ก็สามารถบอกได้ว่า มีความแตกต่างจากจุดเริ่มต้นมาก ซึ่งขบวนการเคลื่อนไหวเหล่านี้ ในปัจจุบันเริ่มมีปริมณฑลทางการเมืองของตนเองอย่างชัดเจน
        ขบวนการเคลื่อนไหว มี 3 องค์ประกอบคือ
1.) มีความมุ่งมั่นต่อประเด็นที่เคลื่อนไหวให้สาธารณะรับรู้
2.) มีการรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่น หรือมีรูปแบบขององค์กรเฉพาะ
3.) ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วม ทั้งในกลุ่มและจากสาธารณะ
รูปแบบขบวนการเคลื่อนไหวไม่จำเป็นต้องเคลื่อนไหวด้วยภาคของการเมืองแบบมวลชน (mass politic) เสมอไป รวมทั้งไม่แยกตัวออกเป็นรูปแบบการเคลื่อนไหวเฉพาะประเด็น แม้จำเป็นต่อการเคลื่อนไหวในบางกรณีก็ตาม แต่ก็สามารถร่วมกันได้ เช่นเดียวกับขบวนการแรงงาน หรือร่วมรณรงค์การเลือกตั้ง     ฉะนั้น การเคลื่อนไหวทางสังคมบางครั้งก็อาจจะซ้อนทับ แทรก หรือปะปนไปกับปรากฏการณ์ทางการเมือง วัฒนธรรมในสังคม ทั้งนี้อาจเพื่อหาฉันทานุมัติร่วมกันด้วยกลไกของระบอบประชาธิปไตย ความสนใจต่อการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคม (Civil Society) โดยมุ่งไปที่แนวความคิดเรื่องขบวนการเคลื่อนไหวแบบใหม่(new social movement) แบบจำกัดหน้าที่ตนเอง ขบวนการเคลื่อนไหวแบบนี้เติบโตอย่างมากในโลกตะวันตกช่วงทศวรรษที่ 1970 อย่างเช่น ขบวนการเฟมินิสต์ ขบวนการด้านนิเวศน์และสิ่งแวดล้อม ขบวนการของคนรักเพศเดียวกัน ขบวนการส่งเสริมอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ เป็นต้น
ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมแบบใหม่ ให้ความสำคัญกับการแสดง อัตลักษณ์ร่วม (Collective Identity) “อัตลักษณ์ร่วม เป็นปัจจัยสำคัญของการแสดงออกของความเป็นกลุ่มและการทำกิจกรรม ร่วมกันเพื่อที่จะนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า ผู้กระทำ การรวมกลุ่มและการทำกิจกรรมที่แสดงตัวตน และวัตถุประสงค์ของการเคลื่อนไหวให้สาธารณะและรัฐได้รับรู้อย่างชัดเจน และที่สำคัญคือ กลุ่มที่มีตัวตนเป็นเอกภาพที่ชัดเจน (Unity of Collective Acton) ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมใหม่ให้ความสำคัญต่อเรื่องของ การต่อรองต่อโครงสร้างและ การกดทับของตนเอง โดยตนเองซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดอยู่เสมอที่สำคัญ ขบวนการเคลื่อนไหวแต่ละขบวนการไม่ได้มุ่งที่การสร้างพื้นที่ให้กับตัวเองแล้วจบ แต่นั่นจะเป็นเพียงแค่การเปิดพื้นที่ที่หายไปจากความคิดของผู้คนในสังคม รวมถึง รัฐด้วย
        ดังนั้นเพื่อที่จะสร้างหลักประกันต่อการเมืองทางวัฒนธรรมของกลุ่มอัตลักษณ์ใหม่ได้นี้ ความจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการเข้าไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางนโยบายสังคมและวัฒนธรรมเพื่อเป็นหลักประกันต่อสิทธิในการดำเนินชีวิตของพวกเขา และเป็นการเปิดพื้นใหม่ทางการเมือง
ชาติพันธุ์และอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ภายใต้กระแสโลกภิวัตน์
1)               เกิดจากการแบ่งแยกโดยวัฒนธรรมชนชั้น ในสังคมบางสังคมมีการแบ่งชนชั้นและคนที่อยู่ในชนชั้นต่ำที่สุด จะถือเป็นกลุ่มชนที่อยู่นอกระบบสังคมนั้น เช่น วรรณะจัณฑาลในอินเดีย เอทาหรือบูราคูในประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น คนที่อยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน แต่ถูกสังคมระบุว่าเป็นคนชนชั้นต่ำ ถือว่าเป็นผู้ที่น่ารังเกียจและไม่ควรอยู่ร่วมสังคมกับสมาชิกส่วนใหญ่ จนกลายเป็นชนกลุ่มน้อยของสังคมนั้น เป็นผู้ที่ปราศจากศักดิ์ศรี ไม่มีอำนาจ และไม่มีสิทธิทางสังคมเท่าเทียมคนอื่น ปัจจุบันทั้งประเทศอินเดียและประเทศญี่ปุ่นได้ออกกฎหมายยกเลิกวรรณะจัณฑาลและบูราคูแล้วก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติก็ยังมีการกีดกันอยู่ความแตกต่างภายในกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันนี้ ถือเป็นรูปแบบความแตกต่างทางชาติพันธุ์รูปแบบหนึ่ง นั่นเอง
2)               เกิดจากการแบ่งแยกจากลักษณะทางภูมิศาสตร์ กลุ่มชนที่มีชาติพันธุ์ต่างจากคนส่วนใหญ่ และตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณที่ห่างไกล เช่น ชาวเขา มักจะถูกตัดขาดจากสังคมพื้นราบโดยไม่ได้รับข่าวสารอย่างสม่ำเสมอจากคนพื้นราบในส่วนกลาง การขาดการติดต่อสื่อสารที่ดีนั้นอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดและอาจทำให้มีปฏิกิริยาต่อต้านอำนาจรัฐได้ ในกรณีของประเทศไทย รัฐบาลได้พยายามติดต่อสื่อสารกับชาวเขาอยู่เสมอ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ดีต่อกัน ความสัมพันธ์ระหว่างชาวเขากับรัฐบาลไทยจึงมักไม่เกิดปัญหาเท่าใดนัก
3)               เกิดจากการผนวกดินแดน การขยายอาณาเขตของประเทศใดประเทศหนึ่งโดยการผนวกดินแดนเพิ่ม อาจเกิดจากการตกลงกันตามสนธิสัญญา หรือเกิดจากการขยายดินแดนหลังจากชนะสงคราม ตัวอย่างของการตกลงตามสนธิสัญญาคือ กรณีสหรัฐอเมริกาซื้อดินแดนซึ่งปัจจุบันคือรัฐในภาคตะวันออกเฉียงใต้บางรัฐ ตามสนธิสัญญา เรียกว่า “Louisiana Purchase” ในปี ค.ศ. 1803 หรือการที่สหรัฐอเมริกาซื้อดินแดนซึ่งปัจจุบันคือรัฐอลาสกา ในปี ค.ศ. 1867 ส่วนตัวอย่างของการสู้รบระหว่างเพื่อนบ้านและฝ่ายที่ชนะสามารถผนวกดินแดนข้างเคียงเพิ่มขึ้น คือ กรณีการขยายอาณาจักรต่างๆ ในบริเวณแหลมทองของทวีปเอเชียได้แก่ อาณาจักรสุโขทัย ทวาราวดี ศรีวิชัย ล้านนา ล้านช้าง อโยธยา ฯลฯ ซึ่งสามารถขยายดินแดนให้กว้างใหญ่ขึ้นได้ โดยการยกทัพสู้รบกัน และฝ่ายที่ชนะเป็นฝ่ายที่สามารถขยายอาณาจักรได้
4)               เกิดจากการย้ายถิ่น ความแตกต่างทางชาติพันธุ์อาจมีสาเหตุมาจากการที่คนจำนวนหนึ่งอพยพย้ายถิ่นเข้าไปอยู่ในสังคมอื่น โดยที่คนกลุ่มนี้มีลักษณะทางวัฒนธรรมแตกต่างจากคนในสังคมที่ตนย้ายเข้าไปอยู่ รูปแบบของการย้ายถิ่นมีได้หลายรูปแบบ เช่นกลุ่มชาติพันธุ์จีนและแขก (อินเดีย) ในประเทศไทย กลุ่มชาติพันธุ์ยุโรปในประเทศออสเตรเลีย เป็นต้น
5)               เกิดจากการตกเป็นประเทศอาณานิคม ความแตกต่างทางชาติพันธุ์ในประเทศอาณานิคม มีลักษณะแตกต่างจากกรณีต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วทั้ง 4 กรณี ทั้งนี้ เพราะอาณานิคมเกิดจากการที่มหาอำนาจเข้ามามีอำนาจในการเมืองการปกครองของประเทศอื่น ผู้อพยพเข้ามาเป็นผู้ที่มีอำนาจมากกว่า และสามารถออกกฎหมายบังคับต่างๆนานา ทำให้เจ้าของประเทศ ซึ่งมีจำนวนประชากรมากกว่า มีลักษณะของผู้อยู่ใต้ปกครอง และต้องยอมจำนนต่อข้อเรียกร้องของประเทศมหาอำนาจ ประเทศมหาอำนาจมักจะจับจองที่ดินขนาดใหญ่ และว่าจ้างคนพื้นเมืองไปเป็นกรรมกรในไร่นา มีผลทำให้คนพื้นเมืองมีลักษณะเป็นผู้อยู่ใต้การปกครอง หรือลูกจ้างในอาณัติของมหาอำนาจ ทั้งๆ ที่มหาอำนาจเป็นผู้บุกรุกเข้ามาในดินแดนของตน โดยทั่วไปจำนวนของผู้ที่อพยพมาจากประเทศมหาอำนาจมีไม่มากนัก แต่คนกลุ่มนี้ก็สามารถจับจองที่ดิน และทำธุรกิจจนถึงขนาดเป็นผู้กุมอำนาจทางเศรษฐกิจการเมือง และสังคมได้ อย่างกรณีประเทศซิมบับเว ปรากฏว่า ในปี ค.ศ. 1931 คนผิวขาวเป็นเจ้าของที่ดินเกือบร้อยละ 50 ของพื้นที่ทั้งหมด แต่ประชากรผิวขาวมีประมาณร้อยละ 5 เท่านั้น
การขับเคลื่อนความหลากหลายทางเพศกับอัตลักษณ์ทางเพศ
อัตลักษณ์ทางเพศมีแง่มุมของการเลือกและต่อรองของคนในกรอบความหมายเรื่องเพศที่จำกัดว่าคนเป็นได้ เพียงชายหรือหญิงโดยกำหนดจากอวัยวะเพศที่มีติดตัวเมื่อแรกเกิด และความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ในทางเพศ ที่ปกติต้องเป็นเรื่องของชายหญิงเท่านั้น อัตลักษณ์ทางเพศเกี่ยวข้องกับการเลือกที่จะแสดงออกในทางร่างกาย กิริยามารยาท และวิถีชีวิตของคนว่าจะเป็นหญิง หรือชาย ซึ่งอาจจะสอดคล้องหรือไม่สอดคล้องในระดับต่าง ๆ กับการกำหนดหรือรับรองของรัฐและสังคม อันที่จริงคนจำนวนไม่น้อยที่ยอมตามการกำหนดเพศสภาพในระบบสองเพศสภาพก็ไม่ได้มีอาการแบบชายจริงหญิงแท้กันเลยทีเดียว แต่มีลักษณะปรากฏและการแสดงออกที่ค่อนไปในฝั่งของเพศสภาพอย่างที่ได้รับมอบหมาย บางคนมีลักษณะ ของอวัยวะเพศ ที่ไม่ชัดเจน บางคนแต่งกายข้ามเพศ(สภาพ) เป็นครั้งคราว ตลอดเวลา และโดยเปิดเผยและไม่เปิดเผย ให้คนอื่นได้เห็นได้รับรู้ บางคนที่เลือกดำเนินชีวิตแบบข้ามเพศได้อาศัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ปรับเปลี่ยนอวัยวะเพศให้สอดคล้องกับเพศสภาพที่ตนเลือก
อัตลักษณ์ทางเพศยังมีแง่มุมของการเลือกและแสดงออกของรสนิยมและวิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์และการเกี่ยวข้องในทางเพศทั้งพวกรัก/มีเซ็กส์กับคนต่างเพศเท่านั้น คนรักและ/หรือมีเซ็กส์กับเพศเดียวกัน และพวกที่ชอบ ทั้งสองเพศ/เพศสภาพ รสนิยมและวิถีชีวิตที่ต่างไปจากรักต่างเพศถูกมองว่าเป็นเรื่องผิดปกติหรือเป็นเรื่องของคนส่วนน้อย ก็เลยไม่มีที่ทางและถูกกีดกันจากชีวิตทางสังคมการเมือง
อัตลักษณ์ทางเพศสะท้อนการต่อรองและขัดขืนของคนหลายกลุ่มในระบบที่บังคับและจำกัดการเลือกและวิถีชีวิตเรื่องเพศและเพศสภาพ ซึ่งก็มีราคาสูงในรูปของการถูกประณามหยามเหยียดทางสัมคมหรือการเข้าไม่ถึงการคุ้มครองและสิทธิประโยชน์ของรัฐ ที่ผูกขาดการรับรองเพศสภาพและเพศวิถีของพลเมือง
คนที่ใช้เสรีภาพในการเลือกเพศสภาพของตนเองตามใจจำนวนไม่น้อยอาจจะไม่ค่อยรู้สึกถึงปัญหาในชีวิตประจำวันนัก ถ้าไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับการขอการรับรองหรือการคุ้มครองจากภาครัฐ เพราะการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับ กิจกรรมและบริการของ การเมือง ภาครัฐหมายถึงความสับสนวุ่นวายเมื่อลักษณะปรากฏไม่สอดคล้องกับเพศสภาพที่รัฐรับรอง ในเอกสาร ของทางราชการ หรือการมีวิถีชีวิตต่างไปจากภาพของแก่พลเมืองที่รัฐมองเห็นว่ามีแต่คนที่นิยม/ รักต่างเพศ และดำรงอยู่ในครอบครัวแบบผัวเมียพ่อแม่ลูก
การไม่ยอมตามและการขัดขืนกรอบเรื่องเพศสภาพและเพศวิถีเป็นไปได้เมื่อไม่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับรัฐ และกลายเป็น ความเสียเปรียบหรือไม่เท่าเทียมในระบบการเมืองไปได้เพียงเพราะการเลือกอัตลักษณ์ทางเพศต่างไป การรับรองความเสมอภาคและการห้ามการเลือกปฏิบัติบนฐานของอัตลักษณ์ทางเพศจึงน่าจะเป็นการเพิ่มพูนเสรีภาพของ คนและเลิกกักขังคนไว้กับความไม่เท่าเทียมอันเนื่องมาจากการเลือกนิยามตนเองและแสดงออกในเรื่องอัตลักษณ์.
เวชกรรม (Medicine) และจิตวิทยานั้น ได้แยกแยะกลุ่มของการกระทำผิดทางเพศในหลากหลายรูปแบบ ในส่วนของโรคของจิตประสาทเกี่ยวกับเพศ (Psycho Sexual Disorder) ในหนังสือคู่มือการวินิฉัยโรคและสถิติของความผิดปกติทางด้านร่างกายและจิตใจ (The Diagnostic and Statistical Manual of Mental and Physical Disorder) (DSM) ขององค์กรความร่วมมือกันของจิตแพทย์ในสหรัฐอเมริกา (APA) นั้น ได้ทำแผนผังที่น่าเชื่อถือในเรื่องที่เกี่ยวกับลำดับขั้นทางจริยธรรมของกิจกรรมทางเพศ โดยรายการของ APA นั้น ได้มีความละเอียดละออมากกว่ารายการต่างๆ ที่ถูกกำหนดถึงความผิดทางจารีตในอดีต ดังเช่น การล่วงประเวณี การร่วมเพศทางทวารหนัก การเป็นชู้  โดยหนังสือ DSM ฉบับพิมพ์ครั้งที่สามซึ่งเป็นฉบับล่าสุดนั้น ได้นำเอาการรักเพศเดียวกันออกจากกลุ่มของการเจ็บป่วยทางจิต หลังจากที่ได้มีการโต้แย้งกันมานาน
แต่อย่างไรก็ตาม การนิยมใช้อุปกรณ์ช่วยทางเพศ (Fetishism), การนิยมทำร้ายผู้อื่น (Sadism), การนิยมการถูกทำร้าย (masochism), การผ่าตัดแปลงเพศ (Transsexual), กามวิปริตด้วยการแต่งตัวเป็นเพศตรงข้าม (Transvestism), การนิยมอวดเครื่องเพศ (Exhibitionism), การนิยมดูเครื่องเพศหรือการสังวาสของผู้อื่น และการนิยมร่วมเพศกับเด็ก (pedophilia) นั้นยังถูกมองว่าเป็นสภาพจิตที่ไม่ปกติ บกพร่องชำรุด และยังมีหนังสือหลายเล่มที่ยังเขียนถึงเรื่อง การกำเนิด สาเหตุ การบำบัด และ การรักษา"โรค"เหล่านี้
การมองการประพฤติทางเพศเป็นเรื่องที่ผิดในเชิงจิตวิทยานี้ มองว่าเป็นแนวความคิดในเรื่องของจิตและอารมณ์ที่ตกต่ำ มากกว่าที่จะมองไปว่าเป็นความผิดบาป การกระทำเรื่องเพศอย่างต่ำช้าในมุมมองของสังคมนั้น ถูกมองอย่างเสื่อมเสียว่า เป็นอาการป่วยไข้ทางจิต หรือโรคของบุคคลที่มีความบกพร่องทางบุคลิกภาพ โดยในเชิงจิตวิทยานั้นมองว่าเป็นเรื่องของจิตประสาทที่ไม่สงบนิ่งในเรื่องทางเพศ โดยได้เชื่อมโยงระหว่างการนิยมการถูกทำร้าย กับรูปแบบความฟั่นเฟือนทางจิตใจ การนิยมทำร้ายผู้อื่นเข้ากับความก้าวร้าวทางอารมณ์ และความรู้สึกต้องการกระตุ้นทางเพศจากเพศเดียวกัน กับความไม่เป็นผู้ใหญ่
วัฒนธรรมป็อป ถูกแทรกซึมด้วยความคิดที่ว่า ความหลากหลายทางด้านกามารมณ์นั้นเป็นเรื่องอันตราย ไม่ดีต่อสุขภาพ เป็นความเสื่อมทราม และเป็นสิ่งคุกคามต่อเด็ก ไปจนกระทั่งถึงความมั่นคงของชาติ. ความคิดต้นแบบทางเพศซึ่งผู้คนนิยมนั้น ทำให้เกิดความกังวลในเรื่องความผิดบาปทางเพศ สื่อต่างๆ ได้ฉายภาพที่เป็นการชวนเชื่อเหล่านี้อย่างชัดเจน ไม่ปิดบังซ้อนเร้น ซึ่งควรจะเรียกเรื่องนี้ว่า เป็นระบบของรอยแผลในเรื่องกามารมณ์ที่เกิดจากรูปแบบการด่วนตัดสินทางสังคม ซึ่งถ้ารูปแบบดั้งเดิมไม่ได้แสดงความดื้อด้านให้เห็นอย่างรุนแรง สิ่งใหม่ก็ไม่สามารถสืบต่อจนกลายทำให้อย่างเด่นชัดเช่นนี้ได้
การลำดับขั้นคุณค่าทางเพศตามศาสนา จิตวิทยา และ แบบวัฒนธรรมป๊อป มีความเหมือนกันในรูปแบบเดียวกันกับการเหยียดเชื้อชาติ คลั่งชาติพันธุ์ และการคลั่งศาสนา เป็นการสร้างความมีเหตุผลและอภิสิทธิ์แก่การมีเพศสัมพันธ์ที่ดี และสร้างความเลวร้ายแก่เพศสัมพันธ์ที่ไร้ระเบียบ มีการสร้างแผนภาพเพื่อแสดง และแบ่งการจัดระบบคุณค่าทางเพศ ตามระบบทางเพศขึ้น สำหรับในส่วน เรื่องเพศที่ถูกเรียกว่า "ดี" "ปกติ" นั้นจะถูกรวมเข้ากับ "รักต่างเพศ" "ความเชื่อในการแต่งงาน" "ความรักเดียวใจเดียว" "การให้กำเนิด" และ ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ มันควรจะมีลักษณะเป็นคู่ เกี่ยวกับความสัมพันธ์อันลึกซึ้ง โดยอยู่ในช่วงอายุเดียวกันและเกิดขึ้นที่บ้าน ไม่ควรเกี่ยวข้องกับหนังโป๊ อุปกรณ์ทางเพศต่างๆ และบทบาทที่ไม่ควรมากไปกว่าหญิงกับชาย
ส่วนการผิดกฎเกี่ยวกับเซ็กส์เหล่านี้ หมายถึง "เลว" "ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ" เพศสัมพันธ์ที่เลวอาจหมายถึง "เพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน" "การไม่แต่งงาน" "สำส่อน" "ไม่มีประโยชน์" และ"เกี่ยวข้องกับเงิน" อาจเป็นการ "สำเร็จความใคร่ด้วยตัวเอง" "เกี่ยวกับการร่วมเพศทางทวารหนัก" "อาจเป็นการมีเพศสัมพันธ์ที่ข้ามรุ่นอย่างมาก" และอาจเกิดขึ้นในพื้นที่สาธารณะ หรืออย่างน้อยก็ในทุ่งหรือในห้องน้ำ มันอาจเกี่ยวข้องกับการใช้หนังโป๊ อุปกรณ์ทางเพศ หรือบทบาทที่ไม่ปกติธรรมดา
ภาพความคิดอีกแบบหนึ่งในเรื่องลำดับคุณค่าในเรื่องเพศ โดยความต้องการจะสร้างเส้นโยงจินตนาการทางเพศระหว่างเพศสัมพันธ์ที่ดีและเพศสัมพันธ์ที่เลว วาทกรรมที่เกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ในเรื่องที่สัมพันธ์กับศาสนา จิตวิทยา ความนิยม หรือในเชิงการเมือง ทำให้เกิดการจำกัดวงแคบๆ การรองรับได้ของมนุษย์เกี่ยวกับเพศ อาทิเช่น ความผิดบาป ความปลอดภัย ความมีสุขภาพดี ความมีวุฒิภาวะ ถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นไปตามทำนองคลองธรรม "เส้น" ได้ทำการแบ่งแยกสิ่งเหล่านี้ออกจากพฤติกรรมทางเพศอื่นๆ ซึ่งเข้าใจกันว่าเป็นการกระทำของปิศาจ อันตราย ฟั่นเฟือน ปราศจากวุฒิภาวะ ไม่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม คำถามที่สำคัญนั้นคือ "จะขีดเส้นนี้ที่ไหน" และตรงไหนที่ยอมรับได้
ระบบการจัดการทั้งหมดนี้เป็นการอนุมานเกี่ยวกับ การสร้างความต่อเนื่องที่นำเสนอความหายนะทางเพศ เส้นนี้ดูจะเป็นการแบ่งระหว่างเพศสัมพันธ์ที่อยู่ในระเบียบและอยู่นอกระเบียบ ที่แสดงให้เห็นความกลัวว่า ถ้าอะไรก็ตามที่ข้ามเส้นกาม DMZ ปริมณฑลที่ป้องกันเพศสัมพันธ์ที่น่ากลัว จะคลืบคลานเข้ามาได้ง่ายและสิ่งที่น่าหวาดหวั่นจะเกิดขึ้น
ระบบของการตัดสินในเรื่องกาม - ศาสนา จิตวิทยา สตรีนิยม หรือนักสังคมวิทยา ต่างพยายามที่จะแยกแยะว่า ข้างไหนของเส้นที่จริงๆ แล้วอันตราย การแสดงออกซึ่งเพศสัมพันธ์ในด้านที่ดีของเส้นนั้น แท้จริงแล้วขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของคุณธรรมเช่นเดียวกัน. การรักเพศเดียวกันอาจแสดงถึงได้ทั้ง
- ความต้องการในจิตใจ หรือ สิ่งสกปรก    
- ความอิสระ หรือ การควบคุม    
- การเยียวยา หรือ การทำลาย    
- โรแมนติค หรือ ธุรกิจ
ตราบใดที่ไม่ได้ทำผิดกฎใดๆ การรักต่างเพศเป็นสิ่งที่ถูกสำเหนียกว่าเป็นประสบการณ์ทางเพศทั้งหมดของมนุษย์ แต่ในทางตรงกันข้ามการกระทำทางเพศทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความเลว มันได้รับการพิจารณาว่าเกี่ยวข้องกับความรุนแรง, ความน่าสะอิดสะเอียนของอารมณ์ ยิ่งห่างไกลจากเส้นแบ่งเท่าใดประสบการณ์ที่เลวร้ายจะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น
จากผลของการขัดแย้งทางเพศในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา พฤติกรรมบางอย่างที่ใกล้จะข้ามเส้นนั้นเริ่มแปรผัน คู่รักที่ยังไม่ได้แต่งงานอยู่ร่วมกัน การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง และรูปแบบบางอย่างของกลุ่มรักเพศเดียวกัน ต่างได้รับการยอมรับมากขึ้น ความรักเพศเดียวกันส่วนใหญ่ยังอยู่ในส่วนของความเลว แต่หากคู่รักนั้นรักเดียวใจเดียว สังคมได้เริ่มตระหนักว่าเป็นส่วนหนึ่งของปฎิสัมพันธ์ของมนุษย์ ส่วนความสำส่อน รักเพศเดียวกัน ความชอบถูกคนอื่นทำร้าย การใช้อุปกรณ์ทางเพศ ความผิดเพศ และการมีเพศสัมพันธ์ข้ามรุ่น ยังต้องเผชิญกับกับการถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ห่างไกลจากความปรารถนา ความรัก ความอิสระ ความกรุณาและความดี
ศีลธรรมเรื่องเพศในลักษณะนี้ เป็นเรื่องของการเหยียดมากกว่าเป็นเรื่องจริยธรรมอย่างแท้จริง มันใช้อภิสิทธิ์ในการทำให้ผู้คนกลุ่มน้อยตกเป็นรอง ศีลธรรมอย่างเป็นประชาธิปไตยนั้น ควรตัดสินการกระทำทางเพศโดยวิถีของคู่รักแสดงออกแก่กันและกัน ระดับของความสัมพันธ์ การบังคับขู่เข็ญ ปริมาณและคุณภาพของความพึงใจที่คู่รักมีให้แก่กัน ไม่ว่าการกระทำทางเพศจะเป็นการรักเพศเดียวกัน รักต่างเพศ กลุ่มหรือคู่, เปลือยหรือกางเกงใน เงินหรือฟรี มีหรือไม่มีวีดิโอ สิ่งเหล่านี้ไม่ควรถูกนำมาพิจารณาทางด้านจริยธรรม
อาจเป็นการยากที่จะพัฒนาจริยธรรมทางเพศแบบพหุนิยม หากไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศ ความหลากหลายเป็นพื้นฐานของสิ่งต่างๆ ในชีวิต จากระบบชีวิวิทยาที่เรียบง่ายที่สุดไปจนถึงความสลับซับซ้อนที่สุดของสังคมมนุษย์ เรื่องเกี่ยวกับเพศควรถูกพิจารณาในมาตรฐานเดียวกัน หนึ่งในสิ่งที่ชัดเจนที่สุดเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์คือ มีอยู่หนทางเดียว นั่นคือทำมันให้ดีที่สุด และทุกๆ คนควรทำเช่นนั้น. ผู้คนส่วนใหญ่มักพบว่า เป็นการยากที่จะกระทำสิ่งใดๆ ที่พวกเขาชอบเกี่ยวกับเพศ และโน้มน้าวให้คนอื่นๆ ชอบมันไปด้วย แท้จริงแล้วผู้คนไม่จำเป็นจะต้องจดจำการกระทำทางเพศว่าคนอื่นๆ ทำกันอย่างไร และความแตกต่างในการกระทำทางเพศนี้ก็ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดว่า เป็นการปราศจากรสนิยม, เป็นพฤติกรรมทางเพศที่ไม่ดี, สุขภาจิตที่แย่, หรือความขาดเขลาแต่อย่างใด
ทัศนะที่ว่าความคิดเกี่ยวกับเรื่องเพศควรจะถูกคิดเฉพาะเรื่องเพศเท่านั้น สำหรับศาสนาแล้วก็คือ ความคิดในการแต่งงานเพื่อการมีบุตร ส่วนในเชิงจิตวิทยาแล้วก็คือ คนรักเพศตรงข้ามที่มีวุฒิภาวะ ถึงแม้ว่าเนื้อหาของมันจะหลากหลาย มาตรฐานของเรื่องเพศก็ยังไปเกาะเกี่ยวอยู่กับความคิดแบบอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับตัวของมันเองเพียงอย่างเดียว รวมไปถึงสตรีนิยม และสังคมนิยม ซึ่งเป็นเพียงสิ่งที่เข้าใจได้อันหนึ่งเพื่อที่จะใช้ในการโต้แย้งว่า ทุกๆ คนควรจะเป็นเลสเบี้ยน ไม่จำเป็นต้องรักเดียวใจเดียว วิตถาร เหมือนกับที่เชื่อว่าทุกคนควรจะเป็นรักต่างเพศ แต่งงาน ให้ลองคิดถึงกลุ่มความคิดชุดหลัง ที่ถูกหนุนให้เป็นที่น่าปรารถนามากกว่าความคิดชุดแรกกลุ่มคนหัวก้าวหน้า ผู้ซึ่งรู้สึกละอายในการที่จะแสดงออกมาในพื้นที่อื่นๆ มักจะแสดงมันออกมาผ่านความแตกต่างทางเพศ เราจะต้องเรียนรู้ที่จะสรรเสริญความแตกต่างของวัฒนธรรมเหมือนกับความแตกต่างทางอัตลักษณ์ในการประดิษฐ์คิดค้นของมนุษย์ มากไปกว่าการแสดงออกของชนเผ่าป่าเถื่อน เราต้องการความเข้าใจทางมานุษยวิทยาถึงความแตกต่างกันในวัฒนธรรมทางเพศ
ตัวอย่างขบวนการเคลื่อนไหวร่วมสมัยในประเด็นความหลากหลายทางเพศ
โรคจิตถาวร
จากกรณีที่ สามารถ มีเจริญยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนข้อความในใบรับรองผลการตรวจเลือกทหารกองเกิน (แบบ สด. 43) ใบสำคัญสำหรับคนจำพวกที่ 4 (แบบ สด. 5) และใบสำคัญ (แบบ สด. 9) ในส่วนที่ระบุว่าตน "เป็นโรคจิตถาวร" ซึ่งเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความมนุษย์และทำให้เสื่อมเสียหรืออับอาย เมื่อวันที่ 29 พ.ย.2549 และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า สามารถเป็นผู้มีเพศกำเนิดเป็นชายแต่เลือกดำเนินชีวิตเพศหญิง (เรียกกันโดยทั่วไปว่าสาวประเภทสองหรือกะเทย) ศาลปกครองกลางจึงพิพากษาเพิกถอนใบสำคัญดังกล่าวของนายสามารถ เฉพาะในส่วนที่ระบุข้อความว่า "เป็นโรคจิตถาวร" และแก้ไขเป็น "ภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด" เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2554
บุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศกับการคัดเลือกทหารเกณฑ์
พันเอกไตรจักร์ นาคะไพบูลย์ ผู้อำนวยการกองการสัสดี กระทรวงกลาโหม อธิบายเรื่องใบรับรองผลการตรวจคัดเลือกเข้ารับราชการทหารของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศว่า ปัจจุบันจะไม่จัดผู้ที่มีเพศกำเนิดเป็นชายแต่เลือกดำเนินชีวิตเพศหญิง เป็นบุคคลจำพวกที่ 4 หรือจำพวก "พิการ ทุพพลภาพ หรือ มีโรคที่ไม่สามารถรับราชการทหารได้" เหมือนแต่ก่อน แต่จะกลายเป็นบุคคลจำพวกที่ 2 หรือจำพวก "ไม่สมบูรณ์ดีแต่ไม่ถึงกับทุพพลภาพ" ไตรจักร์กล่าวด้วยว่า บุคคลจำพวกที่ 2 ไม่ถือว่าเป็นโรคที่ขัดต่อการรับราชการทหารแต่อย่างใด และยังต้องเข้ารับราชการทหารอีกด้วย ถ้าบุคคลจำพวก 1 หรือคนจำพวกร่างกายสมบูรณ์ดีนั้นมีไม่เพียงพอ
คำนำหน้านามและบาดแผลที่เริ่มจางหาย
สิริลดา โคตรพัฒน์ หรือ ดาเป็นบุคคลที่มีอวัยวะเพศกำกวม (Intersex) ขณะที่เกิดมีอวัยวะเพศทั้งชายและหญิง โดยแพทย์ระบุว่าเป็นเพศชาย จึงได้แจ้งเกิดว่าเป็นเพศชาย แต่ตลอดระยะเวลาที่คำนำหน้าของดาเป็น ด.ช. หรือ นายนั้น ดากลับมีวิถีทางเพศอย่างเพศผู้หญิง และยังได้ผ่าตัดเป็นเพศหญิงแล้ว นี่เป็นสิ่งที่ทำให้ดาถูกล้อเลียน ถูกล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนอีกหลายประการ ดายังเล่าให้ฟังว่ายังเคยเกือบถูกข่มขืนถึง 3 ครั้ง แต่บาดแผลก็เริ่มจางหาย เมื่อในที่สุดดาได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพร้อมด้วยใบรับรองแพทย์ที่วินิจฉัยยืนยันอัตลักษณ์ทางเพศ เพื่อขอให้เปลี่ยนคำนำหน้านามจาก นายเป็น นางสาวซึ่งก็สำเร็จด้วยดีจากความร่วมมือกันระหว่างคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกับกรมการปกครอง อย่างไรก็ตาม ดาและเครือข่ายความหลากหลายทางเพศยังมีเป้าหมายต่อไปอีก คือการผลักดันให้มีการอนุญาตให้ผู้ที่มีเพศภาวะไม่ตรงกับเพศกำเนิดก็ต้องเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อได้เช่นเดียวกัน
อคติทางเพศที่สะท้อนผ่านการรับบริจาคเลือด
สุภัทรา นาคะผิว ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ เล่าถึงครอบครัวหนึ่งซึ่งมีลูกอยู่ 4 คน ต่อมาพบว่าลูกคนหนึ่งติดเชื้อ HIV ทั้งๆ ที่ไม่มีใครในบ้านติดเชื้อ HIV เลย พอย้อนกลับไปดูก็พบว่ามีพฤติการณ์ที่โอกาสได้รับเชื้ออยู่ คือการรับบริจาคเลือด ซึ่งเป็นเลือดจากสภากาชาดไทย ที่การรับบริจาคเลือดจากสถากาชาดไทยยังมีความเสี่ยงอยู่ เพราะชุดน้ำยาตรวจหาเชื้อ HIV สามารถตรวจพบเชื้อได้เฉพาะในผู้ที่ติดเชื้อมาแล้ว 16-22 วัน หมายความว่าถ้ามีผู้ได้รับเชื้อมาเพียง 2 วันก็จะไม่สามารถตรวจพบได้ว่าติดเชื้อมาแล้ว
สุภัทรา กล่าวด้วยว่า การคัดกรองผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อ HIV ในขั้นต้นจะมีการให้กรอกแบบฟอร์มซึ่งมีคำถามทำนอง ท่านมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกันหรือไม่ซึ่งเธอแสดงความคิดเห็นว่ามันไม่ได้อะไรจากการถามคำถามแบบนี้ ทำไมไม่ถามว่า ภายใน 1 เดือน ท่านมีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวยถุงยางหรือไม่คำถามแบบนี้จะมีประสิทธิภาพในการคัดกรองมากกว่าการใช้คำถามที่มีอคติทางเพศ ซึ่งได้ตีตราแบบเหมาเข่งว่าคนกลุ่มนั้นกลุ่มนี้เป็นผู้มีความเสี่ยงในการได้รับเชื้อ HIV และได้นำไปสู่การเลือกปฏิบัติในอีกหลายมิติ เช่นล่าสุดก็มีการไม่รับบริจาคเลือดจากกลุ่มชายรักชาย
กฎหมายรับรองสถานะชีวิตคู่จะนำไปสู่การยอมรับของสังคม
กฎหมายของไทยกำหนดให้คู่สมรสต้องเป็นชายกับหญิงเท่านั้น ทำให้ครอบครัวของผู้ที่มีเพศทางสรีระเหมือนกันไม่ได้รับการยอมรับในการใช้ชีวิตคู่ และมองว่าเป็นเรื่องอับอายและกลัวว่าจะไม่มีลูกให้สืบสกุล ซ้ำยังด่าว่า เสียดสี หรือบังคับให้บวชซึ่งถือว่าเป็นการทำร้ายจิตใจอย่างรุนแรง นำไปสู่ความรุนแรงอย่างกว้างขวางจากบุคคลรอบตัว การล่วงละเมิดทางเพศ ทุบตีหรือทำร้ายจนเสียชีวิตก็มีให้เห็นบ่อยครั้งในหน้าสื่อ และการที่ไม่สามารถแต่งงานกันได้นี้ก็ทำให้ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางกฎหมายและทางสังคมจากการเป็นคู่สมรสได้ เช่น สิทธิในผลประโยชน์จากการทำประกันภัย สิทธิในกรณีคู่สมรสเป็นข้าราชการ การแบ่งทรัพย์สินกันตามกฎหมายครอบครัว
การรณรงค์กฎหมายรับรองสถานภาพชีวิตคู่จึงไม่เพียงช่วยรับรองชีวิตคู่ของ LGBT เท่านั้น แต่ยังสามารถเป็นกลไกทางสังคมประการหนึ่งที่ช่วยทำลายอคติ สร้างความรู้ความเข้าใจที่ดีขึ้นในตัวตนทางเพศของ LGBTนอกจากนี้ต้องมีมาตรการทางสังคมอื่นๆ เพื่อสร้างความยอมรับของคนในสังคมต่อการใช้ชีวิตคู่ของ LGBT ซึ่งปัจจุบันมีการวางแนวทางปฏิบัติไว้แล้ว แต่ยังไม่มีคณะทำงานที่ชัดเจนและหลากหลาย
ซึ่งจากตัวอย่างข้างต้นนี้ ทำให้เห็นถึงขบวนการเคลื่อนไหวที่ต้องการขับเคลื่อนประเด็นต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นร่วมสมัยบนความหลากหลายทางวัฒนธรรม เชื้อชาติ และเรื่องเพศ เป็นต้น โดยความพยายามเรียกร้องเรื่อง “สิทธิ” ที่ตนเองและกลุ่มตนต้องได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกับผู้อื่น โดยไม่ถูกเลือกกระทำแต่อย่างใด
สรุป
          แน่นอน ! ในชีวิตประจำวันของคนเรากับวัฒนธรรมเป็นเรื่องเดียวกัน การอธิบายความหลายหลายทางวัฒนธรรมก็ต้องรวมถึง การยอมรับการอยู่ร่วมกันในพหุสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม แม้ว่าจะมีความขัดแย้งหรือการช่วงชิงความหมายที่เกิดขึ้น แต่ก็พบว่าในบริบทของการเปลี่ยนผ่านที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ การเกิดการเคลื่อนย้ายของผู้คน การค้า ข้อมูลข่าวสารที่ทำให้การใช้ชีวิตของคนเรามิอาจแยกออกจากกันได้
          อย่างไรก็ตามก็พบว่า ภายใต้บริบทของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมของวัฒนธรรมที่หลากหลาย อาทิ (อานันท์ กาญจนพันธ์ 2555)
(1)    การเรียกร้องสิทธิทางวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อยในชาติเพิ่มมากขึ้น เพราะจะขยายตัวไปเกี่ยวข้องกับสิทธิความเป็นพลเมืองและสิทธิชุมชนด้านต่าง ๆ เช่น ชาวเขาในภาคเหนือ กลุ่มผู้นับถือศาสนาอิสลามในภาคใต้ เป็นต้น
(2)    ความขัดแย้งกับวัฒนธรรมของกลุ่มชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่รุนแรงมากขึ้น เพราะการบังคับใช้กฎหมายที่ละเลย และมองไม่เห็นความแตกต่างและความหลายหลายทางวัฒนธรรม
(3)    การเมืองที่เกี่ยวกับอัตลักษณ์ของคนพลัดถิ่น เช่น แรงงานข้ามชาติ ผู้อพยพลี้ภัยตามชายแดน คนแต่งงานข้ามชาติ เป็นต้น ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน หรือการเคารพสิทธิของความเป็นคนที่เท่าเทียมกัน
(4)    ความขัดแย้งและอคติเกี่ยวกับวัฒนธรรมในฐานะที่เป็นลีลาชีวิต (Life style) ที่แตกต่างกัน เช่น วัฒนธรรมย่อยของคนกลุ่มต่าง ๆ และวัฒนธรรมเพศที่สาม เป็นต้น ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเคารพสิทธิของความเป็นปัจเจกชนที่เท่าเทียมกัน
          ดังนั้นจำเป็นต้องทำความเข้าใจความหมายและความซับซ้อนของวัฒนธรรมที่หลากหลายในพหุสังคม ที่เกิดขึ้นในบริบทของการเปลี่ยนผ่านทางสังคมและวัฒนธรรมในปัจจุบัน ในประเด็นสำคัญ ๆ ดังนี้
ก.       ประเด็นความเข้าใจวัฒนธรรมที่หลากหลายในบริบททางประวัติศาสตร์ของปรากฏการณ์ทางสังคมวัฒนธรรมและการต่อสู้ทางการเมือง
ข.       ประเด็นความเข้าใจวัฒนธรรมที่หลากหลายในฐานะที่เป็นมุมมองเกี่ยวกับอัตลักษณ์และชาติพันธุ์
ค.       ประเด็นความเข้าใจวัฒนธรรมที่หลากหลายในฐานะที่เป็นปฏิบัติการของการปรับความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างกลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมแตกต่างกัน เพื่อสร้างสังคมที่ยอมรับมากขึ้น
ง.        ประเด็นความเข้าใจวัฒนธรรมที่หลากหลายในฐานะที่เป็นทฤษฎีการเมืองและนโยบายเกี่ยวกับความเป็นพลเมือง







บรรณานุกรม
ชญาน์ทัต ศุภชลาศัย. (2556). ความใกล้ชิดของความหมายแห่งชีวิตสังคมวิทยาชีวิตประจำวัน. กรุงเทพ ฯ: สยามปริทัศน์.
ชาร์ลส์ เอฟ. คายส์ (2549). “บทแปลสรุป มานุษยวิทยาว่าด้วยเรื่องเมืองไทยและการศึกษาความขัดแย้งในสังคมไทย” แปลโดย รัตนา บุญมัธยะ. วัฒนธรรมไร้อคติ ชีวิตไร้ความรุนแรง เล่ม 1. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยาสิรินธร (องค์กรมหาชน).
ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ (2543) อภัยวิถี : มิตร/ศัตรู และการเมืองแห่งการให้อภัย กรุงเทพฯ: คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส.
ชิเกฮารุ ทานาเบ. (2553). พิธีกรรมและปฏิบัติการในสังคมชาวนาภาคเหนือของประเทศไทย. เชียงใหม่: ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา (ศูนย์ความเป็นเลิศ).
ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร (2545). สัญวิทยา โครงสร้างนิยม หลังโครงสร้างนิยมกับการศึกษารัฐศาสตร์. กรุงเทพฯ: วิภาษา.
ฐิรวุฒิ เสนาคำ (บรรณาธิการ). (2549). เหลียวหน้าแลหลังวัฒนธรรมป๊อบ. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยาสิรินธร (องค์กรมหาชน).
ฐิรวุฒิ เสนาคำ (2549). “โลกาภิวัตน์กับตรรกะใหม่ของความรุนแรง”. วัฒนธรรมไร้อคติ ชีวิตไร้ความรุนแรง เล่ม 2. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยาสิรินธร (องค์กรมหาชน).
ธเนศ วงศ์ยานนาวา. (2550).ปฏิวัติบริโภคนิยม จากสิ่งของฟุ่มเฟือยมาสู่สิ่งของจำเป็น...ทีวี ตู้เย็น จำเป็นต้องใช้.กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.
_______________. (2551). เพศจากธรรมชาติสู่จริยศาสตร์ จนถึงสุนทรียะ. กรุงเทพฯ: มติชน.
_______________(2552). ความไม่หลากหลายของความหลากหลายทางวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ: สมมติ.
ธีรยุทธ บุญมี. (2546). ความหลากหลายของชีวิต ความหลากหลายของวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ: สายธาร.
ธีรยุทธ บุญมี. (2546). พหุนิยม. กรุงเทพฯ: คณะสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาสังคมวิทยา.
นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ และ ปีเตอร์ แจ็คสัน. (บรรณาธิการ) (2556). เพศ หลากเฉดสี พหุวัฒนธรรมทางเพศในสังคมไทย. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยาสิรินธร (องค์กรมหาชน).
นิธิ เอียวศรีวงศ์. (พฤษภาคม 2547). บริโภค/โพสต์โมเดิร์น. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน.
บรรจง ศีละวงษ์เสรี. (2545) .แมคโดนัลดาภิวัฒน์ (McDonaldization) ภัตตาคารอาหารด่วน (fast-food restaurant) และกระบวนการทำงานแบบแมค (McDonaldized work process): การศึกษาเบื้องต้น. วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต คณะสังคม วิทยาและมานุษยวิทยา สาขาสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
แบ๊งค์ งามอรุณโชติ และถิรภาพ ฟักทอง. (2555). สูง ต่ำ ไม่เท่ากัน: ทำไมระบบการศึกษาจึงสร้างความเหลื่อมล้ำ?. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ศยาม.
ประสิทธิ์ ลีปรีชาและ บรรยง ตระการธำรง (2549). “ปิดตนสร้างฐาน: อคติทางชาติพันธุ์กับการไม่กล้าแสดงตนของคนบนที่สูง”. วัฒนธรรมไร้อคติ ชีวิตไร้ความรุนแรง เล่ม 1. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยาสิรินธร (องค์กรมหาชน).
ปรานี วงษ์เทศ. (2544). เพศและวัฒนธรรม. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: ศิลปวัฒนธรรม.
พัฒนา กิติอาษา. (มีนาคม 2546). คนพันธุ์ป๊อบ : ตัวตนคนไทยในวัฒนธรรมสมัยนิยม. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์กรมหาชน).
พัฒนา กิติอาษา. (2546). ท้องถิ่นนิยม. กรุงเทพฯ: คณะสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาสังคมวิทยา.
พิส อัลแลน. (2552). รู้ทันทุกความคิด ด้วยเทคนิคภาษากาย. กรุงเทพฯ : มติชน.
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ (2556). “กาลเทศะในวันเด็กแห่งชาติและความเป็นเด็กในพลเมืองไทยยุคพัฒนา”. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 34/ 3.
ยศ สันตสมบัติ และคณะผู้วิจัย. (2555). ชนชายแดนกับการก้าวข้ามพรมแดน. เชียงใหม่: ศูนย์ศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
ยศ สันตสัมบัติ (2537). มนุษย์กับวัฒนธรรม. กรุงเทพ ฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
โรล็องด์ บาร์ต. (2547) แปลโดย วรรณพิมล อังคศิริสรรพ. มายาคติ. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ.
ลิวอิส เอ. โคเซอร์ (นฤจร อิทธิจีระจรัส แปล) (2535). แนวความคิดทฤษฎีทางสังคมวิทยา ตอน เอมิล เดอร์ไคม์. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
ลิวอิส เอ. โคเซอร์ (วารุณี ภูริสินสิทธิ์ แปล) (2535). แนวความคิดทฤษฎีทางสังคมวิทยา ตอน ชาร์ลส์ ฮอร์ตัน คูลี่ย์ และ ยอร์จ เฮอร์เบิร์ต มี้ด. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
วรากรณ์ สามโกเศศ. (2544). “การศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมือง”. มติชน. 3 มีนาคม.
วัฒนา สุกัณศีล. (2548). โลกาภิวัตน์. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมวิจัยแห่งชาติ.
วิจิตร ว่องวารีทิพย์. (2542). เซ็กซ์ชวลลิตี้: บททดลองอ่านผ่านคอลัมน์ตอบปัญหาหัวใจ.  รัฐศาสตร์สาร. 21:2: 243-272.
วิลกินสันม ริชาร์ด. (สฤณี อาชวานันทกุล แปล) (2555). ความ(ไม่)เท่าเทียม. กรุงเทพฯ: ภาพพิมพ์.
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2550). สู่พรมแดนความรู้เรื่องวัฒนธรรมบริโภคนิยม. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร การประชุมทางมานุษยวิทยา ครั้งที่ 4 (2549). วัฒนธรรมไร้อคติ ชีวิตไร้ความรุนแรงกรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).
สันต์ สุวัจฉราภินันท์ (แปลและเรียบเรียง). (2549). ข้อห้ามและอคติทางเพศ: จากศาสนาสู่แนวคิดจิตเวช  ศาสตร์           http://v1.midnightuniv.org/midnight2544/0009999459.html.
สุชา จันทร์เอม. (2536). จิตวิทยาพัฒนาการ.พิมพ์ครั้งที่ 3 .กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช.
สุธาริน คูณผล. (2550)เรื่องของ ชีวิตประจำวัน”” รัฐศาสตร์สาร 28, 2: 114-146.
สุริชัย หวันแก้ว (บรรณาธิการ). (2547). เผชิญหน้าโลกาภิวัตน์ทางวัฒนธรรม:  นโยบายวัฒนธรรมในบริบทใหม่. กรุงเทพ ฯ: โรงพิมพ์เดือนตุลา.
สุริชัย หวันแก้ว และกนกพรรณ อยู่ชา (บรรณาธิการ). (2552). ศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยบนความหลากหลาย        และสับสน. กรุงเทพ ฯ: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
อนรรฆ พิทักษ์ธานิน. (2009). เพศวิถีของคนพิการ: มายาภาพและอคติ.           http://www.prachatai.com/journal/2009/05/23927
อภิญญา เฟื่องฟูสกุล (2546). อัตลักษณ์: การทบทวนทฤษฎีและกรอบแนวคิด. กรุงเทพฯ: คณะกรรมการสภา       วิจัยแห่งชาติ สาขาสังคมวิทยา.
อานันท์ กาญจนพันธุ์ (2555). ถกความคิดสังคมศาสตร์ในสังคมไทย. เชียงใหม่: ภาควิชาสังคมวิทยาและ   มานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
อานันท์ กาญจนพันธุ์ (2555). จินตนาการทางมานุษยวิทยา แล้วย้อนมองสังคมไทย. เชียงใหม่: ภาควิชาสังคม      วิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
อานันท์ กาญจนพันธุ์ (2555). เจ้าที่และผีปู่ยา: พลวัตของความรู้ชาวบ้าน อำนาจและตัวตนของคนท้องถิ่น.         เชียงใหม่: ภาควิชาสังคม    วิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
อันธิกา สวัสดิ์ศรี (2009). ตัวแบบความพิการทางสังคมกับการมองภาพ คนพิการใน สังคมไทย
อู่ทอง ประศาสน์วินิจฉัย. (2549). “การนำเสนอภาพลักษณ์ในชีวิตประจำวัน”. เบื้องหลังหน้ากาก. พิมพ์ครั้งที่      2. กรุงเทพ ฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์กรมหาชน). หน้า 106-143.