Thursday, January 25, 2007

หน่อกล้าของสังคมท่ามกลางพายุแห่งโลกาภิวัตน์[1]
ท่ามกลางวิกฤตของสังคม พายุแห่งโลกาภิวัตน์ถั่งโถมเข้ามา จนทำให้เราตั้งตัวไม่ติด บางคนหลงติดกับลมบน บางคนพริ้วตัวโอนอ่อนไปกับลม บางคนหายไปกับสายลม บางคนยืนแข็งต้านแรงปะทะของลม จนเหมือนกับโลกเรานี้ไม่มีแกน เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้เราไม่สามารถยืนได้อย่างมั่นคงและตรงได้ โดยเฉพาะหน่อกล้าใหม่ที่เพิ่งแตกหน่อ แตกยอดยิ่งซ้ำร้าย จะถูกดูดกลืนเข้าไปอยู่ในวังวนของพายุลูกนี้หมดหรือไม่ ?
ดูเหมือนว่าเป็นอุปมาอุปไมยที่ต้องการเปรียบให้เห็นว่า “นักศึกษา” เป็นเสมือนหน่อกล้าของสังคมที่เพิ่งแตกหน่อแตกยอดในช่วงเดือน ๖ ที่ต้องมาใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย เพื่อเข้ามาเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ มากมายและที่แตกต่างจากสิ่งที่คุ้นชินมาก่อน การเรียนรู้ของเราอาจไม่ใช่เพียงเป็นการเรียนในห้องเรียนเท่านั้น แต่สิ่งที่เราได้มากกว่านั้นคือ การเรียนนอกห้องเรียน ซึ่งถือว่าเป็นประสบการณ์ที่เกิดจากการสัมผัสโดยตรง ไม่ว่าการเรียนรู้ชีวิตผู้คนต่างถิ่นต่างที่ ต่างสังคม เช่น พี่ ๆเพื่อนนักศึกษาด้วยกัน ชาวบ้าน ชาวชุมชน และอาจารย์ ได้เรียนรู้หนทางการใช้ชีวิตเพื่อความอยู่รอดในสังคม ได้เรียนรู้ปัญหาและวิกฤตของชีวิตและสังคม เป็นต้น ซึ่งการเรียนรู้เหล่านี้เป็นการเรียนรู้ฉบับย่อที่เกิดขึ้นใน “รั้วมหาวิทยาลัย” เพียงแต่ว่าเราอยากจะเรียนรู้กับสิ่งเหล่านี้หรือไม่ ? พร้อมที่จะเรียนรู้หรือไม่ ?
ในชีวิตของหนุ่มสาวเปี่ยมล้นด้วยพลังที่มากมายไม่ว่าพลังบวกหรือพลังลบ เพียงแต่ว่าเราใช้พลังเหล่านั้นในทางสร้างสรรค์หรือไม่ ? เมื่อเรากลับมาดูสภาพในสังคมปัจจุบัน ปรากฏว่า หนุ่มสาวทุกวันนี้เข้าไปติดกับพายุแห่งโลกาภิวัตน์ โดยเฉพาะ “ลัทธิการประกวด” (Contestism) กลายเป็นค่านิยมสำคัญที่ต้องการแข่งขันเพื่อเอาชนะและความมีอำนาจเหนือบุคคลอื่น เราจะพบการประกวดเหล่านี้ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การเต้น การร้องเพลง ความสวย ความสามารถด้านต่าง ๆ ความเซ็กซี่ เป็นต้น ลัทธินี้จึงเน้นให้คนหนุ่มสาวเหล่านั้นมองแต่ตนเอง คิดแต่เรื่องของตนเอง กลายเป็น “ปัจเจกชนนิยม” จนลืมมองหรือเรียนรู้ผู้คน สัตว์และสิ่งของที่อยู่รอบ ๆ ตัวพวกเขา อีกทั้งไม่สามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับคน สัตว์ สิ่งของที่อยู่รอบ ๆ ตัว ๆเองและสังคมที่ตนอยู่ได้
ด้วยวิกฤตแห่งพายุโลกาภิวัตน์นี้เอง ชีวิตหนุ่มสาวในรั้วมหาวิทยาลัยได้รับผลกระทบกระแทกอย่างรุนแรง จนเกิดปัญหาร่วมกันในสังคมคือ “พลังหนุ่มสาวหายไปไหน ?” “นักกิจกรรมหรืออาสาสมัครเพื่อสังคมยังคงมีอยู่หรือไม่ ?” “ทำไมเดี๋ยวนี้ไม่มีใครอยากเป็นนักกิจกรรมเลย ?” หรือ “ทำไมนักกิจกรรมทุกวันนี้ไม่มีคุณภาพเลย ?”
คำถามเหล่านี้กลายเป็นภาพสะท้อนว่า ปัจจุบันการทำงานเพื่อสังคม หรือการทำกิจกรรมเพื่อส่วนร่วมได้เปลี่ยนไป ส่งผลให้คิดว่ากิจกรรมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันไม่ตอบสนองเป้าหมายที่แท้จริง อีกทั้งคนที่เข้ามาทำงาน ณ จุดนี้ทำเพื่อขอไปที หรือทำเพื่อผลประโยชน์ที่ตนควรจะได้รับมากกว่าสังคมส่วนรวมจะได้รับ จากสภาพที่เกิดขึ้นนี้ หากเรามุ่งเน้นที่ตัวคน “พลังหนุ่มสาว” “หน่อกล้าใหม่” ของสังคมกำลังถูกทำลาย โดยเฉพาะ “การมีจิตสำนึกทางสังคม” ซึ่งน่าจะหมายถึง การรู้ว่าตนเองอยู่ตรงไหนในสังคม สิ่งแวดล้อม และเห็นความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับสิ่งต่าง ๆ ในสังคม แม้ว่าการสร้างจิตสำนึกจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เราสามารถปฏิบัติได้โดยเริ่มต้น จากตัวเองก่อนเป็นสำคัญ นั่นคือ การรู้จักตนเอง รู้ว่าตนเองคือใคร ? กำลังทำอะไร? มีหน้าที่รับผิดชอบอะไรอยู่ ? รับรู้และอยู่ในโลกแห่งความจริง มีความรู้สึกร่วมรับผิดชอบในสิ่งที่กำลังปฏิบัติการอยู่ ต้องมีจุดยืนเป็นของตนเอง สามารถคิดสร้างสรรค์ มีฝัน และอย่าให้กรอบมาเป็นเส้นจำกัดจินตนาการของเราได้ และที่สำคัญ คือ “ตัวเอง” แต่อย่าหลงเมาอยู่กับตนเองจนลืมโลกภายนอกที่อยู่รอบ ๆ ตัวเรา ไม่ว่าคน สัตว์ สิ่งของ ครอบครัว ชุมชน และสังคม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ “ตัวเราเอง” ต้องเชื่อมโยงความสัมพันธ์เหล่านี้ให้ได้ โดยไม่ได้มองอย่างแยกส่วน หรือเฉพาะด้าน แต่มองอย่างองค์รวมที่เชื่อมสานต่อด้วยกัน
ทั้งนี้ทั้งนั้นเราเองมักได้รับอิทธิพลวิธีคิดแบบตะวันตก คือการแยกทุกสิ่งทุกอย่างเป็นสองขั้ว หรือแยกทุกอย่างออกเป็นคู่ตรงข้ามตลอดเวลา อย่างเช่น แยกระหว่างคนกับธรรมชาติ การแยกระหว่างความเป็นส่วนตัวและสาธารณะ (Private and Public) ขณะที่โลกตะวันออกวิธีการมองที่แยกเป็นสองขั้วนั้นไม่แบ่งแยกออกจากกัน แต่ยังคงอยู่ร่วมกันเพื่อการสร้างสมดุลย์ให้เกิดขึ้นในระบบ วิธีคิดเหล่านี้แน่นอนเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลและมีความสำคัญค่อนข้างมากที่นักกิจกรรมหรืออาสาสมัครเพื่อสังคมควรจะมองและตระหนักถึงการสร้างระบบคิดและระบบการทำงาน ซึ่งที่ผ่านมามักพบว่า การทำงานของนักกิจกรรมหรืออาสาสมัครต้องเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ นานา เช่น เมื่อมุ่งแต่งานส่วนตัวก็แสดงถึงความเห็นแก่ตัว ถ้ามุ่งแต่งานสาธารณะชีวิตส่วนตัวก็ล้มเหลว บางคนก็สนใจแต่เรียนอย่างเดียว บางคนเรียนบ้าง ทำกิจกรรมบ้าง (กิจกรรมนั่นต้องมีประโยชน์สำหรับฉัน) บางคนไม่เรียนมุ่งแต่ทำกิจกรรมอย่างเดียว เป็นต้น นั่นเพราะเรายังคงแยกแยะระหว่างกิจกรรมที่เป็นส่วนตัว (private) กับกิจกรรมที่เป็นสาธารณะ (public) ท้ายที่สุดแล้วไม่สามารถทำให้เราเกิดการเรียนรู้ที่แท้จริง ขาดความสมดุลย์ในระบบของตัวเองและสังคม ดังนั้นการเรียนรู้ที่แท้จริงจะต้องอยู่ท่ามกลางการปฏิบัติจริง จะช่วยให้เราหน่อกล้าใหม่ได้เปิดมุมมอง มีเครื่องไม้เครื่องมือในการมองสังคม สร้างคน เพิ่มพูนทักษะ ความคิดและเรียนรู้ให้ทำงานกับสังคมได้อย่างเต็มที่ โดยคิดว่ากิจกรรมส่วนตัวและสาธารณะเป็นเรื่องเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการทำกิจกรรมและการเรียน รวมถึงชีวิตส่วนตัวเป็นเรื่องเดียวกัน อาจเรียกว่า “ภารกิจ (กรรม)ในชีวิตประจำวัน” จะทำให้เราไม่รู้สึกว่างานกิจกรรมสาธารณะเป็นส่วนเกินของชีวิต ไม่รู้สึกว่าเป็นภาระของตัวเอง หากว่าเราสนุกกับกิจกรรมสาธารณะที่ทำและดำเนินการเป็นเรื่องของชีวิตประจำวัน เฉกเช่น การกินข้าว การฟังเพลง การพูดคุยกับเพื่อน สิ่งเหล่านี้ก็จะกลายเป็นสมดุลย์ที่เกิดขึ้นกับเรา “หน่อกล้าของสังคม” อย่างมีคุณภาพ แม้หน่อกล้าเหล่านั้นจะถูกปะทะด้วยพายุ ก็ไม่ทำให้หน่อกล้าเหล่านี้กลายเป็น “ซากที่ไร้ชีวิต” แต่เป็นชีวิตที่มีจิตวิญญาณพร้อมที่จะต่อสู้และเผชิญกับพายุที่โหมกระหน่ำทุกวินาที
ดังนั้นหากหน่อกล้าใหม่ที่กำลังแตกยอด ต้องพร้อมที่จะต้องเผชิญกับปัญหาอุปสรรคที่เป็นเสมือนพายุที่โหมกระหน่ำ และเป็นหน่อกล้าที่เต็มเปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณที่มีจิตสำนึกต่อสังคม
[1] สำหรับงานต้อนรับน้องใหม่ ๒๕๔๘ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

No comments:

Post a Comment