เวทีสาธารณะ : พื้นที่แห่งการสร้างตัวตนของหนุ่มสาว ? [1]
สิริพร สมบูรณ์บูรณะ [2]
มีคำถามว่า “นักศึกษาทำอะไรกันอยู่ ?” “”บทบาทของนักศึกษาคืออะไร ?” “หนุ่มสาวของสังคมที่มีเรี่ยวแรงและทรงพลังหายไปไหน ?”
แต่ทว่า พวกเขาเหล่านั้นมิได้หายไปไหน พวกเขายังคงมีเรี่ยวแรงที่ทรงพลังล้นเหลือ แต่เพียงว่าพลังที่พวกเขามีนั้น พวกเขาต้องต่อสู้กับการถาโถมของกระแสลมโลกาภิวัตน์ ที่ทำให้พวกเขาติดลมบน สนุกกับการโต้ลมหรือล้อเล่นกับลม โดยคิดว่าลมนี้จะสามารถพยุงพวกเขาไว้ได้ หรือไม่ก็พัดพาพวกเขาไปตามหาฝัน โดยไม่คิดว่า ลมนี้จะก่อตัวเป็นพายุที่เต็มไปด้วยห่าฝน ที่จะทำให้พวกเขาเปียกปอนจนตกลงมา หรือลมนั้นจะทำให้พวกเขาลอยล่องหายไปในห้วงอากาศที่อ้างว้าง ด้วยภาวะเหล่านี้เปรียบได้กับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น นั่นคือ
สภาพสังคมปัจจุบัน ปรากฏว่า หนุ่มสาวทุกวันนี้เข้าไปติดกับพายุแห่งโลกาภิวัตน์ โดยเฉพาะ “ลัทธิการประกวด” (Contestism) กลายเป็นค่านิยมสำคัญที่ต้องการแข่งขันเพื่อเอาชนะและความมีอำนาจเหนือบุคคลอื่น การประกวดเหล่านี้มีรูปแบบต่าง ๆ เช่น การเต้น การร้องเพลง ความสวย ความเซ็กซี่ รวมทั้งความสามารถด้านต่าง ๆ เป็นต้น ลัทธินี้จึงเน้นให้คนหนุ่มสาวเหล่านั้นมองแต่ตนเอง คิดแต่เรื่องของตนเอง กลายเป็น “ปัจเจกชนนิยม” จนลืมมองหรือเรียนรู้ผู้คน สัตว์และสิ่งของที่อยู่รอบ ๆ ตัวพวกเขา อีกทั้งไม่สามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับคน สัตว์ สิ่งของที่อยู่รอบ ๆ ตัวเองและสังคมที่ตนอยู่ได้
ที่ผ่านมามีการประกวดและเกมส์แข่งขันมากมายที่ถ่ายทอดทางสื่อโทรทัศน์ ไม่ว่าจะเป็นการประกวดมิสยูนิเวิร์ส หรือมิส/มิสเตอร์ต่าง ๆ นาง/นายแบบ (Top Model) การแข่งขันร้องเพลง The Star การแย่งชิงการใช้ชีวิตภายในบ้าน Big Brother การแข่งขันการเป็น AF ขวัญใจของคนทั้งประเทศ เป็นต้น การประกวดหรือการแข่งขันเหล่านี้กลายเป็นการนำเสนอหรือการแสดงความจริงให้กับสังคมรับรู้ หรือที่เรียกว่า Reality Show เท่ากับเป็นการสะท้อนถึงความพยายามนำเสนอตัวตนหรืออัตลักษณ์ของตนเองในรูปแบบต่าง ๆ โดยผ่านสื่อ ซึ่งถือว่าเป็นวิธีการที่รวดเร็วที่สุดในการประชาสัมพันธ์ตนเองและเป็นทางลัดที่ดีที่สุดของการแสดงตัวต่อสาธารณะ
ไม่เป็นที่แปลกใจมากนักว่า ทำไมการปฏิบัติการเหล่านี้ เรามักจะพบว่า ผู้คนหรือคนรุ่นใหม่นี้มักจะลืมสุภาษิตของไทยที่ว่า “ช้า ๆ ได้พร้าเล่มงาม” นั่นคือเมื่อจะทำอะไรสักอย่างหนึ่งหรือต้องการอะไรสักอย่างหนึ่ง ต้องการสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างสำเร็จรูป ไม่ต้องรู้ที่มาที่ไป หรือรากเหง้าสิ่งเหล่านั้นมากนัก ขอให้สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นและสำเร็จโดยเร็วและเร่งด่วน ไม่ต้องคิดอะไรมากมาย การเรียนรู้ก็ไม่จำเป็นต้องผ่านหรืออาศัยกระบวนการมากนัก ขอเพียงแต่บอกมาสำเร็จเสร็จเลยก็ยิ่งดี !
ฉะนั้นการประกวดหรือการแข่งขันจึงถูกมองว่าเป็นเรื่องที่ง่ายมากที่จะทำให้ตนเองได้รับรางวัล หรือเป็นเรื่องที่ง่ายมากที่ต้องการแสดงตัวต่อสาธารณะได้อย่างรวดเร็ว และถือว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสุดยอดของชัยชนะในชีวิตที่ต้องการ กลายเป็นค่านิยมที่ถือว่าเป็น “จุดสุดยอด” ของหนุ่มสาว หรือนักศึกษา นอกจากการเล่าเรียนที่พ่อแม่คาดหวัง แต่รวมถึงกิจกรรม ที่มุ่งเน้นการนำเสนอภาพพจน์ ของตนเองเป็นหลัก ที่นำไปสู่ความภาคภูมิใจและประสบการณ์ที่มีค่าที่เกิดขึ้นกับตนเองและวงศ์ตระกูล รวมถึงการสร้างวาทกรรมที่อาจเรียกว่า “เสมือนจริง” มากกว่าจะเรียกว่า “เป็นความจริง” เพราะสิ่งเหล่านี้ได้ถูกจัดตั้งปั้นแต่งพร้อมที่จะเสพหรือบริโภคได้ทันที โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการอะไรมากนัก ในที่สุดกลายเป็นความเคยชินกับสิ่งที่พร้อมบริโภคหรือ “สำเร็จรูป”
อย่างไรก็ตามปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ มิได้เป็นการกล่าวโทษหรือหาผู้รับเคราะห์กรรมที่เป็น “นักศึกษาหรือหนุ่มสาว” แต่เพียงอย่างเดียว แต่สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากความรู้ไม่เท่าทันและกระแสสังคมเองเป็นผู้นำพาไป บางครั้งทำให้เกิดการอ่อนล้า หรือไร้เรี่ยวแรงที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้ ต่อต้าน หรือต่อรอง แต่กลายเป็นการจำนนต่อภาวะที่เกิดขึ้น
ดังนั้น “บนพื้นที่ทางสังคม” ที่ถูกสร้างขึ้นสำหรับคนหนุ่มสาวหรือนักศึกษา แม้ว่านับวันจะยิ่งมีมากขึ้น แต่การมีเพิ่มมากขึ้นไม่ได้หมายความว่ามันหลากหลาย แต่มันถูกผลิตซ้ำแล้วซ้ำอีก เหมือน ๆ เดิม ทำให้การเผยร่างหรือการปรากฏของนักศึกษาบนพื้นที่สาธารณะเป็นเพียงพิธีกรรมหนึ่งที่ต้องการแสดงให้เห็นถึงบทบาทที่ตนเองอยากจะเป็น หรือการสวมหัวโขน อันมีจุดยืนที่แสดงความเป็นตัวของตัวเอง เพื่อตัวเอง และโดยตัวเอง ที่ซ้ำไปซ้ำมา จนกระทั่งพิธีกรรมเหล่านี้กลายเป็นพื้นที่ของการสร้างตัวตนของหนุ่มสาว ไม่ว่าพื้นที่แห่งนั้นจะเป็นพื้นที่ส่วนตัวหรือพื้นที่สาธารณะ
อาจกล่าวได้ว่า “พื้นที่สาธารณะ” ในที่นี้หมายถึง “เวทีประกวด” ที่ต้องการประชันขันแข็ง และนำเสนอตัวตน การยอมรับจากผู้คนในสังคม ที่เรียกว่า “แฟนคลับ” หรืออีกนัยยะหนึ่ง เวทีประกวดก็เป็นพื้นที่ที่สามารถทำให้ผู้คนโดยเฉพาะหนุ่มสาว/นักศึกษาเหล่านี้ ในฐานะผู้ไร้อำนาจได้มีโอกาสแสดงตัวตนและกำหนดบทบาททางสังคมของตนเองได้ ทำให้ดูเสมือนว่า เป็นการปลดปล่อยผู้ที่เข้าร่วมจากเดิมที่ถูกผูกมัดทางโครงสร้าง และความไม่เป็นธรรมในสังคม ได้มีโอกาสเข้าร่วมหรือมีส่วนร่วมบนเวทีประกวดด้วย แต่การปลดปล่อยนั้นกลายเป็นการเน้นหรือให้ความสำคัญเรื่อง “สิทธิส่วนบุคคล” ในมิติที่เน้นตัวตนของตนเอง นั่นคือ เรื่องของฉัน สิทธิ์ของฉัน ฉันจะทำ ! ทำไม ฉันไม่แคร์... จนกลายเป็นความพลาดทางความคิดบนหลักเหตุและผลของความหมายที่แท้จริงของ “สิทธิและหน้าที่” ของหนุ่มสาว/นักศึกษาในปัจจุบัน
ซึ่งหากจะกล่าวถึงพื้นที่สาธารณะในฐานะที่เป็น “ปริมณฑลสาธารณะ” [3] หมายถึง ที่ ๆ ที่ทำหน้าที่เปิดกว้างของการถกเถียงด้วยเหตุผล (Rationality) ที่ทำให้พลเมืองสามารถใช้สิทธิในส่วนความเป็นประชาสังคมในการตรวจสอบภาครัฐ โดยมีการยอมรับหลักการของการมีส่วนร่วมในระบบประชาธิปไตย (Democratic Participation) มีเสรีภาพในการพูด (Freedom of Speech) และให้หลักประกันต่อสิทธิทางการเมืองของกลุ่มคนต่าง ๆ” และบนพื้นฐานของความเป็นเหตุผลนี้ นำเราสู่เวทีสาธารณะที่วางรากฐานให้ภาคสังคมก่อตัวเข้มแข็งขึ้น และช่วยฟื้นฟูการมีส่วนร่วม เพื่อต่อรองกับอำนาจเชิงโครงสร้างไม่ว่าจะเป็นรัฐ หรืออำนาจการตลาดที่ต้องการครอบงำผู้คนในสังคม โดยเฉพาะในภาวะปัจจุบันสังคมแบบหลังสมัยใหม่ (Postmodern Society) ที่มุ่งให้ผู้คนมีความเป็นปัจเจกชนสูง มีความสุขกับการบริโภค อยู่รวมกันอย่างเสแสร้าง (Fake) ทำให้ผู้คนหลงลมอยู่กับความไม่จริง หรือเสมือนจริงจนคิดว่า นั่นคือความจริง ก็จะทำให้เกิดความชัดเจนมากขึ้นถึง การสร้างข้อถกเถียงหรือข้อเรียกร้องต่อสาธารณะและการนำเสนอตัวตนต่อสาธารณะบนหลักการของประชาธิปไตย
ขณะเดียวกันก็เป็นที่น่าสังเกตว่า ในทุกยุคทุกสมัยที่มีการเรียกร้อง “จิตสำนึกทางการเมือง” [4] กลุ่มคนที่ถูกตั้งคำถามถึงในช่วงเวลา 20-30 ปีที่ผ่านมาคือกลุ่ม “ปัญญาชน” หรือ “กลุ่มพลังนักศึกษา” ที่เป็นกลุ่มคนจำนวนมาก ก็ยังคงเป็น “ความหวัง” ที่คนรุ่นเก่า ๆ ต่างมองด้วยสายตาที่เต็มไปด้วยความรู้สึก “ผิดหวัง” ความผิดหวังที่กลุ่มปัญญาชนที่มีการศึกษาสูงกลุ่มนี้กลับเป็นกลุ่มทางสังคมที่ขาด “จิตสำนึกทางการเมือง” เป็นกลุ่มคนที่ไม่มีความกระตือรือร้น หรือสนใจกับ “ปัญหาของประเทศ” เพราะในอดีตที่ผ่านมา สังคมไทยได้อาศัย “พลังของนักศึกษา” เป็นกลุ่มคนที่ขับเคลื่อนทางสังคมมาโดยตลอด
นักศึกษาในปัจจุบันต่างให้ความสนใจกับโลก “ส่วนตัว” ที่มีวงอันจำกัด สนใจในกลุ่มของตนเอง สนใจในเรื่องราวของตนเอง และมองสิ่งที่นอกเหนือจากกลุ่มของตนเป็น “เรื่องอื่น” ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ต้องยอมรับว่า “สังคม” เกิดการ “เปลี่ยนแปลง” จากสังคมที่มีความเข้มแข็ง เต็มไปด้วยศีลธรรมอันดีงามได้กลายเป็นสังคมแห่ง “วัตถุนิยม” และกลายเป็นสังคม “บันเทิงนิยม” ข่าวสารที่ผ่านสื่อต่างๆ ให้กลุ่มปัญญาชนได้รับรู้ จึงเป็นเรื่องราวที่เน้นความสนุกสนานที่ไม่มีสาระเป็นหลัก ข่าวที่เกี่ยวข้องกับ “การเมือง” เป็นเพียงหัวข้อสุดท้ายที่กลุ่มวัยรุ่นจะพูดถึง
เมื่อสังคมไทยขาดพลังนักศึกษาที่ควรจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบ สังคมไทยจึงเข้าสู่สภาวะการขาดซึ่ง “จิตสำนึกทางการเมือง” อย่างสมบูรณ์แบบ ด้วยเหตุที่ “ชนชั้นกลาง” มีพลังที่อ่อนแรงลงเรื่อยๆในการเรียกร้อง “ความชอบธรรม” และความถูกต้องทางการเมือง ประกอบกับ “พลังของนักศึกษา” ระดับปัญญาชนที่มี “ค่าเป็นศูนย์” สังคมไทยจึงเข้าสู่ยุคของการเมืองไทยที่ “ขาดการตรวจสอบ[5]
ดังนั้นเราหนุ่มสาวเหล่านักศึกษาทั้งหลายอาจต้องกลับมานั่งไตร่ตรองถึงภาระอันหนักอึ้งที่สังคมคาดหวังหรือมอบหมายให้เรา และสิ่งที่สังคมมอบหมายให้นั้นมีคุณค่ามากน้อยเพียงใด ? และพวกเราจะต้องกลับมานั่งคิดอีกว่า แล้วจะทำอย่างไรต่อไป เพื่อให้สังคมเกิดความเข้มแข็ง และสร้าง “ปริมณฑลสาธารณะ” ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย โดยเฉพาะการเปิดกว้างทางความคิดและการถกเถียงด้วยเหตุผล บนพื้นฐานของสิทธิในความเป็นประชาสังคม ที่คนหนุ่มสาวควรได้ทำหน้าที่ในการตรวจสอบรัฐและเอกชนที่มุ่งหวังจะเอาเปรียบคนในสังคมเดียวกัน
[1] เอกสารสำหรับโครงการ สัมมนาสภานิสิต-นักศึกษาระดับอุดมศึกษาทั่วประเทศ ครั้งที่ 13 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ วันที่ 10 – 13 พฤศจิกายน 2549 ณ ท่าศาลา นครศรีธรรมราช
[2] อาจารย์ประจำสำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นครศรีธรรมราช
[3] Kellner ,2003 : p.5
[4] กาลัญ วรพิยุต มติชน ฉบับวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549
No comments:
Post a Comment