Wednesday, July 8, 2015

ระนองกับโรฮิงญา: การจัดการปัญหาระดับท้องถิ่น ชาติ และนานาชาติ? (ตอนที่ 1)

ระนองกับโรฮิงญา: การจัดการปัญหาระดับท้องถิ่น ชาติ และนานาชาติ?[1]
สิริพร สมบูรณ์บูรณะ[2]
ย้อนไปปีพ.ศ. 2551 ข่าวการเข้ามาของกลุ่มโรฮิงญาในจังหวัดระนองเป็นที่โด่งดังไปทั่วโลก เริ่มต้นเมื่อนักท่องเที่ยวต่างชาติเห็นการจับกุมเรือชาวโรฮิงญาเข้ามาบริเวณน่านน้ำไทย บริเวณเกาะทรายดำ จากนั้นก็เป็นข่าวมีนักข่าว CNN และ BBC เข้ามาทำข่าวอย่างมากมาย ทำให้ประเด็นนี้ถูกจุดชนวนขึ้นมา ขณะที่องค์กรระหว่างประเทศก็ได้เสนอให้จังหวัดระนองเป็นที่ตั้งของค่ายผู้อพยพเหล่านี้ในเชิงมนุษยธรรม แต่ก็ได้รับการต่อต้านจากประชาคมชาวจังหวัดระนอง เพียงเพราะข้อเสนอและการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ไม่ได้มีการศึกษาหรือทำความเข้าใจปัญหาเหล่านี้มาก่อน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วคนท้องถิ่นในจังหวัดระนองเองก็อยู่กับคนเหล่านี้ได้โดยไม่จำเป็นต้องเรียกว่า “โรฮิงญา” แต่รู้จักแต่ “กะลาดำ” หรือ “พม่าที่นับถืออิสลาม” ที่มีจำนวนมากและอยู่กันเป็นกลุ่มและชุมชนที่คนท้องถิ่นรู้จักเป็นอย่างดี
                หากพิจารณาในกรณีจังหวัดระนองซึ่งเป็นจังหวัดชายแดนใต้สุดของประเทศไทยที่มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเมียนมาร์ โดยมีแม่น้ำและทะเลกั้นเส้นพรมแดนของทั้งสองประเทศ ทำให้จังหวัดระนองมีช่องทางเข้าออกที่สะดวกสำหรับการเดินทางของคนทั้งสองประเทศ แต่มีช่องทางเข้า-ออกไม่กี่ช่องทางเท่านั้นที่รัฐทั้งสองฝ่ายกำหนดเป็นประตูอย่างถูกต้อง อีกทั้งมีเกาะแก่งจำนวนมาก ทำให้สะดวกต่อการเข้า-ออกทางทะเล รวมทั้งปลอดจากการถูกจับกุมจากทางราชการ ดังนั้นก็จึงเป็นช่องทางหนึ่งของการเข้ามาของโรฮิงญา ที่ทยอยหลั่งไหลเข้ามาทางเรือเป็นจำนวนมาก บ้างก็ถูกผลักดันออกจากน่านน้ำไทย บ้างก็ล้มตายเป็นจำนวนมาก บ้างก็หลบหนีเข้าเมืองและถูกนายหน้าค้ามนุษย์ส่งขายต่อ และบ้างก็ได้รับความช่วยเหลือจากคนไทยและเครือข่ายเพื่อนโรฮิงญาด้วยกัน จนกระทั่งในช่วงปี 2551 พบว่า มีภาพของการถูกผลักดันออกจากน่านน้ำไทย และการลงโทษโดยหน่วยงานภาครัฐได้ถูกเผยแพร่ออกไป ทำให้เกิดกระแสความสนใจของสื่อ องค์กรพัฒนาเอกชนทั้งระดับท้องถิ่น ระดับชาติและระดับนานาชาติ  ปรากฏการณ์ “ผู้อพยพทางเรือ” หรือที่เรียกว่า “Boat People” เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายนี้มิได้กลายเป็นปัญหาระดับท้องถิ่นอย่างเดียว แต่ถูกยกระดับของปัญหาจนกลายเป็นปัญหาระดับสากล โดยเฉพาะเรื่อง “สิทธิมนุษยชน”
                แต่ก็พบว่าปัญหาการเข้าเมืองของชาวโรฮิงญาที่เข้ามานี้ ยังถูกทำให้เกิดความเข้าใจผิด ๆ หรือถูกมองในเชิงลบ ดังเช่น การพาดหัวข่าวของสื่อท้องถิ่น เรื่อง “มหันตภัยโรฮิงญา” [3] “สั่งคุมเข้มพื้นที่ชายแดน” “โรฮิงญา” จ่อทะลักเข้าไทยนับแสน หรือ “ระดมกวาดล้าง-เร่งผลักดันกลับ เป็นต้น อีกทั้งมุมมองเชิงลบของการยอมรับหรือการเฝ้าระวังถึงความมั่นคงของชาติของเหล่าหน่วยงานต่าง ๆ ของภาครัฐ เป็นต้น อย่างเช่นกรณีอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดระนองท่านหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า “ทางจังหวัดระนองได้สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับด้านความมั่นคงปลอดภัยเฝ้าติดตามระวังการทะลักเข้ามาของแรงงานข้ามชาติพม่าที่ทะลักเข้ามาในไทยเพิ่มมากขึ้น......โดยเฉพาะกลุ่มที่ทางจังหวัดและหน่วยงานความมั่นคงสั่งเฝ้าระวังเป็นกรณีพิเศษ นั่นคือ โรฮิงญา”
                อีกทั้งยังกล่าวไว้ว่า “...ทราบว่าคนกลุ่มนี้ได้มีการหลบหนีออกนอกประเทศเพื่อทำงานหรือตั้งถิ่นฐานใหม่ โดยมีประเทศเป้าหมายคือ ไทยและมาเลเซีย ซึ่งมีช่องทางการหลบหนีเข้าสู่ไทย 2 ช่องทางคือ แม่สอดและระนอง ในช่วงที่ผ่านมาทางจังหวัดระนองโดยการบูรณาการปฏิบัติการของทุกหน่วยงานสามารถจับกุมบุคคลเหล่านี้ได้อย่างต่อเนื่อง รวมแล้วกว่า 2,000 คน จากการสอบถามบุคคลเหล่านั้นพบว่าส่วนใหญ่ต้องการเดินทางผ่านไทยเพื่อไปทำงานยังประเทศที่สาม ทางจังหวัดก็พยายามผลักดันกลับ แต่ปรากฏว่ามีการย้อนกลับเข้ามาอีก ขณะนี้จึงสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจเข้มบริเวณชายแดนตลอด 24 ชั่วโมง หากพบว่า มีการจับกุมและผลักดันกลับทันที”
                แม้ว่าจะมีการผลักดันให้โรฮิงญากลุ่มนี้ออกนอกประเทศ หรือส่งประเทศที่สาม แต่ก็พบว่า ยังคงหลงเหลือคนกลุ่มนี้จำนวนมากในจังหวัดระนองที่อยู่อย่างกระจัดกระจาย หลบๆ ซ่อนๆ อยู่ตามชุมชนต่าง ๆ บางคนเข้ามาอยู่เป็นระยะเวลานานจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย เนื่องจากโรฮิงญาเหล่านี้เมื่อเข้ามาในจังหวัดระนองแล้วส่วนหนึ่งเดินทางต่อไปจังหวัดอื่นหรือประเทศมาเลเซีย อีกส่วนหนึ่งยังคงปักหลักอยู่อาศัยกับเครือญาติหรือเพื่อนที่อยู่อาศัยมาก่อนช่วยหางานทำ ซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้าง
ในช่วงที่ผ่านมา ตั้งแต่ปีพ.ศ.2549 ถึงพ.ศ. 2551 การดำเนินการของไทยยังคงเน้นมาตรการสกัดกั้นใน 2 ลักษณะคือ (1) กรณีโรฮิงญาสามารถเข้าถึงแนวชายฝั่งแล้วจะดำเนินการจับกุมโดยใช้กำลังประชาชน นำโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ตำรวจ กำลังป้องกันชายแดน ทหารเรือ และตำรวจน้ำส่งมอบให้ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในพื้นที่ (ตม.) ดำเนินคดีและผลักดันตามมติคณะรัฐมนตรี และ (2) กรณีสามารถจับกุมได้ขณะยังไม่ขึ้นฝั่ง จะใช้วิธีการผลักดันออกไป แต่เมื่อภารกิจนั้นไม่เป็นผลในปีพ.ศ.2552 จึงมีมติให้การสกัดกั้นและแก้ไขรับผิดชอบหลักอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)
แต่ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนกลุ่มนี้ก็เป็นที่ตระหนักนั่นคือ การถูกเฝ้ามองหรือติดตาม ปัญหาด้านมนุษยธรรม ปัญหาการค้ามนุษย์ การละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นต้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้จึงส่งผลต่อภาวะความเสี่ยงของชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ที่ยังคงอาศัยอยู่ในจังหวัดระนอง และมิอาจแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้หมดไปได้ เพียงแต่สามารถป้องกันการเกิดปัญหาเหล่านี้ได้ ซึ่งจำเป็นต้องมีการศึกษาและทำความเข้าใจสถานการณ์ของโรฮิงญาที่อาศัยอยู่ในจังหวัดระนอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าสู่ตลาดแรงงาน ความต้องการและทักษะที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน ที่สำคัญคือ การมีโอกาสเข้าถึงและได้รับการช่วยเหลือในสิทธิขั้นพื้นฐานจากภาครัฐได้อย่างไร
นี่คือที่มาของการศึกษาครั้งนี้ที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับความสนใจของโรฮิงญาที่อาศัยในจังหวัดระนองในการเข้าสู่ตลาดแรงงานทางด้านสังคมและงานด้านมนุษยธรรม นอกเหนือจากงานภาคอุตสาหกรรมหรือภาคบริการ เพื่อมีส่วนช่วยในการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับโรฮิงญาด้วยกันเอง กับประชาชนไทย รวมถึงการพัฒนาและแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดระนอง
การกล่าวถึง “โรฮิงญา” เป็นที่เข้าใจกันอย่างมีนัยยะคือ กลุ่มบุคคลที่เข้ามาในประเทศไทยใน “ภาวะไร้สัญชาติ”ซึ่งหมายถึงภาวะที่บุคคลไม่มีพันธะทางกฎหมายในฐานะสมาชิกของรัฐใดรัฐหนึ่ง เขาจึงอยู่ในสถานะไร้สัญชาติ  ภาวะไร้สัญชาติอาจเกิดได้จากการถูกเพิกถอนสัญชาติและการไม่มีสัญชาติตั้งแต่แรกเกิดเนื่องจากบุคคลเหล่านี้โดยถิ่นฐานดั้งเดิมแล้วอยู่ในรัฐอาระกัน ประเทศสหภาพเมียนมาร์ รอยต่อกับประเทศบังคลาเทศ แต่ไม่ได้รับการยอมรับในฐานะประชาชนหรือพลเมืองของประเทศสหภาพเมียนมาร์ อีกทั้งถูกมองว่าเป็นกลุ่มที่อันตรายต่อความมั่นคงของชาติ จะต้องการจำกัดและกำจัดคนเหล่านี้ในรูปแบบต่าง ๆ ทำให้บุคคลเหล่านี้จึงไม่มีสถานภาพใด ๆ หรือไร้รัฐ เพราะไม่มีรัฐใด ๆ ให้การยอมรับว่า โรฮิงญานี้เป็นพลเมืองของรัฐนั้น ๆ การไม่ยอมรับว่าเป็นพลเมือง จึงนำไปสู่การปราศจากเอกสารรับรองสถานะจากประเทศต้นทาง และทำให้ไม่สามารถเดินทางข้ามพรมแดนได้อย่างถูกกฎหมาย
ทั้งนี้เนื่องจากสถานการณ์ของโรฮิงญาในประเทศสหภาพเมียนมาร์นั้น เป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้รับการรับรองความเป็นพลเมืองพม่า ของรัฐบาลพม่าตั้งแต่ยุคสมัยรัฐบาลเนวิน หลังปีค.ศ. 1962 โรฮิงญาถูกจัดอยู่ในพวก “คนต่างชาติ” (Foreigners) และถือว่าเป็นผู้อพยพผิดกฎหมาย จึงมีการออกกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิและความเป็นพลเมืองพม่าซึ่งร่างขึ้นใหม่และประกาศใช้ในปี ค.ศ. 1982 แทนฉบับเดิมปี ค.ศ. 1948 (แก้ไขเพิ่มเติมปี ค.ศ. 1960)  ดังนั้นโรฮิงญากลุ่มนี้จึงไม่สามารถอยู่ในสถานะพลเมืองพม่าได้ สิทธิต่างๆ ย่อมไม่เท่าเทียม จึงมีการกำหนดให้คนเหล่านี้จะต้องมีการแจ้งทะเบียนรายชื่อสมาชิกในครอบครัวอย่างละเอียดทุกคน ไม่อนุญาตออกนอกพื้นที่อยู่อาศัย หากจำเป็นต้องขออนุญาตอย่างเป็นทางการ ไม่สามารถแต่งงานกันหรือมีบุตรได้ การขออนุญาตการแต่งงานพร้อมค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายให้กับรัฐบาลพม่า การเสียภาษีทำกิน ภาษีนาข้าว ภาษีการเกิด การตาย เป็นต้น[4]
สถานการณ์โรฮิงญาในจังหวัดระนอง
                หากเราย้อนไปนับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2542 จะพบว่ามีกระแสข่าวเกี่ยวกับโรฮิงญาผ่านสื่อต่างชาติ และกลุ่มสิทธิมนุษยชนที่เผยแพร่ทั่วโลก โดยการนำเสนอภาพทหารเรือไทยกระทำการผลักดันโรฮิงญาอย่างทารุณ โดยปล่อยทิ้งให้ลอยเรืออยู่กลางทะเล
                จากข้อมูลของสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดระนองได้มีการจับกุมโรฮิงญาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2549 ถึง ปีพ.ศ. 2552 ไว้ดังนี้[5] ในปีพ.ศ. 2549 จับกุมโรฮิงญาได้จำนวน 1,225 คน โดยกองทัพเรือได้ตรวจพบการหลบหนีเข้าเมืองและจับกุมดังกล่าว ทั้งนี้เนื่องจากคนกลุ่มนี้ได้อพยพเข้ามามากขึ้นเรื่อย ๆ พบว่า ทั้งหมดเป็นผู้ชายและนับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงตั้งข้อสังเกตว่า โรฮิงญานี้อาจจะมีส่วนเกี่ยวพันกับปัญหาสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
                ในปีพ.ศ.2550 กองทัพเรือร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่จับกุมโรฮิงญานี้ได้อีก 2,763 คน พร้อมเรือจำนวน 21 ลำ การดำเนินการตามนโยบายจับกุมและผลักดันผู้ลักลอบเข้าเมืองกลุ่มนี้ออกนอกน่านน้ำ อันเป็นนโยบายที่ดำเนินการต่อเนื่องกันอย่างเป็นระบบตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ระนอง พังงาและภูเก็ต
                ในปีพ.ศ.2551 กองทัพเรือได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่อุทยานของหมู่เกาะสุรินทร์ว่า พบโรฮิงญา จำนวน 205 คน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาคที่ 4 ส่วนแยก1 เป็นหน่วยอำนวยการหลักในการแก้ไขปัญหาผู้ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย โรฮิงญาในส่วนพื้นที่จังหวัดระนองและพังงา แต่รวมตลอดทั้งปีมีการจับกุมโรฮิงญาได้จำนวนทั้งสิ้น 4,886 คน
                ในปีพ.ศ.2552  กองทัพเรือภาคที่ 3 ได้ตรวจพบผู้ลักลอบเข้าเมืองโรฮิงญาจำนวน 78 คนที่ ปากน้ำระนอง และถูกกักตัวอยู่ ณ อาคารควบคุมผู้ต้องกักด่านตรวจคนเข้าเมืองระนอง เพื่อรอการกำหนดนโยบายส่งตัวกลับจำนวนทั้งสิ้น 86 คน ในปีพ.ศ.2553 มีการจับกุมได้ประมาณ 2,351 คน  ในปีพ.ศ.2554 จับกุมได้ประมาณ 2,552 คน พ.ศ. 2555 มีการดำเนินการแล้วรวม 28 ครั้ง มีโรฮิงญาที่หน่วยงานเข้าควบคุมและสกัดกั้นพร้อมผลักดันออกนอกเขตอาณาจักรไทยรวม 2,177 คน
ในปีเดียวกัน ได้มีจดหมายเปิดผนึกถึง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี สมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เรื่อง “ข้อเรียกร้องให้มีการไต่สวนที่เปิดเผยและเป็นอิสระต่อข้อกล่าวหาเจ้าหน้าที่ไทยละเมิดและสังหารโรฮิงญา” และผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง (นายวันชาติ วงษ์ชัยชนะ) เรื่อง “กรณีการผลักดันผู้แสวงหาที่พักพิง/ผู้อพยพโรฮิงญาออกสู่น่านน้ำสากลอันขัดต่อหลักมนุษยธรรมสากล”โดยคณะกรรมการเครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ (ประเทศไทย) และคณะกรรมการเครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งจดหมายทั้ง 2 ฉบับนี้มุ่งเน้นให้มีการปฏิบัติต่อคนกลุ่มนั้นตามหลักมนุษยธรรมสากล โดยมีการเรียกร้องให้รัฐปฏิบัติตามภาระผูกพันที่รัฐไทยมีต่อปฏิญญากรุงเทพว่าด้วย การโยกย้ายถิ่นฐานที่ไม่ปกติปี 2542  ซึ่งระบุไว้ว่า “...บุคคลต้องได้รับการปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรมรวมถึงการช่วยเหลือด้านสุขภาพที่เหมาะสมและการบริการด้านอื่น ๆ ...” และมิควรปล่อยให้มีการปฏิบัติอันไม่เป็นธรรม อีกทั้งรัฐไทยต้องปกป้องความมั่นคงทางชีวิต ความปลอดภัยและความเป็นอยู่ที่ดีของโรฮิงญา ขณะที่พวกเขาเหล่านี้ได้แสวงหาความปลอดภัยและที่หลบภัยในดินแดนไทย พวกเขาควรได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานและการสนับสนุนความต้องการด้านความอยู่รอด ตามหลักการมาตรฐานด้านมนุษยธรรมที่ได้ระบุไว้
                ในปีพ.ศ.2556 เมื่อเดือนมกราคม พบว่าโรฮิงญาจำนวน1,390 คน ได้ถูกกักตัวในห้องควบคุมของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในจังหวัดต่าง ๆ เช่น สงขลา พังงา ระนอง รวมถึงบ้านแรกรับของสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในจังหวัด สงขลา ปัตตานี นราธิวาส เป็นต้น[6] และในเดือนกุมภาพันธ์ก็ได้มีการจับกุมผู้หลบหนีเข้าเมืองกลุ่มโรฮิงญาอีกจำนวน 1,752 คน แบ่งเป็น ชาย 1,442 คน หญิงและเด็กจำนวน 310 คน โดยทั้งหมดกำลังอยู่ในกระบวนการทางกฎหมายตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 [7]
                อย่างไรก็ตามข้อมูลดังกล่าวนี้ยังไม่ได้นับรวมชาวโรฮิงญาที่สามารถหลบหนีการจับกุมได้ หรือกลุ่มที่เข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่เป็นเวลานาน ทั้งนี้สาเหตุสำคัญของการหลบหนีออกจากประเทศสหภาพเมียนมาร์ เนื่องจากภาวการณ์ถูกกดดันทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม โดยเฉพาะการไม่ยอมรับของรัฐบาลพม่าในฐานะเป็นพลเมืองของตน ขณะเดียวกันรัฐบาลไทยก็ไม่มีนโยบายเปิดรับคนกลุ่มนี้ เนื่องจากไม่มีการรองรับเรื่องพิสูจน์สัญชาติจากชาวพม่า จึงนำพระราชบัญญัติ คนเข้าเมืองของไทย พ.ศ.2522 มาแก้ปัญหา โดยปราศจากการเข้าใจและยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า คนกลุ่มนี้จึงไม่สามารถเข้าไทยและประเทศใด ๆ ได้อย่างถูกกฎหมาย เพราะไม่มีรัฐใดๆ ให้การยอมรับว่า โรฮิงญากลุ่มนี้คือ พลเมืองของรัฐนั้น ๆ การไม่ยอมรับพวกเขาเป็นพลเมือง การไร้สัญชาตินำไปสู่การปราศจากเอกสารที่รองรับสถานะของประเทศต้นทาง และไม่สามารถเดินทางข้ามพรมแดนได้อย่างถูกกฎหมาย อีกทั้งมีการเชื่อมโยงเข้ากับกลุ่มก่อการร้ายในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการสร้างเครือข่ายในประเทศไทย เพื่อเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ เช่น การขอสัญชาติไทย เป็นต้น จากการให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อหนังสือพิมพ์ของ พญ. คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ได้ตั้งข้อสังเกตว่า “จากการตรวจดีเอ็นเอของโรฮิงญาหลายครั้งมีข้อน่ากังวลในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสามจังหวัดชายแดนใต้ คือ ในช่วงปี 2552 ตรวจพบชาวโรฮิงญาที่ถือบัตรสัญชาติมาเลเซียเข้ามาก่อเหตุในพื้นที่สามชายแดนภาคใต้ แม้กรณีนี้ไม่ได้พบบ่อย แต่มีข้อสงสัยว่า เข้ามาเส้นทางใด เนื่องจากชาวโรฮิงญาไม่มีศักยภาพพอที่จะลอยเรือไปขึ้นฝั่งที่มาเลเซียได้ นอกจากนี้ จากการตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ยังพบว่า ในกลุ่มของผู้ลักลอบหลบหนีเข้าเมืองมีการนำวัตถุระเบิดจากประเทศอินเดียเข้ามาด้วย จึงน่าสงสัยว่า มีขบวนการช่วยเหลือเคลื่อนย้ายคนกลุ่มนี้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการผลักดันคนเหล่านี้กลับประเทศ แต่ในความเป็นจริงโรฮิงญาจะถูกส่งขึ้นฝั่งที่ จังหวัดสตูล ระนองและจังหวัดอื่น ๆ และบางส่วนจะถูกส่งต่อเข้าไปมาเลเซีย...จากการตรวจสอบขยายผลถึงที่พักโรฮิงญาผู้ต้องหา 2 รายให้การรับสารภาพว่า เป็นโรฮิงญาที่อพยพมาจากชายแดนด้านแม่สอด แต่มาอาศัยอยู่ที่สุไหงโก-ลก และต่อมาถูกส่งตัวไปฝึกกับอาร์เคเค และกลับเข้ามาก่อเหตุในจังหวัดชายแดนภาคใต้...” [8]
                การพิจารณาถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกรณีการหลบหนีเข้าเมืองของโรฮิงญายังไม่มีความชัดเจนและมีข้อสงสัยมากมายเกี่ยวกับผู้ที่มีส่วนรู้เห็นของการเดินทางเข้า-ออก โดยใช้เส้นทางประเทศไทยเป็นทางผ่าน รวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นเรื่องของนายหน้า ขบวนการค้ามนุษย์ที่มีเจ้าหน้าที่ไทยให้ความร่วมมือ จากการสัมภาษณ์หนึ่งในนายหน้าค้ามนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายชาวโรฮิงญาทั้งเด็ก สตรีและผู้ชายจำนวนกว่า 73 คนที่อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา ได้เล่าว่า “ได้มีการโอนเงินจากมาเลเซีย 1,500,000 บาท ให้แก่เจ้าหน้าที่ไทย ซึ่งจำนวนเงินนี้ได้รับการยืนยันจากสมาชิกโรฮิงญาที่อาศัยในประเทศไทย” [9] อีกทั้งแม้แต่การให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดในการชี้ขาดไม่ให้โรฮิงญาขึ้นฝั่งที่จังหวัดระนอง โดยปราศจากการคำนึงถึงการนำหลักการแก้ปัญหาด้านอื่น ๆ มาร่วมใช้ และคำนึงถึงผลกระทบที่จะติดตามมาต่อเนื่อง  ตัวอย่างกรณีนายวันชาติ วงษ์ชัยชนะ ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง ให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2552 กล่าวไว้ว่า “ระหว่างเดือนตุลาคมถึงกุมภาพันธ์ของทุกปี ถือเป็นช่วงที่กลุ่มคนเหล่านี้เดินทางมากที่สุด เนื่องจากปลอดจากมรสุม และพายุต่าง ๆ โดยเฉพาะปีนี้ทราบว่า โรฮิงญานับหมื่นคนจะเดินทางเข้าสู่ประเทศไทย โดยเข้ามาขึ้นฝั่งที่จังหวัดระนอง เพราะมีกลุ่มบุคคลนับถือศาสนาเดียวกันคอยช่วยเหลือ รวมถึงกลุ่มขบวนการค้าแรงงานเถื่อน ที่มีเครือข่ายคอยช่วยเหลืออีกทาง ตนได้ประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจเข้มแนวชายแดนตลอด 24 ชั่วโมง ถ้าพบจะผลักดันไม่ให้เข้ามาใกล้ฝั่ง หรือขึ้นฝั่งได้เป็นอันขาด แต่ทุกอย่างก็เป็นไปตามหลักมนุษยธรรม”[10]
                ในเดือนมีนาคม 2552 ทหารได้ใช้อำนาจกฎอัยการศึกษา[11]ในการตรวจค้นและล้อมพื้นที่บริเวณชุมชนซอย 2 ซอย 7 และซอย 9 หมู่ 5 ต.บางริ้น และซอยนกเขา ต.บางริ้น อ.เมือง จ.ระนอง นำโดย พ.ท.เจนยุทธ สทิสินทร์ เสนาธิการ หน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารราบที่ 25 (ฉก.ร.25) กองร้อย 2521 จังหวัดระนอง หลังจากสืบทราบว่าเป็นแหล่งพักพิงขนาดใหญ่ของโรฮิงญา ในการตรวจค้นพบว่า มีโรฮิงญาทั้งหมด 90 คน รวมทั้งแรงงานข้ามชาติพม่าที่นับถือศาสนาอิสลามอีกจำนวนหนึ่ง จึงมีการควบคุมตัวไปสอบสวนและตรวจสอบเอกสารแสดงตนที่กองร้อยอาสาสมัครรักษาดินแดน จ.ระนอง ซึ่งร.อ. เฉลิมพล เทโหปการ ผู้บังคับกองร้อย 2521 ฉก.ร.25 กล่าวว่า “เจ้าหน้าที่ได้แยกควบคุมตัวโรฮิงญาเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก เป็นกลุ่มแสดงตนว่า มีบัตรไทยพลัดถิ่น ซึ่งมีทั้งหมด 46 คน แบ่งเป็นชาย 19 คน หญิง 21 คน และเด็ก 6 คน กลุ่มที่สอง เป็นแรงงานข้ามชาติพม่านับถือศาสนาอิสลามจำนวน 50 คน แยกเป็นชาย 20 คน หญิง 17 คน และเด็ก 13 คน กลุ่มที่มีสามมีเอกสารหลายใบ อาทิ บัตรแสดงสถานะประชาชนชาวพม่า บัตรไทยพลัดถิ่น และอื่น ๆ กลุ่มนี้มี่ 17 คน แบ่งเป็นชาย 8 คน หญิง 5 คน และเด็ก 4 คน และเท่าที่ตรวจสอบหลายคนส่อว่า ได้บัตรมาโดยมิชอบ” และเมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง นายวันชาติ วงษ์ชัยชนะ ได้ตรวจสอบโรฮิงญาดังกล่าวก็กล่าวว่า “หากพบว่าบัตรที่โรฮิงญาถือครองอยู่ได้มาโดยไม่ถูกต้อง ก็จะสั่งยกเลิกและดำเนินคดีกับบุคคลดังกล่าวทันที ส่วนบรรดาข้าราชการที่เข้าไปพัวพันจะต้องถูกดำเนินการทั้งทางวินัยและอาญาอย่างแน่นอน” [12]
แต่ก็พบว่าโรฮิงญาที่เข้ามาอยู่ในชุมชนที่เชื่อว่าอาศัยอยู่ในประเทศไทยมาแล้ว มากกว่า 10 ปี ส่วนใหญ่พบว่าได้รับ“บัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน” ขึ้นต้นด้วยหมายเลข “0” และบัตรประจำตัว “บัตรไทยพลัดถิ่น”สีชมพู ขึ้นต้นด้วยหมายเลย “6”  จากการสัมภาษณ์รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดหรืออดีตปลัดอำเภอ จังหวัดระนอง[13] ได้กล่าวว่า “การจัดทำบัตรเลข “0” และ “บัตรไทยพลัดถิ่นสีชมพู ขึ้นต้นด้วยหมายเลข “6” นั้น ทำให้เป็นที่มาของการสร้างบ้านเช่าและเก็บค่ารายหัว ๆ ละ 2,000-6,000 บาทต่อเดือน”
“...แน่นอนการตรวจสอบนี้สำนักนายกรัฐมนตรีได้ออกคำสั่งให้มีการปรับปรุงฐานข้อมูลเกี่ยวกับ “คนไทยพลัดถิ่น” ดังนั้นจึงเป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้คนเหล่านี้ผ่านนายหน้า เข้าทางผู้ใหญ่บ้าน และพวกนายหน้าก็ไม่ใช่ใครอื่น ก็เป็นพวก ๆ เดียวกันกับพวกเขานั่นแหละ..”
ในปีพ.ศ.2552 มีการตรวจสอบ พบว่า มีการออกบัตรไทยพลัดถิ่นให้แรงงานข้ามชาติ รวมถึงโรฮิงญา นายกิตติเดช พิทยาภินันท์ อดีตปลัดอำเภอจังหวัดระนอง ฝ่ายทะเบียนราษฎร์ (เจ้าพนักงานปกครอง 7)[14] ได้กล่าวว่า “หากพูดถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับปัญหาข้าราชการหากินกับแรงงานข้ามชาติพม่า หรือแม้กระทั่งกับโรฮิงญา ถือเป็นปัญหาที่หมักหมม และเรื้อรังมานานของจังหวัดระนอง โดยที่มีผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องไม่เคยสนใจ หรือเข้ามาดูแล ปล่อยปัญหาคาราคาซังจนยากที่จะแก้ไข โดยการเข้ามาตั้งรกรากของโรฮิงญาใน 3 ซอย เขตอำเภอเมือง ประกอบด้วย ซอย 2 ซอย4 และซอย 7 มีโรฮิงญา หรือคนในท้องถิ่นเรียกว่า “แขกกะลา”อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ในขณะที่เจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เคยมีหน่วยงานใดที่เข้าไปดูแล หรือแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าวเลย หรือแม้กระทั่งขบวนการค้าโรฮิงญา จากเกาะพยามสู่ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองหลายคนหลายฝ่ายทราบ มีข้อมูลเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างดี แต่สุดท้ายไม่เห็นจะมีการดำเนินการใด ๆ แต่เมื่อเกิดปัญหาขึ้น สุดท้ายคนที่เคราะห์ร้ายคือ ตน ซึ่งถือว่าไม่ยุติธรรม”
                “ต้นตอปัญหาที่เกิดขึ้น ผมมองว่าเริ่มเมื่อปี 2537 เมื่อครั้งที่จังหวัดระนอง เปิดให้แรงงานข้ามชาติมีการทำบัตร ซึ่งพบว่าช่องโหว่ที่สำคัญที่เป็นที่มาของการทุจริตคือ บัตรที่ทำเป็นบัตรที่เขียนเอง ไม่มีการลงรายละเอียดในฐานระบบข้อมูลคอมพิวเตอร์ แม้ว่ารูปแบบของบัตรจะมาจากส่วนกลาง แต่การทำด้วยมือถือว่าเป็นช่องโหว่ที่สำคัญ” “ขั้นตอนของการออกบัตรไทยพลัดถิ่นให้คนไทยพลัดถิ่น เริ่มต้นจากการสำรวจ โดยให้มาลงทะเบียนที่บ้านผู้ใหญ่บ้านในแต่ละพื้นที่ จากนั้นทางอำเภอจะเข้าไปทำเวทีประชาคมโดยการนำตัวแทนในหมู่บ้านหรือชุมชนนั้น ๆ มาช่วยตรวจสอบบุคคลที่มาขอขึ้นทะเบียนเป็นคนไทยพลัดถิ่น หากมีการรับรองจากเวทีประชาคม ก็จะส่งต่อข้อมูลมายังฝ่ายทะเบียนราษฎรเพื่อแจ้งไปยังสำนักงานทะเบียนราษฎรเพื่อขอเลข 13 หลัก จากนั้นจะนัดมาถ่ายรูปและลงข้อมูล เพื่อออกบัตรประจำตัวที่ขึ้นต้นด้วย หมายเลข 0 ต่อไป”[15]
                สำหรับพื้นที่ในเขตซอย 2 หมู่ 4 ต.บางริ้น อ.เมือง จ.ระนอง เป็นแหล่งอาศัยของโรฮิงญาที่อพยพมานานกว่า 20 ปี และอาศัยอยู่บ้านเช่า ห้องแถวเล็ก ๆ รวมประมาณมากกว่า 100 คน พบว่า ส่วนหนึ่งได้บัตรไทยพลัดถิ่น    ซึ่งเป็นบัตรประชาชนที่แสดงสถานะความเป็นคนไทยที่ขึ้นต้นด้วยหมายเลข 6
                จากการสัมภาษณ์ นางซูนะ (โรฮิงญาในระนอง อายุ 32 ปี)[16] กล่าวยอมรับว่า “การขอบัตรไทยพลัดถิ่นจริง ๆแล้ว โรฮิงญาอย่างพวกตนนั้นไม่มีสิทธิได้ แต่ก็ต้องแลกกับการต้องจ่ายผลประโยชน์ให้นายหน้าซึ่งชาวแขกกะลา อ้างว่ารู้จักกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไทยที่สามารถดำเนินการออกบัตรให้ได้ ซึ่งตนต้องจ่ายเงินกว่า 3หมื่นบาท โดยเฉลี่ยต่อคนประมาณ 1หมื่นบาทเท่านั้น ตนก็ไม่ทราบว่านายหน้าคนดังกล่าวไปจ่ายให้ใครที่ไหนบ้าง ซึ่งขอให้ได้บัตรก็พอแล้ว เพราะจะทำให้มีสิทธิต่าง ๆ และสามารถอยู่บนแผ่นดินไทยได้ไม่ต้องหลบๆซ่อนๆ  ไปไหนมาไหนได้สะดวกปลอดภัย”
                และนายอารีย์ (โรฮิงญาในระนอง อายุ 54 ปี) [17]ได้เล่าให้ฟังว่า “ผมเข้ามาอาศัยอยู่ในตำบลบางริ้น อ.เมือง จ.ระนอง นานกว่า 20 ปี ขอพูดอย่างตรงไปตรงมาแล้วกันว่า ทุกวันนี้พวกผมต้องจ่ายเงินให้เจ้าหน้าที่ทุกเดือน เพื่อแลกกับการที่ไม่ต้องถูกจับกุมดำเนินคดีในข้อหาหลบหนีเข้าเมือง ทำให้พวกโรฮิงญาหลายคนพยายามดิ้นรนทุกวิถีทางให้ได้ซึ่งบัตร ซึ่งมี 2 ลักษณะคือบัตรแรกเป็นบัตรอนุญาตชั่วคราวสำหรับแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย (บัตรคล้องคอ) ซึ่งหลายคนไปขึ้นทะเบียนและได้มา อีกบัตรที่กำลังเป็นที่ต้องการของหลายๆ คน คือบัตรไทยพลัดถิ่น ซึ่งเป็นบัตรประชาชนชนิดหนึ่งที่แสดงความเป็นคนไทยที่ขึ้นต้นด้วยเลข 6 หากใครได้บัตรนี้ประวัติการเป็นโรฮิงญา ก็จะถูกลบออกจากสาระบบ กลายเป็นคนไทยโดยสมบูรณ์ มีสิทธิขั้นพื้นฐานเช่นคนไทยทั่วไป จะเดินทางไปไหน ประกอบอาชีพอะไร ศึกษาที่ไหนก็ได้ มีสิทธิแม้กระทั่งเป็นเจ้าของที่ดิน ที่อยู่อาศัย ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของโรฮิงญามาก”
                หากกล่าวถึงสถานการณ์ของโรฮิงญาในจังหวัดระนอง อาจสรุปได้ว่า สามารถแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก ๆ คือ กลุ่มที่มีบัตรไทยพลัดถิ่น กลุ่มที่ไม่มีบัตรแสดงสถานะใด ๆ ทั้งสิ้น และกลุ่มที่ถูกกักบริเวณ ณ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
(ก)                              กลุ่มที่มีบัตรไทยพลัดถิ่น กลุ่มที่เข้ามาก่อนปีพ.ศ. 2549 เป็นกลุ่มลักลอบเข้ามาและที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดระนอง ซึ่งก่อนหน้านั้นอาจเดินทางไปทำงานที่จังหวัดอื่น ๆ หรือประเทศมาเลเซีย แล้วกลับมาจังหวัดระนอง จนสามารถพูดและฟังภาษาไทยอย่างเข้าใจ และสื่อสารได้ดี เมื่อกลุ่มนี้เข้ามาอยู่ในชุมชนก็จะต้องแจ้งให้ทางผู้ใหญ่บ้านได้รับทราบ เพื่อจะได้ไม่มีปัญหากับการถูกจับกุมจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเมื่อเกิดกรณีการอนุญาตให้ทางผู้ใหญ่บ้านตรวจสอบสถานะของบุคคลที่เป็น “คนไทยพลัดถิ่น” [18]บุคคลเหล่านี้จึงได้รับโอกาสนี้ด้วย
(ข)                              กลุ่มที่ไม่มีบัตรแสดงสถานะใด ๆ ทั้งสิ้นกลุ่มนี้เข้ามาก่อนปีพ.ศ. 2549 เหมือนกัน แต่มีการหลบหนี และมีเครือข่ายญาติพี่น้อง คนรู้จักให้การช่วยเหลือ ซึ่งเมื่ออยู่ในชุมชนก็ต้องมีการแจ้งให้กับทางผู้ใหญ่บ้าน และขึ้นบัญชีกับทางหน่วยงานกอ.รมน. เพื่อที่จะได้รับการคุ้มครอง และสามารถทำงานได้ แต่ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิตในจังหวัดระนองเหมือนกัน
(ค)                              กลุ่มที่ถูกกักบริเวณ ณ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองกลุ่มที่เข้ามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 เป็นกลุ่มที่ทะลักเข้าประเทศไทยทางเรือเข้ามาในน่านน้ำไทยครั้งละจำนวนมาก ๆ และถูกจับกุม กักขังไว้ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดระนอง ซึ่งกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่องค์กรระหว่างประเทศ และสื่อต่างประเทศให้ความสนใจอย่างมาก อีกทั้งมีการเจรจาถึงสิทธิมนุษยชนและปัญหาการค้ามนุษย์
ดังนั้นในการศึกษานี้เราจึงเน้นให้ความสำคัญกับกลุ่ม (ก) และกลุ่ม (ข) ซึ่งเป็นกลุ่มที่เข้ามาอาศัยและตั้งถิ่นฐานในจังหวัดระนอง อนึ่งเป็นกลุ่มที่มีส่วนได้ส่วนเสียและอยู่ภายใต้ความคลุมเครือของสังคมผลประโยชน์
โรฮิงญาในฐานะแรงงานข้ามชาติในจังหวัดระนอง
                หากกล่าวถึงเหตุผลสำคัญของการเข้ามาของโรฮิงญาเหล่านี้แล้ว ส่วนใหญ่ต้องการชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ต้องถูกกดขี่ ไม่ต้องถูกกีดกันแบ่งแยกทางชาติพันธุ์ ขณะเดียวกันสถานการณ์ของโรฮิงญาในประเทศพม่าเองก็แย่ลง พวกเขาไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนในฐานะประชาชนหรือกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่า ทำให้ไม่มีสิทธิใด ๆ ทั้งสิ้นต้องอยู่อย่างยากลำบาก กลายเป็นปัญหาเรื้อรัง ทำให้มีการหลบหนีออกจากประเทศพม่าจำนวนมาก ไปประเทศต่าง ๆ เช่น บังคลาเทศ ไทย มาเลเซีย ซาอุดิอาระเบีย ปากีสถาน สหรัฐอาหรับอีมิเรท เป็นต้น
                สำหรับกรณีประเทศไทยดังที่กล่าวแล้วข้างต้น การเข้ามาและสถานการณ์โรฮิงญาในจังหวัดระนอง เมื่อคนเหล่านี้เข้ามาเริ่มต้นด้วยการให้ญาติพี่น้อง เครือข่าย หรือหัวหน้ากลุ่มซึ่งมีความสัมพันธ์เป็นอย่างดีกับคนท้องถิ่นจะเป็นผู้หางานให้ทำ เริ่มต้นจากการรับจ้างทั่วไป การขายโรตี การทำงานในร้านรับซื้อของเก่า รับซื้ออวนเก่า เป็นต้น
                จากการสัมภาษณ์บังอุมัร์ (โรฮิงญา อายุ 63 ปี)[19] ผู้ที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยมากกว่า 40 ปี แต่งงานกับคนไทยมีลูก 5 คน และลูก ๆ ได้สัญชาติไทยทั้งหมด ได้เล่าให้ฟังถึงการเข้ามาของโรฮิงญาว่า “พวกเขามาเมืองไทยเพื่อมาทำมาหากิน และประเทศพม่าไม่ดีกับมุสลิม แต่ที่เมืองไทยปฏิบัติต่อพวกเราดี ให้สิทธิกับพวกเขา...พวกเขาจะทำไงดี..ในเมื่อพวกเขาไม่มีความรู้ พม่าไม่ให้ความรู้ ไม่ให้พวกเรารู้ ดังนั้นพวกเราก็ต้องหาความรู้ เป็นสิ่งสำคัญ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นที่ผ่านมาประเทศพม่าเกิดอะไรขึ้นมีใครบอกได้หรือไม่...แน่นอน..ไม่ได้...เพราะเราไม่มีความรู้..”
จากการสอบถาม ส่วนใหญ่มีความพึงพอใจในงานที่ทำ เพราะเป็นงานอิสระ โดยเฉพาะการรับซื้อของเก่า และการรับจ้างทั่วไป ถือว่าเป็นงานที่สามารถมีรายได้เข้ามาตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับความขยันและความอดทนในการทำงาน ข้อที่น่าสังเกตที่พบคือ โรฮิงญาในจังหวัดระนองจะไม่ได้เข้าไปทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับประมง รวมถึงการทำงานในภาคบริการ ทั้งนี้เกี่ยวข้องกับข้อจำกัดเรื่องของบัตรแสดงสถานะ และการถูกแบ่งแยกกีดกันทางชาติพันธุ์ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่มาจากประเทศพม่าด้วยกัน
แม้ว่าประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง [20]เรื่องอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 7) ประกาศ ณ วันที่ 10 ตุลาคม 2555 ที่กำหนดให้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละสามร้อยบาทในท้องที่จังหวัดระนอง แต่อัตราการจ้างงานขั้นต่ำในจังหวัดระนอง ยังไม่เป็นไปตามประกาศที่กำหนดไว้
ทัศนคติของคนไทยท้องถิ่นต่อโรฮิงญา
                แม้ว่าในจังหวัดระนองจะมีจำนวนแรงงานข้ามชาติพม่าที่ได้รับอนุญาตทำงาน ปี พ.ศ. 2555  จำนวน 40,609 [21] ซึ่งโดยทั่วไปมิได้มีการแบ่งแยกอย่างชัดเจน ว่ากลุ่มใดนับถือศาสนาพุทธหรือศาสนาอิสลาม เพราะคนในท้องถิ่นจะเรียกเหมือนกันหมดว่า “พม่า” เพราะเชื่อว่าคนกลุ่มนี้มาจากประเทศพม่า พูดภาษาพม่า แต่คนไทยท้องถิ่นก็เห็นความสำคัญของแรงงานข้ามชาติพม่า เพราะเชื่อว่า เศรษฐกิจของจังหวัดระนองไม่ว่าธุรกิจขนาดเล็กจนกระทั่งขนาดใหญ่จะดำรงอยู่ได้นั้นต้องอาศัยแรงงานข้ามชาติพม่า และการติดต่อค้าขายกับประเทศพม่า
                อย่างไรก็ตามสำหรับทัศนคติของคนไทยท้องถิ่นที่มีต่อโรฮิงญานั้น ยังคงมีทัศนคติในเชิงลบ ทั้งนี้ส่วนหนึ่งจากการได้รับข้อมูลข่าวสารจากสื่อและภาครัฐ  ซึ่งมองว่า โรฮิงญาเมื่อเข้ามาในจังหวัดระนองจำนวนมากนั้น ส่วนใหญ่มาทางเรือเป็นการลักลอบเข้ามาโดยผิดกฎหมายไม่ได้ผ่านการตรวจสอบอย่างถูกต้องตามหลักกฎหมายไทย และที่สำคัญคนส่วนใหญ่ที่เข้ามานั้น เป็นผู้ชาย ที่เชื่อว่าอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของราชอาณาจักรไทย และคนเหล่านี้น่าจะมีการฝึกฝนการใช้อาวุธสงครามมาแล้วเป็นอย่างดี  ซึ่งที่มาของทัศนคติเบื้องต้นมาจากข้อมูลจากหน่วยงานความมั่นคงผ่านสื่อสารมวลชน
                ขณะเดียวกันกรณีคนไทยมุสลิมก็จะมองว่า คนเหล่านี้เสมือนเป็นพี่น้องที่นับถือศาสนาเดียวกันต้องให้การช่วยเหลือกัน อย่างกรณีผู้นำทางศาสนาอิสลามหรือโต๊ะอิหม่ามได้ขอให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติต่อโรฮิงญาเหล่านี้โดยคำนึงถึงหลักมนุษยธรรม รวมทั้งคนในท้องถิ่นเองก็ให้ความช่วยเหลือส่งอาหารหรือน้ำให้แก่ผู้ที่ถูกทหารจับกุม สำหรับกรณีที่อยู่ในชุมชนร่วมกันก็จะช่วยเหลือหางานให้ทำ เป็นต้น
                กรณีโรฮิงญาเข้ามาอาศัยอยู่ในแต่ละชุมชนนั้น ผู้ใหญ่บ้านและกรรมการหมู่บ้านจะมีการตรวจสอบอย่างใกล้ชิด โดยผ่านหัวหน้ากลุ่มต่าง ๆ ให้แจ้งชื่อและรายละเอียดทั้งหมด รวมถึงการบอกผ่านหัวหน้ากลุ่มให้สมาชิกของตนได้เข้าใจการอยู่ร่วมกันในชุมชน และกฎหมายต่าง ๆ อีกด้วย ดังเช่นกรณีหนึ่งในกรรมการหมู่บ้านท่าฉาง[22] ได้กล่าวไว้ว่า “เมื่อมีแรงงานต่างด้าวเข้ามาอาศัยอยู่ในหมู่บ้าน ตนในฐานะกรรมการหมู่บ้านก็ต้องเรียกมาให้ความรู้เรื่องกฎหมาย โดยเฉพาะเรื่อง การขับรถ และหาว่าได้พาเพื่อนหรือญาติพี่น้องเข้ามาอาศัยในหมู่บ้านก็ขอให้มีการแจ้งกับผู้ใหญ่บ้าน เพราะจะได้มีการตรวจสอบและดูแลความสงบเรียบร้อยได้ทันท่วงที” ซึ่งกรรมการหมู่บ้านท่านนี้ได้แจ้งกับบังอาลี ซึ่งเป็นโรฮิงญาและเป็นสมาชิกหนึ่งในหมู่บ้าน ที่พาเพื่อนมาเช่าบ้านอยู่ใกล้ ๆ บ้านของตน  กล่าวว่า “อาลี...บอกเพื่อนด้วยว่า..ให้เพื่อนที่ย้ายมาใหม่มาแจ้งกับผู้ใหญ่บ้าน ว่าจะมาขออยู่ในบ้านท่าฉางนี้ เพื่อจะได้รู้ว่าเป็นใคร มาจากไหน มาเมื่อไร จะได้เก็บหลักฐานเบื้องต้น”
                จากการสัมภาษณ์แอดมิน เฟชบุ๊ค “มุสลิมระนอง” ได้แสดงความเห็นว่า[23]“การเข้ามาของโรฮิงญานี้ เราต้องให้ความช่วยเหลือพวกเขาเป็นอย่างดี เท่าที่จะช่วยได้ เพราะพวกเขาเป็นเสมือนพี่น้องมุสลิมด้วยกัน จะต้องช่วยเหลือกัน และสิ่งที่ทำตอนนี้ก็คือ การระดมทุน และรับบริจาคสิ่งของต่าง ๆ เพื่อช่วยพวกเขาที่อยู่ในตม. และอาหารให้ทั้งสามมื้อ ที่ผ่านมาก็ทำให้ที่บ้านพักชาย แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว ...”
                จากทัศนคติของคนท้องถิ่นโดยทั่วไปต่อโรฮิงญา ไม่ได้เห็นถึงความแตกต่างมากนักกับแรงงานข้ามชาติพม่ากลุ่มอื่น ๆ ซึ่งถือว่าเป็นความเคยชิน และก็จะทราบกันทั่วไปว่าคนกลุ่มนี้จะกระจุกตัวอยู่เป็นกลุ่ม ๆ บริเวณใดบ้าง อีกทั้งก็มองว่า คนกลุ่มนี้ไม่ได้ก่อความเดือดร้อน หรือสร้างปัญหาให้กับเพื่อนบ้านหรือชุมชนที่ตนอยู่อาศัย และอยู่อย่างสงบเสงี่ยมเจียมตัวอีกด้วย หากเทียบกับกลุ่มแรงงานข้ามชาติพม่ากลุ่มอื่น ๆ และยังมองว่าโรฮิงญาเหล่านี้มักจะมุ่งมั่นกับการทำมาหากิน ขยันขันแข็งและอยู่ในเฉพาะกลุ่มของตนเอง
                ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 ซอย 2 ตำบลบางริ้น [24]ได้กล่าวไว้ว่า “พวกนี้ที่มาอยู่น่ะ  ...ไม่เคยก่อปัญหาอะไรด้วยซ้ำไป เหล้าก็ไม่กิน เพราะเขาถือว่าผิดหลักศาสนา พูดง่ายกว่าคนไทยในชุมชนนี้ด้วยซ้ำไป ถ้าไปขอให้มาช่วยก็บอกผ่านหัวหน้ากลุ่มไป...เขาจะเชื่อหัวหน้ากลุ่มเขา เพราะเขากลัวอยู่ไม่ได้ เพราะทางตำรวจมาตรวจตลอด...”
                น้าแดง ชาวบ้านบ้านท่าฉาง ตำบลหงาว [25] “เขาก็ไม่ได้ก่อความเดือดร้อนอะไรน่ะ...อยู่เงียบ ๆ เช้ามาก็ไปทำมาหากิน บางทีที่บ้านก็จ้างมาตัดหญ้าก็ให้ค่าจ้างไปถูก ๆ 220 บาทต่อวัน ทำงานดี..ไม่พูดมาก”
                กรรมการมัสยิดซอย 7 ตำบลบางริ้น[26]“ก็เห็นพวกนี้มาร่วมน่ะ...ก็มาร่วมทุกวันศุกร์ ละหมาดเสร็จ ช่วยล้างจาน กวาดลานมัสยิด จะช่วยงานเล็ก ๆ น้อย ๆ บางทีถ้ามีเงินก็จะมาร่วมบริจาคเล็ก ๆ น้อย ๆ ...”
                จากการสัมภาษณ์กลุ่มคนไทยท้องถิ่นส่วนใหญ่แสดงความคิดเห็นและทัศนคติต่อโรฮิงญาในเชิงบวก แต่นี่เป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งเท่านั้น ทั้งนี้เพราะคนไทยมองว่า คนเหล่านี้ไม่ได้แสดงความเดือดร้อนหรือปัญหาร้ายแรงให้กับชุมชนและเพื่อนบ้าน แม้ว่าพวกเขาจะอยู่กับกลุ่มตัวเองไม่ยุ่งสุงสิงกับคนไทยทั่วไปมากนัก แต่หากเปรียบเทียบกับแรงงานข้ามชาติพม่ากลุ่มอื่นๆ แล้วสร้างปัญหามากกว่า ที่สำคัญได้เห็นถึงความเคร่งต่อการดำรงตนตามหลักศาสนาอิสลาม และมีความขยันขันแข็งในการทำงานเพื่อครอบครัว
                แต่ก็พบว่า ก็ยังมีบางกลุ่มที่แสดงความไม่เห็นด้วยกับการอยู่ของคนกลุ่มนี้ และเกิดความหวาดระแวง ไม่ไว้วางใจ เพราะ “ความเป็นมุสลิม” ที่ได้ยินจากข่าวสารสื่อต่าง ๆ ในฐานะผู้ก่อความไม่สงบ โดยเฉพาะในกลุ่มเจ้าหน้าที่ของรัฐหน่วยงานต่าง ๆ ยังขาดความเข้าใจและความพยายามเรียนรู้เรื่องราวของคนกลุ่มนี้ แหละนี่จะกลายเป็น “ช่องว่าง” ของการเกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา
ความต้องการมีส่วนร่วมของโรฮิงญาในงานด้านมนุษยธรรม
ข้อมูลทั่วไปของโรฮิงญาในจังหวัดระนอง
เนื่องจากการสอบถามและสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลโรฮิงญา จำนวน 25 คน ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 2560 ปี ในพื้นที่ 2 ชุมชน คือ ชุมชนบ้านท่าฉาง ตำบล หงาว และ ชุมชนซอย 2 ตำบลบางริ้น อำเภอเมือง จังหวัดระนอง แต่ละชุมชนมีลักษณะแตกต่างกันดังนี้
1                                         ชุมชนบ้านท่าฉาง ตำบลหงาว เป็นชุมชนมุสลิม ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพประมงชายฝั่งทะเล ผู้ศึกษาได้สัมภาษณ์ตัวแทนโรฮิงญา 10 คน ซึ่งมีอาชีพรับจ้างทั่วไป ทำสวนยางพารา ประมงพื้นบ้าน และคนงานก่อสร้าง
2                                         ชุมชนซอย 2 ตำบลบางริ้น เป็นชุมชนที่อยู่ในเขตเมือง ประชากรที่อาศัยจะปะปนกันทั้งประชากรไทย และแรงงานข้ามชาติพม่า รวมทั้งโรฮิงญา ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้าง สำหรับโรฮิงญาที่อาศัยในบริเวณนี้ส่วนใหญ่มีอาชีพรับซื้อของเก่า และลูกจ้างในโรงงานคัดแยกของเก่า ผู้ศึกษาได้สัมภาษณ์ตัวแทนโรฮิงญา 15 คนพบว่า
- การศึกษา โรฮิงญาส่วนใหญ่ ไม่ได้รับการศึกษาเลย เพราะเมื่ออยู่ที่ประเทศเมียนมาร์ รัฐบาลไม่อนุญาตให้เรียนหนังสือ และกวดขันกับการเรียนทางศาสนาด้วยเช่นกัน จึงทำให้กลุ่มคนเหล่านี้ไม่สามารถเขียนและอ่านภาษาพม่าได้ เพียงแต่พูดและฟังเพื่อใช้ในการสื่อสารได้ดังนั้นเมื่อเข้ามาอยู่ในประเทศไทยก็ไม่มีโอกาสในการศึกษา ส่วนใหญ่ก็ตั้งใจกับการทำงานมากกว่าที่จะเข้ามาเมืองไทยเพื่อศึกษาต่อ
อย่างไรก็ตามในปัจจุบันก็พบว่า นโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาลไทย [27] อนุญาตให้บุตรหลานของแรงงานข้ามชาติพม่า รวมถึงโรฮิงญานี้ด้วยได้รับการศึกษาในประเทศไทยได้แล้ว ดังนั้นจึงพบว่าโรงเรียนระดับประถมศึกษาที่อยู่ใกล้ละแวกที่พักอาศัยของพวกเขาจะมีลูกหลานของคนกลุ่มนี้ได้เรียนหนังสือด้วยอีกทั้งกลุ่มเด็กและเยาวชนที่เกิดในประเทศไทยก็มีโอกาสได้รับการศึกษาต่อทั้งในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา จนกระทั่งระดับปริญญาตรี นอกจากนี้เด็ก ๆ ก็จะได้รับการศึกษาจากโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม ทั้งกระจายตามบ้านของผู้ที่มีความรู้ทางด้านศาสนาและภาษาอาหรับ รวมถึงที่มัสยิดที่อยู่ใกล้ ๆ อีกด้วย
- ทักษะด้านภาษา โรฮิงญาที่สัมภาษณ์ส่วนใหญ่มีทักษะด้านภาษาพม่าที่สามารถพูด ฟังได้อย่างเข้าใจ ส่วนภาษาโรฮิงญาถือว่าเป็นภาษาแม่  เบงกาลีเป็นภาษาที่สามารถสื่อสารได้บ้างแต่ไม่มากนัก เพราะจะใช้สื่อสารกับคนบังคลาเทศที่อยู่ชายแดนติดกันรวมถึงภาษาอูรดู และภาษาอาหรับ ซึ่งใช้ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาอิสลาม สำหรับภาษาไทยสามารถใช้ในการสื่อสารได้ในระดับพอเข้าใจเท่านั้น สำหรับกลุ่มเด็กที่เกิดในประเทศไทยนั้น เมื่อเข้าสู่ระบบการศึกษาของไทยก็จะสามารถพูด ฟัง อ่านและเขียนภาษาไทยได้
- การประกอบอาชีพ พบว่าส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างทั่วไปก่อสร้าง รับซื้อของเก่า ลูกจ้างในโรงงานคัดแยกของเก่า และเกษตรกรรมเป็นต้น ทั้งนี้เนื่องจากมักจะเป็นงานที่ไม่ต้องอาศัยทักษะหรือความสามารถพิเศษอื่น ๆ  มากนัก อย่างไรก็ตามเดิมโรฮิงญาเหล่านี้เมื่อเข้ามาอยู่ใหม่ ๆ มากกว่า 10 ปีจะมีอาชีพขายโรตี ซึ่งถือว่าเป็นความรู้ที่ติดตัวมาแต่เดิมอยู่แล้ว แต่ต่อมาก็ได้มีการเปลี่ยนอาชีพ และย้ายถิ่นฐานไปจังหวัดอื่น ๆ หรือแม้แต่ไปมาเลเซีย สำหรับผู้ที่อาศัยอยู่นานก็จะมีทักษะทางด้านเกษตรกรรม เช่น การทำสวนยาง การก่อสร้าง ก่ออิฐ ฉาบผิวปูน รวมถึง บางคนเป็นเจ้าของธุรกิจรับซื้อของเก่า ซึ่งผู้ที่เข้ามาใหม่ ๆ บางคนอาจะไม่มีประสบการณ์ก็จะเริ่มต้นจากการเก็บพลาสติก และมีทุนมากขึ้นก็ต่อรถเข็นหรือรถพ่วงข้างกับมอเตอร์ไซต์ เป็นต้นซึ่งเฉลี่ยรายได้ประมาณวันละ 250-500 บาทการรับซื้อของเก่า อวนเก่า เป็นต้น
- ระยะเวลาที่เข้ามาอยู่ในไทย กรณีโรฮิงญาที่สัมภาษณ์นั้น ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทยแล้วมากกว่า 10 ปีทำให้คนกลุ่มเหล่านี้มีประสบการณ์ในการใช้ชีวิตและการทำงานเป็นอย่างดี รวมทั้งเป็นผู้ที่สามารถช่วยเหลือเครือข่าย ญาติพี่น้องและเพื่อน ๆ ที่เข้ามาใหม่ อย่างไรก็ตามก็ยังพบว่า ผู้ที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยต่ำกว่า 5 ปียังขาดทักษะการสื่อสารด้านภาษาไทย ยังคงใช้ภาษาพม่าเป็นภาษาหลัก เพราะสามารถสื่อสารกับคนพม่ากลุ่มอื่น ๆ
- ที่อยู่อาศัยของโรฮิงญา จะอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่ม ๆ ในชุมชนทั้งสอง โดยจะเช่าบ้าน ซึ่งมีลักษณะเป็นห้องแถว ชั้นเดียว โดยมีเจ้าของเป็นคนท้องถิ่น ค่าเช่าบ้านประมาณ 1,500-2,500 บาท ขึ้นอยู่ขนาดความกว้างของบ้าน แต่การอยู่อาศัยนี้พวกเขาและเจ้าของบ้านจะต้องมีการแจ้งผู้ใหญ่บ้าน รวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐ (หน่วยงาน กอ.รมน) มาตรวจสอบ
- การปฏิบัติศาสนกิจ“อิสลาม” โรฮิงญาเหล่านี้เป็นผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม จึงมีความจำเป็นจะต้องปฏิบัติศาสนกิจตามหลักศาสนาอิสลาม ไม่ว่าจะการละหมาด 5 เวลา การเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนาในมัสยิด การเรียนภาษาอาหรับ การอ่านพระคัมภีร์อัลกุรอ่าน การถือศีลอด รวมถึงพิธีการฝังศพ ซึ่งโรฮิงญาเหล่านี้จะเข้าร่วมปฏิบัติศาสนกิจในมัสยิดเดียวกันกับคนไทยมุสลิมในท้องถิ่น โดยไม่มีการแบ่งแยกใด ๆ ทั้งสิ้น รวมถึงการเข้าไปร่วมช่วยงานที่จัดขึ้นภายในมัสยิด ในฐานะอาสาสมัคร รวมถึงเมื่อมีผู้เสียชีวิตก็สามารถนำศพไปฝังในสุสาน “กุโบร์” เดียวกันกับคนไทยมุสลิมในพื้นที่ได้ เช่นกัน ทำให้โรฮิงญาเหล่านี้หมดความกังวลในเรื่องการปฏิบัติศาสนกิจทางศาสนา อีกทั้งการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของมัสยิดนี้ทำให้พวกตนได้เครือข่ายที่ให้ความช่วยเหลือทุก ๆ ด้านเป็นอย่างดี
โดยเฉพาะการปฏิบัติศาสนกิจนั้นส่วนใหญ่จะไปร่วมละหมาดทุกวันศุกร์ ที่มัสยิดซอย 2   เพราะเป็นมัสยิดที่สายฮาณาฟี เป็นมัสยิดที่ก่อตั้งโดยแขกปาทาน ผู้ทำธุรกิจการค้าระหว่างชายแดน ทำให้กลุ่มผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่จะเป็นมุสลิมพม่า และโรฮิงญา อีกทั้งที่นี่ถือว่าเป็นศูนย์รวมของโรฮิงญาที่จะรวมกัน รวมทั้งการมารับรู้ข้อมูลข่าวสารสำคัญ ๆ เกี่ยวกับกลุ่มของตนเองอีกด้วย
นอกจากนี้ยังประเพณีวัฒนธรรมอันสอดคล้องกับหลักศาสนาอิสลาม โดยเฉพาะของกลุ่มโรฮิงญาถือว่า การให้ความสำคัญกับประเพณี การเจาะหูเด็กผู้หญิงเมื่ออายุ 7-8 ปี และการขลิบอวัยวะเพศเด็กผู้ชายเมื่ออายุ 7-10 ปี เป็นเรื่องสำคัญโดยจะทำในแต่ละบ้านหรือครอบครัวที่มีลูกสาวหรือลูกชาย และจะเชิญเพื่อน ๆ ญาติๆ ร่วมทำพิธีนี้ จากนั้นก็เป็นการเลี้ยงอาหาร ซึ่งถือว่าเป็นกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่สืบทอดมาตั้งแต่ดั้งเดิม
อย่างไรก็ตามในฐานะของโรฮิงญาเอง เมื่อเข้ามาอาศัยและทำงานในประเทศไทยโดยทั่วไปแล้ว รัฐไทยเองก็ไม่ได้มีนโยบายการจดทะเบียนหรือการเลือกปฏิบัติระหว่างแรงงานข้ามชาติพม่าที่นับถือศาสนาพุทธและศาสนาอิสลาม



[1] เรียบเรียงจากงานวิจัย ได้รับทุนสนับสนุนจากองค์การระหว่างประเทศ เพื่อการทำงานด้านมนุษยธรรม ปีพ.ศ. 2556
[2] หัวหน้าสาขาวิชาศึกษาทั่วไป สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
[3]เซ้าท์เทิร์นนิวส์ เมษายน 2551 น. 1
[4] Amnesty International, May 2004:  pp.22 – 30.
[5] TACDB, 16 Nov 2010.
[6]พล.ท.ภราดร พัฒนาถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวถึง “การควบคุมกลุ่มโรฮิงญาไว้ชั่วคราวโดยกักตัวไว้ไม่เกิน 6 เดือนว่า ไม่ถือเป็นการยกระดับ แต่เป็นการเพิ่มความเข้มข้นในการดูแลชั่วคราว ซึ่งหากเกิน 6 เดือนต้องให้เป็นหน้าที่ของสำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) รับไปดูแล ไทยยังยืนยันจะไม่มีการตั้งศูนย์อพยพ ส่วนที่กลุ่มโรฮิงญาเหล่านี้เข้าประเทศไทย เพื่อหลบหนีเข้าประเทศมาเลเซียนั้น ต้องให้เป็นหน้าที่ของ UNHCR และองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ขณะที่สมช.ได้ประสานงานไปแล้วทางหนึ่ง ทาง UNHCR ก็ต้องช่วยประสานงานมาเลเซียอีกทางหนึ่งด้วย เพราะถือเป็นประเทศที่ 3 ส่วนการอพยพเข้าไทยมากขึ้น ก็ต้องควบคุมให้มีการรวมตัวกันเป็นจุด ๆ ไม่ให้มีการกระจัดกระจายเพื่อความเรียบร้อย ทั้งนี้สำหรับจำนวนโรฮิงญาล่าสุดที่เข้ามาในไทยมีจำนวน 1,400 คน เราช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม คือ ให้น้ำ อาหาร แล้วผลักดันออกนอกประเทศ
[7]ชี้แจงการแก้ไขปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมืองโรฮิงญา โดยโฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2556
[8] ผู้จัดการออนไลน์ 28 มกราคม 2556
[9] Fisher, Jonah , BBC NEWS 21 January 2013
[10]ประชาไท 20 มกราคม 2552
[11] การประกาศกฎอัยการศึก ในราชกิจจานุเบกษา ให้ใช้กฎอัยการศึกษาทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 เวลา 21.05 น. แต่ต่อมาได้มีการประกาศเลิกใช้กฎอัยการศึกษาในบางเขตพื้นที่ ลงวันที่ 26 มกราคม 2550 นั้น ก็ได้มีการปรับปรุงเขตพื้นที่ใช้กฎอัยการศึกษ โดยเลิกใช้ในบางพื้นที่ที่หมดความจำเป็นที่จะต้องใช้กฎอัยการศึกแล้ว และให้ใช้กฎอัยการศึกเพิ่มเติมในบางเขตพื้นที่ ซึ่งจังหวัดระนองก็ยังคงให้ใช้กฎอัยการศึก ตามราชกิจจานุเบกษา เล่ม 125 ตอนที่ 5ก วันที่ 9 มกราคม 2551 หน้า 38
[12] สำนักข่าวเจ้าพระยา 24 มีนาคม 2552
[13]สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2556
[14]คมชัดลึก 5 มีนาคม 2552 หน้า 7
[15] อ้างแล้ว เรื่องเดียวกัน
[16] สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2556
[17]สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2556
[18]คนไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศพม่า ซึ่งเดิมพื้นที่เหล่านั้นเคยเป็นดินแดนของไทยมาก่อน จวบจนกระทั่งได้มีการแลกเปลี่ยนดินแดนในสมัยรัชการที่ 5 กับอาณานิคมอังกฤษ จึงทำให้พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นของพม่า แต่ยังคงมีชุมชนคนไทยที่ตกค้าง และเมื่อคนไทยเหล่านั้นเข้ามาทำงานในประเทศไทยในปัจจุบัน ก็ต้องการเรียกร้องสิทธิความเป็นไทย จึงได้มีการเรียกร้องขอบัตรแสดงสถานะความเป็นไทย ทางรัฐจึงได้มีการตรวจสอบ และ เป็นบัตรที่เรียกกันทั่วไปว่า “บัตรไทยพลัดถิ่น” อ้างจากสิริพร สมบูรณ์บูรณะ, 2549:  น. 122
[19] สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2556
[20]ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศและงานทั่วไป เล่ม 129 ตอนพิเศษ 183 ง ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2555
[21] กรมจัดหางาน สำนักงานบริหารแรงงานต่างด้าว 2555
[22] สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2556
[23]สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2556
[24] สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2556
[25] สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2556
[26] สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2556
[27] มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2548 ให้มีการจัดการศึกษาอย่างถ้วนหน้า ส่งผลให้แรงงานข้ามชาติและบุตรหลานสามารถลงทะเบียนเรียนในสถานศึกษาของรัฐและเอกชนได้

No comments:

Post a Comment