Wednesday, July 8, 2015

ระนองกับโรฮิงญา: การจัดการปัญหาระดับท้องถิ่น ชาติ และนานาชาติ? (ตอนที่ 2)

ระนองกับโรฮิงญา: การจัดการปัญหาระดับท้องถิ่น ชาติ และนานาชาติ?
สิริพร สมบูรณ์บูรณะ



ความต้องการของโรฮิงญากับการพัฒนาทักษะการทำงานด้านมนุษยธรรม
                โรฮิงญาส่วนใหญ่จะมีอาชีพที่ตนเองพึงพอใจอยู่แล้วในการดำรงชีวิต แม้จะยังไม่สามารถสร้างความมั่นคงในชีวิตได้ สำหรับงานที่เกี่ยวข้องกับงานทางด้านมนุษยธรรมมองว่างานด้านนี้เป็นงานที่เข้าไปช่วยเหลือเพื่อน ๆ ด้วยกันแล้วนั้น ทุกคนมองว่าทุกคนต้องทำอยู่แล้วตามหลักการสอนของศาสนาอิสลามที่จะต้องช่วยเหลือเพื่อนพี่น้องที่อ่อนแอกว่าเรา อีกทั้งสิ่งที่พวกเขาได้ทำที่ผ่านมาได้แก่การช่วยเหลือพี่น้อง เพื่อนที่เดินทางมาจากพม่าด้วยความยากลำบาก การร่วมบริจาคอาหาร ข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ให้กลุ่มเพื่อนพี่น้องที่มาใหม่[1]
                นอกจากนี้งานที่พวกเขามองว่าเป็นงานอาสาสมัครซึ่งจะต้องร่วมทำกันอยู่แล้ว นั่นคือ การช่วยทำงานเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้กับมัสยิด โดยเฉพาะทุกวันศุกร์ ซึ่งเป็นวันที่พวกตนต้องไปละหมาดที่มัสยิด และพบปะญาติพี่น้อง พวกพ้องและเพื่อน  ก็จะเป็นอาสาสมัครช่วยงานภายในมัสยิด หรือในช่วงงานกิจกรรมอื่น ๆ ที่ดำเนินการโดยทางศาสนาอิสลาม[2] หรืออาจพูดได้ว่า “ทำเท่าที่ตนสามารถทำได้ เท่าที่มีพละกำลังมีอยู่”
                หากมองในแง่ของการมีส่วนร่วมกับชุมชนแล้ว ก็พบว่า ชาวโรฮิงญาเหล่านี้ที่อาศัยในแต่ละชุมชนจะเข้าร่วมกิจกรรมของชุมชน เช่น การทำความสะอาดสถานที่สาธารณะของชุมชน การทำความสะอาดมัสยิดและโรงเรียน ตัดหญ้าที่สุสานหรือกุโบร์ เก็บขยะ เข้าร่วมในกิจกรรมการพัฒนาชุมชน การรณรงค์ด้านสุขภาพ มีส่วนร่วมในพิธีฝังศพของคนในท้องถิ่นและชาวพม่ามุสลิมกลุ่มอื่น ๆ เป็นต้น[3]
                เมื่อมีการสอบถามถึงความสนใจในการทำงานทางด้านมนุษยธรรม หรืองานอาสาสมัครเพื่อสังคม โดยเฉพาะการช่วยเหลือกลุ่มตนเองด้วยกันแล้ว พวกเขาก็ยังคงเห็นว่า เป็นเรื่องสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งของวิถีอิสลามอยู่แล้ว ซึ่งการอุทิศตน การช่วยเหลือผู้คนเป็นสิ่งที่มิอาจแยกออกจากหลักคำสอนหรือหลักปฏิบัติทางศาสนาได้  อย่างไรก็ตามเมื่อสอบถามถึงความเฉพาะด้านการช่วยเหลือ ก็พบว่าความจำเป็นด้านภาษา เป็นปัญหาหลักที่ต้องรีบแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะทุก ๆ คน ที่มาใหม่มีปัญหาเรื่องของการสื่อสารด้าน ภาษา เป็นอย่างมาก รวมถึงตนเองก็ยังขาดทักษะด้านภาษา แม้ว่าจะสื่อสารเป็นภาษาพม่าได้ แต่ก็ยังไม่สามารถสื่อสารเป็นภาษาไทยได้อย่างเข้าใจ อีกทั้งการสื่อสารเป็นภาษาพม่าเป็นภาษาไทยนั้นในหน่วยงานต่าง ๆ ของไทยจะมีล่ามเป็นคนพม่า ซึ่งมีความอคติต่อกลุ่มของพวกตน จึงทำให้บางเรื่องไม่กล้าที่จะบอกหรือสื่อสารไป
                ด้วยเหตุนี้ความสำคัญของ “ภาษาไทย” เป็นเรื่องที่โรฮิงญาเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะทำให้ตนสามารถสื่อสารกับคนไทยได้เข้าใจมากขึ้น โดยเฉพาะการสื่อสารกับหน่วยงานของรัฐที่พวกตนจำเป็นต้องไปใช้บริการหรือเพื่อให้เข้าถึงบริการ เช่น โรงพยาบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล หรือสถานีอนามัย ตำรวจ ทหาร เป็นต้น
                นอกจากนี้สำหรับทักษะอื่น ๆ ส่วนใหญ่จะเน้นที่ผู้หญิงเพราะต้องอยู่กับบ้าน ต้องการเพิ่มรายได้ช่วยครอบครัว และต้องการมีกิจการเป็นของตนเอง เช่น ร้านค้าเล็ก ๆ เป็นต้น ดังนั้นทักษะที่สำคัญรองลงมาคือ ทักษะการขาย การเย็บผ้า เป็นต้น
ข้อจำกัดและปัญหาอุปสรรคเกี่ยวกับการทำงานด้านมนุษยธรรมหรืออาสาสมัคร
                ชาวโรฮิงญาที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดระนองนั้น ส่วนใหญ่ได้เข้าสู่ระบบแรงงาน การทำงานอิสระ นั่นคือ การรับซื้อของเก่า หรือลูกจ้างในโรงงานคัดแยกของเก่า งานก่อสร้าง งานรับจ้างทั่วไป รวมถึงธุรกิจส่วนตัว ซึ่งอาจกล่าวได้ว่ามีรายได้ที่สามารถดำรงเลี้ยงครอบครัวได้อย่างไม่เดือดร้อน อีกทั้งส่วนหนึ่งโรฮิงญามีบัตรที่ทางราชการออกให้ “บัตรไทยพลัดถิ่น” หรือบัตรเลข 13 หลักที่ขึ้นต้นด้วยเลข “6” และบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน” ขึ้นต้นด้วยหมายเลข “0” บัตรซึ่งมีสถานะเทียบเท่ากับประชาชนคนไทยทั่วไป อีกทั้งทั้งสองบัตรนี้ทำให้ตนเองได้สิทธิอยู่อาศัยชั่วคราวหรือไม่ก็ถาวร โดยเฉพาะลูกหลานที่เกิดในประเทศไทยก็มีโอกาสได้รับสัญชาติไทย[4] สามารถรักษาพยาบาลฟรี จึงทำให้ยังไม่เห็นความสำคัญของการทำงานด้านมนุษยธรรมเท่าที่ควร อีกทั้งยังไม่เข้าใจว่า “งานด้านมนุษยธรรม” คืออะไร มีความสำคัญอย่างไรต่อพวกของตนเอง รวมถึงไม่ทราบว่างานลักษณะที่ทำนั้นเป็นอย่างไร และต้องทำที่ไหน และถ้าไปไกลจากบ้านหรือชุมชนก็ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะ “ผู้หญิง”
                สำหรับสังคมของโรฮิงญานี้ ซึ่งนับถือศาสนาอิสลาม จะเป็นข้อจำกัดสำหรับ “ผู้หญิง” กับการทำงานเป็นอาสาสมัคร หรือทำงานด้านมนุษยธรรม เพราะต้องออกมาทำงานนอกบ้าน และติดต่อผู้คนจำนวนมาก ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมสำหรับกลุ่มพวกเขา
อาจกล่าวได้ว่า โรฮิงญายังมองว่า การทำงานสังคมหรืองานด้านมนุษยธรรมเป็นงานที่ยาก และไม่เข้าใจความหมายหรือขอบเขตของการทำงาน อีกทั้งมองว่าตนเองก็มีข้อจำกัดในการทำงานด้านนี้ ไม่ว่าจะการยอมรับทางสังคม ทักษะความสามารถด้านภาษา และเวลาการทำงาน
งานด้านมนุษยธรรมในหน่วยงานของภาครัฐ(Government Organization)และองค์กรพัฒนาเอกชน (Non-Government Organization)
                ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐหรือองค์กรพัฒนาเอกชน ต่างก็เห็นความสำคัญของการจ้างแรงงานข้ามชาติพม่า ซึ่งมองว่าการจ้างแรงงานเหล่านี้ไม่ได้จำกัดว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ใด แต่ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติด้านการศึกษาที่อย่างน้อยต้องจบระดับการศึกษาไม่ต่ำว่าเกรด 5 (ของพม่า) หรือระดับประถมขึ้นไป ซึ่งต้องอ่านออก เขียนภาษาพม่าได้ และที่สำคัญต้องสื่อสารภาษาไทย ทั้งฟังและพูดได้อย่างเข้าใจ นอกจากนี้แรงงานข้ามชาติพม่าจะต้องมีบัตรแสดงสถานะที่ถูกต้อง ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะมีพาสปอร์ตชั่วคราว (Temporary passport) และใบอนุญาตทำงาน (Work Permit)
                นอกเหนือจากการให้ความช่วยเหลือของหน่วยงานของรัฐและองค์กรพัฒนาเอกชนแล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้ที่ควรจะต้องกล่าวถึงคือ “มัสยิด” ซึ่งถือว่าเป็นศูนย์รวมทางศาสนา เป็นองค์กรที่สำคัญที่มีอิทธิพลต่อโรฮิงญา รวมถึงเป็นแหล่งพึ่งพิงที่สำคัญ จึงจะพบว่า การเข้าร่วมกิจกรรมมัสยิด ไม่ว่าการละหมาด การเรียนศาสนา เป็นต้น รวมทั้งการติดตามข้อมูลข่าวสารความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ทั้งจากประเทศสหภาพเมียนมาร์และไทย เป็นสิ่งสำคัญที่พวกเขาให้ความสำคัญ
ในจังหวัดระนองมีมัสยิดมากกว่า 10 แห่ง กระจายอยู่ในแต่ละอำเภอ สำหรับมัสยิดที่โรฮิงญานิยมใช้เป็นที่ปฏิบัติศาสนากิจและใกล้กับชุมชนตนเองมีอยู่ 3 แห่ง คือ มัสยิดซอย 7 มัสยิดซอย 2 และมัสยิดท่าฉาง ซึ่งเป็นชื่อที่ทุกคนเรียกโดยทั่วไปและเป็นที่รู้จักอย่างดี
กรณีมัสยิดซอย 7  อิสลามสายซาฟีฮี ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่จะเป็นคนไทยมุสลิมที่อาศัยอยู่ในละแวกนั้น โดยโต๊ะอิหม่าม มนู เป็นผู้นำ จากการสัมภาษณ์โต๊ะอิหม่าม [5] ได้กล่าวไว้ว่า “ทางสุเหร่า ซอย 7  จะมีการละหมาดครบทุกเวลา โดยเฉพาะตอนเย็นและค่ำจะมีผู้มาร่วมที่สำคัญช่วงวันศุกร์มากันมาก นอกจากนี้ทางสุเหร่าก็มีศูนย์เด็กเล็กดำเนินการทุกวันจันทร์ – วันศุกร์ ส่วนใหญ่จะเป็นลูกหลานมุสลิมที่อยู่ในละแวกใกล้เคียง สำหรับโรฮิงญามาร่วมที่สุเหร่าน้อย ถ้ามีก็ประมาณ 5-10 คนเท่านั้น เพราะพวกนี้ไม่มีพวก ไม่มีกลุ่ม และถ้ามาก็จะมาช่วยงานมัสยิดเล็ก ๆ น้อย ๆ ช่วยแรง แต่ถ้าเสียชีวิตก็จะพาไปฝังที่กุโบร์ แถวเจ็ดท่อ... ส่วนใหญ่จะไปมัสยิดซอย 2 ซึ่งเป็นมัสยิดของแนวทาง ฮานาฟี เป็นมัสยิดสายแขกปาทาน และมุสลิมพม่า ทำให้ส่วนใหญ่โรฮิงญาจะไปเข้าร่วมที่นั้นมากกว่า
โต๊ะอิหม่าม ได้กล่าวถึงปัญหาที่ผ่านมาของมัสยิดซอย 7 “ปัญหาที่ผ่านของมัสยิดซอย 7 คือ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็ถูกมองว่าเป็นแหล่งพักพิงของโรฮิงญา ทั้ง ๆ ที่ทางมัสยิดไม่รู้เรื่อง แต่เห็นว่าเป็นคนมุสลิมด้วยกันที่นำมาฝากหรืออาจมองอีกที่พวกนี้ก็พวกนายหน้านั้นเอง แล้วพามาครั้งละ เป็นร้อยคน แล้วค่อย ๆ หายไปทีละ 40-50 คน เป็นอย่างนี้อยู่สองสามครั้งก็สงสัย อีกทั้งทางทหารมาขอความร่วมมือ สุดท้ายคิดว่า ไม่อยากให้มัสยิด สถานที่ปฏิบัติศาสนกิจต้องมีมลทิน จึงตัดสินใจคุยกับกรรมการว่าจะไม่ให้ที่พักใด ๆ ทั้งสิ้น และจะปิดมัสยิดทันทีหลังจากละหมาดรอบสุดท้ายของวันเสร็จสิ้น
กรณีมัสยิดซอย 2 อิสลามสายฮานาฟี เป็นมัสยิดที่ก่อตั้งโดยชาวอินเดีย ปาทานที่เข้ามาค้าขายกับพม่าในจังหวัดระนองเป็นเวลานาน ดังนั้นมัสยิดนี้จึงเป็นศูนย์รวมของกลุ่มมุสลิมพม่า รวมทั้งโรฮิงญาด้วยที่เข้าร่วมกิจกรรมของมัสยิด ไม่ว่าการละหมาด การเปิดโรงเรียนสอนศาสนาตอนเย็น โดยเฉพาะทุกวันศุกร์จะมีคนจำนวนมากมาร่วมพิธีละหมาด ซึ่งโต๊ะอิหม่ามก็จะมีเชื้อสายโรฮิงญา เช่นกัน
จากการสัมภาษณ์กลุ่มมุสลิมระนอง [6]“องค์กรมุสลิมในตัวจังหวัดระนองไม่เข้มแข็งมากนัก แต่คนมุสลิมส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณ ซอย 2 และ ซอย 7 ดังนั้นจึงเข้าสุเหร่าทั้งซอย 2 และ ซอย สำหรับทางกลุ่มตนเองได้เข้าไปช่วยเหลือกลุ่มมุสลิมโรฮิงญา ในช่วง 7-8 เดือนที่ผ่านมา โดยรวบรวมเงินและทำอาหาร 3 มื้อให้กับกลุ่มที่ถูกจับกักกันบริเวณที่ตม. และบ้านพักชาย”
ปัญหาอุปสรรคของการจ้างเจ้าหน้าที่แรงงานข้ามชาติพม่า
                ปัญหาอุปสรรคสำคัญของการจ้างเจ้าหน้าที่แรงงานข้ามชาติพม่า จากการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ทั้งของหน่วยงานภาครัฐและองค์กรพัฒนาเอกชน พบว่า
1) ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน จากการสื่อสารภาษาไทยเป็นอุปสรรคสำคัญ เพราะเจ้าหน้าที่แรงงานข้ามชาติพม่าต้องใช้ภาษาไทยเท่านั้นในการฟังและพูดเพื่อสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ/องค์กรพัฒนาเอกชนนั้น ๆ เพราะเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ/องค์กรพัฒนาเอกชนไม่สามารถสื่อสารด้วยภาษาพม่าได้ จึงทำให้เกิดความไม่เข้าใจในรายละเอียดและความหมายของภาษาไทยที่ชัดเจน
2) เรื่องของการเปลี่ยนงานหรือย้ายงานบ่อย เนื่องจากเมื่อพวกเขามีประสบการณ์มากขึ้นและมีทักษะภาษาไทยเป็นอย่างดี ทำให้เป็นที่ต้องการของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน และบริษัทเอกชนต่าง ๆ รวมถึงสามารถเคลื่อนย้ายทำงานนอกจังหวัดได้อย่างสะดวก ทำให้การทำงานของคนกลุ่มนี้อยู่ในระยะสั้น และเปลี่ยนงานเพื่อค่าตอบแทนที่สูงกว่า สะดวกสบายกว่า
                3) ความไม่รับผิดชอบต่อการทำงาน การตรงต่อเวลา รวมถึงความไม่เข้าใจระบบการทำงานแบบองค์กร
                4) การขาดทักษะการทำงานเฉพาะด้าน เช่นเทคนิคการสอน การเขียนแผนการสอน ความรู้ศัพท์เฉพาะทาง โดยเฉพาะทางการแพทย์หรือสาธารณสุขเป็นต้น
                5) ความมีอคติต่อกลุ่มอื่น ๆ ที่ไม่ใช่กลุ่มเดียวกัน หรือมาจากท้องถิ่นเดียวกัน โดยเฉพาะการมีอคติต่อโรฮิงญา
6) ข้อจำกัดของการการอบรมเพื่อพัฒนาฝีมือแรงงาน และงานบางประเภทตามหลักกฎหมาย ไม่สามารถอบรมให้กับแรงงานข้ามชาติได้ เช่น การเย็บผ้า งานช่างฝีมือต่าง ๆ เป็นต้น
                ซึ่งปัญหาอุปสรรคเหล่านี้ ก็พบว่าในแต่ละหน่วยงาน/องค์กรก็ได้พยายามคัดเลือกแรงงานข้ามชาติที่จะเข้ามาเป็นเจ้าหน้าที่อย่างเข้มงวด และถูกต้องตามหลักกฎหมาย เพราะงานของหน่วยงานต่าง ๆ นั้นเกี่ยวข้องกับการสื่อสาร การให้ความรู้ที่ถูกต้องกับกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติโดยตรง
ความต้องการและการพัฒนาทักษะสำหรับแรงงานด้านมนุษยธรรม
                จากการสำรวจและสอบถามหน่วยงานรัฐและองค์กรพัฒนาเอกชน ส่วนใหญ่เป็นหน่วยงาน/องค์กรที่ต้องทำงานเกี่ยวข้องกับมนุษยธรรมอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเรื่องสิทธิมนุษยชน ด้านสุขภาวะ เอดส์ การศึกษา สวัสดิการ สิทธิแรงงาน เป็นต้น โดยมีกลุ่มเป้าหมายสำคัญคือ “แรงงานข้ามชาติพม่า” ที่อยู่ในจังหวัดระนองดังนั้นเมื่อสอบถามถึง “ความต้องการและการพัฒนาทักษะแรงงานข้ามชาติเพื่อสนับสนุนงานด้านมนุษยธรรม” พบว่ามีความต้องการและพัฒนาด้านต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
1)                                   ต้องการและพัฒนาล่ามภาษาไทยที่สามารถสื่อสารได้อย่างเข้าใจและเข้าใจลักษณะการทำงานเชิงกระบวนการ
2)                                    ต้องการและพัฒนาผู้ปฏิบัติงานในชุมชนสามารถเข้าใจการทำงานเบื้องต้น เช่นงานการปกป้องคุ้มครองเด็กในชุมชน สามารถช่วยเหลือได้ทันท่วงที การส่งต่อการดูแล การเชื่อมโยงกับระบบการทำงานกับคนไทย รวมถึงสามารถติดต่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่ของรัฐได้โดยตรง เป็นต้น
3)                                    ต้องการและพัฒนาให้เกิดความเข้าใจและทัศนคติเรื่องความแตกต่างและความหลากหลายทางวัฒนธรรม
4)                                    ต้องการและพัฒนาให้รู้เรื่องระเบียบวินัย และความซื่อสัตย์และการเข้าใจระบบการทำงานขององค์กร
5)                                    ต้องการและพัฒนาให้รู้จักวิธีการการประสานงานและติดต่อแรงงานข้ามชาติและบุคคลกลุ่มอื่น ๆ
6)                                    ต้องการและพัฒนาทักษะด้านการสอน การจัดทำแผนการสอน หัวข้อการสอน การจัดเก็บเอกสาร
7)                                     ต้องการและพัฒนาทักษะการจัดกิจกรรม เทคนิคการละลายพฤติกรรม
อย่างไรก็ตามความต้องการและพัฒนาทักษะแรงงานที่หน่วยงานต้องการ คือ ต้องการผู้ที่สามารถสื่อภาษาพม่าและไทยได้อย่างดี สามารถเข้าใจทั้งภาษาพม่าและภาษาไทย ส่วนทักษะด้านอื่น ๆ มองว่าเป็นเรื่องที่สามารถมาฝึกทักษะหรือให้การอบรมได้ในภายหลัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการให้ความรู้แก่ชุมชน เรื่องสุขภาวะ เรื่องเกี่ยวกับสิทธิ เป็นต้น
ทั้งนี้ทั้งนั้นความรู้ความเข้าใจของแต่ละองค์กรหรือหน่วยงานต้องการนั้น ขึ้นอยู่กับลักษณะและเป้าหมายการทำงานขององค์กรหรือหน่วยงานนั้น ๆ เช่น หน่วยงานที่ทำงานด้านสุขภาวะ สวัสดิการทางสังคม ก็จะต้องการให้เจ้าหน้าที่มีความรู้เบื้องต้นเรื่องดังกล่าว หน่วยงานที่ทำงานด้านการศึกษา ก็ต้องการให้เจ้าหน้าที่มีความรู้เกี่ยวกับวิชาที่จะต้องสอน รวมถึงจิตวิทยาการศึกษา เป็นต้น อย่างไรก็ตามองค์กรหรือหน่วยงานต่าง ๆ เหล่านี้ ถือว่า ความรู้ความเข้าใจเหล่านี้สามารถให้ความรู้โดยการฝึกอบรมพัฒนาได้ ซึ่งเกิดขึ้นทั้งก่อนเริ่มปฏิบัติงานและขณะปฏิบัติงานนอกจากนั้นคือ “ความรับผิดชอบ” “การตรงต่อเวลา” และ “ความไม่อคติกับคนกลุ่มอื่น ๆ ที่ต่างจากพวกของตน”ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับการทำงานด้านมนุษยธรรม
“มนุษยธรรม” ของหวานหรือยาพิษของโรฮิงญา
แน่นอน ! คำว่า “มนุษยธรรม” ตามความหมายจากพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน คือ “ธรรมของมนุษย์ ธรรมที่มนุษย์พึงมีต่อกัน มีความเมตตากรุณา” ขณะที่คำว่า “มนุษยธรรม” ที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายโดยคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ องค์กรพัฒนาเอกชน นั้นหมายถึงความเห็นอกเห็นใจ การยื่นมือเข้าช่วยเหลือและปกป้องผู้อื่นโดยไม่คำนึงว่าเขาจะเป็นใครหรือทำอะไรมา ถือว่าเป็นเรื่องของการเชิดชูศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคน แม้กระทั่งผู้ที่ไม่เป็นที่ต้องการของสังคม โดยยึดเป็นมาตรฐานในการทำงานเพื่อมนุษยชาติบนสังคมโลกนี้ ซึ่งประกอบด้วยความเป็นมนุษย์ ความเป็นกลาง อิสรภาพ และความยุติธรรม
แต่ขณะเดียวกันมนุษยธรรมนิยมเองก็ได้สะท้อนให้เห็นถึง เรื่องที่อยู่ระหว่างการเมืองและศีลธรรมที่ถูกจัดการโดยรัฐ (บาล)องค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ ที่วางตนเป็นเป็นศูนย์กลางและทำให้เป็นทั้งเรื่องการเมืองและเรื่องที่ไม่ก็เกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างเลี่ยงไม่ได้ ประชาชนอย่างเรา ๆ ก็ถูกกันออกจากเรื่องเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความขัดแย้งด้านสิ่งแวดล้อม  ความขัดแย้งทางศาสนา ลัทธิทางการเมือง รวมถึงเชื้อชาติ เป็นต้น การช่วยเหลือต่าง ๆ ที่ผ่านมามักจะถูกตั้งคำถามเสมอ ๆ ถึงความเป็นกลาง รวมทั้งความเป็นเรื่องของทางโลกหรือความศรัทธากันแน่?
ภาพพจน์ของความหายนะต่าง ๆ และความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมักจะถูกสร้างขึ้นและตอกย้ำผ่านสื่อโทรทัศน์ สื่อออนไลน์ต่าง ๆ ถูกนำเสนอและแพร่หลายมากขึ้น ทำให้สิ่งเหล่านี้กลายเป็นเครื่องมือของเล่ห์เหลี่ยมภายใต้ร่มเงาของผู้มีอำนาจและใช้มนุษยธรรมเหล่านี้ด้วยวิธีที่แตกต่างกัน โดยคำสั่งที่แตกต่างกัน แรงกระตุ้นและระบบของความรู้สึกที่เป็นหนี้บุญคุณและความช่วยเหลือ อย่างน้อยที่ยังเหลืออยู่ให้เห็น ความพยายามอย่างกล้าหาญของนักสังคมสงเคราะห์มืออาชีพ และการแสดงความรู้สึกทุกข์ทรมานกับเหยื่อที่แสนเลวร้ายนั้น พวกเขาก็ให้ความช่วยเหลือดูแล แม้ว่าบางครั้งอาจไม่มีใครได้ยิน เป็นการทำอย่างไร้สถานภาพ และปราศจากการเห็นคุณค่าจากผู้อื่น ดังนั้นความชัดเจนของหลักมนุษยธรรมนิยมที่เกิดขึ้นเฉพาะเรื่องหรือเฉพาะที่นั้นจึงควรเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจ
อย่างไรก็ตามเพื่อคลายความสงสัยเกี่ยวกับมนุษยธรรม ที่อยู่ท่ามกลางความมีศีลธรรมและอำนาจทางการเมือง  ที่สำคัญการผูกยึดอยู่กับความเชื่อทางศาสนา ไม่ว่าเรื่องบาป บุญ ความเมตตา กรุณา สิ่งเหล่านี้เป็นความเชื่อความศรัทธาที่มนุษย์เราเชื่อว่าต้องช่วยเหลือผู้ที่อ่อนแอกว่า เหยื่อผู้เผชิญกับสิ่งโหดร้ายเลวทราม ดังนั้นเราจะเห็นรูปแบบต่าง ๆ ที่องค์กรระหว่างประเทศ องค์กรพัฒนาเอกชน รวมถึงเอกชน และมูลนิธิต่าง ๆได้พยายามเข้ามาให้ความช่วยเหลือกลุ่มคนต่าง ๆ ที่ประสบปัญหา หรือเป็นเหยื่อจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติตามธรรมชาติ หรือสงคราม รวมถึงความยากจน  เป็นต้น ผ่านแนวความคิด “มนุษยธรรม” ดังจะเห็นตัวอย่างได้จากสื่อออนไลน์ ผ่านเฟชบุ๊คต่าง ๆ อาทิ การประกาศเด็กหาย การบริจาคข้าวของเครื่องใช้เพื่อผู้ประสบอุทกภัย รวมถึงการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยทางการเมือง เป็นต้น
กรณีการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่ปรากฏให้เห็นในประเทศไทย มีการช่วยเหลือในรูปแบบต่าง ๆ โดยอ้างคำว่า “มนุษยธรรม” เป็นเครื่องมือนำทาง ไม่ว่าจะเป็นการตั้งค่ายผู้ลี้ภัย การส่งต่อประเทศที่สาม การบริจาคข้าวของเครื่องใช้ การตรวจสุขภาพ การให้การศึกษาความรู้และทักษะต่าง ๆ การคุ้มครองชีวิต เป็นต้น แต่ถูกจำกัดอยู่เฉพาะการทำงานกับผู้ลี้ภัยบางกลุ่มที่รัฐอนุญาตเท่านั้น แต่ผู้ลี้ภัยบางกลุ่มไม่สามารถถูกยกระดับให้เป็นผู้ลี้ภัยได้อย่างเปิดเผย หรือแม้นกระทั่งการรับรองพวกเขาในฐานะผู้ลี้ภัย จะพบว่ารัฐเองมีมาตรการไม่รับรองคนกลุ่มนี้ และพยายามผลักดันให้ออกนอกประเทศ หน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐก็ไม่อยากจะเอ่ยถึงคนกลุ่มนี้ รวมถึงการจับกุมหรือควบคุมพวกเขาก็ไม่ต่างไปจากนักโทษที่ก่ออาชญากรรม ในขณะเดียวกันท่าทีขององค์กรระหว่างประเทศ หรือองค์กรทางศาสนาเองก็ไม่สามารถออกหน้าออกตารับรองพวกเขาเหล่านี้ได้อย่างโดยตรง ทั้งนี้เพราะการถูกจับจ้องหรือจ้องมองโดยภาครัฐ ที่มองว่าอาจเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดกับการบ่อนทำลายชาติหรือความมั่นคงของชาติ
หากว่าพยายามอ้างถึงการให้ความช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรมแล้ว ในความเป็นจริงแล้วผู้รับความช่วยเหลือเหล่านี้ได้รับจริงหรือเปล่านั้น เพราะมันจะคงปนเปื้อนไปกับหลักการทางการเมืองที่ผสมยาพิษไว้อยู่ ขณะที่ผู้ให้ความช่วยเหลือเองยึดถือความเชื่อความศรัทธาที่ควบคู่ไปกับเรื่องการเมืองทำให้ผู้รับช่วยเหลือเองก็หวั่นวิตกอยู่ตลอดเวลา รวมถึงความไม่ไว้ใจซึ่งกันและกันที่เกิดขึ้น แหละนี่เอง! เราอาจต้องกลับมามองอีกด้านหนึ่งเหมือนกันว่า แล้ว ในฐานะ “ผู้รับการช่วยเหลือ” ล่ะ จะเป็นอย่างไร?
เอกสารอ้างอิง
กรมการจัดหางาน สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว (2555) “คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานคงเหลือทั่วราชอาณาจักรทั้งเข้าเมืองผิดกฎหมายและถูกกฎหมาย จังหวัดระนอง ประจำปี 2555วารสารสถิติจำนวนคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานทั่วราชอาณาจักรประจำปี 2555, กระทรวงแรงงาน
กฤตยา อาชวนิจกุล (2554) “การจัดระบบคนไร้รัฐในบริบทประเทศไทย” ประชากรและสังคม 2554 นครปฐม: สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล หน้า 103-126
ซุฟอัม อุษมาน (บก.) (2006)  30 บทเรียนเพื่อความเข้าใจอิสลามเบื้องต้น กรุงริยาด: สำนักงานความร่วมมือเพื่อเผยแพร่และสอนอิสลามอัร-ร็อบวะฮุ
นุชรี ศรีวิโรจน์และคณะ (2555) การวิเคราะห์สถานการณ์และความต้องเบื้องต้นของผู้ย้ายถิ่นชาวพม่ามุสลิมในการเข้าถึงบริการด้านสังคมและสาธารณสุขในอำเภอสุขสำราญ อำเภอกะเปอร์ และอำเภอเมือง จ.ระนอง ประเทศไทย กรุงเทพฯ : องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน
บรรจง บินกาซัน (แปล) (2541)  มาเป็นมุสลิมกันเถิด กรุงเทพฯ: ศูนย์หนังสืออิสลาม
ปกรณ์ พึ่งเนตร (2552)  บทวิเคราะห์ “วิกฤติแรงงานต่างด้าว โรฮิงญา-พม่า รัฐนำร่อง มหาชัยโมเดล(จบ)” กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 3 มีนาคม2552 http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/analysis/20090303/
สิริพร สมบูรณ์บูรณะ (2549)  “ถิ่นพลัดไทยไป-ไทยพลัดถิ่นมา” ชุมชนข้ามพรมแดนระนอง-เกาะสอง” ในมานุษยวิทยาประยุกต์  นนทบุรี: วัฒนาศาลา
สิริพร สมบูรณ์บูรณะ (2556) “มนุษยธรรมกับผลของสารพิษทางการเมืองต่อศีลธรรม?” http://www.thaingo.org/thaingo/node/2502
ASTV ผู้จัดการออนไลน์ (2556) “หมอพรทิพย์เผยพบโรฮิงญาเชื่อมโยงโจรใต้” 28 มกราคม 2556  http://www/manager.co.th/home/viewnews.aspx?NewsID=9560000011027
คมชัดลึก วันที่ 5 มีนาคม 2552 หน้า 7
คมชัดลึก ไล่ออกปลัดฯระนองปิดฉากโรฮิงญาสวมบัตร  วันจันทร์ที่ 4 มกราคม 2553
เซ้าท์เทิร์นนิวส์ เมษายน 2551 หน้า 1
ประชาไท วันที่ 20 มกราคม 2552
สำนักข่าวเจ้าพระยา “ทหารใช้กฎอัยการศึกจับโรฮิงญาระนอง วันอังคาร 24 มีนาคม 2552
Amnestry International (2004)  Myanmar The Rohingya Minority: Fundamental Rights Denied.AL Index: ASA , May .
BBC NEWS ASIA “Burmese Refugees Sold on by Thai Officials” 21 January 2013 www.bbc.co.uk/news.world-asia-21115728?
Berlie, J.A. (2008) The Burmanization of Myanmar’s Muslims.,Bangkok: White Lotus Co.,Ltd. 
Chan Aye (2005)“The Development of a Muslim Enclave in Arakan (Rakhine) State of Burma (Myanmar)”. SOAS Bulletin of Burma Research, Vol. 3, No. 2, Autumn.
Gemzell,Martin2009, Rohingyas - The Forgotten people of Burma Turning up on Thailand´s Paradise Beaches  http://barha.asiaportal.info/node/959
TACDB (Thai Action Committee for Democracy in Burma) “ประวัติของชาวโรฮิงญา”  http://www.tacdb-burmese.org/web/index.php?option=com_content&view=article&id=61:2010-11-16-05-48-43&catid=36:2010-10-21-08-06-37&Itemid=58



[1] บรรจง บินกาซัน แปล 2541 หน้า 227 ได้อ้างถึง สวัสดิการส่วนบุคคลและส่วนร่วม ว่า ที่นี้ท่านก็สามารถเห็นแล้วว่าความกินดีอยุ่ดีของแต่ละบุคคลนั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดกับความกินดีอยู่ดีของสังคมโดยส่วนรวมด้วย ถ้าหากท่านช่วยเหลือเพื่อนบ้านของท่านด้วยทรัพย์สินที่ท่านมีอยู่แล้ว ทรัพย์สินนั้นก็จะหมุนเวียนและกลับมายังท่านพร้อมกับมีผลประโยชน์หลายอย่างติดตามมาด้วย แต่ถ้าหากท่านเก็บทรัพย์สินของท่านไว้ด้วยความเห็นแก่ตัวหรือใช้จ่ายไปเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวของท่านเองแล้ว ในที่สุด ทรัพย์สินนั้นก็จะร่อยหรอลงและหมดค่าไป
[2] บรรจง บินกาซัน แปล 2541 หน้า 227 ได้อ้างถึง การชุมนุมในมัสยิดโดยตัวของมันเองแล้วจึงมีผลประโยชน์หลายอย่างด้วยกัน เช่น ณ ที่นี้ท่านจะได้พบปะซึ่งกันและกัน รู้จักมักคุ้นกันดีขึ้นและอะไรที่ทำให้ท่านใกล้ชิดซึ่งกันและกัน? ท่านมารวมกันในฐานะบ่าวของอัลลอฮฺ ผู้ปฏิบัติตามรอซูล ผู้ศรัทธาในคัมภีร์กุรอานโดยมีวัตถุประสงค์เดียวกันในชีวิตทั้งภายในและภายนอกมัสยิด การรู้จักมักคุ้นและการรวมตัวกันเช่นนี้จะทำให้ท่านมีความรู้สึกว่าท่านทั้งหมดเป็นประชาคมเดียวกัน เป็นพี่น้องซึ่งกันและกัน ผลประโยชน์ของท่าน เป้าหมายของท่านและผลได้ผลเสียของท่านเป็นสิ่งเดียวกัน และชีวิตของท่านต่างผูกพันซึ่งกันและกัน
[3] ซุฟอัม อุษมาน (บก.) 2006 หน้า 56-57  มนุษย์ต้องรู้จักคุณค่าของตนเอง ว่าตนเป็นสิ่งที่ถูกสร้างที่ได้รับการประทานมากมายจากอัลลอฮฺ ทั้งนี้เพื่อให้มนุษย์รู้จักใช้สิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นเพื่อการดำรงชีวิตที่ดี พร้อมทั้งระลึกถึงคุณความดีของอัลลอฮฺที่ได้ประทานปัจจัยต่าง ๆ มากมายให้แก่เขา ชีวิตมนุษย์จะไม่มีคุณค่าใด ๆ ถ้าหากไม่สำนึกตนว่าเป็นบ่าวของอัลลอฮฺ และดำเนินชีวิตบนเส้นทางแห่งคุณธรรมตามที่อัลลอฮฺได้กำหนดไว้ ยิ่งถ้าหากเขาใช้สิ่งต่าง ๆ ที่พระองค์ประทานให้มาในทางที่ผิดประกอบความชั่ว และไม่ระลึกถึงคุณของพระองค์ ชีวิตของเขาก็จะเป็นชีวิตที่น่าเหยียดหยาม เพราะกลายเป็นผู้เนรคุณและไม่รู้จักตนเอง...นอกจากการสร้างความผูกพันกับอัลลอฮฺเพื่อสร้างคุณค่าให้กับตัวเองแล้วการอุทิศตนเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมก็เป็นคุณค่าของชีวิตอีกระดับหนึ่งที่สูงกว่าคุณค่าในระดับแรก การอุทิศตนอาจจะอยู่ในรูปแบบการช่วยส่งเสริมศาสนาและจริยธรรมของสังคม การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ในรูปแบบต่าง ๆ การร่วมมือเพื่อสร้างสังคมที่ดีและช่วยกันสอดส่องดูแลไม่ให้เกิดความชั่วร้างในสังคม เป็นต้น
[4] กฤตยา อาชวนิจกุล 2554 หน้า 122 -123
[5]สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2556
[6]สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2556

No comments:

Post a Comment