Friday, May 23, 2014

"ศึกษาทั่วไป" (General Education) กับทิศทางในศตวรรษที่ 21 ไปด้วยกันได้อย่างไร

ศึกษาทั่วไป กับทิศทางในศตวรรษที่ 21 ไปด้วยกันได้อย่างไร?


สิริพร สมบูรณ์บูรณะ [1]

เนื่องด้วยจะครบวาระของการประเมินหลักสูตรในหมวดศึกษาทั่วไป ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2554 ที่ต้องมีการประเมินคุณภาพการศึกษาของรายวิชาต่าง ๆ และการจัดการของ หลักสูตรศึกษาทั่วไปของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ทำให้เห็นภาพความจริงของการศึกษาทั่วไปที่ได้ถูกกำหนดโดย สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ที่ให้ทุกมหาวิทยาลัยในประเทศไทยต้องมีการเรียนการสอนวิชาในกลุ่ม วิชาศึกษาทั่วไป [2] และการจัดการการศึกษานี้ยังพบว่ามีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน อันส่งผลต่อการปฏิรูปและพัฒนาการเรียนการสอนของรายวิชาต่าง ๆ ใน ศึกษาทั่วไป เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงและกระแสของสังคมไทยและสังคมโลกที่ก้าวไปอย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ความมุ่งหวังของการจัดการเรียนการสอนรายวิชาในหมวด ศึกษาทั่วไป ถูกตั้งบนความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษา คุณภาพของผู้เรียนและคุณภาพของผู้สอน นั่นก็คือ ต้องเปลี่ยนจากการเรียนรู้จากตำราของผู้รู้ต่าง ๆ สู่การเรียนรู้จากประสบการณ์ของชีวิตมนุษย์และโลกด้วยตนเอง การเปลี่ยนจากเนื้อหาสาระที่เน้นผลสัมฤทธิ์คะแนนการสอบ มาเป็นการเข้าถึงความจริงของชีวิตและโลก ที่รู้จักปัญหา ทุกข์ วิธีการดับทุกข์ และเหตุของทุกข์ การแก้ปัญหา เป็นต้น การเปลี่ยนวิธีการเรียนรู้จากเชิงรับ (passive learning) เป็นการเรียนรู้เชิงรุก (active learning) รวมทั้งตัวผู้สอนเองก็ต้องเป็นครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงหรือเปลี่ยนตนเองก่อน เป็นสำคัญ
ด้วยโจทย์เหล่านี้ทำให้การปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตร หมวดวิชาศึกษาทั่วไปเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างยิ่งกับการก้าวเข้ามาอยู่ในศตวรรษที่ 21 และท่ามกลางผู้เรียนรุ่นใหม่ที่ถูกเรียกว่า “Gen Z” อันนำไปสู่ช่องว่างระหว่างวัยหรือรุ่น รวมถึงสถานการณ์ต่าง ๆ ของโลกที่เชื่อมโยงตามติดกระแสที่ไม่ได้ทำให้รู้สึกห่างไกลออกจากกันเลย กับข้อมูลที่ท่วมท้นอย่างไร้ขีดจำกัด จึงทำให้เกิดข้อกังขาและต้องการค้นหาว่าแล้ว ศึกษาทั่วไปกับทิศทางในศตวรรษที่ 21 จะไปด้วยกันได้อย่างไร?

สังคม ผู้คนและการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21

สังคมก้าวข้ามก้าวไกลไร้พรมแดน
                ในศตวรรษที่ 21 สังคมโลกของเรามีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงในทุกมิติทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และเทคโนโลยี อันเป็นผลมาจากการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ และการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองโลก มีผลทำให้ประเทศต่าง ๆ ในโลกต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน และมีความเชื่อมโยงระหว่างกันมากขึ้น โลกที่เคยกว้างใหญ่กลับเล็กลงดินแดนแต่ละประเทศที่อยู่ห่างไกลกันสามารถติดต่อกันได้ภายในเวลาเสี้ยววินาทีประดุจเป็นหมู่บ้าน (Global Village) ภูเขาและทะเลซึ่งเป็นพรมแดนธรรมชาติที่เคยเป็นอุปสรรคในการติดต่อไปมาหาสู่ดูเสมือนเลือนหายไปจนกลายเป็นโลกไร้พรมแดน นับจากนี้ต่อไปโลกกำลังก้าวเข้าสู่ระยะแห่งการเปลี่ยนยุคเปลี่ยนสมัย 
                ซึ่งการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตของคนในสังคมอย่างเห็นได้ชัด อาทิ การใช้คอมพิวเตอร์เป็นกลไกสำคัญ การไหลบ่าของข้อมูลข่าวสาร การเคลื่อนย้ายของแรงงานภาคส่วนต่าง ๆ การให้ความสำคัญกับการบริโภคนิยม ความเป็นท้องถิ่นนิยมหรือชาตินิยม เป็นต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าระบบคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่มีขนาดเล็กแต่มีคุณภาพ และศักยภาพสูงมากและราคาถูกลง เครื่องคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือจึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการแพร่ข้อมูลข่าวสาร การติดต่อ การย่อโลกให้เล็กลงและพร้อมใช้งานที่หลากหลายหน้าที่มากขึ้น ทำให้ผู้คนซึ่งอยู่ห่างไกลกันเป็นพัน ๆ ไมล์ หรืออยู่กันคนละมุมโลก สามารถติดต่อสื่อสารพูดคุยกันได้ สามารถรับรู้ข่าวสาร เหตุการณ์ทุกชนิดที่เกิดขึ้นในดินแดนห่างไกลออกไป ทำให้มีโลกทัศน์กว้างขึ้นและมีผลต่อแนวคิดเกี่ยวกับชุมชน หมู่บ้าน ประเทศที่เปลี่ยนไปเป็นโลก
                คนเราย่อมเกิดความตระหนักว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ณ จุดใดจุดหนึ่งของโลกอาจมีผลกระทบต่อโลกหรือมนุษย์ทั้งโลกได้ ผู้คนในยุคนี้จึงเกิดความรู้สึกในฐานะประชากรของโลกขึ้นมาแทนที่ความรู้สึกเกี่ยวกับรัฐ หรือชาติของตนเท่านั้น อย่างไรก็ตามแม้กระแสของข่าวสารจะมีมากเพียงใด โอกาสในการรับรู้ข่าวสารก็อาจไม่เท่าเทียมกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับฐานะความเป็นอยู่ของคนเราในแต่ละสังคมวัฒนธรรม และเศรษฐกิจ นั่นหมายถึงการถูกครอบด้วยทางวัฒนธรรม อิทธิพลของวัฒนธรรมและอำนาจของเศรษฐกิจจากประเทศที่พัฒนาแล้ว ได้ไหลบ่าเข้าสู่ประเทศอื่นอย่างรุนแรง ก่อให้เกิดกระแสวัฒนธรรมโลก (Neo-Westernization) ครอบงำทางด้านความคิด การมองโลก การแต่งกาย การบริโภคนิยมแพร่หลายเข้าครอบคลุมเหนือวัฒนธรรมชาติของประชาคมทั่วโลก ผลที่ตามมาคือ เกิดระบบผูกขาดไร้พรมแดนเพิ่มมากขึ้น
                ขณะเดียวกันก็ได้สร้างความรู้สึกชาตินิยม ระดับท้องถิ่น เติบโตแทนที่อุดมการณ์ชาตินิยม รัฐชาติแตกสลายย่อยตามชาติพันธุ์และลักษณะเฉพาะเชื้อชาติและวัฒนธรรมที่เล็กกว่าชาติ กลายเป็นกลุ่มลัทธิชาตินิยมใหม่ (Neo-Nationalism) ได้ก่อตัวเป็นรัฐชาติที่ มีรากฐานแห่งความเป็นชาติหรือเผ่าพันธุ์ที่แน่นแฟ้นกลมกลืนกันยิ่งขึ้น ปัญหาความขัดแย้งทางเชื้อชาติเหล่านี้มักเชื่อมโยงกับความสำคัญของท้องถิ่น เนื่องจากสังคมในศตวรรษที่ 21 เป็นสังคมแห่งข่าวสาร ซึ่งประชาชนในท้องถิ่นรับรู้ข้อมูลอย่างรวดเร็วได้จากสื่อมวลชน เป็นการปลุกจิตสำนึกของประชาชนในท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น ให้รู้จักรักษาและหวงแหนทรัพยากรภายในท้องถิ่นของตน การรับรู้ข้อมูลทำให้ทราบผลดีผลเสียที่รัฐบาลกลางดำเนินการ จึงเป็นยุคแห่งการตรวจสอบ รัฐบาลกลางที่มีความแตกต่างทางเชื้อชาติจะตักตวงผลประโยชน์จากท้องถิ่น จึงมักถูกต่อต้านอย่างรุนแรง ถ้าหากเป็นเชื้อชาติเดียวกันรัฐบาลที่ไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชนในท้องถิ่นก็ย่อมถูกต่อต้านอย่างรุนแรงเช่นเดียวกัน        ผนวกกับระบบเศรษฐกิจที่เปิดเสรีมากขึ้น เกิดสภาวการณ์ไร้พรมแดนของเงินตรา ซึ่งสามารถไหลไปกระจุกตัวทุกหนทุกแห่งในโลกได้ ทุกครั้งที่เกิดการไหลเข้าของทุนมหาศาลจากทั่วโลกไปกระจุกตัวอยู่ที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง ก็จะก่อให้เกิดการพองตัวของทุนอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการแสวงหากำไรแบบใหม่ขึ้นระบบทุนนิยมโลกแผ่ขยายออกไปครอบคลุมเกือบทุกส่วนของโลก เกิดการขยายตัวของการค้าระหว่างประเทศ การเพิ่มขึ้นของทุนระหว่างประเทศ ทำให้เศรษฐกิจของภูมิภาคต่าง ๆ เชื่อมโยงและพึ่งพาซึ่งกันและกันมากขึ้น ประเทศต่าง ๆ พากันปฏิรูปเศรษฐกิจให้เสรีเพื่อเตรียมพร้อมต่อการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่ทวีความรุนแรงขึ้น ระบบเศรษฐกิจที่สินค้าและเงินตราต่าง ไหลเวียนไปทั่วโลกได้อย่างเสรี โดยความเป็นสากลของทุนและเงินตรา ทำให้ทุนกลายเป็นปัจจัยการผลิตที่สามารถเคลื่อนย้ายถ่ายเทไปมาได้อย่างเสรี การเคลื่อนย้ายของทุนในระดับโลกจากจุดที่ให้ผลตอบแทนต่ำ ไปยังจุดที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า ก่อให้เกิดการเก็งกำไรขึ้นทั่วไปในระบบตลาดที่ยังไม่มีเสถียรภาพ ผู้ที่ควบคุมทุนได้จะอยู่ในฐานะได้เปรียบโดยสิ้นเชิง เมื่อระบบเศรษฐกิจถูกรวมเข้าด้วยกัน ทุนสามารถไหลเวียนไปยังที่ต่าง ๆ ที่เปิดโอกาสให้กระจายต้นทุนออกไปสู่ภายนอกได้มากที่สุด ผลที่ตามมาคือการโอนย้ายภาระต้นทุนจากนักลงทุนระหว่างประเทศไปยังท้องถิ่นต่าง ๆ ในภาวะเช่นนี้วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นกับประเทศที่นำทุนเข้าจากต่างประเทศได้ในระยะเวลาไม่นานนัก ไม่ว่าสมรรถภาพการบริหารเศรษฐกิจของประเทศนั้น ๆ จะเป็นอย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดการเคลื่อนย้ายของกองทุนขนาดใหญ่อย่างรวดเร็วทั้งไหลเข้าและไหลออก ก็ส่งผลต่อการบริหาร และสภาพวิถีชีวิตของผู้คนประเทศนั้น
                นอกจากนี้การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสุรุ่ยสุร่าย และการประสบภัยพิบัติจากธรรมชาติรูปแบบต่าง ๆ ที่นับวันจะรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ทั้งหลายเหล่านี้ส่งให้สังคมและผู้คนในศตวรรษที่ 21 ต้องพร้อมที่จะเผชิญกับปัญหา หรือผลกระทบในรูปแบบอย่างจริงจัง สำหรับประเทศไทยเองก็ได้รับผลกระทบจากสภาวการณ์เหล่านี้อย่างชัดเจน
                ในขณะที่สังคมเปลี่ยนแปลงและได้รับผลกระทบจากกระแสต่าง ๆ ผู้คนในสังคมเองก็ต้องมีการปรับตัวและเรียนรู้กับสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ ๆ ตลอดเวลา บ้างก็ปรับตัวได้ บ้างก็ไม่สามารถทำได้ ย่อมนำไปสู่ปัญหาที่ส่งผลกระทบในระดับต่าง ๆ ของสังคม อย่างกระแสที่มีการพูดถึงอย่างมากก็คือ คนรุ่นใหม่หรือ เยาวชนของชาติกลายเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องกล่าวถึงต่อไป

เด็กไทยรุ่นใหม่ในศตวรรษที่ 21 -- เด็ก GEN Z
        ในสังคมศตวรรษที่ 21 เด็กรุ่นใหม่หรือผู้ที่เกิดตั้งแต่ปี 1995จนถึงปัจจุบันที่กำลังเติบโตมากับการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบต่าง ๆ ของโลก และได้รับผลกระทบจากสังคม ถูกเรียกว่า เด็ก Gen Z” มาจาก Generation Z [3] พบว่าเด็กเหล่านี้มีลักษณะที่คล้ายคลึงกันดังนี้คือ “เป็นคนที่ใช้ชีวิตอยู่บนออนไลน์ ชอบแสดงความคิดเห็นและแบ่งปันข้อมูลข่าวสารกับผู้คน ไม่ชอบเป็นเพียงผู้รับข่าวสาร ชอบเรียนรู้ด้วยการแบ่งปันประสบการณ์กับเพื่อน พร้อมที่จะสื่อสารกัน ตลอดเวลา  ข้อความที่ใช้มีลักษณะตรงประเด็นและสั้น มีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีและเรียนรู้ที่จะใช้เทคโนโลยีใหม่ได้เร็วกว่าคนรุ่นก่อนมาก ปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงได้ดี ทำงานหลายอย่างได้ในเวลาเดียวกัน และชอบความท้าทายใหม่ๆแต่ไม่ถนัดในการสื่อสารแบบพบหน้ากัน และการกระทำดังกล่าวส่งผลให้เป็นคนสมาธิสั้น จึงไม่ชอบการอ่าน การวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารที่ยาวและซับซ้อน[4]
        ลักษณะดังกล่าวเป็นผลจากการที่เด็กเติบโตขึ้นมาในช่วงเวลาที่เทคโนโลยีดิจิทัลมีความก้าวหน้ามากขึ้นจนทำให้โลกมีความเป็นโลกาภิวัตน์อย่างสมบูรณ์ ประกอบกับวิถีชีวิตของคนเปลี่ยนแปลงไป โอกาสที่เด็กจะได้พบหน้าพ่อแม่ หรือได้ออกไปเล่นนอกบ้านกับเพื่อนเช่นเด็กในยุคก่อนมีไม่มากนัก แต่จะมีของเล่นดิจิทัลนานาชนิดเข้ามาแทนที่ รวมทั้งอุปกรณ์ประเภท วิดีโอเกม Tablet โทรศัพท์มือถือซึ่งเชื่อมโยงเด็กเข้ากับโลกกว้างได้ในพริบตาเพียงใช้ปลายนิ้วสัมผัส มักจะตัดสินใจทำอะไรอย่างรวดเร็ว ไม่ชอบการรอคอย มีนิสัยที่พยายามทำอะไรด้วยตนเอง เรียกร้องสิทธิตนเอง ชอบอิสรเสรี มีความอดทนต่ำ ชอบทำอะไรทีละหลาย ๆ อย่าง หรือไม่ก็ชอบทำพร้อม ๆ กัน
        นอกจากนี้ยังพบว่าเกือบครึ่งหนึ่งของเด็กไทยในปัจจุบัน เป็นเด็กที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ เพราะพ่อแม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน หรือนอกชุมชน ทิ้งลูกไว้กับปู่ย่าตายาย หรือไม่ก็พ่อแม่เสียชีวิต หย่าร้าง ต้องอยู่กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือบางคนเป็นลูกติดแม่หรือพ่อ ที่ต้องแต่งงานใหม่มีลูกกับสามี/ภรรยาใหม่ [5] ดังนั้นเด็กจึงมีความต้องการความรักและความห่วงใย แม้ว่าตนเองจะต้องการโลกส่วนตัวก็ตาม อย่างไรก็ตามเด็กเหล่านี้ก็ต้องการหาคำตอบหรือคำอธิบายที่ต้องมีเหตุผล ต้องรู้สึกว่าได้เข้าใจกับทุกเรื่องในชีวิต แต่หากว่าพวกเขาไม่ได้รับคำอธิบายหรือไม่พอใจ ดังนั้นอินเตอร์เน็ตจึงกลายช่องทางหนึ่งที่พวกเขาสามารถค้นหาคำตอบหรือคำอธิบายได้อย่างแน่นอน แม้ว่าช่องทางนี้อาจจะมีทั้งข้อเท็จจริงที่ผิดและถูกก็ตาม และที่สำคัญข้อมูลต่าง ๆ นั้น ไม่ต้องมีการบรรยายมากนัก ชอบข้อมูลสั้น ๆ หรือสถิติ เข้าใจง่าย เป็นรูปภาพหรือกราฟ เป็นต้น
        จากการศึกษาของ Wikia Study [6] พบว่า เด็กGen Z เข้าไปใช้YouTube ประมาณ ร้อยละ 92 อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง หรือร้อยละ 54 ที่เข้าไปใช้หลาย ๆ ครั้งต่อวัน ร้อยละ 65 เข้าไปใช้ Facebook และอีก ร้อยละ 38 ที่เข้าไปใช้วันละหลาย ๆ ครั้งเช่นกัน ส่วนการใช้ Twitter และ  Google มีอัตราการใช้เท่า ๆ กันคือ ร้อยละ 26 และอีกร้อยละ 17 ใช้ Instagram หรืออาจเรียกเด็กกลุ่มนี้ว่า I Gen (I Generation: Internet Generation) นั่นเอง ซึ่งจะปรากฏเห็นได้อย่างชัดเจนจากความนิยมในการใช้โทรศัพท์มือถือ สมาร์ทโฟน หรือแท็บแล็ตกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้หรือเป็นอวัยวะที่ 33 ของพวกเขาไปเสียแล้ว
        ดังนั้นจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม รวมถึงคนรุ่นใหม่ที่กำลังเติบโตในสังคมทำให้ระบบการเรียนรู้ต้องมีการปรับเปลี่ยนไป รวมถึงระบบการศึกษาก็ต้องก้าวทันและสอดคล้องกับกระแสต่าง ๆ อย่างเข้าใจสภาพสังคมและผู้คนในศตวรรษที่ 21

ความคาดหวังของการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21
        การพัฒนาการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 จะพบว่ามุ่งผสมผสานองค์ความรู้ ทักษะเฉพาะด้าน ความชำนาญการและความรู้เท่ากันด้านต่างเข้าด้วยกัน จึงพบว่าการศึกษาในศตวรรษที่ 21 เน้นให้ความสำคัญกับ 2 ประเด็นสำคัญคือ ผลการเรียนรู้ของผู้เรียน (Student Outcome) และระบบสนับสนุนการจัดการศึกษา (Support Systems) [7]
(1)                               ผลการเรียนรู้ของผู้เรียน (Student Outcome) การให้ผู้เรียนต้องเรียนสาระวิชาหลัก (Core Subjects) เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ 3 R [8] และแนวคิดของศตวรรษที่ 21 (21st Century Themes) ซึ่งผลการเรียนรู้ที่เกิดกับผู้เรียนที่สำคัญ มีผลต่อสมรรถนะต่อผู้เรียน 3 กลุ่มคือ
ก)      ทักษะด้านการเรียนรู้และนวตกรรม (Learning and Innovation Skills) เป็นตัวกำหนดความพร้อมของผู้เรียนในการเข้าสู่การทำงานที่มีความซับซ้อนเพิ่มขึ้นในโลกปัจจุบัน อันประกอบด้วย 4Cs หรือ 4 การ ประกอบด้วย การคิดแบบมีวิจารณญาณ (Critical Thinking) การสื่อสาร (Communication) การทำงานร่วมกัน (Collaboration) และการสร้างสรรค์ (Creativity)
ข)      ทักษะด้านข้อมูลสารสนเทศ สื่อ และเทคโนโลยี (Information, Media and Technology Skills) การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารจำนวนมากมาย การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้านเทคโนโลยี การศึกษาและความสามารถในการเชื่อมโยงถึงกัน ประกอบด้วย ความเข้าใจและใช้เป็นในด้านสารสนเทศ (Information Literacy) ความเข้าใจและใช้เป็นในด้านสื่อ (Media Literacy) และความเข้าใจและใช้เป็นในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT Literacy)
ค)      ทักษะด้านชีวิตและอาชีพ (Life and Careers Skills) ชีวิตและสภาพการทำงานในทุกวันนี้ จำเป็นต้องมีทักษะการคิดและองค์ความรู้เพิ่มขึ้นมากมาย ความสามารถในการทำงานในยุคที่แข่งขันกันด้านข้อมูลข่าวสารและการดำรงชีวิตที่มีความซ้ำซ้อนให้ประสบความสำเร็จได้นั้น ผู้เรียนจำเป็นต้องใส่ใจอย่างเคร่งครัดในการพัฒนาทักษะชีวิต อันประกอบด้วย ความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัว (Flexibility and Adaptability) การริเริ่มและการกำกับดูแลตนเอง (Initiative and Self-direction) ทักษะด้านสังคมและทักษะข้ามวัฒนธรรม (Social and Cross-cultural Skills) การมีผลงานและความรับผิดชอบ (Productivity and Accountability) และภาวะผู้นำและหน้าที่รับผิดชอบ (Leadership and Responsibility)
ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องสอดคล้องกับแนวคิดสำคัญของศตวรรษที่ 21 ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของความตระหนักเกี่ยวกับโลก ความเข้าใจและปฏิบัติเป็นในด้านการเงิน เศรษฐกิจ ธุรกิจและการเป็นผู้ประกอบการ ความเข้าใจและปฏิบัติตนเป็นพลเมืองที่ดี ความเข้าใจและสามารถดำรงชีวิตเป็นผู้มีสุขภาพดี รวมถึงความเข้าใจและปฏิบัติเป็นด้านสิ่งแวดล้อม
(2)                               ระบบสนับสนุนการจัดการศึกษา (Support Systems) เป็นระบบที่สำคัญต่อการจัดการศึกษา ซึ่งต้องให้ความสำคัญกับด้านต่าง ๆ ดังนี้
ก)      ด้านมาตรฐานและการประเมินผล (Standards and Assessments)
ข)      ด้านหลักสูตรและวิธีการสอน (Curriculum and Instruction)
ค)      ด้านการพัฒนาวิชาชีพให้แก่ครูและผู้บริหาร (Professional Development)
ง)      ด้านสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ (Learning Environment)
นอกจากนี้การศึกษาในศตวรรษที่ 21 ยังมุ่งหวังให้สร้างผู้เรียนโดยภาพรวมดังนี้ การเป็นนักคิดแบบมีวิจารณญาณ นักแก้ปัญหา นักประดิษฐ์ นักสื่อสาร นักประสาน ทำงานร่วมกันกับผู้อื่น เป็นผู้ตระหนักเกี่ยวกับโลก เป็นผู้ยึดมั่นการเป็นพลเมืองที่ดี การเป็นผู้เรียนรู้ได้ด้วยตนเอง การมีความเข้าใจและใช้เป็นด้านสารสนเทศและสื่อ และการมีความเข้าใจและปฏิบัติการด้านการเงินและเศรษฐกิจ
ดังนั้นภายใต้แนวความคิดของการศึกษาในศตวรรษที่ 21 จึงกลายเป็นอิทธิพลที่นักการศึกษาได้มีความพยายามปรับมาใช้ในระบบการศึกษาไทยมากขึ้น อย่างไรก็ตามก็ต้องเข้าใจหลักการของการเรียนรู้ที่ถูกนำมาใช้ด้วยนั่นคือ การเรียนรู้เป็นกระบวนการที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นโดยเป็นผลมาจากประสบการณ์และช่วยเพิ่มศักยภาพในการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของการเรียนรู้ในอนาคต [9] ซึ่งเจย์ แม็คไท และ เอลเลีจต ชีฟ (2554) [10] ได้กล่าวถึงหลักในการเรียนรู้ที่มีต่อแนวปฏิบัติทางการศึกษาที่ดีนั้นต้องเป็นแนวทางในการอภิปรายในเรื่องการปรับเปลี่ยนหลักสูตร การประเมิน และแนวปฏิบัติด้านการสอนที่จำเป็นเพื่อสนับสนุนผลลัพธ์ที่พึงประสงค์สำหรับศตวรรษที่ 21 อีกทั้งพันธกิจและหลักในการเรียนรู้เป็นองค์ประกอบสองอย่างแรกของกรอบความคิดและมีความเชื่อมโยงกัน โดยพันธกิจเป็นตัวกำหนดว่าจะสอนหรือเรียน อะไร ขณะที่หลักในการเรียนรู้บอกว่าจะสอนหรือเรียน อย่างไร [11]
ด้วยการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 อยู่บนความท้าทายของการจัดการการศึกษาเพื่อสามารถตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงของสังคมและคนรุ่นใหม่ต้องเผชิญสภาวะของการเปลี่ยนแปลง จึงเป็นความท้าทายกับการพัฒนาทักษะต่าง ๆ เพื่อมุ่งสู่ศตวรรษที่ 21 และเตรียมความพร้อมให้ผู้เรียนได้รู้จักคิด เรียนรู้ ทำงาน แก้ปัญหา สื่อสารและร่วมมือทำงานได้อย่างมีประสิทธิผลไปตลอดชีวิต ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับนักศึกษาที่กำลังจะก้าวหรือกำลังศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย ที่กำลังต้องเรียนรู้ทั้งทักษะในเชิงวิชาชีพเชิงลึก และทักษะการใช้ชีวิตในสังคมทั้งในปัจจุบันและอนาคต
ความสำคัญของทักษะเหล่านี้จำเป็นต้องมีการพัฒนาและเรียนรู้เพื่อนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน อีกทั้งกับสอดคล้องกับสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลง ซึ่งในระบบการศึกษาของมหาวิทยาลัยจึงให้ความสำคัญกับการศึกษา 2 ส่วนคือ ส่วนที่เป็นศึกษาทั่วไป ซึ่งเป็นการบังคับให้นักศึกษาในมหาวิทยาลัยทุกคนต้องได้ศึกษา และอีกส่วนหนึ่งคือการศึกษาวิชาชีพ หรือความเชี่ยวชาญเฉพาะ
                ซึ่งในที่นี้ ผู้เขียนตั้งคำถามถึง ศึกษาทั่วไป กับทิศทางในศตวรรษที่ 21 ไปด้วยกันได้อย่างไร? ทั้งนี้เพื่อให้เห็นความสำคัญของ การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ทักษะที่สำคัญของผู้เรียน และการศึกษาทั่วไปในระบบอุดมศึกษา ได้มีการปรับตัวหรือความพยามยามที่จะจัดการการศึกษาให้เหมาะกับผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 หรือ เด็ก Gen Z อย่างไร

ศึกษาทั่วไป สำคัญและต้องเรียนรู้กันอย่างไร?

ศึกษาทั่วไปกับความสำคัญที่ต้องศึกษา
ศึกษาทั่วไป[12] (General Education) หมายถึงองค์ความรู้ที่เหมาะสมที่ทำให้นักศึกษาในระดับอุดมศึกษาสามารถเข้าใจถึงความเป็นไปของโลก และสิ่งที่พึงประสงค์ในการอยู่ร่วมในสังคม ตามบรรทัดฐานที่ถูกตั้งไว้ในสังคมนั้น ๆ 
ทบวงมหาวิทยาลัย (2542) ได้อธิบายว่า วิชาศึกษาทั่วไปเป็นวิชาที่มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้มีความรอบรู้อย่างกว้างขวาง  มีโลกทัศน์ที่กว้างไกล มีความเข้าใจธรรมชาติ  ตนเอง ผู้อื่นและสังคม  เป็นผู้ใฝ่รู้  สามารถคิดอย่างมีเหตุผล  สามารถใช้ภาษาในการติดต่อสื่อสารความหมายได้ดี  มีคุณธรรม  ตระหนักในคุณค่าของศิลปะและวัฒนธรรม ทั้งของไทยและของประชาคมนานาชาติ  สามารถนำความรู้ไปใช้ในการดำเนินชีวิตและดำรงตนอยู่ในสังคมเป็นอย่างดี คณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการแห่งประเทศไทยได้กำหนดให้วิชาศึกษาทั่วไปเป็นองค์ประกอบหนึ่งของหลักสูตรอุดมศึกษาระดับปริญญาตรีเพราะปรัชญาของการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษามุ่งเน้นการผลิตบัณฑิตให้มีความรอบรู้ทั้งภาคทฤษฏีและภาคปฏิบัติ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสม มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์สังเคราะห์อย่างเป็นระบบ หมั่นแสวงหาความรู้ด้วยตนเองและสามารถติดต่อสื่อสารกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี วิชาศึกษาทั่วไปเป็นวิชาที่ถือว่าสำคัญอย่างยิ่งต่อความเป็นบัณฑิตเพราะเป็นส่วนที่ช่วยเสริมสร้างคุณลักษณะของบัณฑิตที่พึงประสงค์ในภาพรวม
พระพรหมคุณาภรณ์ (..ปยุตโต) (2550) [13] ให้คำจำกัดความของรายวิชาศึกษาทั่วไปอย่างชัดเจนว่า วิชาศึกษาทั่วไปมีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การสร้างบัณฑิต ส่วนวิชาชีพเป็นเหมือนการสร้างเครื่องมือให้บัณฑิต วิชาศึกษาทั่วไปมีหน้าที่ทำคนให้เป็นบัณฑิตหรือสร้างบัณฑิต มีบทบาทโดยตรงในการพัฒนาคนเพื่อให้บุคคลแต่ละคนเป็นคนที่สมบูรณ์ มีชีวิตที่ดีงามประณีตประเสริฐสมกับความเป็นมนุษย์ หรืออาจจะเรียกว่าเป็นคนเต็มคน มีชีวิตที่มีอิสรภาพและมีความสุข การศึกษามีหน้าที่พัฒนาคนในสองด้าน กล่าวคือ 1) การพัฒนาตัวมนุษย์ให้มีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ มีชีวิตที่ดีงาม มีความสุข มีอิสรภาพ และ 2) การพัฒนาคนในฐานะที่เป็นทรัพยากรมนุษย์ คือเป็นทุนที่จะนำไปใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ถ้าวิเคราะห์แนวคิดเบื้องต้นนี้อย่างถี่ถ้วนแล้วกล่าวได้ว่าการจัดการศึกษารายวิชาศึกษามีความสำคัญอย่างยิ่งซึ่งท่านถึงกับกล่าวว่า จะสอนวิชาเฉพาะวิชาชีพให้ใช้ผู้เชี่ยวชาญ แต่จะสอนวิชาพื้นฐาน ต้องใช้นักปราชญ์
                วิจิตร ศรีสอ้าน (2552) กล่าวว่า วงการอุดมศึกษาไทยได้ให้ความสำคัญเรื่องการศึกษาทั่วไปหรือวิชาศึกษาทั่วไปมาโดยตลอดเริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2517 ซึ่งเป็นผลจากการวิเคราะห์หลักสูตรของการอุดมศึกษาไทย 5 แห่ง พบว่าเป็นการจัดการเรียนการสอนแนววิชาชีพในวงแคบ หลักสูตรในยุคนั้นต้องการดึงคนไปสู่สาขาวิชาชีพและมหาวิทยาลัยในยุคนั้นเหมือนโรงเรียนอาชีวะชั้นสูง การจัดการเรียนการสอนรายวิชาศึกษาทั่วไปมีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นผู้นำในปีพ.ศ. 2517  จัดเป็นส่วนประกอบสำคัญของการศึกษาขั้นปริญญาตรี (.ศ.2552)  และได้ผ่านกระบวนการพัฒนาปรับปรุงมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งวิจิตร ศรีสอ้านได้ให้ความหมายรายวิชาศึกษาทั่วไปว่าเป็นการศึกษาที่จำเป็นสำหรับทุกคน ความเป็นบัณฑิตจะวัดกันที่ว่ามีความเป็นคนอยู่แค่ไหน มีความเป็นนักวิชาชีพอยู่แค่ไหน หรือที่เรียกว่า Manhood (ความเป็นคน) กับ Manpower (กำลังคน) คนที่เป็นบัณฑิตจะต้องมีทั้ง 2 ด้าน แนวคิดดังกล่าวนำมาเชื่อมโยงกับนโยบายคุณธรรมนำความรู้ที่เน้นความเป็นคนดี มีความรู้และอยู่เย็นเป็นสุข 
                หมวดศึกษาทั่วไปจึงเป็นหมวดวิชาหนึ่งในโครงสร้างของหลักสูตรการศึกษาระดับปริญญาตรี ที่นักศึกษาทุกคนต้องเรียนไม่ต่ำกว่า 30 หน่วยกิต ซึ่งที่ผ่านมา การศึกษาทั่วไป ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบมาตลอด ทั้งนี้เพื่อสอดคล้องกับสังคมที่มีความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ อีกทั้งเน้นความเป็นอิสระจากความไม่รู้ สู่ความเป็นเสรีชน และความเป็นพลเมืองดีภายใต้กติกาโลกไร้พรมแดน โดยให้ความสำคัญของการจัดการการศึกษาที่อยู่บนพื้นฐานที่สำคัญ อันประกอบด้วย [14] สาระเนื้อหา” “ผู้สอน” “สื่อและอุปกรณ์สำหรับการศึกษา รูปแบบวิธีการเรียนการสอน” “ผู้บริหารและบุคคลที่ทำหน้าที่สนับสนุนการศึกษา เงินทุนสนับสนุน” “สถาบันอุดมศึกษาและบรรยากาศแวดล้อมและ ผู้เรียน ซึ่งจำเป็นที่ควรเน้นให้ผู้เรียนมีทักษะต่าง ๆ และอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน พร้อมเปิดใจกว้าง คิดนอกกรอบ เพื่อสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่แตกต่างและแก้ปัญหาที่ซับซ้อนได้

ศึกษาทั่วไปกับกระบวนการเรียนรู้
                หากพิจารณาถึงความสำคัญของวิชา ศึกษาทั่วไปกับความสำคัญและปรัชญาของหมวดวิชานี้แล้วจะเห็นว่า ต้องสอดคล้องกับชีวิตความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคมและการเปลี่ยนแปลง อีกทั้งมุ่งตอบโจทย์ของการพัฒนาคุณภาพของเยาวชนคนรุ่นใหม่ในสังคม ทำให้การให้ความสำคัญของการศึกษาทั่วไปจึงต้องดึงดูดความน่าสนใจและเข้าถึงผู้เรียน ดังนั้นกระบวนการเรียนรู้เป็นสิ่งสำคัญที่ถูกตั้งคำถามอย่างมาก ว่า จะทำอย่างไรให้การเรียนรู้ศึกษาทั่วไป ไม่น่าเบื่อ น่าสนใจ สามารถเข้าถึงตัวผู้เรียนได้ด้วย และที่สำคัญ ตัวผู้สอนเองก็ต้องทันสมัย เข้าใจทั้งสถานการณ์ความเป็นจริง และตัวผู้เรียนในยุคศตวรรษที่ 21 อีกด้วย ด้วยเหตุนี้จึงมีการออกแบบวิธีการเรียนรู้ในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงการพัฒนาตัวผู้สอนอีกด้วยเพื่อให้ไปในทิศทางเดียวกัน
                ทั้งนี้ทั้งนั้นเป้าหมายการสอนวิชาศึกษาทั่วไปมีความต่างจากการสอนวิชาชีพ (เฉพาะด้าน) วิชาศึกษาทั่วไปไม่ได้มุ่งหมายที่จะให้นำความรู้เพื่อไปใช้ประกอบอาชีพ จึงไม่ต้องการรายละเอียดเชิงลึกของเนื้อหา แต่ต้องการให้เห็นภาพรวมของสาระเนื้อหาและความสัมพันธ์กับชีวิตมนุษย์ สังคม และสิ่งสร้างตามธรรมชาติ ดังนั้นกระบวนการจัดการเรียนรู้ของหมวดวิชาศึกษาทั่วไปจึงต้องมีวิธีการที่หลากหลาย อีกทั้งคณาจารย์ผู้สอนเองต้องเข้าใจปรัชญา ความสำคัญรวมถึงวิธีการเรียนรู้ของวิชาศึกษาทั่วไป
ดังนั้นจึงพบว่า ในอดีตที่ผ่านมาการเรียนการสอนวิชาศึกษาทั่วไปมีนักศึกษาจำนวนมาก และต้องสอนในชั้นเรียนขนาดใหญ่ วิธีการที่ง่ายต่อการจัดการคือ การบรรยาย และเมื่อมีการเห็นถึงประเด็นของปัญหาการเรียนสอน และกระบวนการเรียนรู้เพื่อตอบโจทย์ของศึกษาทั่วไปและสอดคล้องกับผู้เรียนในยุคศตวรรษที่ 21 ทำให้ต้องกลับมาให้ความสำคัญกับการบูรณาการการเรียนการสอน โดยอิงกับแนวความคิดทฤษฎีว่าด้วย การสร้างความรู้ใหม่โดยผู้เรียน” (Constructivism Learning )[15] ที่เห็นว่า  การเรียนรู้จะเกิดขึ้นเมื่อผู้เรียนได้สร้างความรู้ที่เป็นของตนเองขึ้นมาจากความรู้ที่มีอยู่เดิม หรือจากความรู้ที่รับเข้ามาใหม่ จึงส่งผลต่อการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ที่ไม่ควรเน้นการเรียนในห้องเรียนหรือครูเป็นศูนย์กลางการจัดการทุกสิ่งทุกอย่าง โดยผู้เรียนเป็นเพียงฝ่ายรับเพียงอย่างเดียว (Passive Learning) แต่ผู้เรียนต้องเป็นผู้ลงมือปฏิบัติเอง สร้างความรู้ที่เกิดจากความเข้าใจของตนเอง และมีส่วนร่วมในการเรียนมากขึ้น (Active Learning) กลายเป็นการเรียนที่ให้ความสำคัญกับตัวผู้เรียนมากกว่าผู้สอน ผู้เรียนจะเป็นผู้ที่มีปฏิสัมพันธ์กับเหตุการณ์หรือสถานการณ์ต่าง ๆ ด้วยตัวเขาเอง อันจะทำให้เกิดความเข้าใจในเหตุการณ์หรือสถานการณ์นั้น ๆ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องของการสร้าง (Construct) การทำความเข้าใจ (Conceptualization) และการแก้ปัญหาต่าง ๆ ด้วยตัวเอง รวมถึงการให้ความสำคัญกับความรู้เดิม[16]
                ที่มาของแนวคิดการสร้างความรู้ใหม่โดยผู้เรียน (Constructivism Learning) เป็นแนวคิดที่ได้รับอิทธิพลจากนักจิตวิทยาอย่าง เพียเจท (Jean Piaget)  และนักการศึกษาอย่าง เลบ ไวกอตสกีย์ ( Lev Vygotsky) ซึ่งจากแนวคิดของเพียเจท ให้ความสำคัญกับการเน้นผู้เรียนเป็นผู้สร้างความรู้ โดยเป็นผู้สร้างความรู้ โดยการลงมือกระทำ Piaget (1972) เชื่อว่าถ้าผู้เรียนถูกกระตุ้นด้วยปัญหาที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางปัญญา (Cognitive conflict) หรือเรียกว่าเกิดการเสียสมดุลย์ทางปัญญา(Disequilibrium) ผู้เรียนต้องพยายามปรับโครงสร้างทางปัญญา (Cognitive structuring)ให้เข้าสู่ภาวะสมดุลย์ โดยการผสมกลมกลืน ได้แก่ การรับข้อมูลใหม่จากสิ่งแวดล้อมเข้าไปไว้ในโครงสร้างทางปัญญา และ การปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางปัญญา คือ การเชื่อมโยงโครงสร้างทางปัญญาเดิม หรือความรู้เดิมที่มีมาก่อนกับข้อมูลข่าวสารใหม่ จนกระทั่งผู้เรียนสามารถปรับโครงสร้างทางปัญญาเข้าสู่สภาพสมดุลย์ หรือสามารถที่จะสร้างความรู้ใหม่ขึ้นมาได้ หรือเกิดการเรียนรู้นั่นเอง[17]  ส่วนแนวคิดของไวกอตสกีย์ (1978) ให้ความสำคัญกับ "ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาด้านพุทธิปัญญา รวมทั้งแนวคิดเกี่ยวกับศักยภาพในการพัฒนาด้านพุทธิปัญญาที่อาจมีข้อจำกัดเกี่ยวกับช่วงของการพัฒนาที่รียกว่า Zone of Proximal Development ถ้าผู้เรียนอยู่ต่ำกว่า Zone of Proximal Development จำเป็นที่จะต้องได้รับการช่วยเหลือในการเรียนรู้ ที่เรียกว่า Scaffolding และไวกอตสกีย์ เชื่อว่าผู้เรียนสร้างความรู้โดยผ่านทางการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับผู้อื่น ได้แก่ เด็ก กับ ผู้ใหญ่ พ่อแม่ ครูและเพื่อน ในขณะที่เด็กอยู่ในบริบทของสังคมและวัฒนธรรม (Socio-cultural context ) [18]
                ดังนั้นจึงทำให้การปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้ในหมวดศึกษาทั่วไปจึงมีรูปแบบหลากหลาย เช่น การระดมสมอง การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน การทัศนศึกษา การใช้อุปกรณ์เครื่องมือประกอบ การเรียนรู้โดยใช้บทบาทสมมติ การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน การเรียนรู้โดยใช้กระบวนการเผชิญสถานการณ์ การเรียนรู้โดยใช้โครงการเป็นฐาน เป็นต้น ซึ่งผู้สอนเองก็ต้องเลือกใช้แต่ละรูปแบบให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์การเรียนรู้ในแต่ละครั้ง ความเหมาะสมกับกลุ่มผู้เรียน อีกทั้งจำเป็นต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ประกอบกับการทำความเข้าใจการเรียนรู้ของผู้เรียนจึงจะประสบผลสำเร็จ เพราะตั้งอยู่บนความเชื่อว่าการให้ความสำคัญกับผู้เรียนจะทำให้ผู้เรียนสามารถสร้างความรู้ใหม่ได้ด้วยตนเอง และเข้าถึงชุดความรู้และทักษะต่าง ๆได้อย่างเข้าใจอย่างลึกซึ้ง
จากคำถามข้างต้น ศึกษาทั่วไปสำคัญและต้องเรียนรู้กันอย่างไร? จึงทำให้ต้องหันกลับมามอง การเรียนการสอนรายวิชา ในหมวดศึกษาทั่วไป ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ว่ามีความสอดคล้องกับชีวิตผู้คน และสังคม รวมถึงกระบวนการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 อย่างไร อีกทั้งต้องเผชิญและประสบกับปัญหาอย่างไรบ้างในการจัดการและออกแบบการเรียนการสอนในหมวดวิชาศึกษาทั่วไป

ศึกษาทั่วไป กรณีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

รู้จัก ศึกษาทั่วไป ในมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ถูกกำหนดว่าเป็น มหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบ” (Comprehensive University) ที่จัดการเรียนการสอนครอบคลุมทั้งด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยได้พัฒนาสภาพแวดล้อมให้เป็นเมืองมหาวิทยาลัยในรูปแบบ Residential University ที่มีระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการแบบครบวงจร รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ ที่มุ่งเน้นนโยบาย และปณิธาน ที่มุ่งสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ พัฒนาบัณฑิตให้เป็นผู้มีความเรืองปัญญา และคุณธรรม เพื่ออำนวยต่อความเจริญของสังคมและของมนุษยชาติ อีกทั้งมุ่งสร้างบัณฑิตให้เป็นทั้ง คนดีและคนเก่ง[19] โดยมุ่งสร้างลักษณะโดดเด่นของนักศึกษา ที่เรียกว่า อัตลักษณ์นักศึกษา ดังนี้ บัณฑิตมีความรู้คู่การปฏิบัติ อุตสาหะสู้งาน เก่งด้านศิลปศาสตร์และเทคโนโลยี มีคุณธรรม
ซึ่งมหาวิทยาลัยฯ เองได้มีการเปิดการเรียนการสอนในหลักสูตรต่าง ๆ ที่หลากหลายทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาศาสตร์ประยุกต์ สังคมศาสตร์และศิลปศาสตร์ รวมทั้งสิ้น 11 สำนักวิชา [20] ซึ่งแต่ละสำนักวิชามุ่งเน้นความเป็นวิชาชีพเฉพาะสาขาวิชา จึงทำให้มีเป้าหมายที่ชัดเจนในการผลิตบัณฑิตตามสายวิชาชีพนั้น ๆ อย่างไรก็ตามทุกสำนักวิชาของมหาวิทยาลัยถูกกำหนดให้มีการจัดการวิชาศึกษาทั่วไป โดยให้มีเนื้อหาวิชาครอบคลุมสาระของกลุ่มวิชาสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ภาษา และวิชาวิทยาศาสตร์กับคณิตศาสตร์ในสัดส่วนที่เหมาะสมและบรรลุวัตถุประสงค์ ให้มีจำนวนหน่วยกิตไม่น้อยกว่า 30 หน่วยกิต หรือ 10 หน่วยวิชา[21]
ต่อมาปี พ.ศ. 2552 สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา ได้มีการประกาศใช้กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2552 ขึ้น ซึ่งมุ่งเน้นผลการเรียนรู้ (Learning Outcomes) ของบัณฑิตและเพื่อประกันคุณภาพบัณฑิต[22] จึงได้มุ่งเน้นการพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ความสามารถที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกที่มีความหลากหลายในด้านของประชากร และการอยู่ร่วมกันด้วยความเข้าใจและสันติ จึงได้กำหนดผลการเรียนรู้ระดับปริญญาตรีได้วอย่างน้อย 5 ด้าน ดังนี้ ด้านคุณธรรม จริยธรรม[23] ด้านความรู้[24] ด้านทักษะทางปัญญา[25] ด้านทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความรับผิดชอบ[26] และด้านทักษะการวิเคราะห์เชิงตัวเลข การสื่อสาร และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ[27]
มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เองได้มีการกำหนดวัตถุประสงค์การจัดการเรียนการสอนหมวดศึกษาทั่วไปภายใต้กรอบการศึกษาเพื่อความเป็น ศึกษิตหรือ บัณฑิตที่พึงประสงค์ 12 ประการ[28] ที่มีความสามารถเชิงวิชาการสูงและมีความสามารถที่จะอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นอย่างมีความสุข และสอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับปริญญาตรีของคณะกรรมการอุดมศึกษา และกำหนดให้นักศึกษาทุกหลักสูตรทุกสำนักวิชาต้องเรียนวิชาศึกษาทั่วไปตลอดหลักสูตรจำนวนไม่น้อยกว่า 10 หน่วยวิชา  ซึ่งทางมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบการเรียนการสอนวิชาศึกษาทั่วไป 3 หน่วยงานคือ สำนักวิชาศิลปศาสตร์ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และสำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์ โดยแบ่งเป็น 5 กลุ่มวิชา ดังนี้ (1) กลุ่มวิชาภาษา 4 หน่วยวิชา ประกอบด้วย กลุ่มวิชาภาษาไทย 1 หน่วยวิชา และกลุ่มวิชาภาษาอังกฤษ 3 หน่วยวิชา (2) กลุ่มวิชาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ 3 หน่วยวิชา (3) กลุ่มวิชากีฬาและนันทนาการ 0.5 หน่วยวิชา (4) กลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ 1 หน่วยวิชา และ (5) กลุ่มวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ 1.5 หน่วยวิชา ซึ่งแต่ละรายวิชานั้นจะเป็นวิชาที่จบภายในตัวเองของแต่ละภาคการศึกษา

 โดยการบริหารจัดการหลักสูตรศึกษาทั่วไปของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์นี้ ถือว่าเป็นการรวมศูนย์ โดยมหาวิทยาลัยฯ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด อยู่ในความดูแลของ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ เพื่อจัดทำรายวิชา และวางแผนการเรียนการสอน การพัฒนาผู้สอน และการพัฒนาผลการเรียนรู้ร่วมกันได้ และมอบหมายให้สำนักวิชาศิลปศาสตร์ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ และสำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์ เป็นผู้รับผิดชอบกรอบการจัดการเรียนการสอนของรายวิชาต่างๆ ที่รับผิดชอบในหมวดรายวิชาศึกษาทั่วไป ซึ่งได้กำหนดกรอบของคุณลักษณะของบัณฑิตที่พึงประสงค์ไว้เป็นแนวทางในการจัดการเรียนการสอนในหมวดศึกษาทั่วไปในปีพ.ศ. 2553 ไว้ดังนี้
1.             รู้จักและเข้าใจตนเอง มีภูมิคุ้มกัน สามารถพัฒนาตนเองในเชิงภูมิปัญญา บุคลิกภาพและคุณภาพชีวิต
2.             เป็นคนดี มีวินัย มีคุณธรรมและความกล้าหาญทางจริยธรรม
3.             เป็นผู้ที่มีความใฝ่รู้  และมีทักษะในการแสวงหาความรู้นำความรู้ที่ได้จากการศึกษาไปพัฒนาตนเอง วิชาชีพ และสังคมได้
4.             เป็นผู้มีความคิดสร้างสรรค์ มีจินตนาการและ มีความคิดเชิงนวัตกรรม
5.             เป็นผู้มีความคิดเชิงวิเคราะห์  สังเคราะห์  มีทัศนะเชิงวิทยาศาสตร์ สามารถแสดงความคิดเห็นและตัดสินใจอย่างมีเหตุผล
6.             มีความเข้าใจและมีทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่น
7.             มีความสามารถในการใช้ภาษาไทยและ ภาษาต่างประเทศเพื่อการติดต่อสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ
8.             มีความเข้าใจ สามารถวิเคราะห์สังคมไทยและสังคมโลก รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงเพื่อดำรงตนในสังคมได้อย่างเหมาะสม
9.             ตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน และระบอบประชาธิปไตย มีจิตอาสาและสำนึกสาธารณะ
10.      มีความรู้เท่าทันในบทบาท และอิทธิพลของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สามารถนำมาใช้ได้อย่างเหมาะสม
11.      มี ทักษะพื้นฐานและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการติดต่อสื่อสาร การนำเสนอ การสืบค้นข้อมูลเพื่อการแสวงหาความรู้อย่างต่อเนื่อง และมีจริยธรรมในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ
12.      มีความตระหนัก ซาบซึ้งในคุณค่าของศิลปวัฒนธรรม  ดนตรี และกีฬา เพื่อสร้างเสริมสุนทรียภาพแห่งชีวิต
ซึ่งนี่คือ ที่มาของการจัดการเรียนการสอนของหมวดวิชาศึกษาทั่วไปของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งส่งผลต่อการตั้งคำถามหลาย ๆ คำถามจากผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการเรียนการสอนของรายวิชาต่าง ๆ ในหมวดศึกษาทั่วไป ถึงความสำคัญ ความจำเป็น ความสอดคล้องของเนื้อหาการเรียนการสอน กระบวนการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับสภาวะในปัจจุบัน คุณภาพของผู้สอน ลักษณะของผู้เรียน รวมถึงการบริหารจัดการหมวดวิชาศึกษาทั่วไป ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ทำไมต้องเรียนวิชาศึกษาทั่วไปด้วย?
                การตอบโจทย์ว่า ทำไมเราต้องเรียนวิชาศึกษาทั่วไป?” ที่ทางมหาวิทยาลัยเองต้องการมุ่งเน้นเพื่อสร้างบัณฑิตในองค์รวมให้บรรลุวัตถุประสงค์ โดยการกระตุ้นให้คิดเป็น ไม่ใช่เพียงแค่รู้เท่านั้น แต่ต้องคิดแล้วก็สามารถหาความรู้ได้ด้วยตนเองได้ ต้องตระหนักในความสามารถของตนเอง ตระหนักในความสามารถที่ซ่อนอยู่ในตัวเอง ตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงของสังคม ตระหนักถึงการใช้ชีวิต มีส่วนร่วมอยู่ในสังคม รวมถึงสามารถที่จะพัฒนาบุคลิกภาพ สามารถที่จะพัฒนาตัวเองเพื่อให้อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ขณะเดียวกันการเรียนการสอนวิชาศึกษาทั่วไปเราจะพบว่า นักศึกษาที่ลงเรียนแต่ละรายวิชาในศึกษาทั่วไปนั้นมีความแตกต่างและหลากหลายสาขาและสำนักวิชา ทำให้ความสนใจของนักศึกษาแต่ละคนแต่ละสาขาวิชาก็แตกต่างกัน จึงไม่แปลกใจนักว่า บางครั้งมักจะได้ยินเสียงว่า ไม่เห็นเกี่ยวกับสาขาวิชาเราเลย เรียนไปจะเอาไปใช้ได้จริงหรือเปล่า” “จะเอาไปใช้ยังไงเนี่ย” “ทำไมต้องเรียนด้วย เป็นต้น
                แม้ว่าวิชาศึกษาทั่วไปจะเป็นวิชาพื้นฐานที่ดูไม่สำคัญ หรือนักศึกษาอาจจะรู้สึกว่าเรียนมาแล้วตั้งแต่สมัยมัธยม แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญ ซึ่งอาจกล่าวไว้ข้างต้นแล้วว่า อย่างน้อยวัตถุประสงค์ก็ต้องการให้คิด การเข้าใจเพื่อใช้ชีวิตในสังคมระดับต่าง ๆ การรู้จักวิธีการค้นคว้าหาความรู้ การรู้จักจัดการจริยธรรมคุณธรรมของเราเอง เป็นต้น ซึ่งมิใช่องค์ความรู้แบบตรง ๆ ที่จะสามารถเชื่อมกับวิชาเอก แม้จะมีบางรายวิชาในศึกษาทั่วไปที่สามารถเชื่อมองค์ความรู้ได้โดยตรง แต่เราอาจพิจารณาว่า โดยทางอ้อมหรือนัยยะที่ซ่อนอยู่ในการเรียนวิชาศึกษาทั่วไป มีความพยายามที่ต้องการให้ตอบโจทย์ตรงตามวัตถุประสงค์ อันสามารถเชื่อมโยงต่อการเรียนการสอนวิชาเอก และการผลิตบัณฑิตอย่างมีคุณภาพในสังคมไทยและสังคมโลกต่อไป
                โดยเฉพาะในยุคศตวรรษที่ 21 มักจะมีการกล่าวถึง โลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร้ทิศทาง ความไร้พรมแดน การข้ามชาติทางวัฒนธรรม การแข่งขัน รวมถึงการตั้งคำถามเกี่ยวกับความถูกต้อง ความดี จริยธรรมและสิทธิต่าง ๆ ทำให้การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยเกิดปรากฏการณ์ที่ต้องปรับเปลี่ยนสภาพ เพราะไม่เพียงแค่ชุดขององค์ความรู้เฉพาะสาขาวิชาชีพเท่านั้น เพราะเพียงแค่นี้ไม่ได้ทำให้มนุษย์หรือคนเราสามารถยืนอยู่ได้ในสังคม แต่ทักษะอื่น ๆ ที่ต้องเพิ่มเติมหรือเสริมเข้าไปนั้นเป็นส่วนที่หนึ่งที่รายวิชาศึกษาทั่วไปมีส่วนเข้ามาปูพื้นฐานและส่วนเสริมให้เกิดการเรียนรู้ทักษะต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น ดังจะเห็นว่ามีรายวิชาในกลุ่มวิชาต่าง ๆ ที่พัฒนาเพื่อเชื่อมโยงไปสู่รายวิชาเอกของแต่ละสาขาวิชาและสำนักวิชา อาทิ กลุ่มวิชากีฬา นันทนาการ และการออกกำลังกายเพื่อสุขภาวะ กลุ่มวิชาภาษาไทยร่วมสมัยและการรู้สารสนเทศ[29]
                กลุ่มวิชาภาษาอังกฤษ ได้แก่ วิชาทักษะภาษาอังกฤษเชิงบูรณาการ ภาษาอังกฤษเพื่อสุนทรียศาสตร์ ภาษาอังกฤษด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ภาษาอังกฤษด้านสังคมศาสตร์ ภาษาอังกฤษด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
                กลุ่มวิชาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ได้แก่ สิทธิ กฎหมายและสังคม การเมือง ประชาสังคมและการเคลื่อนไหว วัฒนธรรมไทยและวัฒนธรรมโลก ชีวิตประจำวันกับหลักการอยู่ร่วมกันในสังคม มนุษยภาพ ชีวิต และการพัฒนาตนเอง และมนุษยภาพ สังคม และสุนทรียศาสตร์
                กลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ได้แก่ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับมนุษย์ ชีวิตและธรรมชาติ วิทยาศาสตร์และธุรกิจ คณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวัน โลกและระบบสุริยะ พรรณพืชเพื่อชีวิต มนุษย์กับสิ่งแวดล้อม
                กลุ่มวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้แก่ ความรู้พื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ การจัดการงานเอกสารและการสร้างงานนำเสนอ การออกแบบและพัฒนาเว็บไซต์ และการใช้ตารางคำนวณและการจัดการฐานข้อมูล
                 ซึ่งจะเห็นว่าแต่ละรายวิชาในหมวดศึกษาทั่วไปได้มีกลยุทธ์ในการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาและข้อจำกัดด้านต่าง ๆ ของนักศึกษา และที่สำคัญการเป็นตัวเชื่อมโยงจากพื้นฐานสู่สาขาวิชาเอกที่เฉพาะด้านมากขึ้น แม้ว่าอาจมีข้อจำกัดในด้านกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่ดำเนินการอยู่ที่ไม่ตอบตามวัตถุประสงค์บางข้อ หรือผลการเรียนรู้ของนักศึกษา รวมถึงความคาดหวังของคณาจารย์

ปัญหาการจัดการเรียนการสอนหมวดศึกษาทั่วไป
                จากการศึกษาและประเมินผลการเรียนการสอนของหมวดศึกษาทั่วไป สำนักวิชาศิลปศาสตร์ ในช่วงเดือนมกราคม เมษายน 2557 พบว่า อาจารย์และผู้ประสานงานหลักสูตรในแต่ละสำนักวิชายังขาดความเข้าใจ และไม่ทราบถึงกระบวนการจัดการเรียนการสอนของหมวดศึกษาทั่วไปเท่าที่ควร ทั้ง ๆที่นักศึกษาของตนต้องเรียนและบังคับให้เรียน อันเป็นส่วนหนึ่งของแต่ละหลักสูตร
                อย่างไรก็ตามประเด็นปัญหาที่สะท้อนในแง่มุมของเนื้อหาสาระรายวิชา กระบวนการจัดการเรียนการสอน อาจารย์ผู้สอน และนักศึกษา พร้อมทั้งข้อเสนอแนะของการพัฒนาและการปรับปรุงหมวดวิชาศึกษาทั่วไปต่อไปในอนาคต
                ข้อเสนอแนะ
  1. 1.             การเรียนการสอนวิชาศึกษาทั่วไปไม่สามารถสะท้อนผลการเรียนรู้เป็นถ้อยคำได้ เพราะจะต้องเป็นความรู้ทั่วไป ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น เรื่องคุณธรรมเป็นเรื่องทั่วไป ไม่ใช่จริยธรรมในวิชาชีพ
  2. 2.             ควรเน้นการปั้นเด็กจากฐานชีวิตจริง ความดีงาม บวกกับโลกาภิวัตน์ บวกกับการประยุกต์ใช้
  3. 3.             การบ่มเพาะอุปนิสัย (Habits) การเป็นแบบอย่างที่ดี สอนจากประสบการณ์ตรง ให้นักศึกษาเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง กระบวนการเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้องเรียนเสมอไป
  4. 4.             การสอนความรู้ คนสร้างจิตสำนึก เข้าใจความเป็นพหุวัฒนธรรม รู้ตนเอง รู้ทันโลก ปรับตัวได้ มนุษยสัมพันธ์ทำงานร่วมกับผู้อื่น
  5. 5.             ควรสงเสริมใหมีการวิจัยในหองเรียนเพื่อติดตามประสิทธิภาพการเรียนการสอนเพื่อนํามาปรับปรุงแกไขใหดีขึ้น
  6. 6.             ควรจัดใหมีประชุมวิชาการเพื่อระดมความเห็นจากอาจารยในสถาบันตนเองและสถาบันอื่นอยางนอย ปละครั้ง

7.              
ทิศทาง ศึกษาทั่วไป กับการก้าวเดินในศตวรรษที่ 21
        หลายคนอาจตั้งข้อสงสัยว่า การเรียนการสอนวิชาศึกษาทั่วไปในเมื่อนักศึกษาไม่สนใจ ไม่ตั้งใจ แล้วเราจะทำอย่างไร? จะมีวิธีการใดบ้างที่อาจารย์จะสามารถเข้าถึงนักศึกษาที่มาลงเรียนเป็นหลายร้อย? แล้วจะทำอย่างไรให้นักศึกษาได้มีโอกาสเข้าถึงรายวิชานั้น ๆ และเห็นความสำคัญด้วย ซึ่งข้อสงสัยและคำถามต่าง ๆ เหล่านี้ จึงกลายเป็นสิ่งที่ทำให้รายวิชาต่าง ๆ ในหมวดศึกษาทั่วไปต้องมาคิดไตร่ตรอง ร่วมกันแก้ไขปัญหา สิ่งหนึ่งที่คิดว่าเป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยได้ คือ การเรียนการสอนแบบเชิงรุก หรือเรียกว่า Active Learning ก็กลายเป็นคำถามว่า จะทำอย่างไร จะใช้เทคนิคแบบไหน ฯลฯ
เรามิอาจเถียงได้ว่า การจัดการเรียนการสอนวิชาในหมวดศึกษาทั่วไปยังเป็นวิชาแบบบรรยาย ขาดการสร้างรายวิชาที่เป็นเชิงกิจกรรม หรือลงมือปฏิบัติ เพราะห้องเรียนที่สอนมีขนาดใหญ่เกินไป ต้องรองรับนักศึกษาจำนวนมาก จำนวนผู้สอนต่อจำนวนผู้เรียนยังมีสัดส่วนไม่เหมาะสม อีกทั้งยังคงเน้นที่เนื้อหามากกว่าวิธีคิด ยังไม่พัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ ให้กับผู้เรียนอย่างเต็มที่
        จึงกลายเป็นที่มาของการร่วมนั่งคบคิดของกลุ่มคณาจารย์ต่าง ๆ ที่เห็นความสำคัญของประเด็นนี้ จึงได้มีความพยายามพัฒนากระบวนการเรียนการสอนในเชิงรุก (Active Learning) โดยการสอดแทรกไปในรายวิชาต่าง ๆ ที่หลากหลายรูปแบบตามแต่ที่อาจารย์ผู้รับผิดชอบในรายวิชานั้น ๆ ถนัด เช่น กิจกรรมออกกำลังกาย การเรียนรู้แบบปฏิบัติการ (Laboratory) การทำโครงงาน (Project-based Learning) การใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-based Learning) การเรียนรู้จากชุมชน (Community-based Learning) การบูรณาการร่วมกับกิจการนักศึกษา เป็นต้น
        ซึ่งก็พบว่าในแต่ละรายวิชาได้มีการปรับปรุงกระบวนการเรียนการสอนเพื่อสอดรับกับวัตถุประสงค์ของการศึกษาทั่วไป และเสริมทักษะของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ซึ่งจากคำกล่าวของ ดร.ทิพย์วัลย์ สุทิน (2556: 99) ได้กล่าวไว้ว่า ผู้เรียนเชิงรุก (Active Learner) ผู้เรียนมีบทบาทในการแสวงหาความรู้และเรียนรู้อย่างมีปฏิสัมพันธ์จนเกิดความรู้ ความเข้าใจ นำไปประยุกต์ใช้ สามารถวิเคราะห์ สังเคราะห์ ประเมินค่าหรือสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ และพัฒนาตนเองเต็มตามศักยภาพ ก็ควรจัดกระบวนการเรียนรู้เชิงรุก ซึ่งสามารถจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้เขาได้มีโอกาสร่วมอภิปราย ให้มีโอกาสฝึกทักษะการสื่อสาร การนำเสนองานทางวิชาการ เรียนรู้ในสถานการณ์จำลอง ทั้งมีการฝึกปฏิบัติในสภาพจริง มีการเชื่อมโยงกับสถานการณ์ต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้ผลการเรียนรู้เกิดขึ้นตั้งแต่ร้อยละ 70-90 ดังเป็นเครื่องยืนยันสิ่งที่ ขงจื่อได้กล่าวไว้เป็นพัน ๆ ปีแล้วว่า ฉันลงมือทำฉันจึงเข้าใจ
        อย่างไรก็ตามกระบวนการจัดการเรียนการสอนหมวดศึกษาทั่วไป ก็พยายามมีการปรับปรุงเพื่อสอดรับกับผลการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ที่ต้องการให้เกิดการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการเนื้อหาวิชาและกิจกรรม หรือการผสมผสานหลายศาสตร์สาขาวิชาด้วยกัน และที่สำคัญมุ่งให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้

สรุป
        หากกล่าวโดยสรุปแล้ว วิชาศึกษาทั่วไปเป็นวิชาที่รวบรวม ผสมผสานองค์ความรู้ ศาสตร์สาขาต่าง ๆ เข้าด้วยกันเพื่อเสริมสร้างทักษะต่าง ๆ ให้แก่ผู้เรียน สร้างองค์ความรู้ เป็นแนวทางในการดำรงชีวิต สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมที่ซับซ้อน ประยุกต์องค์ความรู้แล้วนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน สังคม เป็นต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้กลายเป็นนโยบายสำคัญที่ทางสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ กำหนดให้แต่ละมหาวิทยาลัยต้องมีการเรียนการสอนในหมวดศึกษาทั่วไปอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 30 หน่วยกิต และด้วยความคาดหวังดังกล่าวจะส่งผลสัมฤทธิ์ต่อผู้เรียนด้วยประโยชน์สูงสุดนั่นเอง
ขณะที่สังคมเปลี่ยนแปลงและได้รับผลกระทบจากกระแสต่าง ๆ ผู้คนในสังคมเองก็ต้องมีการปรับตัวและเรียนรู้กับสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ ๆ ตลอดเวลา บ้างก็ปรับตัวได้ บ้างก็ไม่สามารถทำได้ ย่อมนำไปสู่ปัญหาที่ส่งผลกระทบในระดับต่าง ๆ ของสังคม อย่างกระแสที่มีการพูดถึงอย่างมากก็คือ คนรุ่นใหม่หรือ เยาวชนของชาติ เป็นคนที่ใช้ชีวิตอยู่บนออนไลน์ ชอบแสดงความคิดเห็นและแบ่งปันข้อมูลข่าวสารกับผู้คน ไม่ชอบเป็นเพียงผู้รับข่าวสาร ชอบเรียนรู้ด้วยการแบ่งปันประสบการณ์กับเพื่อน พร้อมที่จะสื่อสารกัน ตลอดเวลา  ข้อความที่ใช้มีลักษณะตรงประเด็นและสั้น มีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีและเรียนรู้ที่จะใช้เทคโนโลยีใหม่ได้เร็วกว่าคนรุ่นก่อนมาก ปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงได้ดี ทำงานหลายอย่างได้ในเวลาเดียวกัน และชอบความท้าทายใหม่ๆแต่ไม่ถนัดในการสื่อสารแบบพบหน้ากัน และการกระทำดังกล่าวส่งผลให้เป็นคนสมาธิสั้น จึงไม่ชอบการอ่าน การวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารที่ยาวและซับซ้อน หรือเรียกว่า เด็ก Gen Z” ซึ่งกำลังเป็นศึกษาในระดับอุดมศึกษาและกำลังจะเข้าสู่มหาวิทยาลัย จึงต้องการให้ความสำคัญของการศึกษาทั่วไปจึงต้องดึงดูดความน่าสนใจและเข้าถึงผู้เรียนเพื่อให้สอดคล้องกับสังคมและการใช้ชีวิตในสังคมยุคศตวรรษที่ 21
ขณะเดียวกันมิใช่เพียงปัจจัยของผู้เรียน นโยบายของมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่ปัจจัยของผู้สอนวิชาศึกษาทั่วไปและคณาจารย์อื่น ๆ เอง โดยเฉพาะทัศนคติเองก็เป็นส่วนสำคัญมากที่จะทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างผู้เรียนและผู้สอน ดังที่ดร.ศรีเพ็ญ ศุภพิทยากุล[30] (2554) ได้กล่าวถึงทัศนะของอาจารย์ผู้สอนวิชาศึกษาทั่วไปไว้ว่า อาจารย์ผู้สอนต้องมีหรือสามารถพัฒนาตนเองให้เป็นผู้ที่มี (1) ความรู้รอบ สามารถเชื่อมโยงสาระความรู้หลักที่สอนกับความรู้อื่น ๆ หรือให้ผู้เรียนสามารถทำความเข้าใจปัญหาและนำไปใช้ในมิติต่าง ๆ ได้อย่างกว้างขวาง (2) เข้าใจในจุดมุ่งหมายและมีทัศนคติที่ดีต่อวิชาศึกษาทั่วไป รวมถึงมีความชัดเจนในคุณลักษณะบัณฑิตพึงประสงค์ของมหาวิทยาลัย เพื่อจะได้ปรับปรุงสาระเนื้อหาวิชาและกระบวนการเรียนการสอน การวัดและการประเมินผล การเรียนให้สอดคล้องตามความมุ่งหมาย (3) สามารถใช้วิธีการเรียนการสอนที่หลากหลาย และให้โอกาสผู้เรียนที่มาจากหลากหลายสาขาวิชา พื้นฐานความรู้และความถนัดในการเรียนที่แตกต่างกัน ได้เรียนและเลือกทำงานตามความถนัดของตนเองตามสมควร และ (4) สนุกที่จะสอน นั่นคือยินดีและพร้อมที่จะสอนและพัฒนาผู้เรียนเสมอ ด้วยการสังเกต ประเมิน และปรับเปลี่ยนวิธีการสอนให้มีประสิทธิภาพ ท้าทายและน่าสนใจอยู่เสมอ
การจัดการเรียนการสอนรายวิชาในหมวด ศึกษาทั่วไป ถูกตั้งบนความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษา คุณภาพของผู้เรียนและคุณภาพของผู้สอน นั่นก็คือ ต้องเปลี่ยนจากการเรียนรู้จากตำราของผู้รู้ต่าง ๆ สู่การเรียนรู้จากประสบการณ์ของชีวิตมนุษย์และโลกด้วยตนเอง การเปลี่ยนจากเนื้อหาสาระที่เน้นผลสัมฤทธิ์คะแนนการสอบ มาเป็นการเข้าถึงความจริงของชีวิตและโลก ที่รู้จักปัญหา ทุกข์ วิธีการดับทุกข์ และเหตุของทุกข์ การแก้ปัญหา เป็นต้น การเปลี่ยนวิธีการเรียนรู้จากเชิงรับ (passive learning) เป็นการเรียนรู้เชิงรุก (active learning) รวมทั้งตัวผู้สอนเองก็ต้องเป็นครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงหรือเปลี่ยนตนเองก่อน เป็นสำคัญ
        ดังนั้น ศึกษาทั่วไปสำคัญไฉนในยุคศตวรรษที่ 21ซึ่งก็เป็นเพียงการจุดประกายความคิดเล็ก ๆ เพื่อนำไปสู่การต่อภาพจิ๊กซอต่อไปสำหรับการพัฒนาวิชาศึกษาทั่วไป ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์


  
บรรณานุกรม
คณะกรรมการบริหารเครือข่ายการศึกษาทั่วไปแห่งประเทศไทย (ร่าง) รายงานฉบับสมบูรณ์ กรอบแนวคิดหมวดวิชาศึกษาทั่วไปที่สอดคล้องตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาต (TQF: HEd) มปป. เสนอต่อ สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา 2556
จิรวัฒน์ วัรงกร พัฒนานักศึกษาอย่างไรในศตวรรษที่ 21 โจทย์ท้าทายบนทิศทางที่ต้องทบทวน วารสารการศึกษาทั่วไปแห่งประเทศไทย วารสารอิเล็กทรอนิกส์เครือข่ายการศึกษาทั่วไปแห่งประเทศไทย ปีที่ 3 ฉบับที่ 1 มกราคม มิถุนายน 2555 หน้า 86-90
ทิพย์วัลย์ สุทิน การเรียนรู้เชิงรุก...จากขงจื่อถึงเอ็ดการ์ เดล (Edgar Dale)” กล้วยไม้มีดอกช้าฉันใด... อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ดร.ทิพย์วัลย์ สุทิน นครศรีธรรมราช: หจก.กรีนโซน อินเตอร์ 2001 หน้า 97-99
ทิศนา แขมมณี ศาสตร์การสอน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2554
ศรีเพ็ญ ศุภพิยากุล การสำรวจสถานภาพและความต้องการ การสนับสนุนงานการศึกษาทั่วไปของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยวารสารการศึกษาทั่วไปแห่งประเทศไทย วารสารอิเล็กทรอนิกส์เครือข่ายการศึกษาทั่วไปแห่งประเทศไทย ปีที่ 3 ฉบับที่ 1 มกราคม มิถุนายน 2555  หน้า 66-85
ศรีเพ็ญ ศุภพิยากุล หลักการพื้นฐานในการสอนวิชาศึกษาทั่วไปวารสารการศึกษาทั่วไปแห่งประเทศไทย วารสารอิเล็กทรอนิกส์เครือข่ายการศึกษาทั่วไปแห่งประเทศไทย ปีที่ 2 ฉบับที่ 1-2 มกราคม ธันวาคม 2554  หน้า 41-45
วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรืองและอธิป จิตตฤกษ์ (แปล) ทักษะแห่งอนาคตใหม่: การศึกษาเพื่อศตวรรษที่ 21 กรุงเทพ ฯ : โอเพ่นเวิลด์ส 2554
วันวิสาข์ เคน การเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21 กรุงเทพฯ : โอเพ่นเวิลด์ส 2556
วิจารณ์ พาณิช วิถีการสร้างการเรียนรู้เพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ 21 กรุงเทพ ฯ: บริษัทตถาตาพับลิเคชั่น จำกัด 2555
เอียน สมิธ และ อนงค์ วิเศษสุวรรณ์  การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  วารสารศึกษาศาสตร์ ปีที่ 18 ฉบับที่ 2  พฤศจิกายน 2549 มีนาคม 2550 หน้า 1-10

                Boudourides , Moses A. CONSTRUCTIVISM AND EDUCATION:  A SHOPPER’S GUIDE.  Contributed Paper at the International Conference on the Teaching of Mathematics 1998 http://www.math.upatras.gr/~mboudour/articles/constr.html access on 12/05/2014
Horovitz, Bruce  “After Gen X, Millennials, what should next generation be? USA TODAY http://usatoday30.usatoday.com/money/advertising/story/2012-05-03/naming-the-next-generation/54737518/1
                Magid , Frank N. "The First Generation of the Twenty First Century." April 30, 2012 http://magid.com/sites/default/files/pdf/MagidPluralistGenerationWhitepaper.pdf access on 15/05/2014
                Mayer, R.E. The promise of educational psychology, volume 2: Teaching for meaningful learning. Upper Saddle River, NJ: Merrill Prentice Hall. 2002

                Sparks, Kira. Four Realities about Generation Z (And Four Ways Brands Can Adapt)

Savery, J r. and Duffy, T M., “Problem Based Learning: An Instructional Model and Its Constructivist Framework.” In Wilson, Brent G. (ed.) Constructivist Learning Environment: Case Studies in Instructional Design. New Jersey: Educational Technology Publication, Inc., pp. 135-148. 1996  http://www.uakron.edu/edfound/people/saver/papers/sav-duff.html access on 20/05/2014
                The Partnership for 21st Century Skills FRAMEWORK FOR 21ST CENTURY LEARNING  http://www.p21.org/about-us/p21-framework 2009  access on 20/05/2014
                Tulgan, Bruce and RainmakerThinking, Inc. “Meet Generation Z: The second generation within the giant “Millennial” cohort” http://rainmakerthinking.com/assets/uploads/2013/10/Gen-Z-Whitepaper.pdf access on 20/05/2014




[1] อาจารย์ประจำหมวดศึกษาทั่วไป สำนักวิชาศิลปศาสตร์
[2] เดิมคือทบวงมหาวิทยาลัย  ได้มีการจัดการศึกษาหมวดวิชาศึกษาทั่วไปในระดับอุดมศึกษาของประเทศไทย ตั้งแต่ปีพ.ศ.2517 โดยประกาศทบวงมหาวิทยาลัยเรื่อง หลักเกณฑ์มาตรฐานว่าด้วยการศึกษาระดับปริญญาตรี พ.ศ. 2517 กำหนดให้หลักสูตรในระดับปริญญาตรีทุกหลักสูตร ต้องมีองค์ประกอบของวิชา พื้นฐานทั่วไปอย่างน้อย 30 หน่วยกิต แต่ต่อมาได้มีการเปลี่ยนเป็น วิชาศึกษาทั่วไปแทน วิชาพื้นฐานทั่วไป ในปีพ.ศ.2532 และ พ.ศ.2542
[3] Horovitz, Bruce 2012
[4] Sparks, Kira 2013
[5] วิจารณ์ พาณิช 2555: น.4
[6] อ้างใน Sparks, Kira 2013
[7] The Partnership for 21st Century Skills 2009
[8] 3 R ประกอบด้วย (1) อ่านออก (Reading) (2) เขียนได้ ((W)Riting) (3) คิดเลขเป็น ((A)Rithmetics
[9] Mayer, R.E. 2002
[10] อ้างใน วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรืองและอธิป จิตตฤกษ์ (แปล) 2554 : . 244-246
[11] หลักในการเรียนรู้ ประกอบด้วย (1) การเรียนรู้ต้องมีเป้าหมายและบริบท (2) ผู้เชี่ยวชาญจัดระบบหรือแบ่งความรู้ของตนตามแนวคิดหลักที่ถ่ายโอนได้ (3) การคิดแบบต่าง ๆ อาทิ การจำแนก การจัดกลุ่ม การใช้เหตุผลเชิงอนุมาน การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ การคิดซ้อนคิด วิธีคิดเหล่านี้เป็นสื่อกลางและช่วยเสริมการเรียนรู้ (4) ผู้เรียนจะแสดงออกหรือสาธิตให้เห็นตนเข้าใจเพื่อพวกเขาสามารถประยุกต์ ถ่ายโอนและดัดแปลงสิ่งที่เรียนรู้เข้ากับสถานการณ์และปัญหาใหม่ (5) การเรียนรู้สิ่งใหม่นั้นต่อยอดจากความรู้เดิมที่มีผู้เรียนใช้ประสบการณ์และความรู้พื้นฐานเพื่อสร้างความหมายต่อตนเองและโลกรอบตัวอย่างกระตือรือร้น (6) การเรียนรู้เป็นเรื่องทางสังคม (7) ทัศนคติและค่านิยมมีส่วนช่วยการเรียนรู้ด้วยการกลั่นกรองประสบการณ์และสิ่งที่รับรู้ (8) การเรียนรู้ไม่ใช่กระบวนการที่เป็นเส้นตรง แต่เป็นการพัฒนาที่มีการลงลึกตลอดเวลา (9) ต้นแบบความเป็นเลิศ และเสียงสะท้อนอย่างต่อเนื่องช่วยปรับปรุงการเรียนรู้และการปฏิบัติ และ (10) การเรียนที่เอื้ออำนวยต่อลักษณะการเรียนรู้ที่ผู้เรียนพอใจ รวมทั้งเอื้อต่อความรู้เดิมและความสนใจจะช่วยเสริมการเรียนรู้
[12] คณะกรรมการบริหารเครือข่ายการศึกษาทั่วไปแห่งประเทศไทย 2556
[13] มคอ. 2 หมวดวิชาศึกษาทั่วไป สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
[14] จิรวัฒน์ วัรงกร 2555: น.96-98
[15] Savery, J and Duffy, T.M., 1996: 135-136
[16] ทิศนา แขมมณี  2554
[17] Boudourides,  Moses A. 1998  

[18] Ibid, 1998
[19] 1) ความเป็นคนที่ทันสมัยในฐานะพลเมือง และพลโลก ที่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตย รู้รอบ และมีทัศนคติที่กว้างไกล
   2ความเป็นนักวิชาการและวิชาชีพชั้นสูงที่มีความรู้ ความสามารถ และทักษะในสาขาที่ศึกษาลึกซึ้ง และประยุกต์ไปสู่การปฏิบัติงาน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
   3ความเป็น "ศึกษิต" ที่มีมโนธรรม คุณธรรม และจรรยาวิชาชีพ
[20] สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร สำนักวิชาเภสัชศาสตร์ สำนักวิชาสหเวชศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์ สำนักวิชาแพทยศาสตร์ สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ สำนักวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ สำนักวิชาสารสนเทศาสตร์ สำนักวิชาการจัดการ และสำนักวิชาศิลปศาสตร์
[21] ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง เกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับปริญญาตรี พ.ศ. 2548, 25 พฤษภาคม 2548
[22] สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา, 2552
[23] บัณฑิตจะต้องสามารถจัดการปัญหาทางคุณธรรม จริยธรรมและวิชาชีพโดยใช้ดุลยพินิจทางค่านิยม ความรู้สึกของผู้อื่น ค่านิยมพื้นฐาน และจรรยาบรรณวิชาชีพ แสดงออกซึ่งพฤติกรรมทางด้านคุณธรรมและจริยธรรม เช่น มีวินัย มีความรับผิดชอบ ซื่อสัตย์สุจริต เสียสละ เป็นแบบอย่างที่ดี เข้าใจผู้อื่น และเข้าใจโลกเป็นต้น
[24] บัณฑิตจะต้องมีองค์ความรู้ในสาขาวิชาอย่างกว้างขวางและเป็นระบบ ตระหนัก รู้หลักการและทฤษฎีในองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง และตระหนักถึงงานวิจัยในปัจจุบันที่เกี่ยวกับความก้าวหน้าของความรู้และการต่อยอดองค์ความรู้
[25] บัณฑิตจะต้องสามารถค้นหาข้อเท็จจริง ทำความเข้าใจและสามารถประเมินข้อมูลแนวคิดและหลักฐานใหม่ ๆ จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และใช้ข้อมูลที่ได้ในการแก้ไขปัญหาและงานอื่น ๆ ด้วยตนเอง สามารถศึกษาปัญหาที่ค่อนข้างซับซ้อนและเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขได้อย่างสร้างสรรค์โดยคำนึงถึงความรู้ทางภาคทฤษฎี ประสบการณ์ทางภาคปฏิบัติและผลกระทบจากการตัดสินใจ สามารถใช้ทักษะและความเข้าใจอันถ่องแท้ในเนื้อหาสาระทางวิชาการและวิชาชีพ
[26] บัณฑิตจะต้องมีส่วนช่วยและเอื้อต่อการแก้ปัญหาในกลุ่มได้อย่างสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำหรือสมาชิกของกลุ่ม สามารถแสดงออกซึ่งภาวะผู้นำในสถานการณ์ที่ไม่ชัดเจนและต้องใช้นวัตกรรมใหม่ ๆ ในการแก้ปัญหา มีความคิดริเริ่มในการวิเคราะห์ปัญหาได้อย่างเหมาะสมบนพื้นฐานของตนเองและของกลุ่ม รับผิดชอบในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งพัฒนาตนเองและอาชีพ
[27] บัณฑิตจะต้องสามารถศึกษาและทำความเข้าใจในประเด็นปัญหา สามารถเลือกและประยุกต์ใช้เทคนิคทางสถิติหรือคณิตศาสตร์ที่เกี่ยวข้องอย่างเหมาะสมในการศึกษาค้นคว้าและเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหา ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการเก็บรวบรวมข้อมูล ประมวลผล แปลความหมาย และนำเสนอข้อมูลสารสนเทศอย่างสม่ำเสมอ สามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งในการพูด การเขียน สามารถเลือกใช้รูปแบบของการนำเสนอที่เหมาะสมสำหรับกลุ่มบุคคลที่แตกต่างกันได้
[28] คุณลักษณะพิเศษของนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์กำหนดไว้เป็นเป้าหมายของหมวดศึกษาทั่วไป ปี พ.ศ.2554 เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2553 คือ (1) รู้จักและเข้าใจตนเอง มีภูมิคุ้มกัน สามารถพัฒนาตนเองในเชิงภูมิปัญญา บุคลิกภาพและคุณภาพชีวิต (2) เป็นคนดี มีวินัย มีคุณธรรมและความกล้าหาญทางจริยธรรม (3) เป็นผู้ที่มีความใฝ่รู้ และมีทักษะในการแสวงหาความรู้นำความรู้ที่ได้จากการศึกษาไปพัฒนาตนเอง วิชาชีพและสังคมได้ (4) เป็นผู้มีความคิดสร้างสรรค์ มีจินตนาการและมีความคิดเชิงนวัตกรรม (5) เป็นผู้มีความคิดเชิงวิเคราะห์ สังเคราะห์ มีทัศนะเชิงวิทยาศาสตร์ สามารถแสดงความคิดเห็นและตัดสินใจอย่างมีเหตุผล (6) มีความเข้าใจและมีทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่น (7) มีความสามารถในการใช้ภาษาไทยและภาษาต่างประเทศเพื่อการติดต่อสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ (8) มีความเข้าใจ สามารถวิเคราะห์สังคมไทยและสังคมโลก รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงเพื่อดำรงตนในสังคมได้อย่างเหมาะสม (9) ตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน และระบอบประชาธิปไตย มีจิตอาสาและสำนึกสาธารณะ (10) มีความรู้เท่าทันในบทบาท และอิทธิพลของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สามารถนำมาใช้ได้อย่างเหมาะสม (11) มีทักษะพื้นฐานและประยุกจ์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการติดต่อสื่อสาร การนำเสนอ การสืบค้นข้อมูลเพื่อการแสวงหาความรู้อย่างต่อเนื่อง และมีจริยธรรมในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (12) มีความตระหนัก ซาบซึ้งในคุณค่าของศิลปวัฒนธรรม ดนตรีและกีฬา เพื่อสร้างเสริมสุนทรียภาพแห่งชีวิต

[29] รายละเอียดของหลักสูตรหมวดศึกษาทั่วไป (พ.ศ. 2554) มคอ. 2 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
[30] ศรีเพ็ญ ศุภพิทยากุล 2554: น. 42-43

No comments:

Post a Comment