Wednesday, March 6, 2013

โดดเดี่ยวแต่ไม่เดียวดาย: วิถีการเรียนรู้ด้วยตนเองท่ามกลางความสับสน"



"โดดเดี่ยว แต่ไม่เดียวดาย: วิถีการเรียนรู้ด้วยตนเองท่ามกลางความสับสน"

อ.สิริพร สมบูรณ์บูรณะ
“ทำไมต้องไปเรียนที่อินเดียด้วย”  “ไปอินเดียลำบากน่ะ”  “จะอยู่ได้เหรอ..เห็นแขกกับงู..ก็ต้องตีแขกก่อน” “มาตรฐานการเรียนสู้ตะวันตก อเมริกา ฮ่องกง หรือสิงคโปร์ไม่ได้หรอก”

สารพัดจะมีทั้งคำถามและคำแนะนำที่เป็นข้อกังขาเกี่ยวกับอินเดีย แต่สิ่งหนึ่งที่ดิฉันได้เรียนรู้จากศาสตราจารย์ชาวไต้หวันท่านหนึ่ง..ท่านถามเราว่า “คุณสนใจเรื่องอะไร...คุณเรียนจบอะไรมา..”
เราก็ตอบไปว่า “ฉันเรียนจบมานุษยวิทยา สนใจเรื่องเกี่ยวกับคนชายขอบ ...ปัญหาสังคม..ฯลฯ”
ศาสตราจารย์:  “แล้วทำไมคุณคิดจะไปเรียนที่แถบตะวันตก อังกฤษ อเมริกาล่ะ...คุณทำไมไม่เรียนรู้เรื่อง เอเชียด้วยกัน เรื่องราวใกล้ตัวคุณ ปัญหาใกล้เคียงกัน...ศาสตราจารย์ชื่อดังระดับเจ้าพ่อทฤษฎีที่สนใจเรื่องชายขอบ คนที่ถูกกดทับของสังคมก็อยู่ในเอเชีย “อินเดีย” ไงล่ะ”

 จากวันนั้นทำให้เรามุ่งความสนใจไปที่อินเดีย ซึ่งแน่นอนการเรียนต่อระดับปริญญาเอกในอินเดียนั้น หมายความว่า คุณต้องช่วยเหลือตนเองอย่างสูง นั่นคือ การทำวิจัย มุ่งเน้นการค้นคว้าข้อมูลไม่ว่าจะเป็นในห้องสมุด หรือการเก็บข้อมูลภาคสนาม อย่างไรก็ตามอินเดียถือว่าเป็นประเทศหนึ่งที่มีนักศึกษาไทยนิยมไปเรียนทุกระดับ ตั้งแต่ระดับประถม มัธยมศึกษา ปริญญาตรี-โท-เอก หรือเรียนเฉพาะด้านภาษา ถือว่าเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ใกล้บ้านเรา (เมืองไทย) ราคาถูก ค่าใช้จ่ายค่าครองชีพไม่สูงนัก ซึ่งในความเป็นจริงแล้วกลุ่มนักศึกษาไทยที่ไปบุกเบิกอินเดียกลุ่มแรก อาจเรียกได้ว่า เป็นกลุ่มพระสงฆ์นั่นเอง ต่อมาเริ่มมีฆราวาสจำนวนเพิ่มมากขึ้น และบางเมืองมีน้อง ๆ มุสลิมไปเล่าเรียนไม่ต่ำกว่า 50 คนต่อปี ในทุก ๆ ระดับเช่นกัน และในช่วงหลายปีมานี้ ทางรัฐบาลอินเดียได้ให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษาไทยทั้งในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกจำนวนมาก ทำให้ในปัจจุบันมีนักศึกษาไทยกระจัดกระจายอยู่ในหลาย ๆ รัฐของอินเดีย
   
แน่นอนการเรียนต่างบ้านต่างเมืองของแต่ละที่ก็ไม่ต่างกันมากนัก แต่ถ้าพูดถึงอินเดียแล้ว แน่นอน! ต่างแน่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิต อาหารการกิน ภาษา วัฒนธรรม ชนชั้นวรรณะ ปัญหาคนจนข้างถนนจำนวนมาก ปัญหาความแออัด การแย่งชิง ความไม่เป็นระเบียบ การแซงคิว ความสกปรก ความเจ้าเล่ห์ ฯลฯ แต่อาจเป็นความโชคดีที่ได้มาเรียนในมหาวิทยาลัยที่มีล้อมรอบด้วยผืนป่า ระบบของมหาวิทยาลัยทันสมัย (เมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ในอินเดียด้วยกัน แต่ไม่สามารถเทียบเท่าได้กับความทันสมัยของมหาวิทยาลัยในบ้านเรา) การใช้ภาษาอังกฤษในการเรียนการสอน ห้องสมุดพร้อมทรัพยากรเก่าใหม่ และระบบอินเตอร์เน็ต เป็นต้น แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า การเรียนที่นี่จะปูพรมด้วยดอกไม้ที่สวยงาม ไม่ว่าจะเป็นระบบการเรียนการสอน การลงทะเบียน การล่าลายเซ็น การคบเพื่อนต่างชาติต่างภาษา การสอบ เป็นต้น
สำหรับพวกเราการเรียนที่นี่การปรับตัวเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษสำเนียงแขก (อินเดีย)ที่เร็วมาก การสอนของอาจารย์ในห้องเรียนช่วงหนึ่งชั่วโมงแรกเน้นการสอนแบบบรรยาย ส่วนครึ่งชั่วโมงหลังเน้นการซักถามแลกเปลี่ยนถกเถียง สิ่งที่ปรากฏให้เห็นก็คือ นักศึกษาแขก (อินเดีย)จะแย่งกันยกมือซักถามอาจารย์ บ้างก็ถกเถียงอาจารย์ทั้งในและนอกประเด็น ส่วนพวกเราก็ได้แต่ก้มหน้าหงุด ๆ เพราะกลัวอาจารย์ถาม หรือไม่ก็กลัวตอบอะไรผิดๆ โง่ๆๆ ไป แต่ที่ไหนได้คำถามและคำตอบของเราดีกว่านักศึกษาอินเดียบางคนด้วยซ้ำไป แต่ปัญหาของพวกเราก็คือ “ภาษา”นั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นการฟัง อ่าน พูด หรือแม้แต่การยืมเล็คเชอร์ที่เพื่อนบางคนแสนจะหวง แต่บางคนก็ยินดีเพราะเข้าใจปัญหาของพวกเรา เป็นต้น อย่างไรก็ตามการเรียนการสอนในห้องเรียนไม่เพียงพอสำหรับเรา อาจารย์จะมอบหมายงานให้อ่านให้ค้นคว้า และทำการบ้านส่ง รวมทั้งการทำงานกลุ่มเพื่อช่วยกันอ่านช่วยกันติว แบบเพื่อนช่วยเพื่อน ซึ่งแน่นอนก็ไม่ต่างจากเด็กไทยมากนัก เพราะก็มีทั้งผู้ที่เอาเปรียบไม่ช่วยงานกลุ่มก็มีเหมือนกัน แต่สำหรับพวกเราเด็กไทยที่นี่แล้ว ถือว่า งานนี้เป็นสิ่งที่จะช่วยพัฒนาศักยภาพเรามากขึ้น

 สิ่งหนึ่งที่ทำให้พวกเรายอมเด็กแขก (อินเดีย)ไม่ได้คือ “การค้นคว้า” นั่นหมายถึง เวลาว่างมากกว่าร้อยละ 60 ที่มีอยู่ก็จะคลุกอยู่กับการค้นคว้าและอ่านหนังสือไม่ว่าจะเป็นในห้องสมุด หรือในห้องพักที่ต้องลงทุนในการติดตั้งอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง แต่สำหรับที่นี่ถือว่าห้องสมุดเป็นศูนย์รวมทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเอกสารประเภทใดชนิดใด เก่าใหม่ รวมถึงเอกสารวารสารที่เป็น e-book และ e-journal ก็สามารถเข้าถึงได้อย่างง่ายดาย ฯลฯ ดังนั้นการใช้ห้องสมุดจึงเป็นแหล่งเรียนรู้ที่นักศึกษาจำนวนมากเข้าไปค้นคว้า อ่านหนังสือ ฯลฯ อย่างเต็มที่ ทั้งนี้เพราะห้องสมุดในส่วนหลักจะเปิดตั้งแต่ 9.00 -23.30 น. (ปีหนึ่งจะปิดเพียงแค่วันหยุดสำคัญๆ เพียงแค่ 2-3 วันเท่านั้น) และมีห้องอ่านหนังสือขนาดใหญ่ที่เปิดตลอด 24 ชั่วโมง ห้องสมุดจึงไม่เคยว่างเว้นจากการมีนักศึกษาเข้าไปใช้บริการตลอดเวลา แม้ว่าห้องสมุดจะไม่เริ่ดหรูอลังการเหมือนห้องสมุดในประเทศไทย ที่ทุกห้องต้องเป็นห้องแอร์ มีที่นั่งสบาย ๆ มีหนังสือจัดวางโชว์อย่างสวยงามบนหิ้ง แต่ไม่มีใครแตะหรือหยิบมาอ่านให้ช้ำจนยับเยิน (บรรณารักษ์น่าจะยินดีกับการที่หนังสือถูกหยิบจนยับเยิน มากกว่าจะดูแลถนอมไว้อย่างสวยงาม) สำหรับห้องสมุดที่นี่แล้วหนังสือแต่ละเล่มผ่านการใช้งานอย่างคุ้มค่าและโชกโชน ยับเยิน อีกทั้งแต่ละห้องมีเพียงแค่แอร์เก่าๆ เสียงดัง บางห้องมีแต่พัดลมเพดานพัดเสียงดัง ตรึกๆๆๆ เหมือนจะหลุด หรือแม้แต่โต๊ะเก้าอี้ที่นั่งจนก้นทะลุ แย่งชิงกันเหมือนเล่นเก้าอี้ดนตรี แต่ก็เป็นเสมือนสวรรค์สำหรับนักศึกษาอย่างเรา ๆ ที่นี่แล้ว

 นอกจากนี้ยังมีห้องสมุดเฉพาะด้านอีกมากมายนอกมหาวิทยาลัยที่รองรับการบริการในการค้นคว้า ถือว่าเป็นแหล่งค้นคว้าเป็นปัจจัยที่สำคัญในการเรียนรู้ด้วยตนเอง ห้องสมุดเฉพาะด้านแต่ละแห่งนั้นมีการจัดการ ให้สอดคล้องกับแนวคิดใหม่ จำนวนและคุณภาพของหนังสือ วารสาร เทป วีดิทัศน์ ตลอดจน อุปกรณ์ที่ช่วยในการค้นคว้า เช่น คอมพิวเตอร์ การติดต่อกับห้องสมุดอื่น โสตทัศนูปกรณ์ต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งเป็นตัวช่วยอย่างมากในการเสริมให้พวกเราได้เรียนรู้ด้วยตนเอง สามารถนำตนเองได้เป็นอย่างดี
แต่การใช้ชีวิตในห้องสมุดไม่ได้เป็นปัจจัยเดียวที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จในโลกวิชาการและการเรียนรู้ได้เท่านั้น แต่สิ่งหนึ่งที่จะเป็นตัวช่วยได้คือ “เพื่อน” ไม่เฉพาะเพื่อนที่เรียนด้วยกันในชั้นเรียนเท่านั้น แต่หมายถึงเพื่อนต่างสาขาต่างคณะต่างภาษาด้วยเช่นกัน ดังนั้นทุกมุมของมหาวิทยาลัยจะมีร้านน้ำชา (พวกเราจะเรียกว่า ดาบา หมายถึงร้านค้า) และเป็นที่ ๆ นัดคุย แลกเปลี่ยน ทักทายกัน สิ่งที่เราได้เรียนรู้คือ สังคมของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้นอกห้องเรียน หรือแม้แต่การจัดเสวนาและสัมมนามีทั้งกลางวันและกลางคืน โดยเฉพาะถ้าเป็นประเด็นร้อน ๆ แรงๆ ก็มักจะจัดช่วงเวลาตั้งแต่ 21.00 -24.00 น. ทำให้เรารู้ว่า เพื่อนต่างสาขาต่างภาษาต่างวัฒนธรรมคิดอย่างไรกับเรื่องโน้นนี้นั่น สารพัดที่พูดคุย ตั้งแต่เรื่องเล็ก ๆ จนกระทั่งเรื่องการเมืองระดับโลก ซึ่งแต่ละครั้งก็มักจะตบท้ายด้วยความคิดเครียด ๆ ในการวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองทั้งในอินเดียและสถานการณ์โลก และถ้าหากเกิดอะไรที่ไม่พอใจต่อระบบ หรือความไม่เป็นธรรมก็จะนัดรวมตัวกันเดินประท้วงและตะโกนไปรอบ ๆ มหาวิทยาลัย และบ่อยครั้งที่ปิดตึกเรียนไม่ให้มีการเรียนการสอน กลายเป็นบทเรียนจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง

 อาจจะไม่ง่ายนักกับการเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างโดดเดี่ยวที่พวกเราต้องพยายามพัฒนาทั้งความคิด ภาษาและการปรับตัวให้อยู่กับโลกแห่งความเป็นจริงให้ได้ แต่ขณะเดียวกันเราก็ไม่เดียวดายกับการต่อสู้กับสิ่งเหล่านี้ เพราะเรายังมีสังคมเพื่อน และอาจารย์ที่แนะแนวทางให้การเรียนรู้ในแง่วิชาการและวิธีการค้นคว้า โดยการให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ด้วยตนเอง อันตั้งอยู่บนพื้นฐานของปัจเจกบุคคลทุกคนมีสามารถในการพัฒนาและต่อสู้กับทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเอง  จึงทำให้เราในฐานะนักศึกษาสามารถค้นหาประสบการณ์การเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่ แม้ว่าการเรียนรู้ที่ผ่านมาในเมืองไทยเรามุ่งเน้นการบรรยายของอาจารย์ และนักศึกษาไม่ต้องรับผิดชอบอะไรมากนัก ทำงานกลุ่มก็ทำๆ ไป โดยไม่สนใจมากนักว่าความรู้ที่ได้จะเป็นอย่างไร ซึ่งความเคยชินเหล่านี้สะท้อนต่อผลของการเรียนรู้ด้วยตนเองว่า เราเองต้องสามารถเปลี่ยนผ่านจากความเคยชินเหล่านั้นให้ได้ เพราะฉะนั้นบทบาทของอาจารย์จะเป็นผู้ช่วยนักศึกษาในการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเองโดยการให้โดยตรงและการสนับสนุนที่ขึ้นอยู่กับความต้องการของนักศึกษาและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องนั้นๆ

สำหรับอาจารย์ไม่เพียงแต่ให้นักศึกษาได้เรียนรู้ด้วยตนเองแต่เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น แต่เป็นผู้ถักร้อยกิจกรรมการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับความสามารถที่หลากหลายของนักศึกษาที่จะเรียนรู้ด้วยตนเอง จึงทำให้พวกเราได้มีโอกาสพัฒนาทักษะชีวิต เรียนและสร้างนิสัยการเรียนรู้ที่จะช่วยให้พวกเรากลายเป็นผู้เรียนที่เป็นอิสระอีกด้วย

แม้ยามอ่อนแอ ท้อถอย เรามักจะตั้งคำถามอยู่เสมอว่า  ฉันต้องการอะไร” “เมื่อไปถึง ณ จุดนั้น จะเป็นอย่างไร” “ฉันต้องทำอย่างไร เพื่อให้ไปถึง ณ จุดนั้น” “ฉันต้องใช้ทรัพยากรอะไร” “ฉันมีความสามารถทำอะไรได้บ้าง
แล้วฉันจะต้องทำอย่างไรจึงจะประสบ ความสำเร็จและที่สำคัญคือ คำเยาะเย้ยที่มีต่อตนเองเมื่อยามที่เราเกียจคร้านก็คือ “มาที่นี่ทำไม มานอนเหรอ? มีเวลาให้นอนเยอะแยะ เขาให้เรามาค้นคว้าหาความรู้ หาประสบการณ์ ไม่ได้มานอนน่ะ”

สิ่งหนึ่งที่เราจะต้องมีก็คือ ความต้องการเป็นตัวของตัวเอง และในขณะเดียวกันก็ต้องการให้ผู้อื่นเห็นว่า เราเป็นตัวของตัวเองด้วย ดังนั้นสิ่งที่ปรากฏให้เราเห็นอย่างหนึ่งคือ อาจารย์ส่วนใหญ่มักจะไม่นำความคิดของตนไปจำกัดนักศึกษา แต่ส่งเสริมให้มีความรับผิดชอบต่อการเรียนมาจากตัวของนักศึกษาเอง โดยจะต้องให้นักศึกษามีส่วนเกี่ยวข้องมากที่สุด พวกเราเองจึงมีความรู้สึกอยากเรียน เมื่อมีสภาพแวดล้อมที่อำนวยแม้ว่าจะไม่สะดวก และพร้อมมากนัก แต่ก็ค้นพบและมีเป้าหมาย ในการเรียนของตนเอง ยอมรับที่จะมีความรับผิดชอบในการวางแผนการเรียนของตน และปฏิบัติในการเรียนรวมทั้งแสดงความก้าวหน้าในการเรียนของตน
สิ่งสำคัญที่เราได้จากภาวะที่อยู่ภายใต้ความกดดันและสับสนต่าง ๆ นั้นทำให้พวกเรา กลับมาคิดว่า “แล้วชีวิตการเรียนที่ผ่านมาเราทำอะไร เรียนเหมือนไม่ได้เรียนเต็มที่ เหมือนไม่มีความรู้อะไรเลย” แต่เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ไม่มีอะไรสะดวกสบายมากนักนั้น แล้วทำไมเรารู้สึกได้ถึงการเรียนรู้อย่างแท้จริง และแน่นอนเราเองก็รู้ว่าจะเรียนอะไร จากใครและจากที่ไหน จะสามารถแสวงหาแหล่งความรู้หรือเข้าถึงข้อมูลที่ตนเองต้องการได้ สามารถวิจารณ์และสามารถคัดสรรได้ว่าสารสนเทศต่างๆ ที่ได้มานั้นมีค่าต่อการเรียนรู้ ใช้คำถามเป็น สามารถถ่ายทอดความรู้ สื่อความได้ดี มีแนวคิดและนำความรู้มาใช้ในการแก้ปัญหา ให้ความสำคัญกับเพื่อน และสามารถทำงานกลุ่มได้และที่สำคัญมีความอดทน มีทักษะในการเข้าถึงเรื่องยากๆ

  การที่เราอยู่ท่ามกลางความสับสน ในสังคมที่แออัด แย่งชิง ไร้ซึ่งระเบียบกฎเกณฑ์ต่างภาษาต่างวัฒนธรรมทำให้เรารู้สึกถึง “ความโดดเดี่ยว” ที่ต้องดิ้นรนกระเสือกกระสนกับการเรียน แต่เราเองก็มิได้ “เดียวดาย” เพราะเรามีทั้งอาจารย์และเพื่อน ๆ ที่สนับสนุนการเรียนรู้ทั้งจากในและนอกห้องเรียน จากประสบการณ์จริงที่สอนเราทั้งทางตรงและทางอ้อม และแล้วสิ่งเหล่านี้ก็กลายเป็นสิ่งที่ท้าทายการเรียนรู้ การค้นหาและสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ อันน่าจะเรียกได้ว่าเป็น “วิถีการเรียนรู้ด้วยตนเอง” ก็ว่าได้



[1] สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

No comments:

Post a Comment