มนุษยธรรมกับผลของสารพิษทางการเมืองต่อศีลธรรม ?
จากสึนามิถึงน้ำท่วม จากน้องผู้หิวโหย ถึงผู้ติดเชื้อเอชไอวี
จากผู้ลี้ภัยชาวกระเหรี่ยงถึงโรฮิงญา จากเด็กขอทานถึงน้องที่ถูกลักพาตัว
ภัยพิบัติต่าง ๆ รวมถึงปัญหาต่าง ๆที่เกิดขึ้นนี้
มันยากที่เราจะทำเป็นเพิกเฉยหรือห่างเหินกับมัน ซึ่งภาวะต่าง ๆ
ที่เกิดขึ้นถูกเกี่ยวโยงกับอารมณ์ความรู้สึกเป็นสำคัญ
สิ่งที่เราต้องนึกถึงความอ่อนล้าที่จะตอบโต้กับความโชคร้ายของเหยื่อ
เรื่องราวเหล่านี้อาจจะคลี่คลายได้และบางเรื่องราวอาจจะล้มเหลว แต่เรื่องราวเหล่านี้ก็ถูกรวมไว้กับอีกมุมหนึ่งเพื่อสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในสังคม
ดังปรากฏให้เห็นถึงผู้ที่ต้องการช่วยเหลือเหยื่อ เช่น
การส่งเงินให้กับนักเรียนที่ยากจน การต่อสู้ของนักกิจกรรมที่ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ
ผู้ใจบุญที่รักเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน การบริจาคข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ เป็นต้น
เพื่อทำให้สิ่งที่แตกต่างกันได้กลายเป็นประสบการณ์ความคิดเรื่องศีลธรรมบนโลกนี้เพิ่มมากขึ้น
อาจเรียกได้ว่า ความช่วยเหลือเหล่านี้เป็นไปตามหลักมนุษยธรรม คำ ๆ
นี้จึงถูกพูดถึงอย่างมากในบริบทของความเมตตา กรุณา ความเห็นอกเห็นใจกัน
การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ การทำบุญ เป็นต้น
ขณะเดียวกันก็ถูกนำมาใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมทางการเมือง การโฆษณาเชิญชวน เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ต้องมาทบทวนว่า “มนุษยธรรม” มีความหมายว่าอย่างไร
มีลักษณะอย่างไร ที่สำคัญงานด้านมนุษยธรรมเป็นงานแบบไหนกันแน่?
แน่นอน ! คำว่า “มนุษยธรรม” ตามความหมายจากพจนานุกรม
ฉบับราชบัณฑิตยสถาน คือ “ธรรมของมนุษย์ ธรรมที่มนุษย์พึงมีต่อกัน
มีความเมตตากรุณา” ขณะที่คำว่า “มนุษยธรรม” ที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายโดยคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ
และองค์กรระหว่างประเทศ องค์กรพัฒนาเอกชน นั้นหมายถึงความเห็นอกเห็นใจ
การยื่นมือเข้าช่วยเหลือและปกป้องผู้อื่นโดยไม่คำนึงว่าเขาจะเป็นใครหรือทำอะไรมา ถือว่าเป็นเรื่องของการเชิดชูศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคน
แม้กระทั่งผู้ที่ไม่เป็นที่ต้องการของสังคม โดยยึดเป็นมาตรฐานในการทำงานเพื่อมนุษยชาติบนสังคมโลกนี้
ซึ่งประกอบด้วยความเป็นมนุษย์ ความเป็นกลาง อิสรภาพ และความยุติธรรม
แต่ขณะเดียวกันมนุษยธรรมนิยมเองก็ได้สะท้อนให้เห็นถึง เรื่องที่อยู่ระหว่างการเมืองและศีลธรรมที่ถูกจัดการโดยรัฐ
(บาล)องค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ ที่วางตนเป็นเป็นศูนย์กลางและทำให้เป็นทั้งเรื่องการเมืองและเรื่องที่ไม่ก็เกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างเลี่ยงไม่ได้
ประชาชนอย่างเรา ๆ ก็ถูกกันออกจากเรื่องเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความขัดแย้งด้านสิ่งแวดล้อม ความขัดแย้งทางศาสนา ลัทธิทางการเมือง
รวมถึงเชื้อชาติ เป็นต้น การช่วยเหลือต่าง ๆ ที่ผ่านมามักจะถูกตั้งคำถามเสมอ ๆ
ถึงความเป็นกลาง รวมทั้งความเป็นเรื่องของทางโลกหรือความศรัทธากันแน่?
ภาพพจน์ของความหายนะต่าง ๆ และความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมักจะถูกสร้างขึ้นและตอกย้ำผ่านสื่อโทรทัศน์
สื่อออนไลน์ต่าง ๆ ถูกนำเสนอและแพร่หลายมากขึ้น ทำให้สิ่งเหล่านี้กลายเป็นเครื่องมือของเล่ห์เหลี่ยมภายใต้ร่มเงาของผู้มีอำนาจและใช้มนุษยธรรมเหล่านี้ด้วยวิธีที่แตกต่างกัน
โดยคำสั่งที่แตกต่างกัน
แรงกระตุ้นและระบบของความรู้สึกที่เป็นหนี้บุญคุณและความช่วยเหลือ
อย่างน้อยที่ยังเหลืออยู่ให้เห็น ความพยายามอย่างกล้าหาญของนักสังคมสงเคราะห์มืออาชีพ
และการแสดงความรู้สึกทุกข์ทรมานกับเหยื่อที่แสนเลวร้ายนั้น
พวกเขาก็ให้ความช่วยเหลือดูแล แม้ว่าบางครั้งอาจไม่มีใครได้ยิน
เป็นการทำอย่างไร้สถานภาพ และปราศจากการเห็นคุณค่าจากผู้อื่น ดังนั้นความชัดเจนของหลักมนุษยธรรมนิยมที่เกิดขึ้นเฉพาะเรื่องหรือเฉพาะที่นั้นจึงควรเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจ
อย่างไรก็ตามเพื่อคลายความสงสัยเกี่ยวกับมนุษยธรรม
ที่อยู่ท่ามกลางความมีศีลธรรมและอำนาจทางการเมือง
ที่สำคัญการผูกยึดอยู่กับความเชื่อทางศาสนา ไม่ว่าเรื่องบาป บุญ ความเมตตา
กรุณา สิ่งเหล่านี้เป็นความเชื่อความศรัทธาที่มนุษย์เราเชื่อว่าต้องช่วยเหลือผู้ที่อ่อนแอกว่า
เหยื่อผู้เผชิญกับสิ่งโหดร้ายเลวทราม ดังนั้นเราจะเห็นรูปแบบต่าง ๆ
ที่องค์กรระหว่างประเทศ องค์กรพัฒนาเอกชน รวมถึงเอกชน และมูลนิธิต่าง
ๆได้พยายามเข้ามาให้ความช่วยเหลือกลุ่มคนต่าง ๆ ที่ประสบปัญหา หรือเป็นเหยื่อจากเหตุการณ์ต่าง
ๆ ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติตามธรรมชาติ หรือสงคราม รวมถึงความยากจน เป็นต้น ผ่านแนวความคิด “มนุษยธรรม”
ดังจะเห็นตัวอย่างได้จากสื่อออนไลน์ ผ่านเฟชบุ๊คต่าง ๆ อาทิ การประกาศเด็กหาย
การบริจาคข้าวของเครื่องใช้เพื่อผู้ประสบอุทกภัย รวมถึงการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยทางการเมือง
เป็นต้น
กรณีการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่ปรากฏให้เห็นในประเทศไทย
มีการช่วยเหลือในรูปแบบต่าง ๆ โดยอ้างคำว่า “มนุษยธรรม” เป็นเครื่องมือนำทาง
ไม่ว่าจะเป็นการตั้งค่ายผู้ลี้ภัย การส่งต่อประเทศที่สาม
การบริจาคข้าวของเครื่องใช้ การตรวจสุขภาพ การให้การศึกษาความรู้และทักษะต่าง ๆ
การคุ้มครองชีวิต เป็นต้น
แต่ถูกจำกัดอยู่เฉพาะการทำงานกับผู้ลี้ภัยบางกลุ่มที่รัฐอนุญาตเท่านั้น
แต่ผู้ลี้ภัยบางกลุ่มไม่สามารถถูกยกระดับให้เป็นผู้ลี้ภัยได้อย่างเปิดเผย
หรือแม้นกระทั่งการรับรองพวกเขาในฐานะผู้ลี้ภัย จะพบว่ารัฐเองมีมาตรการไม่รับรองคนกลุ่มนี้
และพยายามผลักดันให้ออกนอกประเทศ หน่วยงานต่าง ๆ
ของรัฐก็ไม่อยากจะเอ่ยถึงคนกลุ่มนี้
รวมถึงการจับกุมหรือควบคุมพวกเขาก็ไม่ต่างไปจากนักโทษที่ก่ออาชญากรรม
ในขณะเดียวกันท่าทีขององค์กรระหว่างประเทศ หรือองค์กรทางศาสนาเองก็ไม่สามารถออกหน้าออกตารับรองพวกเขาเหล่านี้ได้อย่างโดยตรง
ทั้งนี้เพราะการถูกจับจ้องหรือจ้องมองโดยภาครัฐ
ที่มองว่าอาจเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดกับการบ่อนทำลายชาติหรือความมั่นคงของชาติ
หากว่าพยายามอ้างถึงการให้ความช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรมแล้ว
ในความเป็นจริงแล้วผู้รับความช่วยเหลือเหล่านี้ได้รับจริงหรือเปล่านั้น
เพราะมันจะคงปนเปื้อนไปกับหลักการทางการเมืองที่ผสมยาพิษไว้อยู่ ขณะที่ผู้ให้ความช่วยเหลือเองยึดถือความเชื่อความศรัทธาที่ควบคู่ไปกับเรื่องการเมืองทำให้ผู้รับช่วยเหลือเองก็หวั่นวิตกอยู่ตลอดเวลา
รวมถึงความไม่ไว้ใจซึ่งกันและกันที่เกิดขึ้น แหละนี่เอง!
เราอาจต้องกลับมามองอีกด้านหนึ่งเหมือนกันว่า แล้ว ในฐานะ “ผู้รับการช่วยเหลือ”
ล่ะ จะเป็นอย่างไร?