มองเพื่อนบ้านผ่าน“นัตกะด่อ” ในพิธีกรรมบูชา“นัต”[1]
สิริพร สมบูรณ์บูรณะ[2]
บทความนี้ผู้เขียนจะเขียนถึงการเข้าร่วมพิธี
“นัต” กับเพื่อนชาวพม่าคนหนึ่ง ที่เข้ามาใช้ชีวิตอยู่ในเมืองชายแดนของไทยในฐานะ
“แรงงานข้ามชาติ” โดยการเข้าร่วมพิธีกรรมนี้ทำให้เรารู้จักประเพณีวัฒนธรรม
ความเชื่อและพิธีกรรมของชาวพม่าในฐานะเพื่อนบ้านเรามากขึ้น การได้เข้าร่วมพิธีกรรม
“เข้าทรง” หรือ “นัต” นี้ถือว่าเป็นการเยือนบ้านเพื่อนของเราอีกเช่น
ซึ่งบ้านของเพื่อนเราคนนี้ก็อยู่ใกล้กับบ้านของเรามา จนเรียกได้ว่า
“เพื่อนบ้าน”
ดังนั้นบทความนี้จึงมองเรื่องราวของพิธีกรรม “เข้าทรง” หรือ “นัต” ผ่าน
“ออย” เพื่อนที่เข้ามาอยู่ร่วมชายคาบ้านและทำงานภายในบ้านของเรา
เรื่องของ “ออย” แรงงานข้ามชาติพม่า
ในปีพ.ศ.2552 ผู้เขียนได้มีโอกาสไปช่วยน้าชายที่กำลังจะเปิดทำธุรกิจรีสอร์ทในจังหวัดระนอง
ก่อนที่รีสอร์ทจะเปิดทำการนั้นได้ประกาศรับสมัครงานแม่บ้านผู้หญิง 2 คน
ซึ่งปรากฏว่าส่วนใหญ่ที่เข้ามาสมัครงานนั้นเป็นผู้หญิงชาวพม่า และหนึ่งในกลุ่มที่เข้ามาสมัครนั้นก็มีสาวชาวพม่าซึ่งมีรูปร่างแข็งแรง
บึกบึน แม้พวกเราจะก็เกิดความสงสัยในเรือนร่างของเธอ แต่พวกเราก็ตอบคำถามนี้กันเองว่า
อาจเป็นเพราะว่าเธอทำงานหนัก และก็อาจจะดีถ้าได้คนแบบนี้มาช่วยงานหนัก ๆ ในรีสอร์ท
น้าชายของผู้เขียนจึงตัดสินใจรับเข้าทำงานในฐานะแม่บ้านของรีสอร์ท เธอแนะนำตัวด้วยสำเนียงที่ไม่ค่อยชัดว่า “หนูชื่อออยค่ะ”
พร้อมกับแนะนำตัวต่อว่า เธอนั้นอายุ 23 ปี เป็นคนทวาย มีญาติพี่น้องอยู่ทวาย
มาทำงานเพื่อส่งเงินให้น้องเรียนหนังสือที่ฝั่งพม่า และอีกส่วนหนึ่งเก็บเงินเพื่อจะแต่งงานกับแฟนหนุ่มชาวพม่าที่ยังคงทำงานอยู่ฝั่งอำเภอเกาะสอง
ประเทศพม่านั่นเอง
หลังจากนั้นสองวันสิ่งที่เราสงสัยในเรือนร่างของเธอก็เผยออกมา
เพื่อนผู้หญิงชาวพม่าด้วยกันมาขอร้องให้ “ออย” แยกห้องอยู่ต่างหากจากพวกเธอ
เพราะจริง ๆ แล้ว “ออย” ไม่ใช่ผู้หญิง เราจึงรู้ว่า “ออย” เธอเป็นสาวประเภทสอง ผิวคล้ำ
รูปร่างสันทัดค่อนข้างบึกบึน ตากลมโต คมเข้ม รูปหน้าแป้น ผมยาวหยักโสกและเธอก็มาขอร้องด้วยเสียงออดอ้อนไม่ชัดว่า
“อย่าไล่หนูออกเลย สงสารหนูเหอะ”
เธอก็ทำงานเป็นแม่บ้านต่อไป
หลังจากทำงานไปได้สองสัปดาห์ เธอก็มาขอลาหยุดครึ่งวัน เพื่อไปธุระบ้านเพื่อนซึ่งอยู่ไม่ไกลจากรีสอร์ทนัก
ประมาณ 2 กิโลเมตรเท่านั้น
ด้วยความที่เราไม่ไว้วางใจเธอจึงขอตามไปบ้านเพื่อนของเธอด้วย และแล้วเราก็พบว่า
ที่เธอมาบ้านเพื่อนนั้น เพราะบ้านนั้นเป็นบ้านคนเข้าทรง กำลังทำพิธีบูชาเทพเจ้า
เทวดาต่าง ๆ เสียงดนตรีพม่าอื้ออึงเสียงดัง เจ้าของบ้าน คนทำพิธี
ผู้เข้าร่วมทั้งหมดเป็นชาวพม่าที่เข้ามาทำงานในจังหวัดระนอง
แต่อาจจะอยู่ต่างชุมชนกันมาร่วมพิธีนี้ ส่วนผู้ที่มาจากฝั่งเกาะสอง
ประเทศพม่าก็จะเป็นคนทรงที่มาทำพิธีใหญ่
ภายในบริเวณงานนั้นบรรยากาศสนุกสนาน เสียงดนตรีพม่า
คนทรงสวมชุดประจำชาติพร้อมกับร่ายรำและเต้นไปตามจังหวะดนตรี ส่วนเสื้อผ้าที่สวมใส่นั้นก็เต็มไปด้วยเงินธนบัตรไทย
20 บ้าง 100 บ้าง และเหนือผ้าโพกศีรษะด้วย ขณะที่คนทรงร่ายรำนั้น
ก็จะมีผู้ที่เข้าสู่สภาวะภวังค์เข้าร่วมเต้นและร่ายรำด้วย ซึ่งเชื่อว่า ผู้ที่ร่ายรำนั้นมีองค์หรือเจ้าเข้าทรงด้วย
บริเวณแท่นพิธีนั้นก็จะมีการตั้งบูชาเทพเจ้า เทวดาต่าง ๆ ที่อัญเชิญมาจากฝั่งพม่า อีกทั้งจากวางพานและกะละมังใส่เครื่องเซ่นไหว้บวงสรวง
อันประกอบด้วย ลูกมะพร้าว กล้วย น้ำดื่ม น้ำส้ม เบียร์ ขนม นม
ข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ดอกไม้ ธูป เทียน ฯลฯ วางอยู่เรียงรายหน้าแท่นบูชาเทพเจ้า
เทวดาต่าง ๆ
นอกจากนี้เราจะเห็นว่าบริเวณแท่นบูชานี้จะมีรูปพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงและพระราชินีของไทยอยู่ด้วย
ส่วน “ออย” ได้หายไปด้านหลังบริเวณงาน
ประมาณ 20 นาที เธอมาพร้อมชุดประจำชาติพม่าเช่นกัน และเริ่มพิธีโดยการไหว้เทพ
เทวดา จากนั้นท่าทางอากัปกิริยาของเธอเริ่มเปลี่ยนไป เธอสูบบุหรี่ ยกขวดเบียร์ซดเหมือนน้ำดื่ม
และร่ายรำเต้นไปตามจังหวะดนตรี
ซึ่งท่าทางของเธอก็จะเหมือนกับเทพองค์หนึ่งบนแท่นบูชา
ทำให้เราเห็นภาพของออยในฐานะของ “นัตกะด่อ” หรือ “คนทรง” นั่นเอง และยิ่งทำให้เราเข้าใจมากขึ้นว่า ในพิธีนัตนี้
เรือนร่างของ “ออย” ในฐานะที่เป็นสาวประเภทสองมีความสำคัญในอีกสถานะหนึ่ง นั่นคือ
“นัตกะด่อ” ผู้ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างคนกับเทพเทวดาหรือวิญญาณ
ดังนั้น ผู้เขียนจึงเข้าใจว่า“ออย” มิได้เป็นเพียงแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานรับจ้างเป็นแม่บ้านเท่านั้น
แต่เธอยังเป็น “นัตกะด่อ” หรือ “คนทรง” อีกด้วย
เพราะผู้ที่เป็นคนทรงเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเป็นสาวประเภทสองที่มาประกอบพิธี
“ออย” จึงกลายเป็นผู้ที่มีอำนาจทันทีที่ได้กลายเป็น “นัตกะด่อ” ที่ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางให้วิญญาณหรือเทวดาที่เข้าสิงในตัว”ออย” กับลูกศิษย์สาวกที่เข้ามาร่วมพิธี
ทุกคนแสดงความเคารพ นับถือ “ออย” ในฐานะ “คนทรงของเทวดา” ที่พวกเขาเหล่านั้นนับถือ
อีกมิติหนึ่งที่เราเห็น “ออย” คือ
ท่าทางการร่ายรำการเต้นที่อ่อนช้อย ลีลาท่าทางเหมือนวิญญาณหรือเทวดาที่เข้าสิงร่างของ
“ออย” จนเราเองแยกไม่ออกว่า นั่นคือ “ออย” ที่เรารู้จักหรือ วิญญาณกันแน่?
นอกจากนี้สิ่งหนึ่งที่เราเห็นคือ “ความเป็นสาวประเภทสอง” ของ “ออย” เป็นที่ยอมรับของคนในกลุ่มเดียวกัน
แม้ว่าในสภาวะปกติแล้วพวกเขาเหล่านี้มิได้รับการยอมรับมากนัก มักจะถูกล้อเลียน
หัวเราะเยาะ แต่เมื่อ “ออย” สวมบทบาทของ “นัตกะด่อ”
เธอก็กลายเป็นผู้ที่ได้รับความเคารพนับถือทันที
พิธีกรรมบูชา “นัต”:
ลัทธิความเชื่อดั้งเดิมของพม่า
“นัต”
เป็นภาษาพม่าที่หมายถึงเทพเจ้า เทวดา ภูตผีวิญญาณ โดยเชื่อว่า “นัต” เป็นภูตผู้เป็นที่พึ่งของปุถุชนทั่วไป
และจะให้ความช่วยเหลือและคุ้มครองผู้ที่ศรัทธากราบไหว้
ตามความเชื่อของคนพม่านั้นเชื่อว่ามีนัตทั้งสิ้น 37 ตน
แต่ในความเป็นจริงแล้วมีมากกว่า 37 ตน
เพราะถ้ารวมเอานัตที่นับถือในแต่ละท้องถิ่นอีกด้วย ซึ่งเราจะพบว่า ภายในบ้านของคนพม่าแต่ละบ้านจะมีหิ้งบูชานัตตั้งอยู่ใกล้หิ้งพระพุทธรูป
หลายบ้านปลูกศาลคล้ายศาลพระภูมิไว้ที่หน้าบ้าน
ใต้ร่มไม้ใหญ่ริมทางมีศาลนัตอยู่ทั่วไป
และแม้แต่ในเขตลานพระเจดีย์ก็ยังพบว่ามีรูปนัต ปั้นเป็นองค์เทพ เทวี ผู้เฒ่า
หรือรูปยักษ์ เห็นชัดว่าคนพม่าจำนวนไม่น้อยยังคงกราบไหว้บูชานัต
นับเริ่มกันแต่ที่บ้าน สู่ที่สาธารณะ ตลอดจนในเขตวัดอีกด้วย [3]
บ้านพม่าบางหลังนอกจากจะมีหิ้งบูชาพระพุทธรูปแล้ว
ยังพบหิ้งนัตตั้งอยู่ใกล้กับหิ้งพระ โดยเฉพาะหิ้งนัตเรือน จะขนาบอยู่ด้านขวาของหิ้งพระนั้น บางบ้านตั้งศาลนัตไว้ในบริเวณหน้าบ้านหรือร้านค้าจะนิยมตั้งศาลนังกะไร่ หรือเจ้าแม่นางกระบือ และ มยิงผยูชิงหรือเจ้าพ่อม้าขาว
ซึ่งต้องบูชาด้วยหุ่นม้าขาว เป็นต้น
การนับถือผีเป็นความเชื่อความศรัทธาของคนพม่าที่มีมาก่อนการเข้ามาของพุทธศาสนาในพม่า
ซึ่งพวกเขาไม่ได้เพียงแต่นับถือหรือเชื่อในพุทธศาสนาอย่างเดียวไม่
แต่พวกเขายังคงนับถือภูติผีวิญญาณอีกด้วย พวกเขายังบูชาเทพ เทวดาภูติวิญญาณต่าง ๆ
ที่เชื่อว่าอยู่ตามธรรมชาติ ไม่ว่าจะแม่น้ำ ต้นไทร หรือต้นไม้อื่น เป็นต้น
ซึ่งเหล่าเทพ เทวดาภูติวิญญาณก็จะช่วยเหลือ รักษาอาการเจ็บป่วยเป็นไข้ไม่สบาย
รวมถึงความกลัวในวิญญาณแห่งความตาย
เรื่องราวเกี่ยวกับ “นัต”
โดยเหล่านักวิชาการพม่าและตะวันตกต่างให้ความหมายแตกต่างกัน ประการแรก “นัต”
ในฐานะเทพ เทวดาผู้อยู่บนสรวงสวรรค์ตามความเชื่อมายาคติในศาสนาฮินดู
และในความหมายประการที่สองคือ “นัต” คือวิญญาณหรือภูตผีปีศาจที่อยู่ตามธรรมชาติ
เช่น น้ำ อากาศ ป่า เขา บ้าน สรรพสัตว์ต่างๆ ที่มีอำนาจอิทธิฤทธิ์ [4] ซึ่งคนพม่าจะเชื่อทั้งนัตที่ดีและนัตที่ชั่วร้าย
และเชื่อว่ามนุษย์เราแต่ละคนมีทั้งดีเลวเหมือนนัตเช่นกัน
ดังนั้นคนพม่าจึงมีความพยายามที่จะติดต่อกับ
“นัต” ในรูปแบบต่าง ๆ ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการกราบไหว้ การเซ่นสรวง การเข้าทรง
การบนบานสานกล่าว เพื่อขอความคุ้มครอง ปกป้องรักษา อีกทั้งเครื่องเซ่นไหว้ก็แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับนัตแต่ละตน นัตบางตนนิยมมังสวิรัติ
กินเฉพาะผลไม้ ดอกไม้ ใบไม้ นัตบางตนชอบอาหารดิบ อาทิ
ปลาดิบ เนื้อดิบ นัตบางตนชอบของมึนเมา
ดื่มเหล้าเมายายามประทับทรง บางตนชอบพิณ
บางตนชอบขลุ่ย บางตนชอบหมวก บางตนชอบหุ่นม้า และบางตนชอบบุหรี่ เป็นต้น แต่เครื่องเซ่นไหว้และเครื่องบูชาที่สำคัญจะต้องจัดวางไว้บนถาดหรือพาน
ประกอบด้วยมะพร้าวสด 1 ลูก กล้วยดิบ 3-5 หวี หมาก พลูและยาเส้น
ซึ่งมะพร้าวนี้จะต้องชโลมด้วยน้ำหอม และบูชาทั้งผล
โดยไม่ปอกเปลือกต้องมีก้านจุกติดอยู่กับขั้ว
ในพิธีบวงสรวงลงทรงนัตจะประกอบพิธีประจำปีหรือทำเพื่อแก้บน
ซึ่งในแต่ละครั้งจะจัดสร้างปะรำพิธีบริเวณบ้านที่เจ้าของบ้านเป็นคนทรงบ้าง
หรือเพื่อแก้บนบ้าง
หรือบางครั้งจัดบริเวณใกล้พระเจดีย์แต่ต้องอยู่นอกเขตวัดหรือลานเจดีย์
ห้ามจัดในบริเวณเขตวัดหรือลานเจดีย์ ช่วงที่นิยมจัดงานจะเป็นช่วงก่อนหรือหลังสงกรานต์
ก่อนเข้าพรรษาและหลังออกพรรษา แต่ละครั้งมักมีนัตกะด่อร่วมพิธีหลายคน
แต่จะมีนัตกะด่อหลัก 1 คนที่ทำหน้าที่เป็นเจ้าพิธี แต่ละคนจะมีนัตเข้าทรงผลัดเปลี่ยนได้หลายตน ทุกครั้งที่เปลี่ยนนัตลงทรง
นัตกะด่อจะต้องเปลี่ยนเครื่องทรงของนัตเฉพาะตน
นัตที่เข้าทรงมิใช่มีแต่เพียงนัตพม่าที่ชื่อดังเป็นที่นิยมเท่านั้น
หากแต่ยังมีนัตต่างชาติพันธุ์ อาทิ นัตกะเหรี่ยง
นัตไทยใหญ่ นัตแขก และนัตจีน เป็นต้น ในพิธีจะมีการประโคมดนตรีที่เรียกว่า วงซายวาย มีลักษณะเป็นวงปี่พาทย์ ประกอบด้วย เปิงมางคอก ตะโพน
ฆ้องแผง ฆ้องวง ปี่แน กรับไม้ไผ่ และฉาบ มีการขับกล่อมเพลงประจำนัต
เป็นเพลงเศร้าบ้าง ร่าเริงบ้าง คละเคล้ากันไป เมื่อนัตประทับทรงก็จะเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมพิธีได้เข้าใกล้ชิดนัต มีการสอบถามทุกข์สุข ทำนายทายทัก และชี้แนะตักเตือน นัตที่ลงทรงมักกินเหล้าและสูบยา เต้นฟ้อนล้อจังหวะดนตรีกันอย่างถึงอารมณ์
งานบูชานัตจึงเป็นทั้งพิธีกรรมที่ดูเคร่งจริงจัง
ขณะเดียวกันก็เป็นงานรื่นเริงพร้อมกันไป พิธีแต่ละครั้งมักจัดติดต่อกันตลอด 3 วัน
ผู้ว่าจ้างนัตกะด่อให้ทำพิธีลงทรงจะต้องเสียค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง
ราว 30,000-50,000 จั๊ต หรือราว 8,000-13,000 บาท
การบวงสรวงจึงมักทำเฉพาะในโอกาสอันสำคัญเท่านั้น [5]
นัตกะด่อ: สื่อกลางระหว่างคน เทพ และผี
นัตกะด่อตามความหมายแปลว่า
“ภรรยาของนัต” หรืออาจจะเป็นได้ทั้งสามี ลูกสาวลูกชาย พี่ชายน้องสาวของนัตก็ได้
นัตกะด่อเปรียบเสมือนคนทรงที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการพยากรณ์เรื่องราวต่าง ๆ
ได้และเป็นเจ้าพิธีด้วย แต่ในบางกรณีนัตกะด่อก็เป็นนักเล่นกลเจ้าเล่ห์นั่นเอง
พวกเขาจะเชื่อฟังในอำนาจลึกลับของนัต
และถูกครอบงำให้เคารพเยี่ยงเช่นสามีภรรยาหรือคนรับใช้ พวกเขาจะเต้นร่ายรำเพื่อบูชานัต
และผู้ที่ศรัทธานัตก็จะร่วมร่ายรำด้วย พร้อมทั้งปะพรมน้ำหอมให้กับนัตกะด่อ
และแสดงความนับถือโดยการถวายเงินทอง ร่วมกันดื่มเหล้าและถวายอาหารต่าง ๆ ผู้ที่ศรัทธาเหล่านี้สามารถเข้าร่วมพิธีโดยให้วิญญาณได้ปลอบโยน
และสนุกร่วมกับการเต้นร่ายรำของนัตกะด่อ [6]
ขณะที่นัตกะด่อแสดงในงานพิธีก็จะได้รับค่าตอบแทนจากการให้คำปรึกษาต่อผู้ที่เชื่อถือศรัทธา
คนทรงหรือผู้ชำนาญในพิธีนี้จึงมีบทบาทสำคัญในสร้างสัมพันธ์ระหว่างนัต พิธีกรรม และเหล่าสาวกลูกศิษย์ และจากการที่ชาวพม่าจำนวนมากยังคงพึ่งพาอำนาจนัตนี้ จึงทำให้การประกอบพิธีลงทรงในกลุ่มคนพม่าจึงกลายเป็นอาชีพที่มีรายได้ดีพอๆกับอาชีพหมอดู
เนื่องจากการจัดพิธีมีองค์ประกอบมาก เหล่าร่างทรง ผู้ประกอบพิธี
และคณะปี่พาทย์จึงพึ่งพากันด้วยการสร้างสายสัมพันธ์กันเป็นหมู่คณะ
นัตยังดูจะให้ความรู้สึกที่ใกล้ชิดและเป็นกันเองแก่ผู้เชื่อถือศรัทธาอีกด้วย
อาทิ ในเวลาที่นัตประทับทรง ผู้ศรัทธานัตจะสามารถพูดคุยปรับทุกข์และขอคำชี้แนะจากนัตโดยผ่านนัตกะด่อหรือร่างทรง
จนดูประหนึ่งว่าผู้ศรัทธานั้นได้มีโอกาสใกล้ชิดผู้มีอำนาจที่เข้าใจปัญหาของตน
บางรายถึงขนาดร่ำไห้ทุกคราวที่นัตองค์ที่ตนศรัทธาลงประทับทรง
และบางรายอาจถูกนัตนั้นเข้าสิงโดยไม่มีพิธีอัญเชิญก่อนก็มี
ในความรู้สึกของผู้บูชานัตนั้น จะเชื่อว่านัตคือผู้คอยให้ความช่วยเหลือต่อผู้ศรัทธา
และแต่ละคนสามารถเลือกบูชานัตตามภาวะวิสัยของตน จึงนิยมบูชานัตเฉพาะตนหรือเชื่อว่าเหมาะกับตนด้วยหวังพรจากนัตที่ตนเคารพเชื่อถือนั้น
และหากสิ่งที่ร้องขอสำเร็จผลก็ต้องเซ่นไหว้กันตามความเหมาะสม
แต่ถ้าไม่เป็นผลก็มิใช่เป็นเหตุให้ต้องเลิกเชื่อถือนัตนั้นเสียทีเดียว
ผู้เชื่อมักหวนกลับมาสำรวจตนว่าอาจทำสิ่งไม่เหมาะไม่ควรจนทำให้นัตไม่ให้ความเมตตา
ฉะนั้นจึงต้องปฏิบัติตามความพึงพอใจของนัตแต่ละตนอย่างเคร่งครัด
อาทิ งดกินเนื้อสัตว์ รักษาศีล และถวายอาหารที่นัตโปรด
เป็นต้น ความเชื่อในนัตจึงมักเกี่ยวพันอยู่กับข้อห้ามข้อนิยม
ไม่จำเพาะต้องพึ่งการสั่งสมบุญกุศลและอดีตกรรมมากนัก
ผลบุญผลกรรมจึงดูจะมีน้ำหนักน้อยกว่าการเอาใจนัตเพื่อให้ได้รับผลสำเร็จตามประสงค์
ด้วยเหตุนี้นัตจึงเปรียบดุจผู้อารักษ์ที่คอยปัดเป่าเรื่องทุกข์กายทุกข์ใจ
ที่ชาวพุทธพม่ามักเชื่อกันว่าเป็นผลมาจากข้อด้อยในกุศลและอดีตกรรมที่ก่อไว้นั่นเอง [7]
“ออย” กับบทบาทคนทรง “นัตกะด่อ”
“ออย” กะเทยสาวจากแม่บ้านในรีสอร์ท ได้กลายเป็น “คนทรง” หรือ
“นัตกะด่อ” โดยแต่งกายเสมือนเป็น “นัต” ตนหนึ่งที่ชื่อว่า “นังกะไร่” หรือ
“แม่ควาย” หากนับลำดับวงศ์ของ “นังกะไร่” นี้แล้ว
นัตตนนี้ไม่ได้เป็นนัตบรรพบุรุษในลำดับที่สำคัญหรือเทพเจ้าเทวดาแต่อย่างใด แต่
“นังกะไร่” ได้รับความนับถืออย่างมากในกลุ่มชาวมอญและคนพม่าระดับล่างเพราะช่วยเหลือด้านการค้าขาย
รูปปั้นของ “นังกะไร่” จะถูกบูชาไว้ในศาลเล็ก ๆ หน้าบ้าน
หรือบริเวณทางขึ้นด้านล่างเจดีย์ในวัด นังกะไร่จะทำหน้าที่เสมือนผู้ดูแลปกปักษ์รักษาสถานที่นั้น
ๆ ไม่ว่าบ้าน หรือวัด [8]
สำหรับ “ออย” ได้สวมชุดพื้นเมืองสีดำทั้งชุด
มีเขาควายสวมไว้บนศรีษะ พร้อมกับการแสดงที่ร่ายรำเป็นเรื่องราวชีวิตของ “นังกะไร่”
เธอก็จะร่ายรำในลักษณะวนไปวนมา พร้อมกับเคี้ยวใบชา
ขณะเดียวกันลูกศิษย์ที่เข้ามาร่วมร่ายรำด้วยนั้นก็จะจัดเตรียมถังน้ำที่มีปลาช่อนไว้ให้
“นังกะไร่” เพราะเชื่อว่าท่าน (ควาย)ชอบเล่นน้ำ สาดน้ำ
น้ำจึงถือว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของพิธีนี้
และเธอก็จะพยายามเอาเขาควายของเธอไสลงในถังน้ำเพื่อไล่แทงปลาช่อนที่เวียนว่ายในถังน้ำ
และจับมาถือในมือและเต้นไปด้วย
โดยแม่ควายก็จะลูบศรีษะและพ่นน้ำใส่ผู้ที่เข้าร่วมในพิธีเพื่อความสิริมงคลความอุดมสมบูรณ์และปกปักษ์รักษาพวกเขาให้อยู่ดีกินดี
ขณะที่แม่ควายร่ายรำอยู่นั้นเจ้าชายอะทาเกาม่า ผู้สวมชุดทหารมือถือดาบ
เชื่อว่าน่าจะเป็นผู้ที่นังกะไร่เป็นผู้เลี้ยงดูมา
ได้ปรี่เข้าหาเธอพร้อมกับขอให้เธอยกโทษให้กับเขาด้วย จากนั้นเขาก็ใช้ดาบแทงลงไปที่ร่างของอะเมเพ่กู
และเธอก็หลั่งน้ำตาไหลรินออกมาท่ามกลางการปลอบโยนของเหล่าผู้ร่วมในเหตุการณ์ครั้งนี้ ดังนั้นจึงเชื่อว่าการตายนี้ทำให้ “นังกะไร่” หรือ “แม่ควาย”ได้กลายเป็นนัต
อีกบทบาทหนึ่งของ “นัตกะด่อ”
ของออยคือ การเป็นร่างทรงของ “โก่จีจ่อ” เป็นนัตผู้ชายที่มีนิสัยชอบความสนุกสนาน
กินเหล้าเมายา ชอบการพนัน ชนไก่และเล่นหมากทอย
นัตตนนี้เป็นขวัญใจของผู้ที่ชอบเสี่ยงโชคและนักการพนัน
โดยเฉพาะการขอเลขเด็ดหรือหวยนั่นเอง เมื่อ “ออย” สวมบทบาทของ “โก่จีจ่อ”
จะแต่งกายชุดพม่าชาย สีสันสวยงามเหมือนเจ้าชาย ขณะเดียวกันจะดื่มเบียร์และสูบบุหรี่ตลอดเวลาที่ร่ายรำ
บทบาทของ “ออย” ในฐานะ “นัตกะด่อ”
ที่เราเห็นนั้น
เป็นเสมือนการแสดงหนึ่งประกอบพิธีกรรมความเชื่อที่เป็นที่นิยมของคนพม่าทั้งที่อยู่ในและนอกประเทศพม่า
ซึ่ง “ออย” สาวประเภทสองที่ต้องทำหน้าที่เป็นสื่อกลายที่เปลี่ยนผ่านโดยใช้เรือนร่างของตนในความเป็นหญิงและชาย
ในความเป็นมนุษย์และภูติวิญญาณในพิธีกรรมบูชานัต
ซึ่งถือว่าเป็นพิธีกรรมที่สำคัญและมีบทบาทสำคัญต่อกลุ่มคนพม่าที่เข้ามาทำงานหรือเป็นแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย
“เพื่อนบ้าน”กับการสร้างพื้นที่ที่ “บ้านเพื่อน”
การใช้ชีวิตนอกเขตแดนของแผ่นดินบ้านเกิดของตนเองและการอยู่อาศัยในเขตแดนของประเทศอื่น
ซึ่งมักจะเกี่ยวเนื่องกับความทรงจำและจินตนาการการเดินทางข้ามเขตแดน
นั่นคือการหวนรำลึกถึงความเก่าใหม่ ภาพอดีต ปัจจุบัน
ความเป็นตัวเองและความเป็นอื่น รวมถึงความปลอดภัยและภัยอันตราย
ดังนั้นมโนคติของวัฒนธรรมชายแดนที่เกิดขึ้นนั้นจึงเป็นวิถีของโลกนิยม
ความหลากหลายทางวัฒนธรรมและการข้ามชาติ
ขณะที่ภาพเหล่านี้ไม่ได้มีขอบเขตที่ถูกแบ่งไว้อย่างเด่นชัดนัก
มันยังคาบเกี่ยวผสมผสานและพร่ามัวอยู่
พิธีกรรมบูชา “นัต”
ก็เช่นกันเป็นพิธีกรรมที่ทำให้ผู้คนข้ามชาติได้มาทำกิจกรรมร่วมกัน
เสมือนตนเองอยู่ในบ้านเกิดเมืองนอนของตน จึงเปรียบเสมือนการสร้างพื้นที่ของ
“ความเป็นบ้าน” ในถิ่นอื่น ทำให้เกิดความรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของและความปลอดภัยที่เห็นถึงคุณค่าและรูปแบบของพฤติกรรม
ที่สำคัญแรงงานข้ามชาติพม่าเหล่านี้ ไม่เฉพาะ “ออย” เท่านั้นที่รู้สึกถึง “บ้าน”
ที่ตนได้พยายามขอลาหยุดจากงานและโดนหักเงินค่าจ้าง เพื่อมาร่วมพิธีกรรมหรือ “บ้าน”
อันเป็นอารมณ์ความรู้สึกร่วมที่ทำให้เธอรู้สึกปลอดภัย
มีความสนิทสนมกันในกลุ่มพวกพ้องของตน
ดังนั้นจะเห็นว่า
“พิธีกรรมบูชานัต” เป็นกระบวนการสร้างพื้นที่วิธีการหนึ่งที่ผ่านงานกิจกรรมสาธารณะที่แสดงถึงความเป็นเจ้าของและมีส่วนร่วมของกลุ่มพวกตน
สำหรับผู้เขียนเองรู้สึกทึ่งกับปรากฏการณ์ที่ได้เห็นและเข้าไปมีส่วนร่วมกับเพื่อน
“ออย” ในฐานะที่เรามองเธอเป็นเพียง “แรงงานข้ามชาติพม่า” หรือ “ลูกจ้าง/คนงาน”
เท่านั้น แต่เธอทำให้ผู้เขียนได้รู้จัก “ออย” อีกมุมหนึ่ง และไม่เพียงแต่ “ออย”
เท่านั้นที่ทำให้ฉันได้รู้จักเพื่อนแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในบ้านเรา
แต่เราได้เข้าใจประเพณีวัฒนธรรมและพิธีกรรมที่พวกเขาพกติดตัวมาอีกด้วย
เอกสารอ้างอิง
อรนุช-วิรัช นิยมธรรม (2551) เรียนรู้สังคมวัฒนธรรมพม่า พิษณุโลก: โรงพิมพ์ตระกูลไทย
Castles &
Davidson. (2000) Citizenship and
Migration. London: Macmillan Press Ltd.
Rodrigue, Yves,
(1992) Nat-Pwe: Burma’s Supernatural Sub-Culture. HongKong: Kiscadale Ltd.
Vossion, L (1991)
‘Nat Warship Among the Burmese.’ Journal of American Folklore, No.4,
11891, pp. 1-8.
[1] บทความนี้ใช้เป็นส่วนหนึ่งในการประกอบเอกสารประกอบการสัมมนาวิชาการ เรื่อง
“การศึกษาสู่อาเซียน: มิติด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์”
ภายใต้หัวข้อ “บ้านเพื่อน เพื่อนบ้าน: การเมืองว่าด้วยพรมแดน
ชาติพันธุ์และคนชายขอบ” ระหว่างวันที่ 3-4 มีนาคม 2556 ณ อาคารปฏิบัติการเทคโนโลยีและการพัฒนานวัตกรรม
มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช
[2] อาจารย์ประจำสำนักศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ท่าศาลา นครศรีธรรมราช
[3] วิรัช-อรนุช นิยมธรรม 2551:
น.143-146
[4]
Vossion, L 1991: 107
[6] Rodrigue, Yves 1992: 48-49
[7] วิรัช-อรนุช นิยมธรรม 2551: น.143-146
[8]
Rodrigue, Y 1992: 44